ที่มา มติชน
โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 16 มีนาคม 2554)
การเมืองคึกคักขึ้นมาทันที หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศว่า จะยุบสภาในต้นเดือนพฤษภาคมนี้
วันเลือกตั้ง จะตกประมาณปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคม
แต่ก่อนจะไปถึงวันยุบสภา นายกฯและรัฐบาลยังมีงานค้าง ที่เห็นๆ 2 เรื่องด้วยกัน
ได้แก่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่น่าจะมีปัญหามากนัก แม้จะมีการปล่อยข่าวว่า พรรครัฐบาลที่ไม่อยากให้ยุบสภาอาจจะเบี้ยวโหวต
ที่ต้องออกแรงหลายยกสักหน่อย คงจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เริ่มต้นแล้วเมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา อภิปรายเสร็จ ลงมติในวันที่ 19 มีนาคม
วันแรกโต้โผฝ่ายค้าน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ โชว์ฟอร์มได้ไม่เลว ที่วิเคราะห์วิจารณ์กันไว้ล่วงหน้าว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พออภิปรายจริงก็ได้เนื้อหาสาระ มีข้อมูลพอสมควร
ขณะที่นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลุกมาตอบโต้เรื่อยๆ เกือบทุกประเด็นตามฟอร์ม
เที่ยวนี้ฝ่ายค้านขอเวลาไว้ 4 วัน มีคนสงสัยเหมือนกันว่าจะเอาเนื้อหาที่ไหนมาพูด แต่ฝ่ายค้านตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้เวทีสภาชำแหละรัฐบาล ระดมขุนพลมากหน้าหลายตา กะใช้เวลาเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลสะเทือนไปถึงการเลือกตั้ง
รัฐบาลเองก็รู้อยู่แล้ว ก็เลยได้เห็นการลุกขึ้นตอบโต้อย่างละเอียดและไม่ลดละจากบรรดารัฐมนตรี
ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะข้อสงสัยต่างๆ ที่หยิบยกมาถามตอบ จะช่วยให้ประชาชนที่ฟังวิทยุดูทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ ได้ความรู้ว่านักการเมืองกำลังทำอะไรกันอยู่
ถ้าไม่หกล้มหัวฟาดพื้นเสียก่อนเพราะน้ำมันปาล์ม โดน 91 ศพหลอน หรือเมาควันบุหรี่นอกตกท่อไปเสียก่อน
รัฐบาล ก็คงจะผ่านการอภิปรายครั้งนี้ไปได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลคงจะช่วยกันยกมือไว้วางใจ สร้างไมตรีไว้ เผื่อจะได้กลับมาใช้บริการ เป็นรัฐบาลร่วมกันอีก ถ้าไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า
ย้อนกลับไปที่การตอบโต้ของนายกฯอภิสิทธิ์ กับนายมิ่งขวัญ ในการอภิปรายวันแรก เมื่อมีความเห็นต่างกันในการจัดการปัญหา
นายกฯอภิสิทธิ์เสนอว่า เมื่อต่างคนต่างมีวิธีการของตัวเอง ก็ให้ประชาชนตัดสินดีกว่า
ประชาชน ชอบการแก้น้ำมันปาล์มแบบไหน ชอบการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบไหน ให้ไปตัดสินกันในสนามเลือกตั้ง ชาวบ้านชอบแบบของพรรคไหน หัวหน้าพรรคนั้นก็เป็นนายกฯ พรรคนั้นเป็นรัฐบาลไป
ซึ่งก็ชัดเจนดีเหมือนกัน จึงหวังว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ละพรรคเสนอทางเลือกให้ชัดๆ ไปเลยว่า เลือกพรรคนี้จะได้อะไร และจะไม่ได้อะไร
บางเรื่องบางประเด็น ประชาชนก็มีข้อสรุปอยู่ในใจอยู่แล้ว เพียงแต่รอโอกาสแสดงความเห็นเท่านั้นเอง
ฉะนั้น การลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจที่แท้จริง จึงไม่ได้อยู่ในสภา
แต่อยู่ที่สนามเลือกตั้ง