ที่มา มติชน
โดย ปราปต์ บุนปาน
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 17 มีนาคม 2554)
เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงและคลื่นสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น ทำให้เราพบเห็นอะไรหลายอย่าง
ตั้งแต่การตั้งคำถามถึงระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
การได้เห็นถึงความรัก ความห่วงใย ที่เพื่อนมนุษย์บนโลกนี้มีให้ต่อกันอย่างน่าชื่นชมและเปี่ยมความหวัง
การได้เห็นโครงสร้างทางสังคมอันแข็งแรงของญี่ปุ่น ซึ่งสามารถรับมือกับปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นได้ "นิ่ง" มากๆ
แต่อีกสิ่งหนึ่ง ที่พวกเราได้เห็น ก็คือ "ความกลัว"
บางครั้ง "ความกลัว" ก็อาจไม่ได้ส่งผลเสียหายอะไร เช่น "ความกลัว" ทำให้เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติเป็นบางวาระ
ทว่าบางครา ถ้าเรา "กลัว" เกินไป อะไรต่อมิอะไรก็อาจสับสนวุ่นวายและ "พัง" ตามมา
มนุษย์คงไม่สามารถหลีกเลี่ยง "ความกลัว" ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเองได้
แต่เมื่อ "กลัว" ได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว ทำอย่างไรเราถึงจะมีสติมากำกับ "ความกลัว" ดังกล่าว
เช่น เมื่อกลัวแผ่นดินไหว กลัวสึนามิ กลัวภัยจากสารกัมมันตรังสี ฯลฯ
ควรทำอย่างไรเราจึงจะสามารถแปรผัน "ความกลัว" ที่เกิดขึ้น ไปสู่การแสวงหา "ความรู้" ที่ถูกต้อง
ไม่ใช่ "กลัว" แล้ว "ฟุ้ง" จนทำอะไรหลายๆ อย่าง ที่มิใช่การแก้ปัญหา หรือทำให้ปัญหาที่หนักอยู่แล้วมีอาการสาหัสมากยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งยังทำให้บรรดา "เซลส์แมนขายวิกฤต" มีโอกาสหากินกับธุรกิจ "ความกลัว" ได้ง่ายขึ้น
เท่าที่ตามข่าวจากสื่อไทยและต่างประเทศ (อย่างไม่ได้เกาะติดตลอดเวลา) ดูเหมือนอาการตื่นตระหนกตกใจหรือ "กลัว" เกินเหตุ จะเกิดขึ้นกับคนญี่ปุ่นไม่มากนัก
เผลอๆ อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับคนชั้นกลางไทยแถว กทม. มากกว่าคนญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป
จะว่าไปแล้ว ปัญหาหลายๆ อย่างของสังคมไทย ก็มี "ความกลัว" เป็นปัจจัยสำคัญอยู่ด้วยเหมือนกัน
บ้างก็ "กลัว" ว่าอำนาจจะไม่อยู่ในมืออย่างสมบูรณ์เด็ดขาดดังเดิม จึงแก้ปัญหาด้วยการรวบอำนาจมากขึ้นอย่างผิดยุคผิดสมัย
ผลลัพธ์ก็ได้แก่ ความวุ่นวายไม่รู้จบ และการเสาะแสวงหา "จุดสมดุลทางอำนาจ" ไม่เจอ
บ้างก็ "กลัว" ว่าตัวเองจะดำรงตนอยู่อย่างไม่ปลอดภัย ท่ามกลางดุลอำนาจที่ยังไม่ลงตัวดังกล่าว
ฉะนั้น ถ้าจะ "ก้าวหน้า" ไปก็ไม่ดี แต่หาก "ล้าหลัง" เกินก็ไม่ได้
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า แล้วตรงไหนล่ะคือ "ทางสายกลาง" ซึ่งจะทำให้บุคคลกลุ่มนี้และผู้คนที่สนับสนุนพวกเขาพอใจพ้องกัน
และมีอีกไม่น้อยที่เลือกจะ "กล้า" ทว่าก็ยังอด "กลัว" ไม่ได้ ว่าตนเองจะต้องเผชิญกับอนาคตไม่แน่นอนในภายภาคหน้าอย่างไรบ้าง
เมื่อกลุ่มคนที่นำพวกตนอยู่เริ่มออกอาการ "กลัว"
แน่นอนว่า "ความกลัว" ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในแทบทุกปัญหาของชีวิตมนุษย์
แต่ถ้าเราเลือกจะมองเห็นเพียง "ความกลัว" และไม่พยายามแสวงหาปัจจัยอื่นๆ ของปัญหานั้นๆ แล้ว
เราก็คงแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย
พวกคุณเริ่ม "กลัว" กันแล้วใช่มั้ยล่ะ?