ที่มา ประชาไท
แปลจาก Julian Assange tells students that the web is the greatest spying machine ever (http://www.guardian.co.uk/media/2011/mar/15/web-spying-machine-julian-assange)
ในการปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งล่าสุด จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จอมแฉ "วิกิลีกส์" กล่าวว่าอินเทอร์เน็ตเป็น "เครื่องมือสำหรับคอยสอดแนมประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก" และมันไม่ใช่เทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อเสรีภาพในการแสดงออกเสมอไป
อัสซานจ์กล่าวว่าอินเทอร์เน็ตอาจจะช่วยตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลและช่วยอำนวยการประสานงานระหว่างนักเคลื่อนไหวทางสังคม แต่มันก็ยังให้โอกาสรัฐที่จะจับตาดูและจับกุมผู้ต่อต้าน
"แม้ว่าในบางที อินเทอร์เน็ตได้เปิดเผยให้เราได้รู้อย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ และเป็นช่องทางให้เราได้ติดต่อประสานงานกันเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลและองค์กรที่กดขี่ผู้คน แต่อินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้สอดแนมประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในโลก" เขากล่าวกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในการบรรยายที่คนนับร้อยต่อคิวฟังนานนับชั่วโมง
เขากล่าวต่อว่า "มัน [อินเทอร์เน็ต] ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เข้าข้างเสรีภาพในการแสดงออก มันไม่ใช่เทคโนโลยีที่เข้าข้างสิทธิมนุษยชน มันไม่ใช่เทคโนโลยีที่เข้าข้างความเป็นพลเมือง แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่สามารถถูกใช้สร้างการจับตาดูประชาชนในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ชนิดที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน แต่ในขณะเดียวกัน หากถูกใช้โดยพวกเรา โดยเหล่าผู้ที่เคลื่อนไหวทางสังคม โดยผู้ที่ต้องการจะหักเหทิศทางของโลกเทคโนโลยี มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่เราพอจะให้ความหวังได้"
อัสซานจ์ยังเสนอว่าที่จริงแล้วเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์มีบทบาทต่อการลุกฮือของประชาชนในตะวันออกกลางน้อยกว่าที่ถูกกล่าวอ้างโดยคนในแวดวงสื่อออนไลน์และนักการเมือง
"ใช่ [ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก] ก็มีส่วนช่วยอยู่บ้าง แม้ว่าจะไม่มากเท่าที่สำนักข่าวอัลจาซีราทำก็ตาม แต่คู่มือที่นักเคลื่อนไหวในอียิปต์ผลิตขึ้นนั้นเขียนไว้ตั้งแต่หน้าแรกว่า 'อย่าใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์' และย้ำอีกในหน้าสุดท้ายว่า 'อย่าใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์'"
"มันมีที่มาของเรื่องนี้อยู่ ที่จริงแล้วเคยมีการใช้เฟซบุ๊กเคลื่อนไหวลุกฮือในกรุงไคโรเมื่อสามสี่ปีก่อน มันเป็นการเคลื่อนไหวที่เล็กมาก หลังจากเหตุการณ์นั้นเฟซบุ๊กก็ถูกใช้ในการสืบหาและรวบตัวเหล่าผู้นำขบวนการ ซึ่งต่อมาถูกซ้อมทรมาน สอบสวน และคุมขัง"
อัสซานจ์กล่าวว่าข้อมูลสถานทูตสหรัฐฯ ที่วิกิลีกส์เผยแพร่นั้นแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่สหรัฐฯ มีต่ออดีตผู้นำตูนิเซีย และช่วยเสริมกำลังให้แก่กองกำลังปฏิวัติทั่วภูมิภาค
"โทรเลขเกี่ยวกับตูนิเซียแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ นั้น ถ้าต้องเลือกข้างระหว่างฝ่ายกองทัพตูนิเซียกับฝ่ายอดีตประธานาธิบดี บิน อะลี แล้ว สหรัฐฯ อาจจะเลือกข้างกองทัพ"
เขากล่าวต่อว่า "นี่เป็นสิ่งที่น่าจะทำให้ประเทศรอบข้างตูนิเซียคิดว่าถ้าตนใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง ก็อาจจะไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับสหรัฐฯ"
อัสซานจ์ ผู้ซึ่งกำลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งเนรเทศจากอังกฤษไปยังสวีเดนเนื่องจากถูกฟ้องด้วยข้อหาทางเพศ กล่าวว่าการเปิดเผยข้อมูลโดยวิกิลีกส์นั้นยังเป็นการบังคับให้สหรัฐฯ ต้องหยุดการแอบสนับสนุน มูบารัค อดีตผู้นำอียิปต์
"เนื่องจากการเปิดเผยโทรเลขเกี่ยวกับสุไลมาน [รองประธานาธิบดีอียิปต์ภายใต้การนำของมูบารัค] ซึ่งเป็นตัวเลือกของสหรัฐฯ และอิสราเอลที่จะมาสืบทอดตำแหน่ง เนื่องจากการเปิดเผยถึงคำสั่งที่มูบารัคอนุญาตให้วิธีซ้อมทรมานของสุไลมาน รองประธานาธิบดี สหรัฐฯ โจเซฟ ไบเดน จึงไม่สามารถกล่าวได้อีกอย่างที่เคยว่ามูบารัคไม่ใช่เผด็จการ และทำให้ฮิลลารี คลินตัน ไม่สามารถออกมาสนับสนุนมูบารัคอย่างโจ่งแจ้งได้"
เมื่อมีการถามถึงแบรดลีย์ แมนนิง พลทหารสหรัฐฯ ที่ถูกคุมขังเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลักลอบเผยแพร่ข้อมูลลับให้วิกิลีกส์ อัสซานจ์กล่าวว่า "เราไม่รู้เลยว่าเขาเป็นหนึ่งในแหล่งข่าว ระบบของเราถูกออกแบบมาให้เราไม่สามารถรู้ได้"
อัสซานจ์ยังแสดงความเห็นใจต่อแมนนิงด้วยว่า "เขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย และถ้าเขาไม่สามารถถูกเชื่อมโยงกับเราได้ นั่นก็แปลว่าเขาถูกคุมขังทั้งๆ ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ และถ้ามีการเชื่อมโยงระหว่างเขากับข้อมูลของเราจริง ก็แน่นอนว่าเราต้องมีส่วนรับผิดชอบบ้าง แต่ยังไม่มีการกล่าวหาใดๆ ว่าเขาถูกจับในเรื่องที่เกี่ยวกับเรา ข้อหามีเพียงเขาถูกจับหลังจากพูดคุยกับนิตยสาร ไวร์ด ในสหรัฐฯ"
นอกจากนี้ อัสซานจ์ยังวิจารณ์หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส ด้วยว่าเก็บงำเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิบัติการลับทางทหารของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน