ที่มา ประชาไท
คำขวัญวันเด็ก ปี พ.ศ. 2555 คือ "สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี", ผมจะลองสืบหานัยแฝงจากมุมมองตามความอำเภอใจของผมดูนะครับ ได้ความดังนี้
1.สามัคคี, คือไม่แตกแยก และเป็นความสามัคคีซึ่งไม่ได้เกิดบนฐานของการยอมรับความแตกต่าง แต่อยู่บนฐานของการแบ่งแยกให้เห็นความต่าง ให้เห็นความเป็นอื่น หลังจากนั้นก็ผลักไสความต่างหรือความเป็นอื่นนี้ออกไปจากชุดความหมายของคำ ว่าสามัคคี พร้อมกับโอบรับ "เฉพาะความเห็นที่เหมือนกัน" มาไว้ในความสามัคคี
2.มีความรู้คู่ปัญญา, ฟังดูปรัชญาดีครับ แต่ลองมาแยกดูคำว่า "ความรู้" และคำว่า "ปัญญา" ในบริบทของคำขวัญนี้กัน, ความรู้ในที่นี้หมายถึง ความรู้ที่ได้การรองรับโดยสถาบันการศึกษา (ค่านิยมขั้นต่ำคือ ป.ตรี) หรือความรู้ที่เกิดจากการเชื่อผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน (คือผู้ใหญ่) หรือถ้าหากจะเป็นความรู้นอกสถาบันการศึกษา ก็จักต้องเป็นความรู้แบบภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวคือ ความรู้ว่าต้องรู้จักพอ ความรู้แห่งการควบคุมกิเลสตัณหาของตนเอง อันเป็นความรู้ที่สูงส่ง มาผสมกับ "ปัญญา" ซึ่งเป็นปัญญาที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ เป็นปัญญาญาณแห่งคำตอบที่มีวางให้อยู่ก่อนแล้ว และต้องเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เป็นคำตอบที่ห้ามตั้งคำถาม ซึ่งการรู้จักพอก็สอดรับกับการรู้จักพอใจในความรู้และปัญญาในแบบที่เป็น อยู่, ความรู้คู่ปัญญาในที่นี้ จึงเป็นความรู้ในแบบที่ห้ามสงสัยอันควรอยู่คู่กับปัญญาที่เป็นคำตอบในแบบที่ วางรออยู่แล้ว ซึ่งไม่มีทางผิด
3.คงรักษาความเป็นไทย, คือการรักษาความเป็นไทยตามอุดมการณ์แบบรัฐชาติสมัยใหม่ ที่แบ่งความเป็นรัฐเขารัฐเราอย่างชัดเจน โดยมองข้ามโลกาภิวัตน์แห่งความพร่าเลือนของเส้นรัฐ-ชาติดังกล่าว เป็นการแช่แข็งเอกลักษณ์ซึ่งตามความเป็นจริงไม่สามารถจะแช่ได้อีกแล้วใน สภาวะโลกที่อาจเรียกได้ว่าสภาวะหลังสมัยใหม่ ความเป็นไทยในที่นี้ จึงคือความเป็นไทยตามความหมายที่นิยามโดยรัฐอย่างตายตัว ไม่เปิดโอกาสให้พลเมืองที่มีพลวัตรของความแตกต่างได้เข้ามาร่วมนิยามความ เป็นไทยดังกล่าว
4.ใส่ใจเทคโนโลยี, บ่งบอกถึงพลังของความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และสารสนเทศ ทว่าการใส่ใจในที่นี้ เป็นเพียงการใส่ใจใน "นวัตกรรมใหม่ๆ" ใส่ใจในความทันสมัย ซึ่งอาจยังไม่รวมถึงการใส่ใจในการตั้งคำถามทางคุณค่าและศีลธรรมอันแตกต่าง ท่ามกลางพรมแดนของข้อมูลที่จำเป็นต้องมีการปะทะรังสรรค์กันของชุดความเชื่อ ค่านิยมและบรรทัดฐานในแบบอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคย การใส่ใจในที่นี้จึงเป็นเพียงการใส่ใจเพื่อให้ทันโลก แต่หากมองจากข้อความก่อนหน้าของคำขวัญ (คือ สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย) มันก็เกิดคำถามที่ว่า ทั้งสามวรรคข้างหน้านี้ เป็นสามวรรคทองที่สอดคล้องกับการใส่ใจเทคโนโลยี หรือว่าเป็นสามวรรคทองที่เป็นอุปสรรคสะกดกั้นการใส่ใจเทคโนโลยีกันแน่
-------------------
อย่างไรก็ตาม คำขวัญที่ว่า "สามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี" ไม่ใช่คำขวัญที่มีปัญหาในตัวเอง เมื่อมองความหมายตรงๆ เราจะพบว่าเป็นคำขวัญที่งดงามและก้าวหน้าพอดู แต่ในสังคมบริบทไทย เราส่วนใหญ่จะเข้าใจคำขวัญนี้อย่างงดงามและก้าวหน้าได้อย่างไร ในเมื่อเราตกอยู่ในสภาวะแห่งนัยแฝงทั้ง 4 ประการข้างต้น