ที่มา มติชน
โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
บุคคลที่พูดติดอ่างก็คือพระเจ้าจอร์จที่ 6 (King George VI) แห่งจักรภพอังกฤษ พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 องค์ปัจจุบัน
รางวัล Oscar ของภาพยนตร์ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นรางวัลสำคัญที่สุดเช่นเดียวกับ Grammy Awards สำหรับดนตรี Emmy Awards สำหรับโทรทัศน์ และ Tony Awards สำหรับละครเวที
The Academy of Motion Picture Arts and Sciences (AMPAS) เป็นองค์กรวิชาชีพที่มีสมาชิก 5,835 คน (ณ สิ้นปี 2007) เป็นผู้โหวตลงคะแนนให้รางวัล Oscar สมาชิกของ AMPAS ต้องได้รับเชิญจากคณะกรรมการของ AMPAS เท่านั้น ซึ่งการคัดเลือกสมาชิกกระทำกันอย่างเข้มข้นโดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในกิจการภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมาไม่มีการเปิดเผยชื่อสมาชิก (จากรายชื่อที่เปิดเผยปี 2007 จำนวน 1,311 คน เป็นดาราภาพยนตร์)
รางวัล Oscar ที่แจกกันมี 24 ประเภทของความยอดเยี่ยม เช่น ภาพยนตร์แห่งปี ผู้กำกับ ผู้แสดงชาย ผู้แสดงหญิง ตัวประกอบชาย ตัวประกอบหญิง เขียนบท สารคดี ตัดต่อเสียง ฯลฯ
ผลของการประกาศเมื่อ 25 มกราคม 2011 มาจากการโหวตรอบแรก โดยสมาชิกในแต่ละประเภทโหวตประเภทของตนเอง The King′s Speech ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล 12 ประเภท/ True Grit (10 ประเภท)/ The Social Network (เรื่องราวของการเกิด Facebook) และ Inception (8)/ The Fighter (7)/ 127 Hours (6)/ Black Swan (5) ฯลฯ
ขณะนี้สมาชิก AMPAS กำลังโหวตรอบสองกันโดยทุกคนมีสิทธิโหวตให้ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีข่าวคราวที่ออกมาก็คือ The King′s Speech ร้อนแรงมากเพราะได้รับรางวัล People"s Choice Award ที่ Toronto International Film Festival ปี 2010 สำหรับรางวัล Oscar ได้รับการเสนอชื่อใน 12 ประเภท คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้แสดงนำชาย หญิง และตัวประกอบชาย การถ่ายภาพ บทภาพยนตร์ ฯลฯ
พระเจ้าจอร์จที่ 6 (ค.ศ.1895-1952) บุคคลสำคัญของเรื่องคือ The King ในชื่อของภาพยนตร์ ตอนประสูติมีพระนามว่า Prince Albert (Duke of York) ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าจอร์จที่ 5 (King George V) ตั้งแต่เป็นเด็กทรงมีปัญหาในการพูดโดยเฉพาะในที่สาธารณะจนเป็นปมด้อยแต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาใหญ่เพราะ "ไม่ได้คิดว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน คิดว่าก็คงแอบซ่อนอยู่ในร่มเงาไหนสักแห่งพร้อมกับการติดอ่าง"
ปัญหาสำคัญเกิดขึ้นเมื่อพระราชบิดาทรงมอบให้พูดปิดงาน 1925 Empire Exhibition ครั้งนั้นคนฟังเอาใจช่วยกันเต็มที่แต่ทว่าแต่ละคำที่ทรงออกเสียงมานั้นแสนยากอย่างน่าสมเพช และจบลงด้วยความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
พระชายา (ซึ่งต่อมาทรงเป็นที่รักใคร่ของชาวอังกฤษ โดยเรียกกันว่า Queen Mum ทรงสิ้นพระชนม์ในปี 2002 ในวัย 101 ปี) พยายามผลักดันช่วยให้หายจากการติดอ่าง ไปหาหมอหลายคนจนมาพบ "หมอหลอก" ชาวออสเตรเลีย ช่วยรักษาโดยเป็นผู้บำบัดและฝึกการพูด (speech therapist)
เจ้าชายองค์หนึ่งมีปัญหาติดอ่างกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นเมื่อพี่ชายขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดาในพระนามพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 (King Edward VIII) ในปี 1936 และในปีเดียวกันก็ทรงยอมสละราชสมบัติเพื่อแต่งงานกับแม่หม้ายชาวอเมริกัน Wallis Simpson
Prince Albert น้องชายก็จำต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนในนาม King George ที่ 6 อย่างไม่เต็มใจอย่างยิ่ง เพราะทรงตระหนักดีถึงปัญหาด้านการพูดของตนเองและไม่ได้เตรียมตัวเลยในการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อีกทั้งสงครามกับเยอรมนีกำลังกลายเป็นความจริงขึ้นทุกที
การติดอ่างของพระองค์กลายเป็นปัญหาใหญ่มากเมื่ออังกฤษจำต้องประกาศสงครามกับเยอรมนี ซึ่งต่อมาลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง การพูดปลุกขวัญให้กำลังใจประชาชนของพระเจ้าแผ่นดิน ตลอดจนสื่อสารให้โลกเข้าใจบทบาทของอังกฤษ เป็นเรื่องคอขาดบาดตายในยุคที่วิทยุเริ่มเป็นตัวกลางสำคัญในการสื่อสาร
จุดไคลแมกซ์ของเรื่องคือการพูดสดครั้งสำคัญ (The King′s Speech) ทางวิทยุหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ประกาศสงครามกับเยอรมนีไปแล้ว ในวันนั้นพระองค์ยังทรงขาดความมั่นใจในการพูดอย่างไร้ร่องรอยของคนติดอ่าง แต่ด้วยความช่วยเหลือของ "หมอหลอก" ที่ยืนสนับสนุนและโค้ชอยู่ตลอดการพูดสดทางวิทยุ "The Speech ของ King" ก็เป็นไปด้วยดี ทุกคนชื่นชมและประชาชนเกิดกำลังใจในการต่อสู้สงคราม
ภาพยนตร์ The King′s Speech ชนะใจคนดูท่วมท้นก็เพราะแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กับความด้อยของตนเองอย่างกล้าหาญเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ของตนเอง การต่อสู้เช่นนี้ทุกคนต้องเผชิญ ถึงแม้จะเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินของจักรภพอังกฤษ อาณาจักรที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากเค้าโครงเรื่องจริงซึ่งเขียนโดยหลานของ "หมอหลอก" บางตอนอาจจะเว่อร์ไปบ้างในเรื่องการพูดคำหยาบของ Prince Albert และ King George ที่ 6 (แต่ดูจะสะใจคนดูที่เอาใจช่วยตอนฝึกเอาชนะการติดอ่าง) และการปรากฏตัวของ Sir Winston Churchill ในบางตอนของภาพยนตร์ซึ่งผู้วิจารณ์ระบุว่าไม่ถูกต้องทางประวัติศาสตร์
หากพระองค์ไม่พยายามต่อสู้ภาวะติดอ่างอันเนื่องมาจากปัญหาการเติบโต ส่วนใหญ่ภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยงที่มีปัญหาทางจิต การถนัดซ้ายแต่ถูกบังคับให้ใช้มือขวา ความไม่เข้าใจปัญหาติดอ่างของตนโดยพ่อ ความกลัวและความหวาดหวั่นการล้มเหลว ฯลฯ รูปโฉมสงครามโลกครั้งที่สองก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ประชาชนหลายร้อยล้านคนจะมีชะตาชีวิตที่ผิดไปจากปัจจุบันอย่างแน่นอน
"เสน่ห์" ของทั้ง King และ Queen สร้างความประทับใจให้ประธานาธิบดีรูสเวลท์ และภรรยาเมื่อครั้งเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาในปี 1933 จนมีส่วนในการสร้างความเป็นพันธมิตรสงครามอย่างเหนียวแน่น ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ใน Buckingham palace ในลอนดอนตลอดสงคราม ถึงแม้ลอนดอนจะถูกเยอรมันบอมบ์จนคนตายนับพันๆ คนก็ตาม ครั้งหนึ่งระเบิด 2 ลูกตกลงไปสนามหญ้าของพระราชวังในขณะที่ทรงประทับอยู่ก็ไม่ทรงสะทกสะท้าน อีกทั้งยอมรับการแบ่งปันอาหารเช่นเดียวกับคนอังกฤษอื่นๆ ด้วยอย่างเต็มใจ
King George ที่ 6 ทรงเห็นการล่มสลายของจักรภพอังกฤษ (ไอร์แลนด์เป็นสาธารณรัฐ อินเดียประกาศเอกราช ฯลฯ) ทั้งในด้านอำนาจทหารและเศรษฐกิจ แต่ตลอดสงครามทั้งสองพระองค์ได้ทรงทำหน้าที่ให้กำลังใจทหารทุกหนแห่งในอังกฤษอย่างกล้าหาญ
ใครที่เกิดมาและประสบกับสุขภาวะที่เป็นปัญหาและทุกคนที่ต้องเผชิญปัญหาร้อยแปดจะชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ที่แสดงให้เห็นว่าการบากบั่นต่อสู้ปัญหาที่เกิดกับทุกคนในทุกระดับไม่เว้นแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินคือคำตอบ
สำหรับผู้เขียนเองซึ่งเมื่อครั้งเป็นเด็กก็เคยติดอ่าง และสามารถเอาชนะมาได้ รู้สึกประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นพิเศษครับ