ที่มา ประชาไท
12 ก.พ. 54 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเสวนา หัวข้อ "สังคมออนไลน์กับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่" ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานรัฐศาสตร์วิชาการครั้งที่ 18 ประจำปี 2554 "E-Politics การเมืองออนไลน์: เสียงจากปลายนิ้ว"
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท (prachatai.com) กล่าวถึงปัญหาในสังคมออนไลน์ โดยเชื่อว่า นี่เป็นระยะเปลี่ยนผ่าน โดยยกตัวอย่างเมื่อ 3-4 ปีก่อน มี ส.ว. นักวิชาการ เอ็นจีโอบางรายโกรธมากที่มีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ตนเองในเว็บบอร์ด ขณะที่ปัจจุบันการวิจารณ์ก็ยังมีอยู่ แต่ความเดือดเนื้อร้อนใจลดลง เขาจึงเชื่อว่า สักวันหนึ่งรัฐและคนทั่วไปจะรับมือได้กับการวิจารณ์หรือแม้แต่แฉแหลกแบบวิกีลีกส์ เขายังกล่าวด้วยว่า แม้การวิจารณ์และการแฉจะลดความน่าเชื่อถือของรัฐ แต่ก็เป็นหลักประกันเสรีภาพของประชาชน และนั่นก็คือความมั่นคงของประชาชน หากความมั่นคงของรัฐ หมายรวมถึงความมั่นคงของประชาชนด้วย และในภาวะที่จะประชาชนหรือที่เรียกว่า นักข่าวพลเมืองออกมาวิจารณ์รัฐมากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่า จะมีการแฮกข้อมูลของรัฐมาเปิดเผยมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ในที่สุดจะทำให้รัฐบาล ผู้ปกครองและองค์กรเหนือรัฐ ต้องปรับตัว หากประเมินว่า ไม่สามารถหยุดยั้งสื่อใหม่ได้ ก็ต้องโปร่งใสมากขึ้น เพราะรู้ว่ามีคนเฝ้าดู คอยจับผิดอยู่
บก.ประชาไท ยังกล่าวถึงเรื่องท้าทายอีกเรื่องคือ เสรีภาพนั้นเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน โดยยกตัวอย่างกรณีรถเก๋งชนรถตู้ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากในอินเทอร์เน็ต ว่านั่นคือเสรีภาพที่เราใช้ และมีผลต่อการคุกคามเด็กคนหนึ่ง ซึ่งเขาคิดว่า สื่อออนไลน์ไม่มีทางหยุดการคุกคามแบบนี้ และนี่เป็นราคาที่ต้องจ่ายของการมีเสรีภาพ และเป็นเหมือนกฎระบียบแบบใหม่ที่มาจัดการสังคม เพียงแต่เป็นการจัดการกันเองของประชาชน เหมือนการนินทาในหมู่บ้านในอดีต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพัฒนาคือ คุณภาพของการแสดงความเห็นและความรับผิดชอบ ผู้ที่ใช้เน็ตก็ต้องเพิ่มสิ่งเหล่านี้ในการใช้สื่อใหม่ ทั้งหมดนี้จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ และอยากให้เป็นเพียงแค่มาตรการทางสังคมในโลกออนไลน์ โดยที่องค์กรธุรกิจและรัฐไม่เข้ามารับลูกหรือดำเนินการทางกฎหมาย จนกลายเป็นการคุกคามระดับกายภาพ
เตือนรัฐอย่าทำลายพื้นที่ถกเถียง
สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)และกรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า สื่อออนไลน์เกิดขึ้นในลักษณะการขบถ เป็นสื่งที่ถูกออกแบบมาและมีผลท้าทายสภาพที่ครอบงำ และปลดปล่อยให้มีการแสดงออกมากขึ้น ทั้งนี้ หากรัฐต้องการออกกฎควบคุมก็ย่อมทำได้ แต่ตั้งคำถามว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อ เช่น หากมีผู้โพสต์ข้อความไม่เหมาะสม 3 ล้านคนจะต้องจับกุมให้หมดสิ้นไปไหม ในจีน มีการทำเช่นนั้น แต่ก็มีต้นทุนสูง สำหรับประเทศไทยเอง 5 ปีหลังมานี้ อินเทอร์เน็ตท้าทายความมั่นคงของรัฐสูง โดยรวมจะเห็นว่ารัฐไทยใช้พลังงานต่อสู้กับอินเทอร์เน็ตสูงมาก ซึ่งปรากฎการณ์นี้ส่งสัญญาณไปทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ไทยเป็นประเทศที่มีการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เป็นรองแค่เวียดนามเท่านั้น
ทั้งนี้ เธอมองว่า ยิ่งรัฐพยายามควบคุมศัตรูในจินตนาการเท่าไหร่ ศัตรูก็จะยิ่งถูกจินตนาการว่าใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่วนที่กลัวว่าหากปล่อยให้มีการวิพากษ์วิจารณ์แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น เธอมองว่า เงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงมีหลายอย่าง ไม่ใช่เพียงการวิจารณ์เพียงอย่างเดียว โดยสำหรับประเทศไทย แม้ว่าความมั่นคงจะถูกสั่นคลอน แต่ยังมีต้นทุนที่ประชาชนจะไม่ลุกฮือ เว้นแต่ถ้ารัฐปิดกั้นมากขึ้น จะเกิดการต่อต้านที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และยากจะควบคุม
สุภิญญากล่าวว่า รัฐไทยควรต้องตระหนักว่า สังคมไทยมีการต่อสู้ทางความคิดมาตลอด ไม่เคยเป็นสังคมที่ความเห็นเดียวครอบงำได้เบ็ดเสร็จหรือถ้ามีก็เป็นแค่บางช่วง ดังนั้น รัฐต้องใช้หลักสร้างสมดุล ธำรงสิทธิขั้นฐานของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ใช้กฎหมายที่เกินเหตุ โดยยกตัวอย่างคดีจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ที่ถูกฟ้องในฐานะผู้ดูแลเว็บไซต์ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้โพสต์ความเห็นเอง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล และเป็นคดีที่ต่างประเทศจับตา เพราะคำตัดสินจะเป็นบรรทัดฐานในการกำกับดูแลสื่อใหม่
อย่างไรก็ตาม สุภิญญา ย้ำว่าไม่ได้จะบอกว่ารัฐไม่สามารถกำกับอินเทอร์เน็ตได้ แต่หากอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่แทนเสรีภาพของประชาชน รัฐต้องคุ้มครองพื้นที่และผู้นำสารด้วย ถ้าผู้ให้บริการถูกจัดการ ก็จะทำให้พื้นที่เสรีภาพนั้นค่อยๆ ลดลง ดังนั้น จะต้องมีหลักการที่ชัดเจน หรือไม่ก็ต้องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
มีนักศึกษาถามว่า กรณีที่เรามักโยนความผิดให้องค์กรเหนือรัฐ แต่ปัจจุบัน ผู้บังคับใช้กฎหมายเองก็พึ่งพิงองค์กรเหนือรัฐ จึงต้องปกป้ององค์กรเหนือรัฐด้วย เช่นนี้แล้วจะโทษใคร สุภิญญาตอบว่า หากจะโทษใครก็คงได้ทั้งนั้น แต่สำคัญคือ ถ้ายังตอบไม่ได้ ก็ควรสร้างพื้นที่และบรรยากาศถกเถียงอย่างเปิดเผย โดยรัฐไม่ควรทำลายพื้นที่ที่จะทำให้สังคมไทยได้ถกเถียง ปะทะสังสรรค์ทางความคิดกัน และเมื่อนั้นสังคมจะเติบโต และทำให้ความรุนแรงทางกายภาพน้อยลง เพราะได้โต้เถียงกันเต็มที่แล้ว แต่หากไม่มีการเปิดพื้นที่ถกเถียง หากเกิดการแสดงออกแบบอื่นขึ้น จะมาถามว่าใครผิดก็คงไม่ได้แล้ว เพราะสังคมจะอยู่ในภาวะที่อลเวง
ความมั่นคงว่าด้วยสถาบันกษัตริย์และการเปิดเผยความลับ
สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในประเทศไทย สังคมออนไลน์ หรือ "เว็บ 2.0" ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างผู้ใช้กับผู้ให้บริการข้อมูลบางมาก เกิดการสื่อสารสองทาง ขณะเดียวกันมีงานวิจัยชี้ว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นมาบูมในช่วงต้นปี 2553 ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง มีการตั้งกลุ่มโต้ตอบ สนับสนุน โดยสาเหตุที่สังคมออนไลน์เป็นที่นิยมนั้น เกิดจากสื่อหลักโดนแทรกแซง ถูกปิดกั้นการแสดงความเห็น คนที่คิดว่าตัวเองไม่มีพื้นที่ จึงกระโจนเข้าสู่สังคมออนไลน์เพื่อหาคนคิดเห็นคล้ายๆ กัน
สาวตรีกล่าวว่า สังคมออนไลน์นั้นมีพลังอำนาจบางอย่างซึ่งแตกต่างจากวิทยุชุมชนหรือเว็บทั่วไป หรือเว็บข่าวตรงที่สามารถจุดประเด็นกระแสรองให้เป็นกระแสหลักได้ นอกจากนี้ การมีสังคมออนไลน์หรือเพื่อนจำนวนมาก ทำให้สถาบันทางอำนาจ อาทิ สถาบันศาล สถาบันทหาร สถาบันกษัตริย์ นักข่าว นักเขียน พระ บุคคลสาธารณะ ถูกวิจารณ์กันในวงกว้าง ในแง่บวก ทำให้เกิดการตรวจสอบ จับตามองให้การทำงานดีขึ้น แต่แง่ลบ ก็อาจถูกมองว่าขัดต่อความมั่นคง แต่ในอีกด้านหนึ่ง สาวตรีมองว่า พลังอำนาจของสังคมออนไลน์ ก็อาจกลายเป็นพื้นที่โฆษณาวิธีคิดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสุดโต่งของภาครัฐก็ได้
สาวตรี เห็นว่า ด้วยพลังอำนาจข้างต้น อาจทำให้รัฐมองสังคมออนไลน์เป็นศัตรู เพราะมีลักษณะไม่เชื่องและฆ่าไม่ตาย ปิดได้ไม่หมด ปิดหนึ่งเปิดสอง ปิดสองเปิดห้า นั่นเพราะประกอบขึ้นจากผู้คนที่หลากหลาย อาจทำให้รัฐกลัวว่าถ้าคุมไม่ได้อาจกระทบความมั่นคง ขณะเดียวกัน รัฐอาจกระโจนเข้ามาใช้เครื่องมือในสังคมออนไลน์ประชาสัมพันธ์เรื่องของรัฐ เช่น ตั้งลูกเสือไซเบอร์ขึ้นมาสอดส่องดูแล หรือรัฐอาจไม่ต้องเล่นเอง แต่ทำหน้าที่สนับสนุนกลุ่มที่สนับสนุนรัฐอีกที เช่น กลุ่มล่าแม่มด โดยจะสังเกตว่าอะไรก็ตามที่กลุ่มนี้พูด ดีเอสไอจะรับลูกทันที
สาวตรีกล่าวว่า สำหรับปัญหาความมั่นคงที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 จะพบว่า ความมั่นคงที่รัฐใช้อ้างหลังรัฐประหารคือ ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่สุดแล้ว ทุกสถาบันย่อยไปอิงแอบหรือทำตัวเป็นส่วนย่อยของสถาบันนี้หรือใช้สถาบันนี้เป็นเครื่องมือปกป้องประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น อาทิ กรณีคลิปศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทุจริต การตัดสินคดียุบพรรค โดยต่อมามีการบอกว่าจะฟ้องในข้อหาหมิ่นสถาบันฯ ทั้งที่ดูแล้วไม่มีจุดใดเชื่อมโยงถึงตัวสถาบันฯ เลย นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ตนเองทำร่วมกับ i-LAW พบว่า สถิติของการไล่ปิดช่องทางเข้าถึงเว็บไซต์ตั้งแต่ พ.ศ.2550 ซึ่ง พ.ร.บ.คอมฯ มีผลใช้บังคับ จนถึง พ.ศ. 2553 พบว่าศาลออกคำสั่งบล็อคเว็บไซต์ตามการร้องขอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและใช้อำนาจตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมฯ ปิดกั้นกว่าเจ็ดแสนยูอาร์แอล โดยมีเนื้อหาเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา 54,330 ยูอาร์แอล มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลที่เกี่ยวพันกับหมวดความมั่นคงของรัฐ 20% เป็นคดีหมิ่นสถาบันฯ 16.76% ดังนั้นที่สุดแล้ว เมื่อพูดถึงปัญหาความมั่นคงในโลกสังคมออนไลน์ จึงอยู่ที่ความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมาตรา 112 ก็มีมานานแล้ว แต่ช่วงหลังๆ ถูกอ้างเยอะ อาจเพราะมีเหตุผลเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและสังคมออนไลน์คุมไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะใช้กฎหมายที่รัฐมีในการควบคุมจึงเปิดเผยตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ ถ้าพูดถึงความมั่นคง ในกรณีของไทยเป็นกรณีเฉพาะมาก รัฐใช้เครื่องมือกฎหมายอ้างความมั่นคงกับคนที่กระด้างกระเดื่อง ขณะที่ในต่างประเทศ ปัญหาความมั่นคงจากโลกออนไลน์นั้นเกิดจากภัยคุกคามจากต่างประเทศ เช่น จารกรรมข้อมูลทางการทหาร ไม่ใช่การจับกลุ่มพูดคุยหรือเห็นต่าง
สาวตรีกล่าวว่า สิ่งที่สังคมออนไลน์ท้าทายจึงคือ การท้าทายอำนาจรัฐ สถาบันต่างๆ ไม่ใช่เพียงสถาบันเบื้องสูง แต่ยังรวมถึงสถาบันย่อยๆ เช่น ท้าทายอำนาจสื่ออาชีพ ในแง่ความหลากหลายของข่าวสาร เพราะประชาชนผู้ให้ข้อมูลไม่ได้ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำ ไม่ถูกแทรกแซง และยังท้าทายแนวคิดทั้งมวลที่ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ซึ่งสุดท้ายแล้ว จะเกิดการปรับตัวของกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้ สาวตรีทิ้งท้ายว่า เมื่อพูดถึงการใช้เสรีภาพที่ต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นนั้น ควรเป็นวิธีคิดทั้งของประชาชนและของรัฐด้วย หากไม่ล่วงละเมิดซึ่งกันและกัน ก็จะไปต่อได้