ที่มา ประชาไท
สืบพยานปากที่ 2 คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ธุรการนิตยสาร,อัยการโกรธพยานปากอื่นที่ยังไม่ได้สืบมา นั่งฟังด้วย, ศาลไม่อนุญาตส่งจำเลยกลับกทม.ตามขอ เกรงขัดคำสั่งศาลอาญา เตรียมส่งต่อไปนครสวรรค์ สงขลา ทนายหวั่นไปสงขลาอาจอันตราย พื้นที่เห็นต่างทางการเมือง เตรียมนัดลูกความบอยคอตไม่ร่วมฟัง จะบังคับต้องอุ้มไป
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54 ที่ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ มีการสืบพยานในคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยในวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ปากที่สอง คือ นางสาวเบญจา หอมหวาน อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการของนิตยสาร Voice of Taksin บรรยากาศการพิจารณาคดีมีผู้สนใจติดตามคดีจนเต็มห้องพิจารณาคดี และยังมีจำนวนหนึ่งรออยู่ด้านล่าง โดยมีทั้งส่วนที่เดินทางมาจากรุงเทพฯ และจากเพชรบูรณ์
ทั้งนี้ นายสมยศ ได้เดินทางมาจากเรือนจำจังหวัดสระแก้วที่มีการสืบพยานโจทก์ปากแรก มายังเรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.54 และมีกำหนดเดินทางต่อไปยังเรือนจำจังหวัดนครสวรรค์เพื่อสืบพยานนัดต่อไปใน วันที่ 16 ม.ค.55 ก่อนจะไปยังเรือนจำจังหวัดสงขลา
ผู้สื่อข่าวรางานอีกว่า ทนายจำเลยได้ร้องขอให้ศาลเพชรบูรณ์ส่งตัวนายสมยศไปยังเรือนจำจังหวัด กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานปากต่างๆ ที่จะนำสืบนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดก็จริง แต่ทำงานและพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ศาลไม่อนุญาตโดยชี้แจงว่าเป็นคำสั่งของศาลอาญา หากสั่งเป็นอย่างอื่นจะเป็นการขัดแย้งกัน
นายสุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยกล่าวว่า การตระเวนสืบพยานในต่างจังหวัดเสมือนเป็นการกลั่นแกล้งจำเลยให้พบความยาก ลำบากในการเดินทาง และห่างไกลญาติมิตรรวมทั้งตัดโอกาสในการหารือคดีกับทนายความ ทั้งที่พยานจำนวนมากอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ พยานที่สืบวันนี้ภูมิลำเนาจริงก็อยู่จังหวัดนครสวรรค์ไม่ใช่เพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังจะมีการนำสืบประชาชนทั่วไปที่อ่านหนังสือเล่มนี้ในจังหวัดสงขลา ทำให้กังวลเรื่องความปลอดภัยของจำเลยมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเห็นทางการเมืองค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มคน เสื้อแดง เกรงว่านายสมยศอาจได้รับอันตรายเมื่อย้ายเข้าไปอยู่ในเรือนจำจังหวัดสงขลา จึงได้หารือกับลูกความว่าจะขอศาลไม่ไปฟังการสืบพยานที่นั่น
“เรียกง่ายๆ ว่าจะบอยคอตเลย ยังไงก็ไม่ไป จะบังคับให้ไป ก็ต้องลาก ต้องอุ้มไป” ทนายจำเลยกล่าว
สำหรับเนื้อหาโดยสรุปของการสืบพยานนั้น พยานโจทก์เบิกความว่า ปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง และเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของนิตยสารดังกล่าวตั้งแต่ช่วงที่นายประแสง มงคลสิริ เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารฉบับนี้ และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่บอกรับสมาชิกและจัดส่งหนังสือแก่สมาชิกนิตยสาร ซึ่งมีเกือบ 1 พันราย อีกทั้งยังมีหน้าที่เช็คอีเมล์ และเซฟหรือปริ๊นท์บทความต่างๆ ที่มีคนส่งมาให้นายสมยศ โดยไม่รู้ว่านายสมยศจะได้แก้ไขบทความต่างๆ หรือไม่ และเคยเห็นผู้ส่งที่มีนามว่า จิตร พลจันทร์ ส่งบทความที่เป็นคดีนี้มาตีพิมพ์จริง และได้ยินเพื่อนร่วมงานพูดกันว่าจิตร พลจันทร์ คือนามปากกาของนายจักรภพ เพ็ญแข
พยานโจทก์ตอบทนายจำเลยซักค้านว่า เรื่องนายจักรภพคือจิตร พลจันทร์ ไม่ทราบจริงเท็จแค่ไหน เพราะฟังเพื่อนร่วมงานพูด แต่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นนายจักรภพมาที่ทำงาน สำหรับทบความของจิตร พลจันทร์ นั้นเคยเห็นลงในนิตยสารหลายครั้ง แต่จะเป็นการลงต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยนายประแสงเป็นบรรณาธิการหรือไม่ ไม่ทราบ และไม่ทราบว่าดีเอสไอเรียกนายประแสงไปสอบด้วยหรือไม่ ส่วนนายสมยศก็เคยเขียนบทความลงนิตยสารเช่นกันแต่จะใช้ชื่อนามสกุลจริง นอกจากนี้ยังยืนยันว่าจำไม่ได้แน่ชัดว่านายสมยศเข้ามาทำหน้าที่บรรณาธิการ ตั้งแต่ฉบับไหน ซึ่งขัดกับที่ให้การกับดีเอสไอที่มีการระบุฉบับไว้อย่างชัดเจน แต่พยานยืนยันว่าเป็นเพียงการประมาณการเพราะจำไม่ได้ ทั้งนี้ พยานได้รับหมายจากดีเอสไอเนื่องจากมีชื่ออยู่ในหนังสือด้วย และได้ไปให้การไว้สองครั้งในวันที่ 27 ธ.ค.53 และ 27 พ.ค.54
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างพักการสืบพยานในช่วงครึ่งวันแรก ทนายจำเลยได้แจ้งศาลว่าพยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งยังไม่ได้นำสืบได้เข้ามาฟัง การพิจารณาคดีด้วย ซึ่งเป็นการผิดหลักกระบวนพิจารณา ศาลจึงเรียกพยานคนดังกล่าวมาซักถามได้ความว่านั่งฟังอยู่ราว 30 นาทีแล้ว จากนั้นในช่วงบ่ายอัยการกำหนดให้ทุกคนที่เข้าฟังการพิจารณาคดีต้องแจ้งชื่อ กับอัยการเนื่องจากเกรงว่าจะมีพยานรายอื่นเข้ามานั่งฟังการสืบพยานอีก ต่อมาเมื่อการสืบพยานเสร็จสิ้น อัยการได้แถลงว่าเนื่องจากมีคนมานั่งฟังคดีจำนวนมากทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่า ใครเป็นใคร อีกทั้งพยานโจทก์ปากต่างๆ อัยการก็ไม่รู้จักหน้าตา เนื่องจากเป็นคดีที่ถูกส่งต่อมาจากส่วนกลาง แต่ทนายจำเลยรู้จักพยานดี ขอให้ศาลบันทึกไว้ด้วย ด้านทนายจำเลยแถลงต่อว่า เพิ่งเห็นพยานโจทก์รายอื่นตอนเดินออกจากห้องพิจารณาคดี ไม่ใช่ว่าเห็นตั้งแต่แรกแล้วไม่แจ้ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเป็นผู้คุมพยานปากที่นำสืบในวันนี้มายังศาลเอง การมาของพยานปากอื่นไม่เกี่ยวกับจำเลยแต่อย่างใด
นาย Phee Jung-Sun ผู้ประสานงานสหพันธ์แรงงานนานาชาติอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ และคนงานทั่วไป (ICEM) ที่ประเทศสวิซเซอร์แลนด์ ซึ่งเดินทางมารับฟังการสืบพยานด้วย กล่าวว่า เคยทำงานกับสมยศในเรื่องแรงงานมาเกือบ 20 ปี ยืนยันว่าเขาเป็นบุคคลที่ยึดถือหลักการประชาธิปไตยมาก การมาในครั้งนี้เป็นไปเพื่อสังเกตการณ์การพิจารณาคดี เพื่อนำไปเขียนรายงานให้กับเครือข่ายองค์กรแรงงานสากลที่สนใจติดตามเรื่อง นี้ ซึ่งไม่เฉพาะกรณีของสมยศ แต่กับทุกกรณีที่เกี่ยวพันกับมาตรา 112 และกำลังหารือกันว่าจะยื่นเรื่องต่อสหประชาชาติถึงการละเมิดหลักเสรีภาพใน การแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย โดยเฉพาะกับสมยศซึ่งเป็นสื่อมวลชนด้วย หลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลักสากล ทุกคนได้รับอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นของตนเองตราบเท่าที่ไม่ก่อให้เกิดความ รุนแรง เพื่อนในญี่ปุ่นก็ยังสามารถวิจารณ์จักรพรรดิได้ เพื่อนในมาเลเซียก็สามารถวิจารณ์รัฐบาลและระบบการเมืองได้ น่าเสียดายที่รัฐไทยเลือกใช้วิธีการเช่นนี้กับประชาชน ซึ่งจะส่งผลยิ่งทำให้ประเทศไทยถูกจับตามากขึ้นจากนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอียูที่ติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง