ที่มา มติชน
ชมตัวอย่างการเสวนาของรศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คลิกที่นี่ ชมตัวอย่างการเสวนาของศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล คลิกที่นี่ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมมาลัยหุวนันท์ ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาทางวิชาการ "รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ครั้งที่ 1" เรื่อง "ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร" โดยมี ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย วิสคอนซิล-เมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า การเรียนวิชาประวัติศาสตร์พูดผิวเผินเรื่องการเสียดินแดน ไม่ได้โทษว่าหลักสูตรไม่ดี แต่คิดว่ากระบวนการกล่อมเกลาไม่ได้สร้างให้เรารู้ภาพบางเรื่อง โตขึ้นมาก็ไม่รู้ พอมีปัญหาก็ไม่ชัดเจนกับตัวเอง และคิดว่าคนไทยยุคหลังลืมว่าศาลโลกตัดสินเรื่องเขาพระวิหารในปี พ.ศ. 2505 แล้ว เราลองย้อนไปนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ถามเล่นๆว่าร้านกาแฟตั้งคร่อมระหว่างเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียม ตัวอย่างพวกนี้นำไปสู่ประเด็นที่เคยนำเสนอคือ เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ตอนที่เปลี่ยนสนามรบรอบแรกคือชาติชาย รอบสองคือทักษิณ และทั้งสองรัฐก็จบด้วยรัฐประหาร ถ้าตัดประเด็นทักษิณ ชาติชายทิ้ง มีห้าทางเลือก เรามีห้าทางเลือก คือหนึ่งไปศาลก็ต้องใช้เอกสารเดิม คำถามคือจะชนะไหม สองเจรจาพหุภาคีซึ่งเราก็ไม่เอา เพราะอดีตเราเคยคืนดินแดนที่ยึด เรากลัวอีกมุมหนึ่งคือสุดท้ายถูกผลักขึ้นศาลก็จบแบบเดิม สามคือ แบบทวิสองฝ่ายคือประชุมเจบีซี แล้วไป"ยูเอ็นเอสซี" จะให้ประชุมสองฝ่าย อยากฝากสื่อให้เผยมติยูเอ็นเอสซี คำตอบคือเกิดภายใต้กรอบพหุหรือผ่านอาเซียน ยกเว้นแต่เราจะบอกว่ายูเอ็นออกมติผิด หรือสุดท้าย ไม่รบ เพราะพื้นที่ตัดสินไม่ได้ แต่ก็เปลี่ยนพื้นที่ขัดแย้งเป็นพัฒนาร่วม อย่างเจดีเอ ไทยมาเลย์ เราเปลี่ยนด้วยการทำความตกลงเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม เรามีความสำเร็จที่สามารถทำความตกลงลาดตระเวนร่วมระหว่างไทย เวียดนาม ไม่ยึดตัวพื้นที่แต่เอาปฎิบัตการเป็นตัวตัดสิน ลองคิดว่าร่วมฉลองมรดกโลกกับพี่น้องในพนมเปญ พอเราทำใจไม่ได้ข้อพิพาทก็ไม่หนีไปไหน ถ้าไม่อยากขึ้นศาล เราหันมาทำพื้นที่พัฒนาร่วมกันเส้นทางท่องเที่ยวแหล่งใหญ่ก็เกิดขึ้น ด้าน ศ.ดร. ธงชัย กล่าวว่า มีด้วยกัน 4 ประเด็นใหญ่ คือ 1. ฐานสาเหตุที่ปะทุขึ้นมาของความสัมพันธ์ระหว่างความคิดและการเสียดินแดน จะเรียกว่าลัทธิความเชื่อก็ได้ "ลัทธิชาตินิยมไทย" แยกไม่ออกตั้งแต่ต้นเรื่องการเสียดินแดน 2. การตีเส้นเขตแดน ความเข้าใจผิดเรื่องเส้นเขตแดน 3. เรื่องกรณีปราสาทเขาพระวิหาร 4. ความขัดแย้งไทย กัมพูชาไม่ใช่เรื่องเส้นเขตแดนทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะเรื่องการเมืองไทย ศ.ดร.ธงชัย กล่าวเปรียบเทียบปัญหามีเรื่องใหญ่มากเหมือนช้างตัวหนึ่งอยู่ในห้องแต่สังคมไทยเรามองไม่เห็น ตราบใดที่เรายังไม่ตระหนักว่ามีช้างอยู่ในห้องก็ไม่รู้ต้องรบกันอีกกี่ร้อยยก เริ่มจากประเด็นเรื่องที่ 1. อุดมการณ์ชาตินิยม เรื่องการเสียดินแดนซึ่งเคยเขียนไปแล้ว แต่ที่คนอ่านไม่รู้เรื่อง อาจจะเพราะว่าขัดกับความเชื่อ ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นความเชื่อ จึงยากมากที่จะสลัดความเชื่อออกไปได้ ความเป็นไทยและชาตินิยมไทย ถือกำเนิดมาพร้อมกับการถูกคุกคาม แยกกันไม่ออก มา 100 กว่าปี กำเนิดมาด้วยกันกับลัทธิเสียดินแดนค้ำจุ้นความเป็นไทยไว้ ความภูมิใจของการไม่เป็นเมืองขึ้นถูกปลุกมาพร้อมกับความเจ็บปวดเรื่องเสียดินแดน ในยุโรปก็ประมาณ 200 ปี เริ่มมีเรื่องความขัดแย้ง เรื่องอธิปไตยเหนือดินแดน มีการเสียดินแดน ที่เสียมาได้ไปอยู่อย่างนี้ ศ.ดร.ธงชัย กล่าวอีกว่า ระบบเมืองขึ้นสยามในสมัยนั้นขึ้นต่อเมืองอื่นเกินสองแห่งทั้งนั้น ขอถามว่ามีเมืองขึ้นใดบ้างที่จ่ายเครื่องบรรณาการ ต่อเมืองสยามเพียงแห่งเดียวซึ่งไม่มีเลย เราเชื่อแผนที่สุโขทัย เชื่อแผนที่ว่า ร.1 มีพื้นที่ใหญ่เท่านั้นเท่านี้ การเสียดินแดน 14 ครั้ง อาศัยแผนที่ทางประวัติศาสตร์ ไม่น่าเชื่อถือเลย เพราะถูกสร้างขึ้นมา แม้จะรู้เป็นอย่างดีว่าประเทศเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นต่อประเทศสยามแต่เพียงผู้เดียว "คิดว่าจะเกิดอะไรกับภาษาไทยถ้าคืนคำว่า "ก็" ให้เขมร คงเกิดความโกลาหลกับประเทศไทยเราคงพูดไม่ออกไปอีกเยอะเลย เพราะภาษาไทยไม่มี "ไม้ไต่คู้" หรอก" ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ปัญหาพรมแดนเกิดจากเรื่องมากมายที่น่าสนใจ รากของปัญหา คือ การเมืองไทย หากความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านก็เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เหมือนไทยกับมาเลเซียเป็นพรมแดนที่สั้่นที่สุด แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ แต่พัฒนาเป็นเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม ส่วนรากของปัญหาไทยที่ขัดแย้งกับกัมพูชา คือ การเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนัก
ฝรั่งเศสเข้าสู่ภูมิภาคเราประมาณค.ศ. 1859 เขาได้ไซง่อน เริ่มขยายอิทธิพลไปในแม่น้ำโขง แน่นอนว่าปะทะกับผู้มีอำนาจรัฐในท้องถิ่นที่เป็นหลักอยู่ อย่างพวกโพกผ้า, พวกอยู่ตรงกลาง และพวกด้านตะวันออกของพรมแดนเรา ต่อมาก็เหลือเจ้าพ่อเดียว ตรงลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่วันหนึ่งก็ต้องเผชิญกับเจ้าพ่อจากปารีส คิดว่าเริ่มเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงชุดใหญ่ เมื่อถึงจุดนี้สิ่งที่ฝรั่งเศสคิดว่าเป็นอุปสรรคในการขยายตัวคือ พื้นที่ของสยามที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่คิดว่าจะขยายอิทธิพล
จุดที่ใหญ่ที่สุดคือวิกฤติการรศ. 112 ที่เรือของฝรั่งเศสถึงขั้นตั้งศูนย์ยิง แต่โชคดีคือเรายิงเรือนำล่องของฝรั่งเศสจม ถ้าวันนั้นพลแม่นปืนยิงเรือรบหลักอีกสองลำจมการเจรจาที่กทม.ก็คงไม่เกิดและเราอาจพูดภาษาฝรั่งเศสกันทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเวลาที่การเจรจาเกิดทำให้เกิดสนธิสัญญา 1893
หลังจาก 1893 นั้นก็มีการทำการตกลงพ่วง เรียกว่าเป็นอนุสัญญา 1904 เป็นผลพวงจากปี 1893 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นพอตกลงได้ฝรั่งเศสก็ออกไปยึดเมืองตราด สุดท้าย เราเริ่มมีปัญหาคือเราไม่มีเส้นเขตแดนกำกับตัวประเทศ แต่ที่เรารับเข้ามาคือความเป็นรัฐสมัยใหม่ หรือประเทศ สองคือ เมื่อเป็นประเทศก็มีตัวเส้นเขตกำกับขอบเขตของภูมิศาสตร์ ของตัวเอง เพราะความเป็นสมัยใหม่มีอำนาจอธิปไตยจึงต้องตอบว่าอำนาจอธิปไตยของรัฐสิ้นสุดตรงไหน เพราะฉะนั้น เมิ่อเริ่มพูดใน 1904 ร. 5 จึงคิดว่าสยามต้องเป็นประเทศเหมือนในยุโรปเพราะหวังว่ามีเส้นเขตแดนแล้วสยามจะมีข้ออ้างเมื่อฝรั่งเศสรุกเข้ามา
ปี 1907 ในหลวงร.5 เราแลกดินแดนเพื่อยุติปัญหากับฝรั่งเศส เราแลกดินแดนสามส่วนซึ่งขอเรียกว่าตรงนี้ว่า พระราชวินิจฉัยทางยุทธศาสตร์ สัญญาเหล่านี้เป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสทั้งหมด เมื่อมีการตกลงแล้วก็ต้องมีการปักปัน เมื่อการปักปันเริ่มขึ้นนำไปสู่การตีพิมพ์แผนที่ปักปัน
อนุสัญญากับหนึ่งแผนที่นั้น เป็นคำถามกับเราว่า ตกลงเรารับหรือไม่ว่าในหลวงของเราได้ให้สัตยาบันแล้ว เพราะเมื่อมีการให้แล้ว ปัญหาคือข้อหนึ่งของอนุสัญญาระบุว่าการปักปันเขตแดนให้ใช้เส้นน้ำ และข้อสามที่ว่ามีการให้จัดคณะกรรมการร่วมจัดการปักปัน ถ้าเราไม่ยอมรับว่าการปักปันเกิดขึ้นจริงหรือ ยอมรับหรือไม่ว่าเป็นการปักปันแบบผสม ซึ่งยืนยันได้ว่าข้อสามมีการจัดตั้งคณะกรรมการผสม เพราะฉะนั้น ข้อถกเถียงตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 ว่าการปักปันเป็นการดำเนินการโดยเอกเทศนั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะเรามีเอกสารยืนยันว่าเป็นการร่วม
ส่วนปัญหาการรับหรือไม่รับแผนที่นั้น แนวพรมแดนเราปักปันแบ่งออกเป็น 11 ระวาง เมื่อแผนที่ที่ปักปันตีพิมพ์เสร็จรัฐบาลไทยก็ขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสตีพิมพ์เพิ่มขึ้นอีก คำขอในการสั่งตีพิมพ์จากรัฐบาลสยามถือเป็นผลผูกมัดว่ารัฐบาลยอมรับแผนที่ปักปันเขตแดนแล้ว แผนที่หนึ่งต่อสองแสนที่เราได้ยินนั้นก็คือแผนที่ชุดนี้
ประเด็นการรับแผนที่บางระวางและไม่รับระวาง คำตอบคือเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้ารับคือต้องรับทั้งแนว ส่วนเรื่องเอกสารลับ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่มีแผนที่ลับ ความตกลงลับอยู่ตามที่บางคนเข้าใจ พอมีปัญหาในปีพ.ศ. 2502 ศาลตัดสินชัดลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ไทยต้องรับเพราะมีมติจากยูเอ็น เราทำรีพอร์ทกลับไปว่าเราได้ดำเนินการคือ ต้องชักธงไตรรงค์ลงจากหน้าผา, คืนวัตถุโบราณบางชิ้น คำถามคือพื้นที่รอบปราสาทนั้นมีเส้นหรือไม่ เวิ้งตรงนั้นเราตัดแล้ว แต่มันเกิดข้อโต้แย้งว่ากัมพูชาได้แต่ตัวปราสาท แต่พื้นที่ใต้ตัวปราสาทเป็นของไทย จนมีทฤษฎีเรื่องมือถือ ซึ่งกล่าวว่ากัมพูชาลืม "มือถือ" เอาไว้บน "โต๊ะ"ของไทย ซึ่งเรื่องอสังหาริมทรัพย์กับสังหาริมทรัพย์มีความต่างกัน
ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ นั้นได้บอกว่าการสงวนสิทธิทางกฎหมายให้ไทยสามารถยื่นหลักฐานโต้แย้งได้ แต่ทางไทยไม่ได้มีหลักฐานใหม่ในทางกฎหมายซึ่งเกินระยะเวลา 10 ปีมาแล้วด้วย
ข้อโต้แย้งสงครามอินโดจีน อนุสัญญาโตเกียวนั้นไปจบที่วอชิงตันแล้ว ท้ายที่สุดเราคืนดินแดน เมื่อปัญหาผ่านมาทั้งหมดเราทำความตกลงช่วยจำหรือที่เรียกว่า "เอ็มโอยู 43" คือกรอบของการทำความตกลง ว่าถ้าในอนาคตข้อตกลงที่จะใช้เป็นบรรทัดฐานจะอยู่บนหลักฐาน "สามอนุสัญญาและหนึ่งแผนที่ปักปัน" เพราะฉะนั้นเลิกหรือไม่เลิก ข้อตกลงของเดิมก็ไม่ออกไปไหน
แผนที่หนึ่งต่อห้าหมื่นเป็นแผนที่ที่กองทัพสหรัฐทำในช่วงเวียดนาม แผนที่ทหารเป็นแผนที่ยุทธการไม่ใช่แผนที่เพื่อการปักปันเขตแดน ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างได้เพราะเป็นแผนที่เพื่อการทหาร ตกลงวันนี้พื้นที่ทับซ้อนแนวเส้นเขตแดนเกิดจากเส้นลากในคณะกรรมการปักปัน รอยเหลื่อมระหว่างเส้นเขตแดนระหว่างสันปันน้ำ ที่ขอบหมายความว่าเราต้องทำใจเพราะปี 2505 กัมพูชาไม่ได้ฟ้องเรื่องเขตแดนถ้าฟ้องคงเป็นเรื่องปัญหามากกว่านี้
ถ้าประเด็นเป็นแบบนี้ ประเด็นจะไปถึงเรื่องทางออกสุดท้ายคือ "การรบที่ภูมิซรอล" เพราะถ้าเราไม่รับอะไรเลย ต้องกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ใหม่ เพราะรัฐบาลแต่ละช่วงก็ดำเนินการอย่างประนีประนอม เพื่อไม่ให้กลับไปสู่การนำไปสู่การตัดสินด้วยภายนอกอย่างสมัยที่มีการตัดสินด้วยศาลโลก
ซึ่งอีก 4 ปีข้างหน้าเขตความเศรษฐกิจอาเซียนก็จะมาถึง แล้วเราจะทำอย่างไรเมื่อเส้นเขตแดนไม่มีความหมาย แรงงานก็จะข้ามได้อย่างเสรี ตำรวจไทยไม่ต้องไล่จับโรฮิงยา โจทย์เรื่องอาเซียนต้องมาถึงแน่ วันนี้ยังเดินนโยบายแบบนี้ก็ลำบาก
"เราถูกสอนมาตลอดว่า เราเสียดินแดน แต่ผมมาบอกว่า เราไม่เสียดินแดน แต่เคยมีสักคนถามไหม ว่า มีหลักฐานอะไรว่าเราเสียดินแดน เพราะเราเสียดินแดนตั้งแต่ก่อนมีคนไทยอีก ก่อนมีประเทศไทยอีก ความคิดเรื่องการเสียดินแดนมีหลายประเทศในเอเชีย ชาตินิยมหลายประเทศในเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อรูปก่อร่างออกมาโดยมีลัทธิความเชื่อ ที่พูดถึงการถูกทำให้ละอาย อย่างแสนสาหัส เขาต้องประกาศว่าตัวเองถูกรังแกให้น่าละอาย แต่ถูกรังแกบ่อยเหลือเกิน ทั้ง จีน เกาหลี ไม่ใช่เพื่อประจานตัวเอง แต่เพื่อปลุกเร้าชาตินิยม ในการเสียดินแดน ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่อีกด้านหนึ่งที่เราบอกว่าตัวเองเสียดินแดน"
"รัฐสมัยโบราณ เป็นรัฐแบบเจ้าพ่อ ไม่ได้ตายตัวแบบอธิปไตยเหนือดินแดน เหมือนเราเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1ที่ 2 ไม่ได้หมายความว่าเราเสียดินแดน หรือการเป็นเมืองขึ้น หรืออย่างกรณีพระนเรศวรประกาศอิสรภาพก็ไม่ได้หมายความอย่างนั้น สมัยที่พระนเรศวรเข้มแข็งเพราะทางพม่าอ่อนแอลง จากเอกสารเก่าพระนเรศวรไม่เคยประกาศอิสรภาพ แต่ประกาศแยกตัวออกมาจากพม่า เพราะการประกาศอิสรภาพหมายถึงเราต้องใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค"
"นอกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.แล้ว มีพื้นที่ซ้อนทับเต็มไปหมด เพราะเราคิดว่า เป็นที่ของเรา การเสียดินแดน 14 ครั้ง เป็นความเชื่อแบบผิดๆ ร้อยปีก็เปลี่ยนไม่ได้ ถ้าอยากเชื่ออย่างนั้นว่าคนไทยมาจากไหน ถูกจีนไล่มา เราเสียดินแดนมองโกเลียในแถบเขาอัลไต ถูกไล่มาเรื่อย ๆ เราเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไร้สาระ ลัทธิการเสียดินแดน เป็นความเชื่อในประวัติศาสตร์ที่ผิดๆ ลัทธิชาตินิยม สร้างความเจ็บปวด จากการเสียดินแดน ทั้งหมดเป็นลัทธิความเชื่อ ที่ไม่มีมูลทางประวัติศาสตร์ ยากเหลือเกินที่จะทำให้คนเชื่อว่าเป็นลัทธิไร้สาระได้"
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า หลักฐานความทรงจำของสงครามอินโดจีนที่ไทยบุกไปยึดดินแดนของกัมพูชา ที่สำคัญ คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ในการจัดงานแต่ละครั้งไม่มีการรำลึกถึงทหารที่ไปรบในสงครามอินโดจีน แต่เป็นอนุสาวรีย์ที่ใช้กับอะไรก็ได้ เพราะใช้ในการรำลึกทหารผ่านศึก เพื่อลบความทรงจำในการต่อสู้ที่อินโดจีน
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวถึงประเด็นต่อมา เรื่องเส้นเขตแดน คือ มรดกยุคอาณานิคม ใครก็แล้วแต่ ที่บอกว่าอย่าไปเชื่อเส้นเขตแดนยุคอาณานิคม เพราะชาติไทยทั้งชาติเป็นมรดกยุคอาณานิคมที่มีเส้นเขตแดนมากมายรอบประเทศไทยในปัจจุบัน แล้วทำไมจะไม่ยอมรับแค่เส้นเขตแดนเขาพระวิหาร หากจะรบกันสามารถรบได้ทุกจุดรอบประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย หากจะรู้ว่ารบตรงไหนจะชี้ให้ว่ารบตรงไหนบ้าง หากจะใช้วิธีอย่างปัจจุบัน รบรอบประเทศไทยเลย เพราะว่าพรมแดนที่ยุคอาณานิคมทิ้งไว้เข้ากันไม่ได้กับรัฐยุคโบราณ และเส้นเขตแดนตัดกลางชุมชนที่เป็นวัฒนธรรมเดียวกัน พวกเขาจึงต้องข้ามไปหากัน เส้นเขตแดนสันปันน้ำ สภาพทางภูมิศาสตร์เปลี่ยนแปลง ร่องน้ำลึกเปลี่ยนไปสันปันน้ำก็เปลี่ยนได้ พรมแดนธรรมชาติเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นสันปันน้ำที่อยู่ในสนธิสัญญาจึงไม่ใช่เส้นเขตแดน
"เขตแดนจึงเป็นเรื่องเทคนิคอยากรบ รบได้รอบประเทศไทย ถ้าหากไม่อยากรบ เป็นเรื่องของเทคนิคปล่อยให้เจ้าหน้าที่เทคนิคจัดการแล้วปล่อยให้รัฐบาลที่มีความสัมพันธ์ดีต่อกัน จัดการไม่ดีกว่าหรือ เพราะมันตกลงกันไม่ได้ แต่ถ้าใครไปยื้อให้รบกันตาย" ศ.ดร.ธงชัย กล่าว
ศ.ดร.ธงชัย กล่าวต่อว่า เรื่องพรมแดนธรรมชาติมีปัญหาอยู่จริง แต่ยังมีพรมแดนที่มนุษย์สร้างกันเองเป็นปัญหา อย่างเรื่องพรมแดนเขาพระวิหารเป็นหน้าผา และมีคลองบ้าง ส่วนใหญ่เป็นทุ่งโล่ง หมายความว่า การข้ามเขตรู้บ้างไม่รู้บ้างมีเป็นประจำ หลักเขตที่ปักไว้โบราณจริงๆ ยกออกได้ง่ายลักษณะเหมือนหลักกิโล ช่วงอรัญประเทศ เพราะว่ารัฐไทยเคยใช้ให้เป็นทางผ่านที่เขมรแดงใช้รบหลบเข้ามาในประเทศไทย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าทุ่นระเบิดเต็มไปหมด เฉพาะทหารเท่านั้นที่ผ่านไปได้ การแก้ปัญหาหลักเขต จะไปแก้ปัญหาเหล่านั้นแก้ได้ยาก กว่าจะไปแก้ได้คงอีกนาน พรมแดนที่มีการวางทุ่นระเบิดประมาณสามล้านลูก ในชายแดนไทยเขมร ซึ่งเป็นทุนระเบิดสารพัดประเทศที่หาคนกู้ได้ยากมาก
"จึงขอฝากช่วยกันคิดหน่อยว่า ถึงวันนี้ในความเห็นผม คิดว่าเวลาผ่านไปมองย้อนหลัง เราน่าจะเข้าใจวิกฤตได้ดีกว่าเดิม หลังผ่านวิกฤตฝุ่นตลบ ปัญหาชายแดนไทยเขมรเป็นโรคที่เกิดจากอะไร ในความเห็นของผม คือ เป็นโรคที่เกิดจากสอง ปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม และชนบทเปลี่ยนไปมากแล้ว แต่ชนชั้นนำไทย ไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อระบบเศรษฐกิจสังคมเปลี่ยน การเมืองก็ต้องเปลี่ยน ต้องปรับให้สอดคล้องกับกล่มชนชั้นเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ในการเปลี่ยนแปลงนั้น เขาได้รู้ว่าระบบการเลือกตั้งที่คนกรุงรังเกียจหนักหนา แต่สำหรับเขามีประโยชน์มาก การจะไปแสวงหาการเลือกตั้งที่ใสสะอาดไม่มีทาง หากเรายอมรับว่าระบบการเลือกตั้งไม่ได้สมบูรณ์ที่สุด แต่เอื้อสะท้อนผลประโยชน์ ที่นำมาแลกกันแล้วตกลงด้วยสันติ แค่นั้นเอง เศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนไปแล้ว แต่ระบบประชาธิปไตยที่กำลังเคลื่อนไปก็ถูกสกัดอย่างแรง
"ระบบการเมืองถูกทำลายเพราะกลัวว่าฝ่ายการเมืองจะขึ้นมาเป็น ผู้มีบทบาทในการคัดเลือกบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญสูงสุดในช่วงเปลี่ยนผ่าน เรื่องนี้มีทางออกทางเดียวเท่านั้น คือ ปรับระบบการเมือง การแก้ปัญหาต้องประนีประนอม ปล่อยตัวแกนนำเสื้อแดง เพื่อเปิดประตูที่จะนำไปสู่เรื่องความอึดอัดให้มาอยู่ในกรอบ และยกเลิกกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูป 600 ล้าน ที่แตะทุกเรื่องยกเว้นเรื่องที่ควรจะแตะ"