ที่มา ประชาไท
‘วาสลาฟ ฮาเวล’ นักคิด-เขียนและผู้นำการปฏิวัติกำมะหยี่ในเชโกสโลวาเกีย เสียชีวิตแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในวัย 75 ปี ทั่วโลกบันทึกชีวิตเขาในฐานะปัญญาชนผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพภายใต้ระบอบ คอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 1980 และผู้นำการเปลี่ยนผ่านประเทศจากคอมมิวนิสต์ไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 ธ.ค. 54) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ‘วาสลาฟ ฮาเวล’ (Vaclav Havel) ปัญญาชนผู้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของเชโกสโลวาเกียภายใต้ระบอบ คอมมิวนิสต์ และอดีตประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของสาธารณเช็ก เสียชีวิตแล้วอย่างสงบเมื่อเช้าวันอาทิตย์ในวัย 75 ปี ซึ่่งสันนิษฐานว่าเขาน่าจะเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
'วาสลาฟ ฮาเวล' หนึ่งในบิดาแห่งขบวนการประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออก
ที่มา: User:Martin Kozák [Attribution], via Wikimedia Commons
ฮาเวลเป็นนักคิด-นักเขียน นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง ซึ่งผลิตบทละครและงานเขียนหลายชิ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการของเช โกสโลวาเกียและเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งนี้ เชโกสโลวาเกียปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตในระหว่างปี 1948-1989 และหลังจากมีการปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution) ในปี 1989 ได้เปลี่ยนผ่านอย่างสันติเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐซึ่งมีฮาเวลเป็น ประธานาธิบดีคนแรก และในปี 1993 ได้แยกเป็นสาธารณรัฐเช็คและสโลวัก โดยเขามีบทบาทในการช่วยให้การแยกประเทศเป็นไปอย่างไม่เสียเลือดเนื้อ
หลังจากมีการปราบปรามการลุกฮือของประชาชนโดยกองทัพโซเวียตในเชโกสโลวา เกีย (Prague Spring) ในปี 1968 ฮาเวลซึ่งในขณะนั้นเป็นนักเขียนบทละคร บทกวี และนวนิยาย ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ โดยเฉพาะหลังจากการจับกุมสมาชิกของวงดนตรี “The Plastic People of the Universe” ในปี 1976 ทำให้เขาได้รวมตัวกับปัญญาชนและศิลปิน ร่างคำประกาศกฎบัตร ‘77 (Charter 77)** ที่ มีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพแก่ประชาชน โดยเฉพาะสิทธิที่จะคิดเห็นต่าง การเป็นอิสระจากความกลัว และสิทธิในแสวงหา รับ เผยแพร่ข้อมูลทุกประเภทโดยเสรี
การเคลื่อนไหวเพื่อเผยแพร่เอกสารทางการเมืองดังกล่าวทำให้ฮาเวลเป็นแกนนำ ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไปโดยปริยาย และทำให้เขาถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลานานที่สุดราว 4-5 ปี ต่อมา เมื่อมีการลุกฮือของประชาชนในการปฏิวัติกำมะหยี่ในปลายปี 1989 ฮาเวลก็ได้ก่อตั้งกลุ่มทางการเมืองที่ชื่อ ‘Civic Forum’ ซึ่งเป็นแนวร่วมเพื่อต่อต้านระบอบอำนาจนิยมในเชโกสโลวาเกีย และนำการเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมมิวนิสต์ไปสู่ประชาธิปไตยที่มีหลายพรรคได้ สำเร็จโดยไม่เสียเลือดเนื้อ เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของเชโกสโลวาเกีย และได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเช็คสองสมัย คือในปี 1993 และ 1998
งานเขียนของวาสลาฟ ฮาเวล ได้รับการแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก เขายังได้รับรางวัลด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชนสากลมากมาย เช่น US Presidential Medal of Freedom, the Philadelphia Liberty Medal และ Ambassador of Conscience Award โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮาเวลยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสันติภาพด้วยหลายครั้ง คติพจน์ประจำตัวของเขาคือ “ความจริงและความรัก จักต้องเอาชนะคำโกหกและความเกลียดชัง” (Truth and love must prevail over lies and hate.)
**ผู้สนใจสามารถอ่านคำประกาศกฎบัตร '77 (Charter 77) ได้จาก คำประกาศแห่งกฎบัตร ’77 แปลโดยสุญญาตา เมี้ยนละม้าย และอติเทพ ไชยสิทธิ์, เว็บไซต์นิติราษฎร์