ที่มา มติชน
หมายเหตุ - สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แถลงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกัมพูชาและไทย พร้อมกับแนวทางการฟื้นฟูสัมพันธ์ของสองประเทศ ที่ทำเนียบรัฐบาลกัมพูชา กรุงพนมเปญ เมื่อเช้าวันที่ 17 กุมภาพันธ์ โดยใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม โดยระบุพร้อมเจรจาฟื้นสัมพันธ์กับไทยแต่ต้องมีอาเซียนเป็นสักขีพยาน แต่หากการเจรจาของอาเซียนหรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ไม่บรรลุผลจะยื่นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก
วันนี้ต้องการแถลงให้ทราบถึงข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชา การที่ยูเอ็นเอสซีเรียกนายฮอ นัม ฮง รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยไปชี้แจงที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกานั้น ฝ่ายกัมพูชาเป็นคนเสนอไปเองเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายยุติการทำสงคราม
ไม่จำเป็นว่าต้องส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดถึงพนมเปญจึงจะเรียกว่าสงคราม แต่ในความเป็นจริงแล้ว การยิงกันไปมาก็คือสงคราม
การปะทะกันเล็กๆ ไม่เป็นไร แต่นี่เป็นการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า ให้กัมพูชารับฟังการตัดสินของยูเอ็นเอสซี ผมอยากให้นายกษิตเป็นผู้รับฟังเรื่องนี้เพราะว่ากัมพูชารับฟังเสียงจากนานาชาติอยู่แล้ว
ผมอยากจะถามว่าใครเป็นคนต้องการให้อาเซียนเข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้ง และใครไม่ต้องการอาเซียน
ตั้งแต่ปี 2551 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์ ทางฝ่ายกัมพูชาเรียกร้องให้อาเซียนหยิบยก
กรณีทหารไทยรุกล้ำพรมแดนกัมพูชาขึ้นมาหารือ แต่ฝ่ายไทยคัดค้านมาตลอดโดยไม่ต้องการให้อาเซียนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหานี้
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน แสดงความวิตกกังวลต่อปัญหาขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชา และต้องการช่วยแก้ไขปัญหา แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ บอกว่ายังไม่ถึงเวลาที่อาเซียนเข้ามาข้องเกี่ยว
ผมขอให้ผู้นำไทยบันทึกคำพูดของตัวเองให้ชัดเจนว่า วันไหนพูดอะไรออกมาบ้าง
ขณะนี้ถึงเวลาแล้ว ผมคิดว่าทุกคนที่มีความรู้เป็นปัญญาชน ไม่ควรหลอกคนอื่นและต้องไม่ให้คนอื่นหลอกตัวเอง
อาเซียนจะเปิดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ฝ่ายไทยพยายามแสดงให้เห็นว่าเป็นฝ่ายดึงกัมพูชาไปร่วมประชุมคลี่คลายข้อขัดแย้ง
ความจริงแล้วไม่ใช่เลย กัมพูชาต่างหากเป็นฝ่ายเรียกร้องให้อาเซียนเข้ามาแก้ปัญหา
อดีตนักการทูตไทยประจำสหประชาชาติ บอกว่า ไม่ใช่ความประสงค์ของฝ่ายไทย แต่เป็นความต้องการของฝ่ายกัมพูชา
อดีตนักการทูตคนนั้นพูดถูก ไทยควรจะคิดให้ละเอียดลึกซึ้ง
ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยจึงเป็นฝ่ายบอกว่าต้องการดึงอาเซียนเข้ามาพัวพัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเป็นฝ่ายคัดค้าน
คำพูดของนายกฯและรัฐมนตรีต่างประเทศไทย หมุนกลับ 180 องศา
เช่นเดียวกัน ยูเนสโกส่งตัวแทนพิเศษเข้าไปดูพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยคัดค้าน
ผมไม่อยากเอาเปรียบใครหรอก ไม่ต้องการเอาเปรียบใครทั้งนั้น แต่ขอให้ยุติธรรม
ผมขออ่านคำแถลงการณ์ของนายฮอ นัมฮง เมื่อครั้งที่ไปชี้แจงกับยูเอ็นเอสซีว่า ถึงจะอดทนและหารือของฝ่ายกัมพูชาเพื่อมุ่งหวังสันติ แต่การเจรจาทั้งสองฝ่ายกลับไม่ได้ผล กระนั้นก็ตาม กัมพูชายังคงมีความตั้งใจแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ตามแนวทางของอาเซียน เพราะไทยและกัมพูชาเป็นสมาชิกอาเซียนเหมือนกัน
ก่อนหน้านี้ไทยเคยแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาเช่นนี้หรือไม่
ไทยไม่เคยเรียกร้องให้ยูเอ็นเอสซีหรืออาเซียนช่วยแก้ปัญหา มีเพียงกัมพูชาเท่านั้นที่มีเจตนามุ่งมั่นดังกล่าว
และเหตุไฉน ไทยถึงอ้างว่าเป็นชัยชนะ ?
ขณะนี้ไทยต้องการเจรจาทวิภาคี ผมขอถามกลับไปว่า อาเซียนเป็นใคร ? ประธานอาเซียนเป็นใคร ?
จะคุยสองฝ่ายอีกหรือไม่ ก็ในเมื่อการประชุมที่ จ.เสียมราฐ หรือการประชุมที่หัวหิน นั่นเรียกว่าเป็นการประชุมทวิภาคี แต่เวลานี้ต้องไปประชุมที่กรุงจาการ์ตา ไม่ใช่สองฝ่ายอีกแล้ว
เราขอประกาศว่า การประชุมสองฝ่ายระหว่างไทยกับกัมพูชา ได้ยุติลง ต่อไปจะไม่มีการประชุมทวิภาคีอีกแล้ว การประชุมครั้งต่อไปต้องมีฝ่ายที่สามนอกจากกัมพูชาและไทย จะต้องมีประธานอาเซียนซึ่งปัจจุบันเป็นอินโดนีเซีย
อยากรู้ว่าไทยนับเลขออกหรือเปล่า เพราะมีอินโดนีเซียร่วมประชุมด้วย เมื่อมีเกินสองฝ่ายก็ต้องเป็นการเจรจาแบบพหุภาคี
ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ผู้ไปนั่งประชุมคือบุคคลที่สามแล้ว ขอบอกฝ่ายไทยว่า อย่าหลอกลวงประชาชนแล้วอย่าหลอกตัวเองด้วย
เพราะจะทำให้เกิดผลกระทบถึงกรุงพนมเปญ
ผมเพิ่งพูดคุยกับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้ฝากเรื่องนี้ไปถึงนายอภิสิทธิ์ด้วย
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ นายอภิสิทธิ์แจ้งไปยังผู้นำอาเซียนคนหนึ่งขอให้เห็นใจใน 3 ประเด็น
1.นายอภิสิทธิ์กับกลุ่มคนเสื้อเหลืองไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ผมเข้าใจ แต่ผมอยากบอกว่านายอภิสิทธิ์อย่าเอาภาษาของคนเสื้อเหลืองมาพูด เพราะบางคำเหมือนคนเสื้อเหลืองพูด
นายไตรรงค์บอกผมว่า การที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองด่าผู้นำไทยแล้วลามไปถึงผู้นำกัมพูชานั้น รัฐบาลไทยไม่สามารถควบคุมได้เป็นสิทธิของกลุ่มคนเหล่านั้น
ถ้าเป็นเช่นนั้น นายสนธิ (ลิ้มทองกุล) และ พล.ต.จำลอง (ศรีเมือง) ก็เป็นนายกฯแล้วสิ
2.ผมไม่เข้าใจการพิจารณากฎหมายภายในของไทย ในเรื่องให้ความเห็นชอบของรัฐสภา ทั้งที่มีมติของทั้งสองฝ่ายมีมานานและบรรลุผลกันไปแล้ว
ผมเข้าใจไม่ใช่ว่าผมไม่เข้าใจหรอก แต่มันนานเกินไปตั้งแต่ปี 2551 มาถึง 2554 สภายังไม่ผ่านความเห็นในเรื่องการเจรจาพรมแดนระหว่างไทยกัมพูชา
3.ไทยบอกว่า ไม่สามารถควบคุมข่าวสารแต่กัมพูชาควบคุมได้ ปัญหาเรื่องไทยกัมพูชาไม่ใช่เรื่องการควบคุมหรอก แต่อยู่ที่รัฐบาลจะยับยั้งไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างไร
ผมเข้าใจในความลำบากและเข้าใจในสิทธิเสรีภาพข่าวสาร
ปัญหาชายแดนขอให้ตรึงกำลังทั้งสองฝ่ายเอาไว้ อย่าให้เคลื่อนไหวไปมาและขอให้มีการแก้ไขปัญหาชายแดนอย่างถาวร โดยปักปันตามแนวชายแดน แต่ทำยังไงได้เมื่อสองคนไม่ถูก
อาเซียนไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องชายแดนไทยกัมพูชาได้ อาเซียนทำได้เพียงขัดขวางไม่ให้สองคนทะเลาะกัน
ยูเอ็นเอสซีไม่มีบทบาทแก้ไขให้ปัญหามันจบสิ้นได้ แต่กัมพูชายังมีทางเดินของตัวเอง โดยจะฟ้องไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice-ICJ) หรือศาลโลก เพื่อให้พิจารณาคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 ฝ่ายไทยบอกว่าเตรียมตัวแล้ว ก็ดีไปกันสองคน
เราไม่ขอให้ศาลโลกตัดสินใหม่ แต่ขอให้รื้อฟื้นคำพิพากษาเดิมดูอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว ทางกัมพูชาสบาย ไทยเองก็หมดปัญหาด้วย เพราะจะได้ยุติข้อขัดแย้งในปัญหาเส้นแบ่งพรมแดน
ตรงไหนเป็นของไทยหรือเป็นของกัมพูชา ก็เอาให้ชัดเจนไปเลย.