ที่มา มติชน ต้องยอมรับว่าปริมาณผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงในวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์นั้นมากจริงๆ ถ้าถามแกนนำนปช. อาจบอกว่าเป็นแสน แต่รายงานของตำรวจนั้นเป็นหลักหมื่น การถกเถียงเรื่อง "ตัวเลข" นั้น ต่างฝ่ายต่างก็ตีความเข้าข้างตัวเอง แต่ภาพที่ปรากฏก็คือ จากเวทีตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หันหน้าไปทางสี่แยกคอกวัว "คนเสื้อแดง" เต็มถนนราชดำเนินตั้งแต่หน้าเวทีไปถึงสี่แยกคอกวัว ส่วนด้านหลังเวทีนั้นยาวเหยียดจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปถึงสะพานผ่านฟ้า มีบางส่วนล้นไปถึงจปร. ปริมาณผู้ชุมนุมมากกว่าครั้งก่อนที่ผ่านมา ในขณะที่ "ม็อบเสื้อเหลือง" ที่ยืนหยัดมานานหลายวันที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ กลับมีจำนวนเพียงแค่หลักพันในช่วงค่ำ และหลักร้อยในช่วงกลางวัน ยิ่ง "ม็อบ 2 สี" มาประชันกันในวันเดียวกัน ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนถึงความแตกต่างของ "มวลชน" ที่สนับสนุน ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไม "ม็อบเสื้อเหลือง"จึงลดลงอย่างฮวบฮาบ และทำไม "ม็อบเสื้อแดง" จึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เพิ่งถูกปราบครั้งใหญ่ไปเมื่อ 8 เดือนก่อน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้จะมี "เอเอสทีวี" และสื่อในเครือจำนวนมากเป็น "นางกวัก" เรียกคน แต่ดูเหมือนว่าพลานุภาพของ "สื่อ" ในเครือจะลดความศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ผู้ชุมนุมตะโกนเรียกคนหน้าจอให้ "ออกมา...ออกมา..." แต่ "คนหน้าจอ" กลับนิ่งเฉย ด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะ "พันธมิตร" ในอดีตไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ หรืออีกด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะปริมาณคนดูเอเอสทีวี ลดน้อยลง มีการวิเคราะห์กันว่าเหตุผลที่ทำให้ "ม็อบเสื้อเหลือง" ลดลงมาจาก 3 สาเหตุ สาเหตุแรก คือ ประเด็นการเคลื่อนไหวแบบ "รักชาติ" อย่างรุนแรง ไม่มีเสน่ห์ดึงดูดสำหรับคนไทยในพ.ศ.นี้ ปริมาณคนเข้าร่วมจึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อทหารไทย ปะทะกับทหารกัมพูชา ทั้งที่การปะทะกันครั้งนี้น่าจะสร้างกระแส "คลั่งชาติ" เรียกคนมาร่วมชุมนุมได้อย่างถล่มทลาย แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของ "พันธมิตร" ในเรื่องนี้ สาเหตุที่สอง มาจาก "คู่ต่อสู้" คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ "ม็อบเสื้อเหลือง" ในอดีตที่เข้มแข็งและมีปริมาณมาก มาจากการหนุนช่วยของพรรคประชาธิปัตย์ หรือคนที่นิยมพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ "สนธิ ลิ้มทองกุล-พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" เลือกที่จะปะทะกับ "อภิสิทธิ์" เขาจึงรู้ว่า "ม็อบพันธมิตร" ที่คิดว่าขึ้นตรงกับเขานั้น แท้จริงแล้วมี "ใคร" ชักใยอยู่เบื้องหลัง แต่กว่าทั้งคู่จะรู้ พล.ต.จำลองและนายสนธิก็ถลำมาไกลเกินกว่าจะถอยหลัง สาเหตุที่สาม การเคลื่อนไหวของ "ม็อบพันธมิตร" ครั้งนี้ "เบาบาง" มากในเชิง "มวลชน" แต่ "รุนแรง" มากใน "เนื้อหา" การปราศรัยบนเวที สนธิทำลาย "มิตร" ในอดีตแบบไม่ไว้หน้า ไม่ว่าจะเป็น "เปลว สีเงิน" ของไทยโพสต์ "เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง" หรือแม้แต่ "อัญชลี ไพรีรักษ์" ที่เข้าไปช่วยงาน "จุติ ไกรฤกษ์" ในกระทรวงไอซีที โจมตีกลุ่มพันธมิตรฯที่ไม่ยอมออกมาชุมนุมว่าหลงความหล่อของ "อภิสิทธิ์" โจมตี พล.ต.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก อย่างรุนแรง ฯลฯ เขาใช้กลยุทธ์เก่าที่เคยได้ผลมาก่อนในอดีต คือ ทำให้ทุกคน "กลัว" ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ โดยลืมไปว่าพลานุภาพของ "มวลชน" และสื่อในเครือนั้นไม่เหมือนเดิม ยิ่งนานวัน กลุ่มพันธมิตรฯก็ยิ่งทำลายตัวเองลงเรื่อยๆ ยิ่งนานวัน กลุ่มพันธมิตรฯก็รู้แล้วว่าใครคือ "เส้นใหญ่" ตัวจริง ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่ม "คนเสื้อแดง" กลับเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การระดมคนเป็นหมื่นกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา แกนนำนปช.ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ลด "ความรุนแรง" ลง และใช้วิธี "รักษาจุดร่วม สงวนจุดต่าง" สร้างแนวร่วมมากขึ้น ที่สำคัญเรื่อง "สองมาตรฐาน" ที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อนำสิ่งที่แกนนำ นปช.ที่ถูกจำคุกโดยไม่ได้ประกันตัวมา เทียบกับแกนนำ "ม็อบพันธมิตร" ที่เจอข้อหาก่อการร้ายเหมือนกัน แต่ได้ประกันตัวและออกมานำการเคลื่อนไหวได้ เป้าหมายของ นปช.นั้นต้องการเพิ่มจำนวนคนเข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น "เท่าตัว" ทุกครั้ง และ 2 ครั้งที่ผ่านมา เขาทำสำเร็จ การชุมนุมครั้งต่อไปในวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ แกนนำ นปช.ต้องการเพิ่มจำนวนผู้ชุมนุมอีกเท่าตัว แม้จะดูเหมือนว่าเป็นการคุยคำโต แต่วันนี้ไม่มีใครกล้าสบประมาทว่า "เป็นไปไม่ได้" การเติบโตของ "ม็อบเสื้อแดง" และการถดถอยของ "ม็อบเสื้อเหลือง" นั้นมีบางสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและสวนทางกัน "ม็อบเสื้อเหลือง" ในอดีตเคยมีฐานมวลชนหลักคือ "คนกรุงเทพ" "ต่างจังหวัด" เป็นส่วนเสริม ในขณะที่ "ม็อบเสื้อแดง" นั้นต้องพึ่งพาจากคนต่างจังหวัด การชุมนุมใหญ่ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 "คนเสื้อแดง" จึงต้องระดมคนอีสานและภาคเหนือเข้ามาในกทม. เพราะรู้ว่าฐานสนับสนุนในเมืองกรุงนั้นไม่มากนัก แต่วันนี้กลับเปลี่ยนไป "คนกรุง" หนุน "ม็อบเสื้อเหลือง" น้อยลง สังเกตได้จากปริมาณคนในช่วงเย็นวันธรรมดา ซึ่งตามปกติเคยเนืองแน่น แต่วันนี้กลับมาจำนวนคนเพิ่มน้อยมาก ในขณะที่ "ม็อบเสื้อแดง" ที่ชุมนุมในช่วงหลังแบบบ่ายไปดึกกลับ ล้วนแต่เป็นคนกรุงและจังหวัดใกล้เคียง เขาไม่ได้ระดมคนอีสานและภาคเหนือลงมาเลย แต่วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ "จตุพร" ประกาศบนเวทีว่าจะระดม "คนเสื้อแดง" จากภาคเหนือและอีสานมาร่วมด้วย ไม่มีใครรู้ว่าการเคลื่อนไหวของ "คนเสื้อแดง"ต่อจากนี้ไปจะเดินไปอย่างไร แม้แต่ "แกนนำ นปช." เอง เหตุการณ์ในตูนีเซีย และอียิปต์ ทำให้ "คนเสื้อแดง" ฮึกเหิมขึ้น เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่บอกว่าอะไรที่ทุกคนคิดว่า "เป็นไปไม่ได้" แท้จริงแล้ว "เป็นไปได้" "อภิสิทธิ์" ที่เคยชนะในเดือนพฤษภาคม 2553 ก็อาจพ่ายแพ้ได้เช่นกัน นี่คือ สึนามิการเมืองลูกเดิมระลอกใหม่ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
.................