ที่มา มติชน
นายสมชาย หอมลออ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง
ผู้ให้ข้อมูลกรณี เสธ.แดง ถูกยิง
พ.ท.สิทธิศักดิ์ ธิวันนา ผู้ช่วยฝ่ายยุทธการกองทัพภาคที่ 1 (ผช.ฝยก.ทภ.1)
ภาพเหตุการณ์ ภายหลังเสธ.แดง ถูกยิง เมื่อ 17 พ.ค.53
อนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง คอป. ได้รับข้อมูลที่ไม่น่าพอใจกรณีการเสียชีวิตของพลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หลังจากที่เชิญกองทัพภาคที่ 1 และทางโรงพยาบาลหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติมาชี้แจง เนื่องจากข้อมูลที่ได้ไม่ชัดเจน และไม่สามารถให้คำตอบเรื่องการควบคุมพื้นที่ และการพบหัวกระสุนปืนในศีรษะของเสธ.แดงที่หายไป
ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในการประชุมครั้งที่ 7 วันที่ 15 มีนาคม 2554 นายสมชาย หอมลออ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริง เป็นประธานในที่ประชุมโครงการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบจากทุกฝ่าย (Hearing) ได้นำกรณีการเสียชีวิตของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2553 ขึ้นมาพิจารณา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตัวแทนจากกองทัพภาคที่ 1 ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น ตัวแทนโรงพยาบาลหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยมีผู้สังเกตการณ์จาก ศรส. EU และตัวแทนสถานทูตออสเตรเลีย ส่วนหน่วยงานที่คอป. เชิญเข้าร่วมชี้แจงแต่ไม่ได้มาเข้าร่วมการประชุมคือ ตำรวจ สน.ลุมพินี สน.สามเสน และ นายแพทย์จรูญศักดิ์ นวลแจ่ม จากโรงพยาบาลวชิระพยาบาล
นายสมชาย ในฐานะประธานที่ประชุมได้กล่าวเปิดประชุมโดยกล่าวว่า นายคณิต ณ นคร ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ได้กล่าวไว้ว่าการสร้างความปรองดองต้องค้นพบความจริงเสียก่อน เพื่อจะนำไปสู่ความปรองดองได้ ที่ผ่านมาได้รับฟังข้อเท็จจริง กรณีดาวเทียมไทยคม กรณีการเสียชีวิตของช่างภาพญี่ปุ่น กรณีความรุนแรงบริเวณบ่อนไก่-สีลม ฯลฯ เป็นต้นมา และครั้งนี้เป็นกรณีเสียชีวิตของ เสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่ถูกยิงเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 ซึ่งความรุนแรงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้น และเป็นคดีอุกอาจ เพราะถูกยิงต่อหน้าผู้สื่อข่าว
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ของ คอป. ได้นำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม เป็นคำให้การของนายโธมัส ฟุลเลอร์ ผู้สื่อข่าวนิวยอร์คไทม์ ที่กล่าวถึงตำแหน่งการยืนของพล.ต.ขัตติยะ ว่า ในตอนที่เสธ.แดงให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอยู่นั้น ได้หันหน้าไปทางถนนพระราม 4 ตัวผู้สื่อข่าวเองยืนห่างออกมาประมาณ 2 ฟุต โดยในขณะนั้นมีผู้สื่อข่าวเสียงอเมริกา (VOA) ร่วมสัมภาษณ์อยู่ด้วย และทางเจ้าหน้าที่ คอป. ได้เปิดภาพถ่ายวิดีโอการช่วยเหลือนำตัวเสธ.แดง ส่งโรงพยาบาล และมีหลักฐานจากคำพูดของ น.พ.จรูญศักดิ์ นวลแจ่ม หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลวชิระพยาบาล ที่ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ว่า วันที่ 13 พ.ค. เสธ.แดงยังไม่เสียชีวิต แต่เนื้อสมองตายแล้ว แพทย์ชันสูตรพบว่า เสธ.แดง ถูกยิงตายด้วยกระสุน 1 นัดแต่ไม่ทราบว่าเป็นชนิดใด เนื่องจากไม่มีหัวกระสุนในเนื้อสมอง และบาดแผลถูกยิงทำมุม 30 องศา
โดยนายปองพล สารสมัคร ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่นได้ชี้แจงว่า ตนไม่ได้อยู่ในช่วงที่พล.ต.ขัตติยะหรือเสธ.แดง ถูกยิง เมื่อไปถึงพื้นที่ เห็นเสธ.แดงให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศอยู่ก่อนแล้ว จึงเข้าไปร่วมสัมภาษณ์ จากการสังเกตอาการเสธ.แดงวันนั้น มีลักษณะท่าทางที่ไม่อยู่นิ่ง หันซ้ายหันขวา ก้มหน้าดูพื้นตลอดเวลา ทำให้ช่างภาพทำงานยาก หลังจากนั้นได้แยกตัวออกไป เมื่อเดินออกไปผ่านหน้าโรงแรมดุสิต ได้ยินเสียงดังมาก ในตอนแรกคิดว่าเป็นเสียงประทัด ต่อมาทางโรงพิมพ์แจ้งว่า เสธ.แดงถูกยิงให้รายงานสถานการณ์ด่วน
ด้านนายชูชีพ บุญเส็ง เจ้าหน้าที่ควบคุมกู้ชีพผลัดที่ 1 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งเป็นผู้พาพล.ต.ขัตติยะ จากโรงพยาบาลหัวเฉียวฯ ไปโรงพยาบาลวชิระพยาบาล ชี้แจงว่าเป็นผู้นำส่งเสธ.แดงไป ขณะนั้นยังไม่เสียชีวิต โดยมีเจ้าหน้าที่ พยาบาลจาก ร.พ.วชิระมารับเสธ.แดงด้วย และได้นำรถออกทางด้านหลังโรงพยาบาลหัวเฉียวฯ เนื่องจากด้านหน้ามีผู้ชุมนุม ซึ่ง9oไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สั่งย้าย พล.ต.ขัตติยะออกจากโรงพยาบาล
ส่วน นางโสรญา สิทธิผิน พยาบาลประจำการศูนย์หัวเฉียวพิทักษ์ชีพ ชี้แจงว่าตอนที่คนไข้เข้ามาโรงพยาบาลยังไม่เสียชีวิตและไม่รู้สึกตัว จากนั้นได้นำคนไข้ไป ศูนย์เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จากนั้นนำไปรักษาตัวที่ห้องไอซียู จากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมงก็มีการเคลื่อนย้ายคนไข้ไป ร.พ.วชิระ เมื่ออนุกรรมการถามว่า เห็นหัวกระสุนตอนที่ทำ CT สแกนหรือไม่ นางโสรญาบอกว่าไม่ได้ดู และไม่ทราบเรื่องการสั่งย้าย เพราะคนที่ทราบคือ ผู้บริหารโรงพยาบาล รู้แต่เพียงคนไข้ไม่รู้สึกตัว มีผ้าพันแผลที่ศีรษะ และมีเลือดไหลตลอด
ขณะที่ พ.ท.สิทธิศักดิ์ ธิวันนา ผู้ช่วยฝ่ายยุทธการกองทัพภาคที่ 1 (ผช.ฝยก.ทภ.1) ได้ชี้แจงว่า ในพื้นที่ถนนพระราม 4 มีหน่วยงานของ กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ควบคุมอยู่เต็มพื้นที่ร่วมกับตำรวจ และหน้าที่หลักที่ได้รับคำสั่งมาคือ การป้องกันการก่อเหตุจากมือที่ 3 ในการเข้ามาชี้แจงต่อคอป. นั้น ตนไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการเชิญมาสอบโดยมีผู้สื่อข่าวนั่งฟังอยู่ด้วย และจะชี้แจงทางหนังสือตามมาทีหลัง ส่วนการสอบสวนคิดว่าควรเป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษมากกว่า
อย่างไรก็ตาม นายสมชาย หอมลออ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้รับข้อมูลที่ไม่น่าพอใจ เพราะตัวแทนที่เกี่ยวข้องที่เชิญมาร่วมประชุมหลายฝ่ายไม่มา ดังนั้นต้องทำการตรวจสอบกรณีนี้ต่อ เพื่อที่จะได้ข้อมูลที่แท้จริง เพราะยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพื้นที่และอาวุธปืนที่ พล.ต.ขัตติยะถูกยิงด้วยสไนเปอร์ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษ และหน่วยงานที่มีปืนชนิดนี้มีแต่หน่วยงานราชการเท่านั้น แต่การจะอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่แตกแถวไปบ้างนั้น คนที่ยิงได้แม่นขนาดนี้ต้องมีความแม่นยำและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และวิถีกระสุนที่เจาะเข้าศีรษะทางด้านขวา ทำมุมเฉียง 30 องศานั้น จึงเป็นการยิงจากมุมสูง ผู้เสียชีวิตหันหน้าไปถนนพระราม 4 เป็นไปได้ว่า วิถีกระสุนน่าจะมาจากอาคารทางด้านฝั่งขวา ซึ่งจะมีอาคารที่น่าจะเกี่ยวข้อง เช่น สีลมพล่าซ่า หรืออาคารโรงพยาบาลจุฬาฯ นอกจากนั้น พื้นที่ในระยะใกล้ หรือที่สูง ในช่วงเกิดเหตุดังกล่าวน่าจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่มาแล้วหลายวัน การที่จะมีมือปืนแปลกปลอมเข้าไปก่อเหตุได้นั้น ทางการต้องอธิบายให้ได้ว่า ทำไมถึงเปิดช่องให้มือปืนแปลกปลอมเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้ คำถามนี้ ทางคณะอนุกรรมการฯ ต้องการคำตอบไม่ใช่เฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อความกระจ่างตามที่ได้ภาระหน้าที่มอบหมายมา รวมทั้งเรื่องโรงพยาบาลพบหัวกระสุนจริง แล้วหัวกระสุนหายไปได้อย่างไร เพราะหัวกระสุนจะได้รู้คำตอบว่ามาจากปืนกระบอกใด ซึ่งจะต้องตรวจสอบต่อไป