ที่มา ประชาไท
ความน่าสนใจของการประท้วงที่รัฐวิสคอนซินมีสองอย่างที่คอการเมืองบ้านเราจับจ้องก็คือผู้ประท้วงบางกลุ่มใช้เสื้อแดงเป็นสัญลักษณ์ และมีการโยงถึงว่าเหตุการณ์นี้ลุกลามมาจากการประท้วงในประเทศแถบแอฟริกา เหนือ-อาหรับ และพลังของเฟซบุก-ทวิตเตอร์ เครือข่ายสังคม
ในบทความนี้จะเป็นการวิเคราะห์ถึงเบื้องลึกของเหตุการณ์ และมุมมองสะท้อนสิ่งที่เกิดในบ้านเราทั้งในอดีตและในอนาคต
เริ่มด้วยมูลเหตุการณ์ประท้วงนั้นเกิดมาจาก เมื่อพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะการเลือกตั้งกลางสภา (ช่วงกลางเทอม) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2010 หรือ ที่จัดขึ้นทุกๆ ปีที่ 2 ของระยะการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวาระ 4 ปี และมติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่เห็นชอบให้ลดงบประมาณประจำปีลงถึง 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์ (จากงบประมาณทั้งหมด 1.2 ล้านล้านดอลลาร์)
การผ่านเรื่องการตัดงบฯนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือ “แทคติก” ทางการเมืองของพรรครีพับลิกัน ที่ใช้กุศโลบาย “ขายเหล้าพ่วงเบียร์” ที่จะทำลายความเข้มแข็งของฐานเสียงสำคัญของเดโมแครต กลุ่มผลประโยชน์นั้นคือ “สหภาพแรงงาน” เพราะกลุ่มสหภาพแรงงานนั้นได้รับผลประโยชน์จากนโยบายของเดโมแครต และก็สนับสนุนพรรคการเมืองนี้อย่างแข็งขัน
สมรภูมิวิสคอนซินเริ่มต้นด้วยการที่นายสก็อต วอล์กเกอร์ (Scott Walker) ผู้ว่าการรัฐวิสคอนซินคนใหม่จากพรรครีพับลิกัน เสนอร่างกฎหมายที่หวังจะลดทอนอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐในขั้นแรก เพื่อดำเนินการสู่การใช้แผนตัดลดสวัสดิการและบำนาญของแรงงานภาครัฐในขั้นต่อไป (วอล์คเกอร์ชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2010 โดยเอาชนะคู่แข่งอย่างนายทอม บาร์เร็ต (Tom Barrett) จากพรรคเดโมแครต 1,128,941 ต่อ 1,004,303 คะแนนเสียง)
โดยกฎหมายปฏิรูปงบประมาณของวอล์กเกอร์ มีเนื้อหาตัดสิทธิการร่วมต่อรองของสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อเงินบำนาญและกองทุนประกันสุขภาพ รวมถึงบี้ให้คนทำงานภาครัฐจ่ายเงินสมทบมากขึ้น แต่ก็ยังคงเปิดให้สหภาพแรงงานมีสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองได้เพียงเรื่องการขึ้นเงินเดือนของลูกจ้างเท่านั้น และกำหนดเพดานว่าต้องมีอัตราไม่เกินกว่าดัชนีผู้บริโภคของสหรัฐในแต่ละปี ซึ่งคนทำงานภาครัฐที่ต้องถูกเชือดนี้มีในหลายสาขาการปฏิบัติงาน ยกเว้น พนักงานดับเพลิง ตำรวจ และคนทำงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
สิ่งนี้ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ของฝ่ายสหภาพแรงงาน ฐานเสียงพรรคเดโมแครต และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ใช่แค่กลุ่มค้านเท่านั้น กลุ่มหนุนก็ออกมาสนับสนุนวอล์กเกอร์ด้วยเช่นกัน
สมรภูมิ วิสคอนซินมีความสำคัญมากในทางจิตวิทยา แทคติก และยุทธศาสตร์ เพราะร่ำๆ ว่ามีอีกหลายรัฐที่รีพับบลิกันครองอยู่จะใช้นโยบายนี้ เช่นที่ โอไฮโอ รัฐอินเดียนา และรัฐไอโอวา เป็นต้น
นอกเหนือจากประเด็นรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลังของสหรัฐแล้ว การเปิดหน้าอัดสหภาพแรงงานนี้ยังส่งผลดีต่อนายทุนอุตสาหกรรมต่างที่สนับสนุน พรรครีพับลิกัน และสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจว่าทำไมถึงมีกลุ่มประชาชนสนับสนุนนโยบายนี้ สิ่งหนึ่งก็คือการว่างงานและการมองว่าพวกสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะสหภาพแรงงานคนทำงานภาครัฐ มีสวัสดิการที่ดีกว่าปถุชนคนทั่วไป การตัดรายได้เพื่อนำมาสร้างสวัสดิการหรือสร้างงานให้ประชาชนทั่วไปอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็เป็นได้
ซึ่งมวลชนหนุนวอล์กเกอร์นี่ก็อาจเป็นผลต่อยอดมาจากการประท้วงของกลุ่มทีปาร์ตี้ (Tea Party movement) (มวลชนของรีพับลิกันเอง) ที่ออกมาเย้วๆ ต่อต้านการบริหารประเทศของประธานาธิบดีภาพดีคนล่าสุดของสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา (Barack Obama)
จึงอาจกล่าวได้ว่า “สมรภูมิวิสคอนซิน” เป็นการประท้วงของมวลชนของ 2 พรรค การเมืองหลักของคนอเมริกัน ไม่ใช่การประท้วงเปลี่ยนแปลงระบอบ การเรียกร้องประชาธิปไตย หรือการโค่นเผด็จการหน้าไหนอย่างไร แต่เป็นการประท้วงเรื่องผลประโยชน์ (ของสหภาพแรงงาน) และการชนกันของแนวคิดการบริหารประเทศของมวลชนผู้สนับสนุนพรรคการเมือง (เดโมแครต vs รีพับลิกัน)
เมื่อหันกลับมามองบ้านเรา การประท้วงของกลุ่มผลประโยชน์นั้นมีอยู่มากมายในสังคมไทย เช่น สหภาพแรงงานประท้วงนายจ้าง, การประท้วงต้าน FTA, การประท้วงคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, ขบวนการต้านเขื่อน, ขบวนการสมัชชาคนจน หรือขบวนต่อต้านการพัฒนาที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนต่างๆนานา เป็นต้น
แต่บ้านเราโดยเฉพาะแวดวงปัญญาชน มักจะไม่เรียกกลุ่มชาวบ้านหรือกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์นี้ว่าเป็น “กลุ่มผลประโยชน์” เพราะคำว่า “ผลประโยชน์” ในบ้านเรามันถูกมองเป็นแง่ลบและ “ปัญญาชนผู้แสนดี” ก็ไม่อยากจะเอาคำว่ากลุ่มผลประโยชน์นี้ไปแปะให้ “กลุ่มชาวบ้านผู้หน้าสงสาร” เราจึงมักจะได้ยินคำว่า “การต่อสู้ของคนเล็กๆ” หรือ “ประชาธิปไตยของคนชายขอบ” หรือ “ขบวนการเคลื่อนไหวสังคมใหม่” อะไรก็ว่าไป
และขอย้ำในบรรทัดนี้ว่าผู้เขียนไม่ได้ต่อต้านการคัดค้านเคลื่อนไหวของกลุ่มคน ผู้เสียผลประโยชน์ เพียงแต่จะบอกว่า ในอนาคตเมื่อการเมืองไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การสถาปนาประชาธิปไตย และถ้าหากประชาชนบางส่วนได้สมาทานแนวคิดเสรีนิยมทุนนิยม และออกมาเรียกร้องคู่ขนานแบบเหตุการณ์ในวิสคอนซิน ขบวนการชาวบ้านผู้เสียผลประโยชน์จะต้องทำใจ และก้าวให้พ้นความคิด “ม็อบจัดตั้งของนายทุนหรือรัฐ” จัดมาชนกับขบวนการภาคประชาชนของตัวเอง
การประท้วงเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ในบ้านเรา ขบวนการที่สุ่มเสี่ยงที่สุดอาจจะเข้าโมเดลวิสคอนซิน นั่นก็คือขบวนการต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ปีกอนุรักษ์นิยมพันธมิตรฯ อย่าง สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
ที่ว่าสุ่มเสี่ยงที่สุดนั้นก็คือหากวันใด พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งต้องการแปรรูป ตัดลดสวัสดิการของคนงานรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ โดยอ้างเรื่องความไร้ประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองเงินภาษีของ ประชาชน พวกเขาจะมีแรงหนุนจากกลุ่มผลประโยชน์เดียวกัน อย่างกลุ่มสหภาพแรงงานภาคเอกชนหรือไม่ แบบที่สหภาพแรงงานในสหรัฐร่วมใจกันต้านที่วิสคอนซิน
ถ้าเจอแทคติกแบบว่าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจมาทำประชานิยมใหม่ๆ ให้คนหมู่มาก เช่น เบี้ยช่วยเหลือแรงงานเอกชนรายได้น้อย เบี้ยช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ เป็นต้น – ถึงเวลานั้นอาจจะเกิดปรากฎการณ์ใหม่ๆ ของการประท้วงในไทยอีกครั้ง
คงจะมีมวลชนเพื่อนแท้อย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นที่ เคียงข้าง แต่กลุ่มพันธมิตรนั้นไม่ได้มีส่วนได้เสียกับการแปรรูปหรือไม่แปรรูปในเรื่อง ของผลประโยชน์ชัดเจน (เช่น ตกงานง่ายขึ้น โบนัสน้อยลง ฯลฯ) แต่พวกเขาเน้นแต่เรื่องอุดมการณ์ถอยหลังไม่ยอมรับระบบประชาธิปไตยหนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียงเท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับนับถือน้ำใจของกลุ่มพันธมิตรจริงๆ ว่าพวกเขาบรรลุโสดาบัน กลายเป้นขบวนการเรียกร้องเรื่องอุดมการณ์ไปเพียวๆ เสียแล้ว สำหรับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรอาจจะมีเนื้อมีหนังหน่อยก็เรื่องทวงเขาพระ วิหารมาให้คนไทยทุกคน แต่ก้คงต้องไปถาม สรส. ว่า เขาพระวิหารนี่มันเกี่ยวกับขบวนการแรงงานมากน้อยแค่ไหน ได้เขาพระวิหารมาสหภาพแรงงานจะเข้มแข็งอย่างไร ความเป็นอยุ่ของคนงานจะดีขึ้นอย่างไร
ดูเพิ่มเติมประเด็น สรส.: สรส.จับมือ พธม.ลั่นยกระดับชุมนุมขับไล่ รบ.ชี้ไม่มีสิทธิสลาย-จับแกนนำ
สำหรับขบวนการชาวบ้านทั่วไป ขอย้อนไปยังวลีนี้อีกครั้งในบทความ ถ้าหากประชาชนบางส่วนได้สมาทานแนวคิดเสรีนิยมทุนนิยม และออกมาเรียกร้องคู่ขนานแบบเหตุการณ์ในวิสคอนซิน ขบวนการชาวบ้านผู้เสียผลประโยชน์จะต้องทำใจ และก้าวให้พ้นความคิด “ม็อบจัดตั้งของนายทุนหรือรัฐ” จัดมาชนกับขบวนการภาคประชาชนของตัวเอง ประเด็นนี้สำคัญมากๆ และก็อาจเกิดและกำลังจะเกิดในหลายพื้นที่สมรภูมิการเมืองเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มต้าน-กลุ่มหนุนสหวิริยา ที่บางสะพาน กลุ่มต้าน-กลุ่ม หนุน เขื่อนปากมูน (ที่ล่าสุดมีการโยงเอาเรื่องคนเลี้ยงปลากระชังมาหนุนไม่ให้เปิดเขื่อน) หรือกลุ่มที่เสนอให้ปิดนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดกับกลุ่มแรงงานในนิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด ฯลฯ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าประเด็นเหล่านี้การเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มก็ล้วนแล้ว แต่มีเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายอย่างปฏิเสธไม่ได้
ประชาชน ธรรมดานั้นล้วนแล้วแต่ต้องหาผลประโยชน์ใส่ตัว และต้องสอดส่องสายตาหา “กลุ่ม” สังกัดเพื่อเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ทั้งนี้คำว่า “ขบวนการประชาชน” นั้นจะต้องไม่ถูกมองเป็นเทวดาบริสุทธิ์ผุดผ่องที่แตะต้องไม่ได้ ใครดีใครเลวกว่ากัน ในสังคมประชาธิปไตย
ที่มา:สำนักพิมพ์หมูหลุม มองอีกมุมประท้วงที่วิสคอนซินและการประท้วงของ “กลุ่มผลประโยชน์” ในไทย