ที่มา ประชาไท
14 กุมภาฯ วันวาเลนไทน์มาเยือนทีไร งานต่างๆ เกี่ยวกับวันแห่งความรักก็ทะลักทะล้นตามมาด้วย และที่เราเห็นกันตามข่าวทุกปี ก็คือการแห่ไปจดทะเบียนสมรสของคู่รักคู่แต่งงานทั้งหลาย ณ ที่ว่าการเขตบางรัก เหตุเพราะว่าชื่อของที่ว่าการเขตแห่งนี้เหมาะสม เป็นมงคลต่อการจดทะเบียนสมรสมากกว่าที่อื่นๆ (เช่น บางพลัด บางกระบือ เป็นต้น)
แน่นอนว่าคู่ที่ไปจดนั้น ก็มีแต่คู่ของชายหญิงเท่านั้น ด้วยว่าในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ5 หรือที่เราเรียกกันเป็นภาษาง่ายๆ ว่ากฎหมายครอบครัวนั้น ในลักษณะ 1 ซึ่งว่าด้วยการสมรสได้เขียนไว้ชัดเจนว่า “มาตรา 1448: การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปี บริบูรณ์แล้ว…”
ส่งผลให้คู่ของคนเพศเดียวกัน ที่แม้จะอยู่กันมาหลายสิบปีจนวัยใกล้จะเกษียณแล้ว ก็ยังไม่สามารถไปจดทะเบียนฯ เช่น คู่รักต่างเพศที่แม้จะอยู่ในวันใส 17 ปีได้
สาเหตุก็ไม่มีอะไรมาก นอกจากว่า คนทั้งคู่เป็น “คนเพศเดียวกัน” เท่านั้นเอง
ทะเบียนสมรสนั้น คู่ต่างเพศอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ หลายคู่อยู่ด้วยกันโดยไม่มีทะเบียนสมรส แต่นั่นก็เพราะว่ารัฐได้รับรองพฤติกรรมของชายหญิงที่ “อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา” โดยปริยายอยู่แล้ว ไม่ว่าคุณจะจดหรือไม่จดก็ตาม
คู่ต่างเพศจึงมีทางให้เลือกทั้งจดทะเบียน และไม่จดทะเบียน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะจด เห็นได้จากข่าวที่มีการต่อคิวยาวเหยียด แถมด้วยโปรฯ ลดแลกแจกแถมจากที่ว่าการเขตอีกต่างหาก
นอกจากนั้นก็คือว่าทะเบียนสมรสถือเป็นการยืนยันสิทธิและหน้าที่ของคนสองคนที่มีต่อกันอย่างเป็นรูปธรรมชัดแจ้งมากกว่าคำว่า ”ความรัก” เสียอีก
เริ่มตั้งแต่สิทธิที่มีต่อกันในฐานะสามีภรรยา ได้แก่การอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน
สิทธิที่จะได้รับมรดกหากอีกฝ่ายด่วนตายไปก่อน
สิทธิที่จะหึงหวงคู่สมรสของเราอย่างออกหน้าออกตาตามกฎหมายหากมี มือที่สามเข้ามาก้าวก่ายในชีวิตสมรส เช่นการเรียกค่าเสียหายหรือค่าทดแทนในกรณีที่ภรรยาถูกล่วงเกินในทำนองชู้สาว หรือมีผู้หญิงอื่นมาแสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว
หรือหากใครบังอาจมาทำละเมิดกับสามีหรือภรรยาจนถึงแก่ความตาย เช่น ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ภรรยาหรือสามีของผู้ตายก็ใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายจากการขาดไร้อุปการะได้ เพราะเป็นหน้าที่ของคู่สมรสที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกัน นอกจากนั้นเรื่องภาษีก็สามารถยื่นโดยหักค่าลดหย่อนคู่สมรสได้อีกด้วย
ทะเบียนสมรสเป็น “หลักฐาน” ทางกฎหมายที่ทำให้คู่สามีภรรยาได้สิทธิและมีหน้าที่ต่อกันในเรื่องของทรัพย์สินเงินทอง การจัดการงานบ้านงานเรือน การดูแลเลี้ยงลูก และสิทธิหน้าที่ที่จะอ้างและถูกอ้างความเป็นสามีภรรยากับคนนอก
ขณะที่คู่เพศเดียวกันไม่มีสิทธิได้รับสิทธิต่างๆ เหล่านี้เลย และแม้จะอยู่ด้วยกันมานาน ก็ยังคงดำรงสถานะ “คนโสด” ตลอดไป เหตุเพราะมีไม่กฎหมายใดๆ คุ้มครองรองรับความสัมพันธ์นี้
คู่เพศเดียวกันหลายคู่มีความต้องการที่จะซื้อบ้านอยู่ด้วยกัน แต่ไม่สามารถทำได้ แต่กลับได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่ให้สินเชื่อว่าให้(โกหก)แสดงตัวเป็นญาติ “ลูกพี่ลูกน้อง” กันแทนคู่ชีวิตเพศเดียวกัน ก็จะได้รับการอนุมัติง่ายกว่า (แต่นั่นหมายความว่าคุณก็จะต้องมีหน้าที่การงานที่มั่นคงระดับหนึ่งแล้ว!!) ขณะที่คู่ชายหญิงกลับมีสถาบันการเงินต่างๆ มากมายให้กู้อย่างง่ายๆ
ส่วนทรัพย์สินที่สร้างร่วมกันมา ก็จะไม่ได้รับ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิตไปก่อน ยกเว้นว่าทำพินัยกรรมไว้ แต่ก็นั่นแหละ มันก็เสี่ยงที่จะถูก “ญาติพี่น้องทางสายเลือด” ฟ้องคืนมา เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางกฎหมายยืนยันได้เลยว่าทั้งคู่ได้ร่วมสร้างทรัพย์สินด้วยกันมา
ขณะที่คู่รักต่างเพศได้รับการโอบอุ้มคุ้มครองทั้งจากกฎหมาย หน่วยงานของรัฐ และสถาบันทางสังคมอย่างล้นเกิน แต่คู่เพศเดียวกันกลับขาดแคลนอย่างเหลือเชื่อ
ความรักเหมือนกัน ต้องการการคุ้มครองเช่นเดียวกัน แต่กลับได้รับอย่างไม่เท่าเทียมกัน ไม่เรียกว่าการเลือกปฏิบัติแล้วจะให้เรียกว่าอะไร