ที่มา Thai E-News
คำถามสำคัญก็ยังอยู่กับสิ่งที่เคยเอ่ยถึงไปแล้วคือ “มวลชนพร้อมแล้ว แกนนำพร้อมหรือยัง...คุณสมบัติที่จะเป็นแกนนำ หรือถูกเลือกเป็นแกนนำโดยมวลชน ควรเป็นดังนี้...
โดย Pegasus
15 มีนาคม 2554
ช่วงนี้เป็นการตั้งตัวเดินงานมวลชนกันใหม่สำหรับชาวเสื้อแดง โดยมี นปช. เป็นแกนนำสำคัญ มีแกนนำอื่นๆเกิดขึ้นมากมายตามมา
ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ล้วนแต่มีเสื้อแดงตามไปเป็นมวลชน โดยไม่แบ่งแยกกัน มีแต่แกนนำเท่านั้นที่มีปัญหากันเอง จะด้วยเหตุผลเป็นประการใดก็สุดแท้แต่ความเห็นไป
บทความครั้งนี้ จะเป็นการแนะนำสำหรับการเลือกหาแกนนำ หรือผู้ที่อาสาจะมาเป็นแกนนำ สมควรที่จะฝึกฝนตนเองให้เหมาะสม และทำให้มีโอกาสประสบชัยชนะได้
แกนนำในที่นี้เป็นแกนนำได้ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบลจนถึงเบียดขึ้นเป็นแกนนำระดับชาติได้เช่นกัน ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นประการใดยินดีรับฟังความเห็น
คุณสมบัติที่จะเป็นแกนนำหรือถูกเลือกเป็นแกนนำโดยมวลชน ควรเป็นดังนี้
ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน
แกนนำควรมีฐานะบ้าง ส่วนการบริหารเรื่องการเงินควรรัดกุมแยกกันคุม การรับบริจาคมีการทำบัญชีและชี้แจงได้ ส่วนการแจกจ่ายเงินต้องตรงไปสู่ทุกกลุ่มย่อยในทุกกิจกรรม ไม่มีเขื่อนกั้นหรือใช้เงินในกลุ่มแกนนำเองมากกว่ามวลชน
ไม่สุ่มเสี่ยงเอียงซ้าย
สุ่มเสี่ยงเอียงซ้ายคือ ใช้ความจัดเจน ใช้อารมณ์ หุนหัน มากกว่าความเข้าใจในความเป็นจริงในภาวะแวดล้อม บางทีเมาสุราก็มี ทำให้การตัดสินใจไม่รอบคอบ ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์รวมของมวลชน หรือ มวลชนไม่พร้อมเดิน แต่แกนนำหุนหันไปบุกเองจนเกิดความเสียหาย
สิ่งที่พบเห็นในการชุมนุมเสื้อแดงบ่อยมากคือ แยกตัวหรือบุกสถานที่ต่างๆที่ฝ่ายเผด็จการวางกับดักไว้
ไม่ล้าหลังมวลชน
ล้าหลังมวลชนคือ ยอมจำนนต่ออำนาจ กลัวการต่อสู้ มวลชนพร้อมเดินไปแล้ว แกนนำถ่วงรั้งไว้ แนวคิดล้าหลังมวลชนเป็นแนวทางทำให้พ่ายแพ้ได้สูงกว่าความผิดพลาดแบบอื่นทั้งหมด เพราะมีแต่เสมอตัวกับแพ้เท่านั้น ไม่มีทางชนะ
ทราบวิธีการในการเดินงานมวลชน
วิธีการในการเดินงานมวลชนมีง่ายๆสองประการคือ การให้ความรู้กับมวลชน กับการจัดตั้งมวลชน งานใดก็ตามทำให้มวลชนตาสว่าง และทำให้ได้มวลชนเพิ่มขึ้นคือวิธีการที่ถูกต้อง
งานใดก็ตามแม้จะดูดีแต่ถ้าทำให้เสียมวลชน ทำเรื่องเปล่าประโยชน์ถือว่าไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง
ดังนั้น ต้องมีการประเมินทุกครั้งที่มีการรวมตัวหรือปราศรัยว่า แกนนำคนไหนเป็นที่นิยมและนิยมเพราะอะไร เพื่อที่จะสร้างมวลชนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา และกิจกรรมใดทำให้มวลชนท้อถอย ถอนตัว ต้องรู้และแก้ไขทันที
มีแต่งานไม่โจมตีกันเรื่องส่วนตัว
ในการควบคุมมวลชน การกำหนดนโยบาย การสรุปมติที่ประชุม การปราศรัย ข้อห้ามสำคัญคือการพูดเรื่องส่วนตัว การโจมตีกันในเรื่องส่วนตัว ให้มีข่าวหรือคำพูดออกไปเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น(แนวทางนี้ เหมา เจ๋อ ตุง ถือเป็นกฎเหล็ก)
แกนนำคนไหน หรือกลุ่มใด เน้นเรื่องส่วนตัว ไม่เน้นเรื่องงาน มวลชนต้องละทิ้งทันที จึงจะประสบชัยชนะ
มีเป้าหมายเพื่อประชาธิปไตยชัดเจนไม่ใช่ผลประโยชน์
แกนนำต้องนิยามได้ว่า ที่จัดตั้งมวลชนจำนวนมากนี้ทำไปเพื่ออะไร และไม่ใช่เพียงคำพูด แต่ต้องแสดงด้วยการกระทำที่ชัดเจน ในกรณีประชาธิปไตยก็คือ ในการพูดคุย การนำ การปราศรัยควรจะวนเวียนแต่ในเรื่องทำอย่างไรให้ ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดเรื่องอธิปไตยในอำนาจทั้งสามได้แก่
-ประชาชนต้องเลือก ส.ส.ได้เองไม่มีแต่งตั้งมาจากข้างนอก
-ประชาชนต้องถอดถอน ส.ส. หรือ ส.ว. ได้เองไม่ใช่จากองค์กรอิสระใดๆ แต่ถ้าจะมีประชาชนต้องเป็นคนแต่งตั้งองค์กรอิสระนั้นไม่ใช่คนอื่น ประชาชนเลือกพรรคการเมืองมา ต้องไม่ถูกยุบด้วยความเห็นคนไม่กี่คน
-ตำแหน่งสำคัญในกระบวนการยุติธรรมเช่น อัยการ ศาล ประชาชนต้องเป็นผู้กำหนด บุคคลใดๆที่ทำผิด เช่น ไปมีที่บนเขาที่เป็นเขตต้นน้ำลำธาร ประชาชนต้องถอดถอนจากตำแหน่งได้ อัยการจะสั่งไม่ฟ้องด้วยดุลยพินิจเองไม่ได้ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ต้องกำหนดการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญได้ แล้วปัญหาอะไรมาขัดขวางประชาชนไม่ให้เข้าถึงอำนาจนี้ จะยกเลิกสิ่งกีดขวางต่างๆเหล่านี้ได้อย่างไร
ก็เป็นโจทย์ที่แกนนำทุกระดับต้องสามารถตอบคำถามประชาชนได้ว่า จะทำอย่างไร แก้กฎหมายมาตราไหน จึงจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น เป็นต้น เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
จริงอยู่การนำมวลชนจำนวนมากหมายถึงผลประโยชน์ควบคู่กันไปด้วย แต่เป้าหมายส่วนตัวควรมาภายหลังประชาธิปไตย ถ้าไม่พูดถึงประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ดังกล่าวเลย มวลชนก็ควรถอนตัวแล้วหาแกนนำใหม่ที่เหมาะสมต่อไป
บอกได้ว่าจะทำอะไร ให้ได้อะไร ต่อไปคืออะไรและจบอย่างไร
แกนนำต้องบอกได้ว่าทุกการชุมนุมหรือรวมตัว ไม่ว่าจะเป็นที่หมู่บ้าน ตำบลหรือมากรุงเทพฯ ทำไปโดยมีเป้าหมายอะไร แล้วต้องการอะไร ขั้นตอนต่อไปคืออะไร แล้วจะจบอย่างไรเสมอ
เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า ยุทธศาสตร์หรือภาพรวมในการต่อสู้คืออะไร มีกิจกรรมหรือยุทธวิธีอย่างไร แล้วต่างคนต่างเดิน มวลชนไม่ใช่หุ่น ไม่จำเป็นต้องมาสั่งขวาหัน ซ้ายหันเหมือนกลุ่มเหลือง แต่ต้องให้ความรู้จนมีวินัยในตัวเองได้ และแกนนำต้องแน่ใจว่า ตนเองมีความรู้พอด้วย
ไม่รวบงานไว้คนเดียว รู้จักจ่ายงาน และให้เกียรติคนอื่น
หัวข้อนี้เข้าใจง่าย ไม่ขอขยายความ
รู้จักแบ่งงานตามความถนัด ให้การฝึกฝนทางร่างกายและความคิด
ปกติ การชุมนุมขนาดใหญ่ จะไม่สามารถรู้ได้ว่ามวลชนมีความสามารถอะไร แต่แกนนำระดับย่อย และมวลชนด้วยกันเองสามารถแบ่งงานกันตามถนัดได้ ซึ่งจะทำให้การทำงานร่วมกันดียิ่งขึ้น
นอกจากนั้นเพื่อเตรียมตัวสำหรับกรณีถูกปราบ ก็ควรฝึกฝนกำลังกายและศึกษายุทธวิธีการต่อสู้ต่างๆไว้ รวมถึงสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยให้เติบโตแข็งแรง รู้จักการโต้เถียง หาเหตุผล ไม่เดินตามการนำแต่ฝ่ายเดียวซึ่งจะนำไปสู่การเป็นเผด็จการอีกรอบโดยไม่รู้ตัว
รู้จักอ่านประวัติศาสตร์ รู้ยุทธวิธี รู้วิธีการต่อสู้ รู้จักศัตรูอย่างชัดเจน
-ศึกษากรณีล้อมปราบในทุกๆกรณีในประเทศไทย อ่านที่มาของสาเหตุการรัฐประหาร การชิงอำนาจระหว่างฝ่ายนิยมเจ้ากับฝ่ายประชาชนของประเทศต่างๆ
-ศึกษากลยุทธทางการทหารเช่นของ ซุนวู่ ของเหมา เจ๋อ ตุง ของ ค่ายตะวันตก สิ่งเหล่านี้เหมาะสำหรับแกนนำกลุ่มขนาดกลางๆ เพื่อให้รู้ว่าศัตรูจะคิดอย่างไร ทำอะไร เพราะอะไร เมื่อจำเป็นจะได้หาทางต่อสู้ด้วยกลุ่มตัวเองได้
ตัวอย่างที่แกนนำควรตอบมวลชนได้อย่างคล่องปากคือ รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ทำให้ไทยเข้าสู่การเป็นเผด็จการอนุรักษ์นิยมได้อย่างไร
การยึดอำนาจ 2490 ไทยกลายเป็นลัทธิฟาสซิสต์เพราะอะไร จากนั้น
การยึดอำนาจจอมพล ป.ฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรผิดปกติบ้าง
และถ้าจะให้ครบถ้วนคือ เข้าใจจริงๆว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เหมือน กรณีเสื้อเหลืองออกมาล้มรัฐบาล โดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถูกนำมาเป็นเครื่องมือ อย่างไร เป็นต้น
จากนั้น ก็จะเข้าใจกรณีต่างๆที่ตามมาอีกมากมาย
ให้การฝึกฝนวิธีการต่อสู้ทั้งในทางสัญลักษณ์ การรับมือกับการใช้อาวุธสงครามและสงครามกลางเมือง
เป็นการเตรียมการ และฝึกฝนให้พร้อมในการต่อสู้ที่จะเกิดขึ้น การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์มีแนวทางของ ยีน ชาร์ป ในไทยอีนิวส์มีให้ดาวน์โหลด
ส่วนที่เห็นง่ายๆคือแนวทางของกลุ่มแกนนอน การรับมือกับการใช้อาวุธสงครามมีหลายท่านเคยพูดกันไว้
ในไทยอีนิวส์ก็มีเรื่อง สงครามประชาชน คลิปวิธีการต่อสู้กับการใช้อาวุธสงครามก็มีหลายแห่งเช่นคลิปการรุกใหญ่มวลชน การนำมวลชน ฯลฯ หาได้ในเว็บไซท์
และถ้าต้องการศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นเรื่องในอัฟริกาเหนือขอให้ติดตามให้ดี
ส่วนสงครามกลางเมืองก็มีตัวอย่างคือปฏิวัติฝรั่งเศส รัสเซียและล่าสุดลิเบีย รวมถึงการประกาศรัฐบาลพลัดถิ่น ฯลฯ เป็นต้น
แต่ละเหตุการณ์ต้องมีการเตรียมตัวต่างกันออกไป แต่ละกลุ่มควรฝึกฝนตนเองให้พร้อมทั้งสามกรณี
พูดจาดี มีข้อมูลหนักแน่น น่าเชื่อถือ ไม่สร้างข่าวลือ
เนื้อหาชัดเจนในตัวแล้วไม่ขอขยายความ
เป็นคนคิดไว หาคำตอบในเรื่องต่างๆได้รวดเร็ว เหนือกว่าคนอื่น
เนื้อหาชัดเจนในตัวแล้วไม่ขอขยายความ
รู้จักทำการแบบสีเทาได้ และป้องกันตัวเป็น
เนื้อหาชัดเจนในตัวแล้วไม่ขอขยายความ
สิ่งที่อยากเสนอให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาก็คือ การเป็นแกนนำ หรือเลือกจะตาม หรือสนับสนุนผู้ใดเป็นแกนนำในทุกระดับ อาจไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติต่างๆดังกล่าวครบถ้วนก็ได้ แต่อย่างน้อยขอให้ตระหนักว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ควรนำมาใคร่ครวญอย่างจริงจังในเรื่องของการนำมวลชนทั้งที่เป็นแกนนำเอง และมวลชนที่จะนำมาใช้เป็นตัววัดว่า อะไรที่ควรมีหรือควรระมัดระวังบ้าง
ถ้าเกณฑ์ต่างๆดังนี้พอไปได้ ซึ่งแน่ละอาจมีเรื่องอื่นๆด้วยที่ยังไม่กล่าวถึง ก็น่าจะพอมั่นใจได้ว่าการขับเคลื่อนต่อไปนั้นยังมีความหวัง
คำถามสำคัญก็ยังอยู่กับสิ่งที่เคยเอ่ยถึงไปแล้วคือ “มวลชนพร้อมแล้ว แกนนำพร้อมหรือยัง...”