ที่มา ประชาไท
อดีตกรรมการสิทธิฯ ชี้ท่าทีไทย-อาเซียนยังไม่สนใจแรงงานเท่าที่ควร แนะคนงานข้ามชาติ-ไทยต้องสามัคคี ต่อสู้ยกระดับคุณภาพชีวิตร่วมกัน ด้านเครือข่ายแรงงานข้ามชาติออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐไทยดูแลให้คนงานข้าม ชาติเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน
(18 ธ.ค.54) เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธ.ค.ของทุกปี เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และโครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ในวันแรงงานข้ามชาติ (PHAMIT) จัดกิจกรรมวันแรงงานข้ามชาติสากลขึ้น ภายใต้หัวข้อ "ครอบครัวเดียวกัน สานสัมพันธ์อาเซียน" ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กรุงเทพฯ
สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปาฐกถาในหัวข้อ "บทบาทรัฐไทยต่อแรงงานข้ามชาติสู่การเป็นประชาคมอาเซียน" โดยระบุว่า ในวันนี้ขอให้แรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าทั้งแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย หรือแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ต่างประเทศ ระลึกถึงคุณค่าของตนเองในการสร้างสรรค์โลก จากการเดินทางไปทำงานในประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน ต้องรำลึกด้วยว่า แม้จะมีการพูดถึงการให้คุณค่าแรงงาน แต่ชีวิตจริงแรงงานจำนวนมากยังอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่
สุนี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐไทยไม่มีนโยบายหรือกลไกที่จะดูแลแรงงานทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ยังดีที่มีการระบุในรัฐธรรมนูญไว้ชัดเจนว่าต้องคุ้มครองแรงงาน รวมถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่ง เพิ่งประกาศใช้และจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.55 ถึงปี 59 ก็ระบุว่ารัฐบาลไทยต้องเคารพต่อสิ่งที่อาเซียนตกลงกันเพื่อก้าวสู่ประชาคมอา เซียน ดูแลเรื่องการค้ามนุษย์ และกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบ พัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ด้านอาเซียนเอง สุนี กล่าวว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2550 มีการลงนามในปฏิญญาเซบู ซึ่งระบุถึงประเด็นแรงงานข้ามชาติว่า ต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ จัดการกับการค้ามนุษย์ โดยมีบทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งทั้งหมดนี้ฟังดูเข้าที แต่ก็ดูเหมือนว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะยังไม่สามารถเข้าใจความหลากหลายได้ บางประเทศยังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เคารพต่อประชาชนจริงจัง รวมถึงยังมีแนวทางเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยจะเห็นการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สร้างทางหลวง เขื่อน โรงไฟฟ้า โดยไม่ได้พูดถึงคนเลย ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นเหมือนหนึ่งในปลาใหญ่ ที่เอาเปรียบปลาตัวเล็กกว่าเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เธอเสนอว่า จะต้องไม่หมดหวัง โดยทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติจะต้องมีเป้าหมายในการยกระดับฐานคุณภาพ ชีวิตของตนเองร่วมกัน ต้องสามัคคีกัน จะหวังพึ่งรัฐไทย พม่า หรือนโยบายอาเซียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคอยต่อรอง ตรวจสอบ และผลักดันอยู่ตลอด พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จในการต่อรองไม่ให้มีการแย่งชิงเอาเปรียบฐาน ทรัพยากรของประเทศอื่น เช่น การคัดค้านการสร้างเขื่อนฮัตจีในพม่า หรือเขื่อนไซยะบุรีในลาว ซึ่งล่าสุดต้องชะลอออกไป
แถลงการณ์วันแรงงานข้ามชาติสากล
ร้องรัฐไทย ช่วยแรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน
นอกจากนี้ คณะทำงานจัดกิจกรรมวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และโครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ในวันแรงงานข้ามชาติ (PHAMIT) ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ทำหน้าที่ดูแลและจัดให้แรงงานข้ามชาติ เข้าถึงการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ด้วยการ
1.จัดให้การจดทะเบียนและการขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างทั่วถึง เข้าถึงและเป็นธรรม ด้วย การเปิดให้จดทะเบียนผ่อนผันทุกปีและตลอดทั้งปี จัดให้มีการให้ข้อมูลข่าวสารแก่แรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอน ผลทางกฎหมายและสิทธิประโยชน์ รวมทั้งหน้าที่จากการนั้น ด้วยภาษาของแรงงานเอง ทั้งก่อนการจดทะเบียน ระหว่างการจดทะเบียนและหลังจดทะเบียน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ One-stop service ที่แท้จริง กล่าวคือ จดทะเบียน ตรวจโรค และขอใบอนุญาตทำงานในสถานที่เดียวกัน โดยออกบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงานให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว รวมทั้งกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายค่าคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ทำงาน
2.รัฐต้องให้การพิสูจน์สัญชาติของ แรงงานข้ามชาติเป็นการพิสูจน์สัญชาติที่แท้จริง ทั่วถึงและปลอดภัย ด้วยการเจรจาและทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ ในเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ โดย
(1) ให้คำนึงถึงความปลอดภัยและเคารพต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
(2) รับรองความเป็นพลเมือง (เพิ่มชื่อในระบบทะเบียนราษฎร ออกบัตรประจำตัวประชาชน) และรับรองสิทธิของพลเมืองตามกฎหมาย
(3) กำหนดให้มีการพิสูจน์สัญชาติผู้ติดตามทุกคน
3.รัฐต้องทำให้การจดทะเบียนและการพิสูจน์สัญชาติของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างทั่วถึง เข้าถึง โดยไม่มีข้อจำกัด ด้วยการขยายคำว่า ผู้ติดตาม ไม่ได้จำกัดเพียงแค่บุตร ให้ครอบคลุมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยตามความเป็น จริง อาทิ หลาน หรือบิดามารดา และอนุญาตให้จดทะเบียนผู้ติดตามตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งรวมถึงบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ได้จดทะเบียนผู้ติดตามและให้ประเทศต้นทางพิสูจน์สัญชาติผู้ติดตามทุก คน
4.รัฐต้องแก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานเป็น 18 ปี พร้อมทั้งป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง โดยยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (งานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย) และฉบับที่ 10 (ประมงทะเล) ในส่วนที่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานที่อายุต่ำกว่า 15 ปี และที่มีการละเมิดสิทธิเด็ก แก้ไขกฎหมายให้เกณฑ์อายุขั้นต่ำของแรงงานคือ อายุ 18 ปีบริบูรณ์และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ที่ใช้แรงงานเด็กและ ละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก
5.รัฐต้องจัดการศึกษาให้แก่ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่เป็นเด็กและต้องคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยให้ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่เป็นเด็ก ไม่ว่าจะมีบัตรประจำตัวหรือไม่ สามารถเดินทางไปเรียนหนังสือได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องถูกจับ และปลอดภัยจากการละเมิดโดยบุคคลอื่น หลักสูตรการเรียนการสอนต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่ เป็นเด็ก และจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม สังคม และเอกลักษณ์ของเด็ก
6.รัฐต้องขจัดขบวนการนำพาและขบวนการนายหน้าแรงงานข้ามชาติ โดย ขจัดช่องทางที่ทำให้เกิดกระบวนการนายหน้าในการจดทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบป้องกันและปราบปราม และลงโทษนายหน้า ผู้ประกอบการ ผู้สนับสนุน และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องกับความผิดฐานลักลอบขนผู้โยก ย้ายถิ่นฐาน เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือการค้ามนุษย์
7.รัฐต้องจัดให้แรงงานข้ามชาติเปลี่ยนย้ายงาน ย้ายนายจ้างและเลือกทำงานอย่างเสรี
8.รัฐต้องจัดให้แรงงานข้ามชาติมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน โดยกำหนดเป็นนโยบายหรือคำสั่งรับรองและคุ้มครองสิทธิในเงินทดแทนของแรงงานทุกคน
9.รัฐต้องรับรอง คุ้มครอง และทำให้เป็นจริง ให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิในสุขภาพ อนามัยและเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึง โดย ดำเนินการเชิงรุกในการตรวจตรา ควบคุมและกำกับดูแลให้ชุมชนที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติปลอดภัยและถูก สุขอนามัย ภายใต้ความคุ้มครองของประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ในส่วนของค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีเอดส์ (ARV) การเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาก่อนและหลังการตรวจเลือดด้วยความสมัครใจและเป็น ความลับ และดำเนินการเชิงรุกในการตรวจตรา ควบคุมและดูแลให้สถานประกอบการ มีสภาพการทำงานที่ถูกสุขอนามัยและปลอดภัย ซึ่งรวมถึงบังคับใช้บทบัญญัติในหมวด 8 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เรื่องความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง
10.รัฐต้องรับรองคุ้มครอง และทำให้เป็นจริง ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของแรงงานข้ามชาติ โดยส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของกลไกคุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือทาง กฎหมายให้เอื้อต่อการใช้สิทธิทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าแรงงานข้ามชาตินั้นจะมีลักษณะการเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม สิทธิที่จะมีล่ามภาษาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงขั้นตอนร้องทุกข์และอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างไม่ เป็นธรรมหรือถูกละเมิดสิทธิ สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติที่ถูกละเมิดให้ได้รับค่าชดเชย ค่าเสียหาย หรือการเยียวยาอื่นๆ ตามกฎหมาย