ที่มา ประชาไท
วานนี้ (17 มี.ค.54) มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (The Justice for Peace Foundation-JPF) และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists –ICJ) จัดกิจกรรมสาธารณะเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านหลักการทางกฎหมายและข้อกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง โดยเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับคดี ของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความนักสิทธิมนุษยชนมุสลิม ผู้ซึ่งกลายเป็นผู้ที่ "ถูกทำให้หายไป" เป็นเวลานานกว่าเจ็ดปี โดยงานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้น ณ อาคารมณียา เซ็นเตอร์ นำเสวนาโดย นางอังคณา นีละไพจิตร นายโรเจอร์ นอร์มันด์ ศาสตราจารย์วิฑิต มันตราภรณ์ และ นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมาเป็นวันที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งห้านายจากความผิดฐานลักพาตัวบุคคล บังคับสูญหาย และทำให้เสียชีวิตในคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร และในวันที่ตัดสินคดีดังกล่าวก็เป็นวันครบรอบการหายตัวไปเจ็ดปีของทนายสมชาย การตัดสินพิจารณาคดีในครั้งนี้จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง หลังจากที่คนรอบข้างต่างก็รอความหวังจากกระบวนการยุติธรรมมานานถึงเจ็ดปี
ก่อนการเสวนา ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวถึงลำดับเหตุการณ์ ”ถูกทำให้หายตัวไป" ของทนายสมชาย นีละไพจิตร ตั้งแต่การเริ่มหายตัวไปในวันที่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2554 ซึ่งศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 และตัดสินว่า โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจเข้ามาในการพิจารณาของศาล
จากนั้นผู้ดำเนินรายการได้เปิดประเด็นโดยชวนผู้เข้าร่วมเสวนาตั้งคำถามต่อคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่มีความเป็นคดีที่ไม่ปกติ โดยเกี่ยวข้องถึงการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ เกี่ยวโยงกับปัญหาทางการเมืองของสามจังหวัดภาคใต้ และรวมถึงรัฐบาลแต่ละสมัยที่ล้วนแต่แสดงความเพิกเฉยต่อคดี จากนั้นจึงเริ่มการอภิปราย
แฉพยานถูกคุมคาม มาตรการคุ้มครองพยานล้มเหลว
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่านายสมชายต้องการเป็นทนายความเพราะต้องการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในสังคม คุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ และการเอารัดเอาเปรียบในสังคม โดยเชื่อมั่นและไม่เคยท้อถอยต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นจุดเริ่มต้นในการทำคดีที่เกี่ยวข้องกับระหว่างชาวมุสลิมกับภาครัฐ และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก่อนการเสียชีวิตมักจะมีเหตุการณ์คุกคามต่างๆ เช่น การข่มขู่ทางโทรศัพท์
สำหรับความคืบหน้าในคดีทนายสมชายที่ผ่านมานั้น ศาลเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ พยานกับประจักษ์พยานไม่สอดคล้องกัน ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย จึงยกฟ้องทั้งหมด
"พยานหลักฐานที่สำคัญได้ถูกทำลาย” นางอังคณากล่าวถึงหลักฐานการโทรศัพท์และพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏพบก่อนหน้านี้ ซึ่งก็น่าแปลกใจว่าเหตุมใดในเวลาต่อมาจึงมีผลออกมาว่าไม่พบหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ใดๆเลย ขณะที่ประจักษ์พยานซึ่งเป็นผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด
นางอังคณาได้ย้ำทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพยานหลักฐานและพยานบุคคลในคดีการหายตัวของนายสมชาย นำไปสู่คำถามว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กระทำผิด เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานแล้วส่งศาล สุดท้ายประชาชนจะได้ความเป็นธรรมได้อย่างไร
ชี้คดีทนายสมชายมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
นายโรเจอร์ นอร์มันด์ ผู้อำนวยการโครงการเอเชีย- แปซิฟิค คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล กล่าวว่า กรณีทนายสมชาย นับว่าเป็นกรณีสำคัญของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ถ้ากรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นกับทนายสมชายได้ ก็สามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้เช่นกัน พร้อมตั้งคำถามว่า “มีใครยังเชื่ออยู่บ้างไหมว่าทนายสมชายยังมีชีวิตอยู่” และ “คุณเชื่อหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เบื้องหลัง”
นอร์มันด์เห็นว่า คดีทนายสมชาย เป็นตัวอย่างของพลเมืองไทยที่ไร้การคุ้มครองจากรัฐ และก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย
นายนอร์มันด์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเมืองของไทย มีส่วนอย่างสัมพัน์กับผลของคดีในหลายกรณี เช่น กรณี การเสียชีวิตของชาวมุสลิมที่ตากใบ กรณีกรือเซะ และกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภาคใต้
นายนอร์มันกล่าวว่า องค์กรนิติศาสตร์สากลเป็นกังวลกับเหตุการณ์เหล่านี้มาก ถ้าหากรัฐไทยไม่สามารถสร้างความยุติธรรม โดยเฉพาะกับคนเชื้อไทยเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดภาคใต้ รัฐก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้
‘วิฑิต’ วิพากษ์ไร้ความโปร่งใสในการสอบสวนคดี
นายวิฑิต มันตราภรณ์ ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และอดีตผู้แทนพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในว่า การแสวงหาความยุติธรรมในไทยตกอยู่ในสถานการณ์มีความมืดมัว ขาดความโปร่งใส และไม่ชัดเจนอยู่มาก
นายวิฑิต กล่าวว่า "การอุ้ม" เป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลในระดับที่รุนแรง เป็นความผิดที่มีผลต่อเนื่องจนกว่าจะมีการเปิดเผยว่าคนที่ถูกทำให้หายไปนั้นอยู่ที่ไหน กรณีการอุ้มนี้ควรถือเป็นความผิดและควรมีกฏหมายรองรับเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ดำเนินการ
ประเด็นต่อมาคือ อนุสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยได้เคยลงนาม หรือกำลังจะลงนามกับองค์การสหประชาชาติว่า ไทยจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในประเด็นเรื่องความผิดที่ควรมีช่วงอายุเวลาที่ยาวนานพอ การสอบสวนต้องอิสระ และต้องครอบคลุมถึงการควบคุมตัวและการโดนบังคับขืนใจ นอกจากนั้นผู้เสียหายจะต้องได้รับการชดใช้ค่าเสียหายอย่างเป็นธรรม และต้องมีการจัดตั้งกรรมการจากสหประชาชาติเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่มีความเป็นสากล สำหรับอนุสัญญาที่ไทยลงนามนั้น หากไทยได้เป็นภาคี ก็จะต้องปรับปรุงกฎหมายอย่างจริงจังเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาที่ลงนาม และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นซึ่งไม่ใช่เพียงแค่คดีทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นคดีที่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองด้วย
นายวิฑิตย้ำว่า คดีทนายสมชายไม่ใช่แค่คดีทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองในสามจังหวัดภาคใต้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสอบสวนคดีอย่างอิสระและเอกเทศ โดยไม่มีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลของคดี เพราะที่ผ่านมาผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ล้วนเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ทั้งสิ้น
เชื่อ "คนหาย" ต่อเนื่อง หลังผู้กระทำผิดคดีทนายสมชายยังลอยนวล
นางสาวประทับจิต นีละไพจิตร บุตรสาวของทนายสมชาย กล่าวว่า การลอยนวลของผู้กระทำความผิดในกรณีนี้ ส่งสัญญาณมาถึงคนทั้งประเทศว่า การทำให้บุคคลสูญหายจะยังคงไม่ยุติลง หลังจากที่ทนายสมชายหายไปเมื่อปีพ.ศ. 2547 หลังจากนั้นประเทศไทยเกิดบุคคลสูญหายเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีหลายกรณีที่เกิดขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เธอเพียงแต่หวังว่าหากทำให้คดีของทนายสมชายเกิดความก้าวหน้าได้บ้าง ก็น่าจะยุติหรือหยุดตัวเลขของผู้สูญหายในประเทศไทยได้ แต่วันนี้เธอพบแล้วว่าไม่ใช่อย่างนั้น
ประทับจิตกล่าวทิ้งท้ายว่า เรามักจะพูดถึง "สันติภาพ" แต่เธอเห็นว่าสันติภาพต้องไม่ใช่แค่เรื่องของความสามัคคี แต่ต้องเป็นสันติภาพที่คำนึงถึงความหลากหลาย สันติภาพที่มีคุณภาพ และมีความเป็นธรรม และหวังว่าประเทศไทยจะเร่งรัดลงสัตยาบันเป็นภาคีว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยบุคคลสูญหาย เพื่อยุติการทำให้บุคคลสูญหายได้จริงๆ