WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, February 16, 2011

ดร.โกร่ง คนเดินตรอก เตือนสติรัฐบาลแก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ยกกรณีชายแดน"ไทย-มาเลย์" เราเคยทำมาแล้ว

ที่มา มติชน



ไทย-กัมพูชาบ้านใกล้เรือนเคียง

คนเดินตรอก

วีรพงษ์ รามางกูร

การปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาในที่สุดก็เกิดขึ้นจนได้ ภาพผู้คนต้องอพยพหลบลี้หนีภัยจากการปะทะกันเป็นภาพที่น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง

ข่าวการเสียชีวิตของพลเรือนและทหารของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็เป็นข่าวที่สะเทือนใจ เสียดายชีวิตคนหนุ่มของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง ข่าวว่าฝ่ายใดเสียชีวิตหรือฝ่ายใดบาดเจ็บเท่าไหร่ อย่างไร ล้วนเป็นข่าวที่เศร้าสลดใจเท่าเทียมกัน เพราะการบาดเจ็บ การเสียชีวิตของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองของทั้ง 2 ประเทศก่อขึ้น หาใช่เพราะประชาชนของทั้ง 2 ฝ่ายไม่

ประชาชนตามบริเวณชายแดน ซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันคงไม่มีใครปรารถนาให้เกิดขึ้น บิดามารดาญาติพี่น้องของทหาร ไม่ว่าจะเป็นพลทหารหรือนายทหารก็คงไม่มีใครยินดีปรีดากับการปะทะกันจนเกิดความสูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย

การใช้กำลังเข้าปะทะกันในโลกสมัยใหม่เป็นของล้าสมัยไปเสียแล้ว สำหรับผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้แก้ปัญหา จะมีเหลือก็แต่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่สถาปนาตัวเองเป็นตำรวจโลกในนามของสหประชาชาติ ใช้กำลังเข้าแก้ปัญหาของโลกเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน ขอย้ำว่าเพื่อประโยชน์ของสหรัฐเอง เขาเลือกใช้วิธีนี้ได้เพราะเขาเป็นมหาอำนาจชั้นหนึ่งของโลกประเทศเดียวในขณะนี้ ส่วนประเทศเรานั้นไม่ใช่

การเดินแต้มทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์อะไรก็แล้วแต่ ควรต้องมองไปข้างหน้าไกล ๆ ว่าในที่สุดจะลงเอยอย่างไร ประชาคมโลกจะมองภาพที่เกิดขึ้นอย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นควรมองอย่างผู้ที่ใช้ปัญญา มองให้ออกว่าผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศชาติและประชาชนของเราอยู่ที่ใด ภายใต้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ภายใต้ข้อเท็จจริงของกฎหมายระหว่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขของการเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ภายใต้เงื่อนไขของการเป็นสมาชิกอาเซียน เราไม่ใช่อภิมหาอำนาจอย่างอเมริกา ในสายตาของประชาคมโลกเราเป็นประเทศเล็กทั้งในแง่เศรษฐกิจ และอำนาจทางทหารประเทศหนึ่งเท่านั้น

ปัญหาชายแดนกับกัมพูชาที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีอยู่ 3 ปัญหาใหญ่ คือ

1.พื้นที่บริเวณรอบ ๆ ปราสาทพระวิหารที่ทางเราขีดไว้ หลังจากที่ศาลโลกได้ตัดสินไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 มาสมัยนี้จะยกขึ้นมารื้อฟื้นก็คงจะยาก เพราะเวลาผ่านไปนานแล้วพ้นกำหนดที่จะอุทธรณ์แล้ว คำสงวนที่ท่านถนัด คอมันตร์ สงวนไว้ว่าถ้ามีข้อมูลใหม่ก็จะยกขึ้นมาใหม่ได้ก็ผ่านพ้นไปนานแล้ว

ฝ่ายที่อยากจะรื้อฟื้นน่าจะเป็นฝ่ายกัมพูชา แต่ฝ่ายที่ไม่อยากให้คณะมนตรีความมั่นคงรื้อฟื้นน่าจะเป็นฝ่ายเรา ข่าวคราวเช่นว่าได้แพร่หลายไปทั่วโลกแล้ว เป็นข่าวที่น่าจะไตร่ตรองดูว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียกับเราในอนาคตข้างหน้าอย่างไร แนวโน้มของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร

จริงอยู่การรับหรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงก็เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ แต่เรามีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การเงิน การทหารแค่ไหนที่จะทำให้มหาอำนาจ 5 ชาติในคณะมนตรีความมั่นคงไม่รับเรื่องไว้พิจารณาอย่างไร

ถ้าคณะมนตรีความมั่นคงรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว เรื่องก็คงต้องส่งกลับไปที่ศาลโลกอีกครั้ง เพื่ออธิบายเรื่องคำว่า′พระวิหาร′ ซึ่งศาลโลกเคยตัดสินไปแล้วว่าเป็นของกัมพูชาตามแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นและตัดสินว่า เรายอมรับโดยปริยายมานานแล้ว แม้จะมิได้ยอมรับอย่างเป็นทางการก็ตาม ถ้าเรื่องกลับไปศาลโลกใหม่ เราควรมีสติปัญญาพิจารณาว่าเราจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ

สิ่งที่เราควรจะห่วงมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องของการสู้รบว่าใครจะชนะใครจะเสียชีวิตเท่าไหร่ เพราะกองทัพกัมพูชาอย่างไรเสียก็คงจะสู้กองทัพไทยไม่ได้อยู่แล้ว หากแต่ประชาคมโลกจะมองว่าอย่างไร เราจะชนะหรือแพ้ในสายตาชาวโลก

บรรพบุรุษของเราเคยสั่งสอนเรามาว่า ที่เราเป็นใหญ่มาได้จากการชนะขอมและรักษาอำนาจเช่นว่านั้นมาได้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็เพราะเรารู้จักประสานประโยชน์ ในที่สุดขอมที่ทำไร่ไถนาอยู่ในดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็กลายเป็นคนไทย เช่นเดียวกับชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย ในที่สุดก็กลายเป็นคนไทย

ที่สำคัญเราอยู่รอดมาได้เพราะโอนอ่อนผ่อนปรนกับกระแสของมหาอำนาจตลอดมาแต่โบราณ ทั้งจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ท้ายที่สุดอเมริกา ต่อไปอาจจะกลับมาเป็นจีนอีก ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง บรรพบุรุษของเราก็นำพาประเทศชาติเป็นเอกราชมาได้จนบัดนี้

ถ้ากระแสของประชาคมโลกบังคับให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องรับเรื่องไว้พิจารณา ดูตามรูปการณ์แล้วไม่น่าจะเป็นผลดีกับประเทศของเรา

รัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่ายมาแล้วก็ไป ไม่ช้าก็เร็ว แต่ประชาชนของทั้ง 2 ฝั่งที่เป็นญาติพี่น้องกัน ทำมาค้าขายกัน ข้างหนึ่งร่ำรวยไม่มีคนอยากทำงาน ข้างหนึ่งยังยากจนอยากมีรายได้ อยากมีงานทำ เกื้อหนุนกันดีด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

2.เพิ่งอ่านข่าวว่าหลักเขตแดนที่สยามทำไว้กับฝรั่งเศส เมื่อปี 1909 จำนวน 73 หลัก ตั้งแต่ช่องแม่สงำ จังหวัดศรีสะเกษไปถึงบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด บางแห่งพวกเขมรแดงก็ย้ายเข้าไปในเขตกัมพูชา บางแห่งนายทุนทำไม้คนไทยก็ย้ายหลักเขตเข้ามาในฝั่งไทย เพื่อจะลักลอบตัดไม้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ

แต่เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก ถ้าทั้งเราและกัมพูชาจะมีทัศนคติอย่างบ้านใกล้เรือนเคียง ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น นักวิชาการทั้ง 2 ฝ่ายก็น่าจะทำกันได้ ขออย่างเดียวนักการเมืองทั้ง 2 ฝ่ายอย่าใช้เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ทางการเมืองจากเรื่องนี้

สื่อมวลชนอย่าเข้ามาสร้างกระแสชาตินิยมแบบก่อนสงครามโลกครั้งที่สองอีก เรื่องก็อาจจะจบลงได้ ดูอย่างชายแดนไทยมาเลเซียยังตกลงแลกที่ศาลเจ้ากับมัสยิดที่อังกฤษ เอาศาลเจ้าไปไว้ในมาเลเซีย แล้วเอามัสยิดมาไว้ฝั่งไทย ข้อเท็จจริงเราก็ยังตกลงแลกที่กันได้ และไม่ได้สนใจว่าใครเสียที่ไปกี่ตารางนิ้ว ใครได้เกินอีกฝ่ายกี่ตารางนิ้ว ก็ยังทำกันได้ ที่ทำได้เพราะระหว่างทำไม่เป็นข่าว เมื่อไหร่เป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ก็จะทำไม่ได้ทันที ประชาชนทั้ง 2 ฝั่งเขาก็ดีใจ สบายใจ เนื่องมาจากคนกรุงเทพฯไม่รู้

ในโลกสมัยใหม่เรื่องเขตแดนใช่เรื่องใหญ่ถ้าไม่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเศรษฐกิจทำมาค้าขายเป็นเรื่องใหญ่กว่า เรื่องความสงบสุขสำคัญกว่า ดูแต่สิงคโปร์ ลี กวน ยู อยากจะอยู่ร่วมเป็นประเทศมาเลเซีย แต่ตวนกู อับดุล ราห์มัน บิดาของประเทศมาเลเซียมองการณ์ไกลขับไล่สิงคโปร์ออกจากมาเลเซียไปตั้งประเทศใหม่ ความสงบสุขของมาเลเซียเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องดินแดน ตวนกู อับดุล ราห์มัน ท่านเลือดคนไทย เพราะมารดาท่านเป็นคนไทย ไม่เห็นมีใครประฌามท่านว่า ท่านทำให้มาเลเซียเสียดินแดน

คำว่า ′จะไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว′ ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากความขมขื่นครั้งมหาอำนาจยุคล่าอาณานิคม เราจะต้องคิดด้วยสติและปัญญา ว่าสมัยนี้ยังคงเป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษกับเราหรือไม่ เมื่อกระแสของโลกกลายเป็น ′โลกาภิวัตน์′ กลายเป็นโลกที่ไร้พรมแดนในวันนี้ เราเองก็ปรับตัวอนุวัตรไปตามกระแสเช่นว่านั้นเสียแล้วด้วย มาร่วมกันหาประโยชน์จากของที่เรามีอยู่ร่วมก็ไม่ดีกว่าหรือ

อีกกี่ร้อยกี่พันปีเราก็คงมีเพื่อนบ้านเป็นมาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา ต่อไปก็เป็นอินโดนีเซีย บังกลาเทศ อินเดีย จีน และเวียดนาม ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรม และดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ถ้าหากมีสันติภาพ ความสำคัญของเขตแดนที่มหาอำนาจเจ้าอาณานิคมทำไว้ควรจะลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ

ยุโรป อเมริกา เมื่อ 200 กว่าปีก่อนก็เป็นอย่างนี้ จนมีสันนิบาตชาติ จนมีสหประชาชาติ จนมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม การค้าขายเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีอารยธรรมสูงส่งขึ้น ประเทศใหญ่ประเทศเล็กจึงอยู่กันมาด้วยความสงบสุข เจริญรุ่งเรืองมาด้วยกัน

3.เรื่องพื้นที่ทับซ้อนห่างทะเล เมื่อก่อนไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เพราะเทคโนโลยีในการขุดค้นทรัพยากรทางทะเลไม่ก้าวหน้ามาก และทรัพยากรที่สำคัญคือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และการประมง ราคาน้ำมันพลังงาน และสัตว์น้ำในทะเลยังไม่แพงนัก

เมื่อเจ้าอาณานิคมตั้งกฎเกณฑ์เอาไว้ว่า ดินแดนของประเทศต่าง ๆ มีเพียงปืนใหญ่ยิงถึง คือ 3 ไมล์ทะเล ไกลกว่านั้นเป็นน่านน้ำสากล ทุกฝ่ายก็รับกันได้ทั้ง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าอาณานิคม

เมื่อมีการขยายเขตไหล่ทวีปในแง่ทรัพยากรไปถึง 200 ไมล์ทะเลก็เกิดปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกัน พื้นที่ทับซ้อนนี้ไม่มีวันจะตกลงกันได้ ทั้ง 2 ฝ่ายก็เลยเสียโอกาสในการจะได้ทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ทับซ้อนกันนี้

เรื่องนี้เราก็ได้ตระหนัก จึงได้พูดคุยเจรจากับมาเลเซียตกลงกันไม่ต้องขีดเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปในทะเลกัน แต่ตั้งชื่อเสียใหม่เป็นพื้นที่พัฒนาร่วม หรือ Joint Development Area ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติร่วมกัน แบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ทำการประมงร่วมกัน

ทิ้งความขัดแย้ง ว่าจะขีดเส้นแบ่งอาณาเขตกันไว้เบื้องหลัง มาลงทุนร่วมกัน ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่เรื่องที่เราไม่เคยทำ ทำกันมาแล้วกับมาเลเซีย

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก่อ หรือทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันก่อขึ้นก็ตาม แต่สื่อมวลชนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อก่อกระแสความรักชาติหรือชาตินิยม

การปลุกกระแสชาตินิยมจะติดหรือไม่ก็อยู่ที่สื่อมวลชนจะชี้นำไปในทางใด เราที่เป็นผู้เสพข่าวต้องระลึกเสมอว่า ข่าวจากการสู้รบนั้นต้องกลั่นกรองด้วยสติปัญญา มิฉะนั้นเราเองจะเป็นผู้ทำให้ผู้นำของเราไม่มีทางเลือก ต้องกระทำไปตามกระแสการรักชาติ ซึ่งบางทีไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่เราเสพ ถ้าเรามีสติไม่สร้างกระแสบีบบังคับให้ผู้นำทางการเมืองและการทหารของเราไม่มีทางเลือกที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติของเราในระยะยาว พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนในสถานการณ์นั้น ๆ

ข้อสำคัญต้องคิดไปไกล ๆ ว่าถ้าคณะมนตรีความมั่นคงเกิดรับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว เราจะรับหรือจะรุกอย่างไร ทางหนีทีไล่จะเป็นอย่างไร จะคิดไปตายเอาดาบหน้าหรือ ลูกหลานของเราจะตายไปเสียเปล่า ๆ เป็นเรื่องที่น่าเสียใจยิ่งนัก

ขอให้ระลึกเสมอว่า ชีวิตคนมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคนไทยหรือชีวิตคนเขมร ล้วนเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ขอให้เราจงตั้งสติให้ดี

...............

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ คลิกอ่านข่าวหมวดอื่นๆเพิ่มเติม