ที่มา ประชาไท
ผมสนใจประเด็นที่ธงชัย วินิจจะกูล พูดในการเสวนาหัวข้อ "เมื่อความจริง (และนิยาย) โดนดำเนินคดีในประเทศไทยยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน" ที่ร้านหนังสือ Book Re: Public จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา (คลิกอ่านฉบับเต็ม) คือ ประเด็นเรื่อง ‘Truth’ and ‘Reality’ ในสังคมพุทธเถรวาทไทย: บุญบารมี การจัดลำดับชั้น และกระบวนการยุติธรรม
ธงชัยกล่าวว่า
ผมจะอธิบาย ประเด็นนี้ให้ง่าย เป็นการจุดประเด็นให้เราคิด พวกเราอยู่ในระบบการศึกษาแบบตะวันตก สัจจะ ความจริงขั้นสุดท้ายในทางฟิสิกส์ หรือวิทยาศาสตร์เรายังไปไม่ถึง การค้นคว้าวิจัยทำให้เรารู้มากขึ้นเพื่อสักวันเราจะได้รู้ถึงที่สุด นักประวัติศาสตร์บอกว่าอดีตมีมาก มีจิ๊กซอว์อยู่เต็มไปหมด เราต้องรู้จิ๊กซอว์ทีละชิ้นเพื่อที่สักวันเราจะต่อจิ๊กซอว์ครบทั้งอัน แต่ในแนวคิดพุทธบอกว่า "สัจจะ" ค้นพบแล้ว "อกาลิโก" ไม่ได้แปลว่ายังอยู่ข้างหน้า แต่แปลว่าอยู่เมื่อ 2,500 ปีก่อน และยัง "อกาลิโก" จนทุกวันนี้ "สัจจะ" เจอนานแล้ว แต่เราทั้งหลายบุญไม่ถึงจึงไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เราทั้งหลายเก่งอย่างไร หรือเป็นศาสตราจารย์หมด คุณก็ยังไม่ถึง Truth อยู่ดี
ในภาษา อังกฤษ คำที่เรียกว่า "Truth" not "Reality" เราแปลเป็นไทยว่าสัจจะความเป็นจริง ใน concept พุทธ จะแปลสัจจะทับความเป็นจริง มีการใช้คำมากกว่านั้นคือ คำว่า "ธรรมะ" ซึ่งคำนี้ไม่สามารถแยก"Truth" ออกจาก "Reality" ได้ แต่ "ธรรมะ" มีบุญหรือระดับตามขั้นตามแต่ระดับบุญที่เราจะเข้าถึง ธรรมะมีอันเดียวแต่เราล่วงรู้ธรรมมะได้ในดีกรีที่ต่างกันตามบุญบารมีและความ สามารถ แต่ฝรั่งมี "Truth" กับ "Reality" ที่แยกกันและพยายามจะให้คำจำกัดความ
ผมคิดว่าคำอธิบายของธงชัยตรงกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “การใช้” พุทธศาสนาเถรวาทในสังคมไทย และผมเห็นด้วยว่านี่คือปัญหาของการใช้พุทธศาสนาที่เราจำเป็นต้องช่วยกันตั้ง คำถาม แต่ถ้าถามว่าคำอธิบายนี้ตรงกับคำสอนของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากแลกเปลี่ยน
1. การเปรียบเทียบความจริงทางศาสนากับความจริงทางวิทยาศาสตร์เพื่อสรุปว่าอัน ไหนน่ายอมรับมากกว่า ผมว่าอาจเป็นการเปรียบเทียบแบบ “ผิดฝาผิดตัว” หรืออาจเป็นการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบที่เป็น fallacy ได้ง่ายๆ เนื่องจากความจริงทางศาสนา กับความจริงทางวิทยาศาสตร์มีขอบเขตและความมุ่งหมายที่แตกต่างกันใน “สาระสำคัญ” อยู่มาก
เช่น ศาสนาทุกศาสนาพูดถึงความจริงสูงสุด หรือความจริงขั้นสุดท้าย แต่วิทยาศาสตร์ไม่พูดถึง การแสวงหาความจริงทางศาสนามีความมุ่งหมายเพื่อคุณค่าทางศีลธรรม ขณะที่วิทยาศาสตร์อาจไม่ได้สนใจคุณค่าทางศีลธรรม เป็นไปได้ว่าพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์อาจมองเห็นสัจจะอันเดียวกัน เช่นเห็น “ความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง” (อนิจจัง) ที่ดำเนินไปอย่างมีกฎเกณฑ์ มีความเป็นระเบียบสม่ำเสมอ แต่พุทธศาสนามอง “คุณค่า” (value) ของความจริงนี้ในแง่ที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นไปของโลกและชีวิต เพื่อให้มีคุณธรรม คือความไม่ประมาท การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น หรือปล่อยวางความปรารถนาที่สวนทางกับความเป็นจริงที่ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นต้น ขณะที่วิทยาศาสตร์อาจไม่สนใจคุณค่าดังกล่าวนี้เลย แต่เห็นประโยชน์จากการรู้ความจริงนี้ในแง่อื่น
2. เรื่องความจริง (ในบางเรื่อง) ที่ถูกค้นพบเมื่อ 2,500 กว่าปี หรือเมื่อกี่พันปีไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่ามันจริงอย่างนั้นหรือไม่ หรือว่ามันยังใช้ประโยชน์ได้อยู่หรือไม่ เช่น สัจพจน์ (axiom) ทางคณิตศาสตร์ที่ว่า “ผลรวมของส่วนย่อยย่อมใหญ่กว่าส่วนย่อยนั้นๆ” ผมไม่รู้ว่าใครค้นพบเป็นคนแรก ค้นพบกี่พันปีมาแล้ว แต่ถ้านี่มันจริงก็คือจริง มันยังใช้ประโยชน์ได้ก็โอเค เช่นเดียวกันความจริงตามหลักอริยสัจสี่ที่ว่า “ความทุกข์มีสาเหตุ จะแก้ทุกข์ได้ ต้องแก้ที่สาเหตุ” หากมันยังจริงและใช้ประโยชน์ได้ มันจะถูกค้นพบเมื่อกี่พันปีที่แล้วไม่ใช่ประเด็นเลย
3. ที่จริงแล้วพุทธศาสนาแยก "Truth" กับ "Reality"ออกจากกันชัดเจนคือ "Reality" คือความจริงที่เกิดจากการนำข้อเท็จจริงต่างๆ ที่กระจัดกระจายกันอยู่มาต่อจิ๊กซอว์แล้วสรุปว่าอะไรเป็นอะไรเป็นต้น หรือกล่าวรวมๆ ว่าความจริงของโลกปรากฏการณ์ พุทธศาสนาเรียกความจริงเช่นนี้ว่า “สมมติสัจจะ” และสมมติสัจจะย่อมแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและบริบททางสังคม ส่วน"Truth" คือความจริงแท้ที่อยู่เบื้องหลังความจริงสมมติ หรือความจริงที่อยู่เบื้องหลังโลกปรากฏการณ์ พุทธเรียกว่า “ปรมัตถสัจจะ”
ส่วนที่ว่าความจริง หรือ “ธรรมะ” มันจัดระดับชั้นคนเข้าถึงว่า ขึ้นอยู่กับระดับมาก-น้อยของบุญบารมีนั้น ผมคิดว่าประเด็นนี้เราอาจตั้งคำถามได้ ทั้งกับตัวบทในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา และกับการใช้พุทธศาสนาเถรวาทไทย
แต่อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึงเรื่องบุญบารมีที่สัมพันธ์กับการเข้าถึงธรรมะ ดูเหมือนตามหลักพุทธศาสนาจริงๆ แล้วจะมองไปที่พัฒนาการทางจิตใจหรือปัญญาของคนแต่ละคนมากกว่าที่จะมองไปที่ “สถานะ” ของบุคคล เช่น พุทธศาสนาถือว่าทุกคนไม่ว่าจะมาจากชนชั้น (วรรณะ) ไหน หรือเป็นเพศใดก็สามารถบรรลุธรรมได้ ถ้าเขามีความพากเพียรและทุ่มเทสติปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งอริยสัจอย่างเพียง พอ (ไม่ใช่ “พอเพียง”)
อีกประเด็นหนึ่งที่ธงชัยพูดถึง คือ
"ศาลจึง สามารถพูดเรื่องล่วงรู้เจตนาภายใน" พอผมอ่านตรงนี้ ผมไม่ได้คิดถึงคำว่า "Intension" เลย ผมคิดกลับไปหาพุทธทันที นี่เป็นจารีตเดิม ที่พูดกันว่า "บริสุทธิ์ก่อนจะรู้ว่าผิด" เป็นธรรมเนียมสมัยใหม่ ธรรมเนียมแต่เดิมคือ "คุณผิดก่อนที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์" คุณจะถูก Assume ว่าผิดหรือบริสุทธิ์ก่อนขึ้นอยู่กับบุญบารมีของคุณ ปัญหาเกิดขึ้นเราอยู่ในโลกสมัยนี้ แล้วยังมีมรดกของโลกสมัยเก่าหลงเหลืออยู่ในสมองและจิตสำนึกเราเต็มไปหมด
ข้อสรุปดังกล่าวนี้ของธงชัยมาจากตรรกะที่ว่า พุทธศาสนามองว่า มนุษย์มีเจตนาภายในที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้ แต่การตัดสินเจตนาว่า เป็นอกุศลหรือกุศลนั้นขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคม ดังที่ธงชัยกล่าวว่า “คน ที่อยู่ใน Position สูง เราก็มองว่าเขาไม่แย่ คนที่อยู่ใน Position ที่ต่ำลงมา เราก็ Assume ว่าเขาแย่กว่า คนที่อยู่ใน Position ที่ห่างไกลจากแวดวงอำนาจและบารมี เราก็ Assume ว่าเขาเต็มไปด้วยอกุศล” แน่นอนว่าธงชัยกำลังหมายถึงการใช้พุทธศาสนาในสังคมไทยว่ามีปัญหาแบบนี้จริงๆ ซึ่งผมเห็นด้วย
แต่ตามหลักพุทธศาสนาจริงๆ เมื่อเราพูดถึง “เจตนา” เท่ากับเรากำลังพูดถึงเรื่อง “กรรม” ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” หากมองบริบททางประวัติศาสตร์ของคำสอนเรื่องกรรม จะพบว่าพุทธศาสนาสอนเพื่อปฏิเสธระบบวรรณะ 4 ที่ถือว่าความสูง-ต่ำของชาติกำเนิดเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าของคน แล้วเสนอว่า “กรรม” หรือการกระทำทางศีลธรรมต่างหากเป็นเกณฑ์ตัดสินค่าของคน กล่าวคือ คนเราไม่ว่าจะสังกัดชนชั้นไหนหากทำดีหรือชั่วในสิ่งเดียวกันก็ดีหรือชั่ว เสมอภาคกัน เช่น กษัตริย์ฆ่าคน กับศูทรฆ่าคนก็ผิดศีลห้าข้อที่ 1 เหมือนกัน เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่ง ในเมื่อกรรมหรือการทำดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับ “เจตนา” ก็แสดงว่ามนุษย์มี “free will” คือมีเจตจำนงอิสระในการเลือกกระทำ ฉะนั้น ในทัศนะของพุทธศาสนามนุษย์จึงมีเสรีภาพในการปกครองตนเองด้วยการเลือกการ กระทำกรรม หรือการกระทำทางศีลธรรม เมื่อเราเลือกกระทำสิ่งที่ดีทางศีลธรรม จึงหมายถึงเราสามารถเลือกปกครองตนเองได้
ที่กล่าวมาทั้งหมด ผมไม่ได้โต้แย้งว่า ธงชัยตีความหลักคำสอนของพุทธศาสนาถูกหรือผิด แต่ผมเข้าใจว่าธงชัยกำลังพูดถึง “ข้อเท็จจริง” ของการใช้พุทธศาสนาเถรวาทในสังคมไทย ซึ่งผมเห็นด้วยว่ามีปัญหาเช่นนั้นจริงๆ ข้อแลกเปลี่ยนของผมเพียงแต่ต้องการเสนอแง่มุมของพุทธศาสนาตามการตีความของผม ให้เห็นมุมมองอีกด้านเท่านั้นเอง
แต่ถ้าถามว่าทำไมพุทธศาสนาจึงถูกใช้อย่างที่ธงชัยอธิบาย คำตอบกว้างๆ ก็เพราะว่าพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะในไทยคือพัฒนาการพุทธศาสนาภายใต้ระบอบราชาธิปไตย ฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พุทธศาสนาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของระบอบดัง กล่าว มันจึงอยู่ในสภาพ “กลับหัวกลับหาง” เพราะขณะที่หลักคำสอนของพุทธศาสนาในยุคพุทธกาลถูกใช้ปฏิเสธระบบชนชั้น แต่พุทธศาสนามรดกราชาธิปไตยถูกใช้สนับสนุนระบบชนชั้น
และมันยิ่งแย่หนักเข้าไปอีกที่แม้สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบอบประชาธิปไตยมาจะเกือบศตวรรษแล้ว พุทธศาสนายังถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้นอยู่อีก จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกัน “ถอดรื้อ” สภาวะผิดปกติ หรือ “สภาพกลับหัวกลับหาง” ดังกล่าวนี้ให้เป็นปกติ หรือให้เข้าที่เข้าทางอย่างสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ต่อไป