ที่มา ประชาไท
ผมได้อ่านบทความ “ต้องต่อสู้แม้กับอเมริกาและองค์กรสหประชาชาติ" ที่คุณวสิษฐ เดชกุญชร เขียนลงมติชนออนไลน์ ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2544 และเห็นว่ามีความคลาดเคลื่อนหลายส่วน ทั้งในส่วนของข้อเท็จจริงและประเด็นอื่นๆ ในบทความ จึงขอแลกเปลี่ยนมาเป็นประเด็นเหล่านี้
ประเด็นที่หนึ่ง นางคริสตี้ เคนนีย์ (Kristie Kenney) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยและนางสาวราวีนา ชัมดาซานี (Ravina Shamdasani) รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ไม่ได้แสดงความเห็นในกรณีของนายอำพล ตั้งนพคุณ (หรือที่รู้จักกันว่าอากง) ที่ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ตามที่คุณวสิษฐเขียนไว้ในบทความ
นางคริสตี้ เคนนีย์ให้ความเห็นใน Twitter เกี่ยวกับกรณีการตัดสินคดีของนายโจ กอร์ดอน ซึ่งเป็นพลเมืองสัญชาติไทย-อเมริกา ส่วนนางสาวราวีนาได้พูดถึงปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในภาพรวม
การแสดงความคิดเห็นของนางคริสตี้เป็นไปอย่างสั้นๆ ตามข้อจำกัดของ Twitter ที่สามารถพิมพ์ได้แค่ 140 คำ โดยมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษโดยสามารถแปลเป็นภาษาไทยคร่าวๆ ได้ว่า “สถานฑูตอเมริกามีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างสูงสุด แต่รู้สึกเป็นกังวลต่อการตัดสินที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในด้านเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น” และ “กรณีคดีนายโจ กอร์ดอน สหรัฐฯ จะสนับสนุนเขาต่อไป โดยจะไปเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือ”
ส่วนการแสดงความคิดเห็นของนาวีย์ พิเลย์ (Navi Pillay) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผ่านนางสาวราวีนามีข้อความดังนี้ “บทลงโทษที่ร้ายแรงที่เป็นอยู่ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ (neither neccessary nor proportionate) อีกทั้งเป็นการละเมิดละเมิดพันธกรณีทางด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทย เป็นภาคี เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และในระหว่างนี้ ควรมีการกำหนดแนวทางการดำเนินการให้แก่ตำรวจและอัยการ เพื่อยุติการจับกุมและดำเนินคดีบุคคลด้วยกฎหมายดังกล่าวที่มีความคลุมเครือ นอกจากนี้เรายังมีความกังวลต่อการลงโทษที่อย่างเกินกว่าเหตุโดยศาล และการคุมขังผู้ต้องหาซึ่งมีระยะเวลานานต่อเนื่องในช่วงก่อนการไต่สวนคดี ด้วย"
ดังนั้นการที่คุณวสิษฐไม่ได้อ่านความคิดเห็นของนางคริสตี้ใน Twitter และใบแถลงข่าว (press briefing) ของสำนักข้าหลวงเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทำให้เหตุผลของบทความมีความคลาดเคลื่อนไปเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเหมารวมว่าสถานทูตสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งๆ ที่นางคริสตี้เพียงแต่แสดงความเป็นห่วงต่อการตัดสินคดีนายโจ การ์ดอน
ประเด็นที่สอง คุณวสิษฐอ้างถึงหน้าที่ของประชาชนไทยไป พร้อมกับสิทธิ เช่นเดียวกันประเทศไทยในฐานะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติและเป็นสมาชิกของคณะ มนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ก็มีหน้าที่ในการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน สมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนควรที่จะมี “การส่งเสริมและเคารพสิทธิมนุษยชนในระดับที่สูงที่สุด”
ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและ สิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) โดยมีการพูดถึงสิทธิในการ “ปล่อยตัวชั่วคราว” และ “การไม่คุมขังบุคคลระหว่างพิจารณาคดี” (ตามข้อ 9) และ “สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก” (ตามข้อ 19) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ประเด็นที่สาม การตื่นตัวเรื่องการนำกฎหมายหมิ่นพระบรม เดชานุภาพมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อประหัตประหารฝ่ายตรงกันข้าม ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น
ข้อกังวลกับการบังคับใช้กฎหมายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับบุคคลสองท่าน นี้เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในระดับสากลและในระดับประเทศในหมู่นัก วิชาการ นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชน
ในการประชุมการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review) โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจากรัฐบาลกว่ายี่สิบประเทศ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตและมีสถาบันกษัตริย์อย่างมั่นคงและ ยาวนานอย่าง สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และสวีเดนต่างก็แสดงความกังวลถึงการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นอย่างมากและได้เสนอคำแนะนำต่อประเทศไทยให้ปฏิรูปกฎหมายนี้ให้เป็นไปตาม กติกาสิทธิมนุษยชนสากลเพื่อไม่ให้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ฯพณฯ ทจาโก ทีโอ วาน เดน เฮาท์ (Tjaco Theo van den Hout) เอกอัคราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ ก็เคยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ลงบางกอกโพสต์โดยความเห็นส่วนตัวในฐานะผู้ เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย โดย ฯพณฯ ได้ให้ความเห็นว่าในกรณีประเทศเนเธอร์แลนด์ นักวิชาการทางกฎหมายได้แลกเปลี่ยนว่าการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพจะเป็นผลดีต่อสถาบันหรือไหม โดยในความเห็นของเอกอัครราชทูตฯ การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นในประเทศเนเธอร์แลนด์ “อาจจะมีผลลบที่รุนแรงต่อสถาบันที่กฎหมายนั้นต้องการจะปกป้องเอง”
เช่นเดียวกัน ฯพณฯ มิริท เจล บรัดเทสเต็ด (Merete Fjeld Brattested) เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทยก็เคยให้ความเห็นใน “การประชุมว่าด้วยประสบการณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ: กรณีศึกษาในทวีปยุโรปและประเทศญี่ปุ่น” ที่จัดโดยสถาบันยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยในปี 2552 ว่าในประเทศนอร์เวย์ประชาชน “ไม่สามารถแจ้งความกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้เอง” ซึ่งมีความแตกต่างจากกรณีประเทศไทยโดยสิ้นเชิง คือ ใครจะแจ้งความกับตำรวจต่อกับอีกคนหนึ่งก็ได้
องค์กรหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นในการเป็นห่วงการบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งกสม. ได้มีการตั้งคณะทำงานออกมาศึกษาปัญหากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเนื่องจากคดีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพได้มีจำนวนสูงขึ้นเป็นจำนวนมากในระดับหลายร้อยคดีในระยะเวลา หลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังรัฐประหารในปี 2549 ตามข้อมูลของ ดร.เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) นักวิชาการทางไทยศึกษาด้านกฎหมายหมิ่น
ประเด็นที่สี่ การที่บุคคลมีความเห็นว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีปัญหาในการละเมิด สิทธิแสดงออกและต้องมีการแก้ไข ไม่สามารถใช้ในการตีความแบบกำปั้นทุบดินว่าบุคคลหรือองค์กรเหล่านั้น “พยายามทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือมีเจตนาเช่นนั้น
แม้แต่บุคคลอย่างอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์หรืออดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุนที่มีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างสูงอย่างปฏิเสธไม่ ได้ได้แสดงความคิดเห็นถึงปัญหาของตัวบทกฎหมาย โดยกรณีหลังอดีตนายกฯ อานันท์ได้แสดงความเห็นที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าเขาเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายมีความรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะการฟ้องร้องที่เปิดโอกาสให้ใครกล่าวโทษก็ได้ และเสนอว่าอาจมีการตั้งหน่วยงานในการทำหน้าที่สั่งฟ้องโดยเฉพาะ และพิจารณาลดบทลงโทษให้ผ่านคลายกว่าเดิม
ที่สำคัญ บุคคลและองค์กรเหล่านี้กำลังวิจารณ์ตัวบทกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่มีความขัดแย้งต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่ผู้ต้องหาคดีควรมีสิทธิในการประกันตัว ควรได้รับโทษที่มีความพอดี สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนในสังคมโลกสามารถทำได้
และที่สำคัญที่สุด ในสังคมที่มีความเติบโตทางประชาธิปไตยและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง เราคงไม่ถึงกับต้องทำการต่อสู้กับบุคคลหรือองค์กรที่เราไม่เห็นด้วยทุกครั้ง ไปหรอกครับ