ที่มา ประชาไท
พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านบาดแผลกระสุนปืน เป็นผู้ตรวจสอบวิเคราะห์จากบาดแผลและวิถีกระสุน โดยมีข้อสรุปว่านายฮิโรยูกิ เสียชีวิตจากอาวุธปืนสงคราม ชนิดอาร์ก้า
26 กุมภาพันธ์ 2554 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เปิดเผยข้อมูลการเสียชีวิต นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่ถูกยิงเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 10 เมษายน2553 ในระหว่างการที่ทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณสี่แยกคอกวัวและบริเวณโรงเรียนสตรีวิทย์ว่าจากการตรวจสอบวิเคราะห์จากบาดแผล และวิถีกระสุน มีข้อสรุปว่า นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ เสียชีวิตจากอาวุธปืนสงครามชนิดอาก้า ซึ่งอาวุธดังกล่าวนั้น ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้ใช้เป็นอาวุธ
จากนั้นได้มีกระแสข่าวว่า เจ้าหน้าที่ DSI เตรียมส่งข้อมูลการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ให้ตำรวจนครบาลนำไปประกอบสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นข้อมูลใหม่ โดยระบุว่า พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ผู้เชี่ยวชาญด้านบาดแผลกระสุนปืน เป็นผู้ตรวจสอบวิเคราะห์จากบาดแผลและวิถีกระสุน โดยมีข้อสรุปว่านายฮิโรยูกิ เสียชีวิตจากอาวุธปืนสงคราม ชนิดอาร์ก้า ซึ่งอาวุธดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไม่มีใช้เป็นอาวุธประจำกายซึ่งผลสรุปดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะทำให้รูปคดีมีความเปลี่ยนแปลง เพราะก่อนหน้านี้ดีเอสไอได้สรุปความเห็นเสนอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า การเสียชีวิตของนักข่าวญี่ปุ่นอาจเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง คือ วิถีกระสุนอาจมาจากแนวของทหาร และการสอบพยานบุคคลในที่เกิดเหตุ
ในส่วนของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า หลักฐานนั้นชัดเจนว่านักข่าวชาวญี่ปุ่นนั้นถูกยิงอยู่ในฝั่งของคนเสื้อแดง ดังนั้นกระสุนน่าจะมาจากฝั่งที่อยู่ตรงข้ามกับคนเสื้อแดง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พูดความจริงไม่หมด เพราะเรื่องของรายละเอียดหลักฐานต่างๆ นั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น อาวุธที่ใช้ยิงเป็นอะไร ชนิดไหน ขอให้ดีเอสไอชี้แจงมา ถ้าคิดว่าไม่ใช่อาวุธของฝ่ายทหาร
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า ขณะที่ช่างภาพของญี่ปุ่นเสียชีวิตอยู่ในฝั่งของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง มีพยานให้การว่าเห็นแสงไฟมาจากปากกระบอกปืน ซึ่งน่าจะมาจากด้านหน้าแล้วก็เสียชีวิต ดังนั้น ประเด็นจึงอยู่ที่นักข่าวคนดังกล่าวถูกยิงโดยใคร ไม่ใช่ว่าถูกยิงด้วยอาวุธชนิดไหน แต่คนที่สามารถจัดสรรอาวุธทุกชนิดได้ในประเทศไทยนั้น คือหน่วยงานด้านความมั่นคง ดังนั้น เรื่องนี้ต้องไปหาคนที่ยิงมาให้ได้ ไม่ใช่มาพูดกันว่าถูกยิงจากอาวุธชนิดไหนกันแน่