ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
การประกาศยุบสภาภายในสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
1.สุรชัย ศิริไกร
2.สุริชัย หวันแก้ว
3.วิทยากร เชียงกูล
4.คมสัน โพธิ์คง
กำลังได้รับการท้าทายจากฝ่ายตรงข้าม ทั้งในส่วนของผู้ชุมนุม และพรรคฝ่ายค้าน
ที่มองว่าการยุบสภาไม่ใช่ข้อเรียกร้อง จึงไม่ใช่คำตอบของการยุติการชุมนุมเคลื่อนไหว ที่ต้องเดินหน้าต่อ
อีกทั้งระแวงว่าการไม่ระบุวันยุบสภา-เลือกตั้ง ที่แน่นอน เป็นเพราะนายกฯ จะไม่ยุบสภาจริงตามที่ประกาศ
แต่ที่ประกาศเพื่อต้องการลดกระแสทางการเมือง
นักวิชาการประเมินคำประกาศ "ยุบสภา" ครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากอะไร และจะช่วยแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้หรือไม่
สุรชัย ศิริไกร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์
สาเหตุที่รัฐบาลประกาศยุบสภาในช่วงดังกล่าวเนื่องจากมีปัญหาในการบริหารงานหลายด้าน รวมถึงถูกการกดดันจากการชุมนุมนอกสภา ทั้งจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ปัญหาสำคัญที่พวกเขาเรียกร้องคือ 1.รัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ 2.กรณีปราสาทพระวิหาร ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนหรือไม่ 3.สินค้าแพง ทำให้เงินเฟ้อจนทำให้ราคาน้ำมันแพง และสุดท้าย 4.เรื่องภาษีบุหรี่ ที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้
ถ้าปล่อยเวลาการบริหารงานไปเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้คะแนนนิยมในรัฐบาลลดลงตามลำดับ ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศยุบสภา จึงถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาล
การออกมาประกาศยุบสภายังจะช่วยลดความรุนแรงในการชุมนุม รวมถึงลดระดับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาลงได้อีกด้วย เนื่องจากการยุบสภาคือการคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วไปเลือกบุคคลที่ชื่นชอบเข้ามาทำงาน ทำให้ฝ่ายค้านรวมถึงพรรคร่วมจะได้ตั้งหน้าตั้งตาลงพื้นที่หาเสียง
รวมถึงกระแสข่าวที่มีอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร ก็จะหายไปด้วย เนื่องจากคนที่จ้องจะปฏิวัติคงทำไม่ได้แล้ว เพราะรัฐบาลจะยุบสภา ส่วนการกำหนดวันเวลายุบสภาที่ชัดเจน คิดว่ารัฐบาลคงจะรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับต่อสภา และประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาก่อน ถึงจะกำหนดวันที่ชัดเจนได้
นอกจากนี้ ผมยังเชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุน รวมถึงความเชื่อมั่นในต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยจะดีขึ้นตามลำดับ จากการประกาศยุบสภา
วิทยากร เชียงกูร
คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
การประกาศที่จะยุบสภาฯ ของนายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาไปตามกระแสเท่านั้น เพราะว่ารัฐบาลกำลังจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน จึงต้องการลดกระแสของช่วงเวลาดังกล่าว
เพราะนายอภิสิทธิ์ เองก็ไม่ได้ประกาศว่าจะยุบสภาฯ ในวันใด รวมทั้งไม่มีการระบุให้ชัดเจนว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อใดเช่นเดียวกัน
แต่เชื่อว่าอย่างไร การยุบสภาฯ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่คงมีอย่างแน่นอน เพราะนายอภิสิทธิ์ เป็นนักการเมือง เป็นนักเลือกตั้ง คาดว่าคงได้มีการหารือร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาลไว้เรียบร้อยแล้ว จึงได้ประกาศว่าจะมีการยุบสภาแน่นอน
โดยส่วนตัว มองว่าแม้ว่ารัฐบาลประกาศจะยุบสภา แต่ก็คงไม่ช่วยให้สถานการณ์การเมืองในประเทศดีขึ้น ตนเชื่อว่ากลุ่มต่างๆ จะยังคงชุมนุมเพื่อหวังผลในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเพื่อผลประโยชน์ของการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงตามที่รัฐบาลระบุ
และหากการเลือกตั้งครั้งใหม่มาถึง ก็จะมีแต่ปัญหาและเรื่องยุ่งยากตามมามากมาย เพราะทุกพรรคการเมืองจะงัดกลยุทธ์ขึ้นมาต่อสู้ทุกรูปแบบเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในทางการเมือง
ในช่วงที่มีการเสนอแนวทางการปฏิรูปการเมือง ทั้งจากนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ หรือแม้แต่ของ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีมาก แต่นักการเมืองและพรรคการเมืองกลับไม่สนใจ ขณะที่ประชาชนก็ไม่มีทางเลือกอะไรเลย เพราะพรรคการเมืองก็มีอยู่เท่านี้
สุริชัย หวันแก้ว
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากนายอภิสิทธิ์ ออกมาประกาศว่ารัฐบาลน่าจะมีการยุบสภาในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค.นี้ ส่วนตัวมีความเชื่อว่า บรรยากาศทางการเมืองและอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองในตอนนี้ น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับบรรยากาศทางการเมืองในตอนนี้ก็ไม่ได้เลวร้าย และร้อนแรงเหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมา
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ดีหากรัฐบาลจะประกาศให้มีการเลือกตั้ง เพราะประชาชนและทุกภาคส่วนจะได้ออกมาร่วมตัดสินใจและกำหนดทิศทางของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการพิสูจน์ผลงานของรัฐบาลที่เคยทำมาว่าจะเข้าตาประชาชนหรือไม่
สาเหตุที่นายกฯ ประกาศให้มีการเลือกตั้งก่อนที่จะครบวาระของรัฐบาลอาจจะมีปัจจัยที่ก่อนหน้านี้ได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ ประกอบกับตอนนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมหลังจากรัฐบาลได้ทำงานมากว่า 2 ปี
ส่วนกรณีที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่อยากให้มีการเลือกตั้งนั้น ยอมรับว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังคงมีและพยายามเคลื่อนไหวอยู่ แต่กลุ่มประชาชนที่อยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นก็มีมากเช่นกัน
การเลือกตั้งถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะรัฐบาลและสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ต้องการการมีส่วนร่วมจากประชาชน
คมสัน โพธิ์คง
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สาเหตุที่รัฐบาลออกมาประกาศยุบสภาในเวลานี้เนื่องจากรัฐบาลถูกแรงกดดันจากทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุม ทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง รวมถึงผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ พรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมและฝ่ายค้าน รวมถึงกองทัพ
เมื่อถูกกดดันจากหลายกลุ่มจึงอาศัยการประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เพื่อจะบอกว่า "ลงเลือกตั้งแล้วนะ ไม่ต้องมายุ่งกับผม"
เป็นการทำเพื่อลดกระแส ลดแรงกดดัน แต่มาทำเวลานี้เลยเวลาไปแล้ว หลายกลุ่มต้องการขับไล่รัฐบาลและต้องทำให้ถึงที่สุด ดังนั้น จึงไมได้ทำให้กระแสความรุนแรงในการชุมนุมลดลงไปได้ เนื่องจากปัญหาของพวกเขายังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงปัญหาข้าวของแพง เช่น น้ำมันแพง มีการกักตุนสินค้า ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
นอกจากนี้ การประกาศยุบสภายังไม่สามารถลดบรรยากาศในการอภิปรายไม่ไว้วางใจลงด้วย เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านเขารู้ดีกว่า ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้อยู่แล้ว แต่การอภิปรายมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทำให้ประชาชนทั่วไปได้ดู เป็นการทำงานควบคู่ไปกับการชุมนุมนอกสภา
เวลานี้ไม่ว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลใหม่ซึ่งอาจจะนำโดยพรรคไหนก็ได้เข้ามาบริหารงานก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่ได้
ผลสำรวจสำนักหนึ่งระบุว่า ประชาชนร้อยละ 58.6 ระบุว่า ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่เลือกพรรคอะไรเลย ทำให้เห็นว่าทุกวันนี้ประชาชนเขาไม่เอานักการเมืองแล้ว ดังนั้น เลือกตั้งมาใหม่ก็ไม่เกิดประโยชน์
การเมืองในระบบเดินมาถึงทางตัน การเมืองนอกระบบก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่รู้ประเทศชาติจะเดินทางไหน ดังนั้น ต้องมาปฏิรูปทางความคิด ปฏิรูประบบกันสักที ยอมเสียสละผลประโยชน์ตัวเองบ้าง