ที่มา มติชน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกรรมการ ประกอบด้วย นายเจษฎ์ โทณะวณิก นายบรรเจิด สิงคะเนติ ร่วมกันแถลงผลการศึกษาแนวทางในการปรับโครงสร้างการเมืองและกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่เตรียมเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายบรรเจิดกล่าวว่า สาระสำคัญในการปรับโครงสร้างทางการเมือง 1.ประเด็นฝ่ายบริหาร ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั่นหมายความว่าที่มาของรัฐบาลไม่ได้จากการเสียงโหวตในสภาอีกต่อไป แต่มาจากเสียงประชาชนที่ลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้ หากพรรคที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นอันดับ 1 กลัวว่าเสียงจะไม่มั่นคงเพียงพอ ก็สามารถนำเสียงพรรคร่วมรัฐบาลมาจัดตั้งรัฐบาลได้ 2.เรื่องความเป็นอิสระระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลไม่มีสิทธิยุบสภา เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎรไม่มีสิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แต่สามารถตรวจสอบรัฐบาลด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติได้ ตั้งกระทู้ถามสดในสภาได้ นอกจากนี้ ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่มีผลกระทบกับการบริหารงานของรัฐบาลที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้ด้วย ส่วนการสิ้นสภาพของรัฐบาลจะเกิดขึ้นเมื่อนายกฯถูกถอดถอน หรือลาออกเท่านั้น ระบบนี้จะช่วยให้รัฐบาลอยู่ได้ครบวาระ ช่วยให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเข้มแข็ง ถ้าไม่สะดุดขาตัวเอง
ด้านนายสมบัติกล่าวว่า เหตุที่คณะกรรมการมีข้อเสนอเช่นนี้ เพราะต้องการให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง โดยพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดจากระบบปาร์ตี้ลิสต์ จะได้ทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะทำหน้าที่เป็นนายกฯ โดยไม่คำนึงถึงเสียงในสภา ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องไม่เป็น ส.ส. หากใครเป็น ส.ส. เขตต้องลาออก แล้วจัดให้เลือกตั้งซ่อมใหม่ หากเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็เลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมา เพื่อแยกอำนาจฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้รัฐมนตรีได้ทำงานบริหารอย่างเต็มที่ ส่วนการห้ามฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น ต้องยอมรับว่าการอภิปรายของไทยไม่มีประสิทธิภาพ เหลวไหล ไร้สาระ เพราะฝ่ายค้านมีเสียงข้างน้อย จึงโหวตแพ้เสมอ ดังนั้น แนวทางใหม่ที่เสนอคือไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการตรวจสอบอย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ หากเป็นการกระทำผิดทางการเมือง สามารถยื่นถอดถอนได้ หากเป็นการทำผิดคดีอาญา ก็มีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาไต่สวนและฟ้องร้องศาลได้เลย ถ้าผิดจริงก็เข้าคุกได้เลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้คุยข้อเสนอนี้กับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือไม่ ถึงออกมาพูดถึงเรื่องเดียวกันนายสมับัติกล่าวว่า ไม่ทราบทรรศนะนายกอร์ปศักดิ์ และไม่เคยคุยกันในเรื่องนี้มาก่อน ใครได้ประโยชน์ก็พูดไป แต่คณะกรรมการไม่ได้คิดให้ใครได้ประโยชน์ คนไปพูดอาจจะพูดไม่จริง และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการคิดไว้นานแล้ว