ที่มา ประชาไท
ชื่อบทความเดิม: บันทึกช่วยจำ “แผลเก่า” ถึง “แผลใหม่” บทความรำลึกครบรอบ 7 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร
1. หะยีสุหลงถูกอุ้มหาย 24 มีนาคม 2497 หะยีสุหลงตัวแทนของชาวมลายูมุสลิมปาตานีได้ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อต่อรัฐบาลไทย จากข้อเรียกดังกล่าวจึงทำให้หะยีสุหลงถูกมองเป็นกบฏ เป็นผู้นำแบ่งแยกดินแดน ถูกจับดำเนินคดี 2 ข้อหาสำคัญ คือเป็นกบฏและหมิ่นประมาทรัฐบาลที่กล่าวหากดขี่ประชาชน ในที่สุดศาลได้ตัดสินให้หะยีสุหลงพ้นมลทินข้อหากบฏ หลังจากนั้นตำรวจสันติบาลที่สงขลาเรียกพบหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนากับบุตรและเพื่อนรวมจำนวน 4 คน แต่ทว่าหลังจากนั้น ก็ไม่พบร่องรอยของหะยีสุหลงและพวก ทำให้เข้าใจกันในหมู่คนมลายูว่า หะยีสุหลงได้ถูกฆ่าและจับถ่วงน้ำที่ทะเลสาบสงขลา | ผลสะเทือน
| ผลสะเทือนทางการเมือง ปี 2500 อันเป็นปีที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ หะยีอามีน โต๊ะมีนา ลูกชายของหะยีสุหลงคนถัดจากอาห์มัด โต๊ะมีนา เป็นหนึ่งในผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร ในช่วงการรณรงค์หาเสียง ประเด็นจึงหนีไม่พ้นเรื่องของศาสนาและการเมือง ซึ่งประจวบเหมาะกับการที่มาเลเซีย ได้รับเอกสารจากอังกฤษในปีเดียวกันนั้น ความตื่นตัวของชาวมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้เรื่องสิทธิและเสรีภาพแห่งตนจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง หะยีอามีน โต๊ะมีนาได้รับเลือกให้เป็นส.ส.ปัตตานีทั้ง 2 ครั้งที่มีการเลือกตั้งซ้อน ๆ กันถึง 2 ครั้งในปี 2500 |
2. ประท้วงหน้ามัสยิดกลางปัตตานี 2518 ชาวมลายูมุสลิมถูกทหารซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่วัดเชิงเขา ต.บารูกาสาเมาะ อ.บาเจาะ ได้กั้นรถและตรวจค้น ก่อนที่ชายทั้ง 5 คน กลายเป็นศพถูกนำไปโยนทิ้งแม่น้ำบริเวณสะพานกอตอ เนื่องจากความไม่พอใจที่มีการฆ่าชาวบ้านที่ “สะพานกอตอ” ได้ทำให้นำไปสู่การประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมเกิดขึ้นหน้าศาลา กลางจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 11 ธ.ค. 2518 การ ประท้วงผ่านไปได้แค่ 3 วัน ในคืนวันที่ 13 ธ.ค. 2518 มีมือลึกลับขว้างระเบิดใส่ที่ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บอีก 25 คน ก่อนจะย้ายมาชุมนุมสถานที่ใหญ่ ณ มัสยิดกลางปัตตานี | ผลสะเทือน
| ผลสะเทือนทางการเมือง ปีรุ่งขึ้นสังคมไทยตกอยู่ในภาวะ “ลงแดง” กลุ่มฝ่ายขวา ได้การปราบปรามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลา 2519 |
3. การประท้วงฮิญาบ 2531 การประท้วงฮิญาบ เป็น เวลาหนึ่งสัปดาห์ที่จ.ยะลาเมื่อปี 2531 เป็นการประท้วงเพื่อสนับสนุนนักศึกษามุสลิมในสถาบันราชภัฎยะลาประมาณ 7 คน ที่ต้องการแต่งฮิญาบตามบัญญัติอิสลาม คือปกปิดเรือนร่างทั้งหมดด้วยเสื้อผ้าหลวม ๆ ยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ ซึ่งขัดกับเครื่องแบบของสถาบัน การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องแต่งกาย ตามบัญญัติศาสนาของนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการทุกกระทรวงของสตรีมุสลิม เป็นการต่อสู้ที่เกิดจากภาคประชาชนภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วย สิทธิในการนับถือศาสนา | ผลสะเทือน
| ผลสะเทือนทางการเมือง กรณีประท้วงฮิญาบทำให้กลุ่มวาดะฮฺนำโดย นายเด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานี นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาส นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.ยะลา และ นายสมบูรณ์ สิทธิมนต์ ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2531 และในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ส. ทำหน้าที่ตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เลยแม้แต่คนเดียว |
4. อุ้มหายทนายสมชาย 12 มีนาคม 2547 ในฐานะของทนายที่ติดตามคดีทางภาคใต้ และได้เห็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อประชาชน สมชาย นีละไพจิตร จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก ทั้งยังล่า 50,000 รายชื่อ เพื่อขอแก้ไขกฎหมายนี้ และออกมาเปิดโปงการทรมานผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนเผาโรงเรียน ทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีส่งคณะแพทย์เข้าไปดูอาการของผู้ต้องหา ก่อนที่จะถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มลักพาตัวไปในรถคันหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือในช่วงนั้น "ทนายสมชาย" กำลังดำเนินคดีสำคัญอยู่คือ เป็นทนายให้กับจำเลยในคดีก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้ต้องหาเป็นมลายูมุสลิม 5 คน ถูกจับกุมและถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว | ผลสะเทือน
| ผลสะเทือนทางการเมือง การถูกบังคับสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้ทำให้เรื่องของกระบวนการสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น เป็นคดีหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และหลักนิติธรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้รัฐบาลจะประสบความสำเร็จใน การให้ความช่วยเหลือ เยียวยา รวมถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ แต่สิ่งเดียวที่รัฐยังไม่เคยให้แก่ประชาชนคือ ความยุติธรรม และ ความเสมอภาคทางกฎหมาย จนทำให้เกิดกระแสเรียกร้องภายในสังคมมลายูปาตานี ในเรื่องของกระบวนการตรวจสอบการทำงานของรัฐมากขึ้น และเกิดการทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิความเป็นพลเมืองตามขึ้นมาด้วย |
5. กรณีมัสยิดกรือเซะ 28 เมษายน 2547 เมื่อเช้าตรู่วันที่ 28 เมษายน 2547 กลุ่มผู้ก่อการ ได้โจมตีป้อมตำรวจที่อยู่ใกล้ๆ กับมัสยิดกรือเซะ พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี รองผอ.กอ.รมน ได้เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ มีประชาชประมาณ 2,000-3,000 คน รวมตัวกันอยู่ที่บริเวณมัสยิด เจ้าหน้าที่ปิดล้อมมัสยิดอยู่นานครึ่งค่อนวัน ทางตำรวจทหารตัดสินใจบุกเข้าไปในมัสยิด ใช้ระเบิดมือและอาวุธ จนเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่อยู่ภายในมัสยิดทั้ง 32 คนเสียชีวิต การสังหารกลุ่มบุคคลภายในมัสยิด กรือเซะ ดังกระฉ่อนแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยภาพรวมต่างๆที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ทำ ให้คนต้องจบชีวิตลงกว่าหลายร้อยคน นอกจากนี้แล้วสิ่งที่เลวร้ายเหล่านี้นั้นทำให้ความไม่สงบในเขตจังหวัดชายแดน ภาคใต้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกวัน | ผลสะเทือน
| ผลสะเทือนทางการเมือง ในความทรงจำ กับความรุนแรงครั้งนี้ ได้ตอกย้ำความรู้สึกของผู้ที่ถูกกระทำอย่างยิ่ง เพราะว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้ ได้กระทำต่อหน้าชาวมลายูมุสลิมปาตานีทั้วโลก เหตุเพราะว่าได้มีการถ่ายทอดสดทางทีวีในการปราบปรามและสังหารครั้งนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลแลรัฐไทย ได้ถึงขีดต่ำสุด และเป็นความรู้สึกเย็นยะเยือกทางด้านสังคม การเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยิ่ง จนทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งต่อมาหลังจากนั้น ได้ทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ no vote แก่รัฐบาลไทยรักไทย และต่อมาพรรคการเมืองฝ่านตรงกันข้ามได้รับการเลือกจากประชาชนในพื้นที่กลับมาอีกครั้ง |
6. สังหารหมู่ตากใบ 25 ตุลาคม 2547 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากหน่วยต่างๆ ถูกระดมมาเพื่อสลายผู้ชุมนุมชาวมุสลิม ที่มารวมตัวกันอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ผู้ชุมนุมประท้วง 7 คนถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ขณะที่ผู้ชุมนุมประท้วงอีก 78 คนขาดอากาศหายใจ หรือถูกทับจนเสียชีวิตระหว่างที่ถูกขนย้ายไปยังสถานที่ควบคุมตัว การดูแลทางการแพทย์ที่ไม่เหมาะสมในช่วงเวลาหลายวัน ที่ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า 1,200 คนอยู่ในความควบคุมของทหาร ทำให้มีผู้ประท้วงจำนวนมากมีอาการบาดเจ็บรุนแรง และต้องถูกตัดแขน หรือขา ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ตากใบ แต่ผู้ชุมนุมประท้วงชาวมุสลิม 58 คนกลับถูกตั้งกล่าวหาว่า กระทำความผิดในทางอาญา | ผลสะเทือน
| ผลสะเทือนทางการเมือง เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางและยื้อเยื้อ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนกระทั่งสู่กระบวนการยุติธรรมศาลไทย ที่ตัดสินว่า การตายของผู้ชุมนุมเพราะว่าขาดอากาศหาย ไร้ซึ่งคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดต่อชาวมลายูมุสลิมปาตานี ในทางกลับกันลูกหลานและญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิต ก็ได้ตัดสินใจจะเข้าร่วมในการปฎิบัติกับกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เหตุผลของกลุ่มที่ติดอาวุธมีพลังและโน้มน้าวให้เด็กรุ่นใหม่เข้าขบวนการ ส่วนทางการเมือง ทำให้เกิดภาวะ “รัฐล้มเหลว” อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา |
ครบรอบเจ็ดปีการหายไปของทนายสมชาย
20.30 น. วันที่ 12 มีนาคม 2554
เอกรินทร์ ต่วนศิริ
หมายเหตุ:
- อนึ่ง องค์กรปลดล่อยสหปัตตานีหรือพูโล (อังกฤษ: Patani United Liberation Organization) ก่อตั้งเมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2511 โดยตวนกูบีรอ กอตอนีลอ หรือ อดุลย์ ณ วังคราม บัณฑิตจากอินเดีย ได้รวมเพื่อนๆ จัดตั้งองค์กรนี้ที่ซาอุดิอาระเบีย การดำเนินงานในระยะแรกเน้นการปลุกระดมมวลชนโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่น พูโลจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 ผู้นำกองกำลังที่สำคัญมีหลายคน เช่น หะยียูโซะ ปากีสถาน และหะยีสะมะแอ ท่าน้ำ มีการส่งเยาวชนไปฝึกวิชาทหารและการก่อวินาศกรรมที่ลิเบียและซีเรีย องค์กรเริ่มมีปัญหาจากการปราบปรามของรัฐและนโยบายใต้ร่มเย็นในช่วงหลัง จน พ.ศ. 2525 จนนำไปสู่การแตกแยกภายในองค์กร