WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, December 20, 2011

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: ปลงไม่ตก?

ที่มา ประชาไท

ใบตองแห้ง
19 ธ.ค.54

ผมอ่านข้อเขียนเรื่อง “อากงปลงไม่ตก” ของคุณสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม ด้วยความประหลาดใจ และมีข้อสงสัยหลายเรื่อง

คำถามแรกคือ นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของคุณสิทธิศักดิ์ หรือเป็นคำชี้แจงของศาลยุติธรรม เพราะเป็นบทความส่งมาลงเฉพาะเครือกรุงเทพธุรกิจ ถ้าเป็นคำชี้แจงของศาลยุติธรรม ก็น่าจะเผยแพร่วงกว้าง แจกนักข่าวที่ศาล นำขึ้นเว็บไซต์ แต่ถึงเป็นความเห็นส่วนตัว การห้อยตำแหน่ง “โฆษกศาลยุติธรรม” ก็ให้ความรู้สึกเหมือนคำชี้แจงของศาลอยู่กลายๆ
ผมสันนิษฐานว่าเป็นความเห็นส่วนตัว เพราะถ้าเป็นคำชี้แจงของศาลคงไม่ขึ้นหัวว่า “อากงปลงไม่ตก” การพาดหัวแบบนี้สงวนลิขสิทธิ์เฉพาะคอลัมนิสต์อย่างพวกผมนะครับ คริคริ เพราะมันอาจกระทบความรู้สึกคนอ่าน คำชี้แจงที่เป็นทางการของศาลคงไม่พาดหัวอย่างนี้
เมื่อเป็นความเห็นส่วนตัวของคุณสิทธิศักดิ์ ผมก็เห็นว่าประชาชนทั้งหลายมีสิทธิแสดงความเห็นด้วยไม่เห็นด้วย โต้แย้งคัดค้านกันได้เต็มที่ ไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาลแต่อย่างใด (ลุยเลยพวกเรา-ฮา)
ประการถัดมาเป็นข้อสังเกต คือตามปกติ เมื่อมีคำพิพากษาแล้ว ศาลมักจะไม่มีคำชี้แจงตามหลัง แบบว่าผู้พิพากษาจะไม่ไปออกรายการ “ตอบโจทย์” ให้ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ซักไซ้ว่าทำไมท่านถึงตัดสินแบบนี้ ท่านมองอย่างไร ยึดหลักอะไรในการวินิจฉัย
เพราะโดยปกติ ในคำพิพากษานั้นมีคำชี้แจงที่เป็นเหตุเป็นผลอยู่แล้ว ศาลอธิบายสิ้นความแล้วว่ามีพยานหลักฐานใด พิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ศาลใช้หลักกฎหมายข้อใด และใช้ดุลพินิจอย่างไร ในการลงโทษ ลดโทษ หรือไม่ลดโทษ กี่กระทง เมื่ออ่านคำพิพากษาเสร็จ ต่อให้มีคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ศาลก็จะถือว่าเหตุผลที่ให้ในคำพิพากษานั้นเป็นคำตอบสมบูรณ์แล้ว ไม่มีมาอธิบายเพิ่มภายหลัง
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องดีที่คุณสิทธิศักดิ์เปิดใจกว้างยอมรับความเห็นของสังคม (คือไม่ได้ขู่ว่าอย่าพูดมากจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เหมือนที่เคยๆ เห็นมา) เป็นสิ่งที่ต้องขอบคุณและถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะประเด็นสำคัญอีกข้อที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอากงคือ นักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรมได้เรียกร้องว่า สังคมจะต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่ถูกปิดกั้นโดยความผิดฐานหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาล และต้องมีกลไกควบคุมตรวจสอบ กระทั่งลงโทษผู้ใช้อำนาจตุลาการในลักษณะที่ก่อให้เกิดปัญหา
คุณสิทธิศักดิ์ยอมรับว่า “การนิ่งเฉยของศาลและกระบวนยุติธรรมมิได้มีค่าเป็นตำลึงทองเสียแล้ว” จึงขอนำความจริงบางประการในท้องสำนวน ประกอบกับประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัยมาเฉลยเอ่ยความเพื่อเป็นข้อมูล “แลกเปลี่ยน”
นี่ก็เป็นเรื่องดี เพราะคุณสิทธิศักดิ์ต้องการ “แลกเปลี่ยน” เมื่อ “แลกเปลี่ยน” ก็ต้องมีการโต้แย้ง อันที่จริงควรจะเป็นนักกฎหมายออกมาโต้แย้ง แต่ในเมื่อคดีนี้เป็นที่สนใจในกระแสสังคม เกือบทุกสาขาอาชีพอย่างที่ว่า ก็คงไม่ปิดกั้นถ้าผมซึ่งไม่ใช่นักกฎหมาย เป็นเพียงผู้สนใจกฎหมาย จะขอร่วมวง “แลกเปลี่ยน” ด้วยความเห็นแบบชาวบ้านๆ
1.ไม่สิ้นสงสัย
ประเด็นสำคัญที่สุดในบทความของโฆษกศาลยุติธรรมคือ ข้อแรก “อากงไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุก”
โฆษกศาลกล่าวว่า “ผู้ที่เห็นว่าอากงมิได้กระทำความผิดนั้น หากเป็นการตัดสินกันเองโดยบุคคลกลุ่มคนนอกศาลและกระบวนการยุติธรรม คงจะหาเหตุผลรองรับความชอบธรรมยากสักหน่อย เพราะเป็นความเชื่อส่วนตนที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่มีการกระทำ ความผิดเกิดขึ้น เป็นอัตวิสัยที่อาจปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ในขณะที่คดีนี้ผ่านกระบวนการสอบสวน การกลั่นกรองจากอัยการ แล้วเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่ อันเป็นหลักการสากลและหลักกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้ คดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม”
ขอเรียนว่า ผู้วิพากษ์วิจารณ์ยังไม่ได้ฟันธงว่า “อากงไม่ได้กระทำความผิด” นะครับ แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์เห็นว่าคดีนี้ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย ว่าอากงคือผู้ส่ง SMS
การวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การตัดสินกันเอง ไม่ใช่ความเชื่อส่วนตัวที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ (มันคงจะหาใครอยู่ในเหตุการณ์ได้ยากเต็มทีละครับท่าน) หรือเป็นอัตวิสัยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นหลังอ่านคำพิพากษา ซึ่งได้อธิบายถึงการพิสูจน์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว แต่สังคมยังข้องใจเรื่องการพิสูจน์พยานหลักฐานดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขอีมี ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีออกมาแสดงความวิตกว่าตัวเลขอีมีสามารถปลอม แปลงกันได้
ประเด็นนี้ผมเห็นใจศาลนะครับว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งผู้คนไม่ใคร่รู้ แต่หลังจากมีคำพิพากษา มันส่งผลสะเทือนให้ผู้คนตื่นตระหนก กลัวว่าถ้ามีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานให้ใช้ตัวเลขอีมีมัดตัวผู้กระทำความผิด ต่อไปมันจะไม่ใช่แค่คดี 112 หรือคดีหมิ่นประมาท แต่อาจรวมถึงการใช้มือถือจุดระเบิด หรือคดีอาชญากรรมต่างๆ เช่น ใช้มือถือสั่งยาบ้า ฯลฯ ประเด็นที่ว่าสามารถใช้อีมีเป็นหลักฐานมัดตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ จึงกลายเป็น talk of the town มีผู้แสดงความเห็นกันมากมาย เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว คนไทยวันนี้มีมือถือเกือบทุกคน
ฉะนั้นศาลต้องยอมรับว่า ประเด็นนี้หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และศาลจะต้องทำให้กระจ่างในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ว่าจะวางบรรทัดฐานการวินิจฉัยเรื่องตัวเลขอีมีอย่างไร
ที่สำคัญกว่านั้นคือประเด็นกฎหมาย ซึ่งเท่าที่คนทั่วไปได้อ่านจากข่าว ศาลมีคำวินิจฉัยว่า
“แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของ ตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้ เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน”
คำพิพากษาตัวเต็มจะเป็นเช่นนี้หรือเปล่าไม่ทราบนะครับ ถ้าผิดเพี้ยนประการใด โฆษกศาลก็น่าจะชี้แจง แต่ที่มันเป็นประเด็นทางสังคมก็คือ ผู้คนทั้งหลายฟังพยานหลักฐานแล้ว “ไม่สิ้นสงสัย” ว่าอากงเป็นคนส่ง SMS จริงหรือไม่ พอมาอ่านคำพิพากษาตอนท้ายอย่างนี้ แปลว่าศาลท่านก็ยอมรับว่า อัยการยังไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ให้ชัดแจ้ง “ไม่สิ้นสงสัย” เหตุใดศาลจึงพิพากษาให้จำคุก
นักกฎหมายเขายกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยกหลักความยุติธรรมว่า การพิสูจน์ความผิดเป็นหน้าที่ของอัยการไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยที่จะต้องไปหา พยานหลักฐานมาแก้ต่างให้ตัวเอง ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลย แต่ผมไม่ใช่นักกฎหมาย คงไม่ต้องยกมาตราโน้นมาตรานี้มาอ้าง เพราะผมเชื่อว่าคุณสิทธิศักดิ์รู้หลักการนี้ดีอยู่แล้ว ท่องมาตราได้เป๊ะๆ อยู่แล้ว ผมเพียงแต่ยกขึ้นมา “แลกเปลี่ยน” ว่า นี่ต่างหากคือประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์ แต่คุณสิทธิศักดิ์ไม่ได้ตอบให้กระจ่าง
ขอแจ้งให้ทราบด้วยว่าไม่ใช่แต่พวกเสื้อแดงเท่านั้นนะครับที่คาใจ แม้พวกสลิ่มก็ไม่สิ้นสงสัย ว่าอากงใช่คนส่ง SMS หรือเปล่า แต่สลิ่มบางคนพยายามโบ้ยว่าเป็นแผนร้ายอันแยบยลของพวก “เสื้อแดงล้มเจ้า” มีคนอื่นเอามือถืออากงไปใช้ วางแผนให้คนแก่วัย 61 เป็นแพะบูชายัญ แล้วใช้ความชราน่าสงสารเป็น “ดรามา” ประโคมข่าว
นี่รายงานสถานการณ์ให้ทราบ ขออภัยที่ใช้คำว่า “สลิ่ม” ซึ่งไม่ใช่ภาษากฎหมาย แต่เชื่อว่าท่านโฆษกศาลเข้าใจคำนี้ดี
2.อากงยังเป็นผู้บริสุทธิ์?
โฆษกศาลยุติธรรมเขียนได้น่าชื่นชมว่า “เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด การจะด่วนสรุปว่าอากงเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดโดย เสร็จเด็ดขาดนั้น ก็ยังมิใช่เป็นเรื่องที่แน่แท้เสมอไปดังที่บางคนมีความเชื่อและเข้าใจใน ทำนองนั้น แท้จริงแล้ว อากงยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด”
ถูกต้องแล้วคร้าบ พวกสลิ่มที่เอาอากงไปด่าประณามควรสำนึกในข้อนี้
แต่พอผมอ่านข้อเขียนของโฆษกศาลถึงประเด็นที่สาม “อากงอายุมากแล้วควรได้รับการลดโทษ ปล่อยตัวไป หรือได้รับการประกันตัว” ผมก็สะดุ้ง
“แม้สังคมทั่วไปจะเรียกจำเลยว่า “อากง” ฟังดูประหนึ่งว่าจำเลยชราภาพมากแล้ว แต่ตามฟ้องจำเลยอายุ 61 ปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใด สามารถเข้าใจ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แสดงว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และมิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด
สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสีย หายอย่างใหญ่หลวง ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่อง หรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้
มาตรการที่เหมาะสม จึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ที่กระทำความผิดคิดวางแผนไตร่ตรองในการกระทำความผิด อย่างแยบยลแนบเนียนด้วยแล้ว ก็ยิ่งสมควรใช้วิธีการที่เหมาะสม ในการคุ้มครองรักษาความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนด้วย จึงไม่แน่แท้เสมอไปว่า ชราชน ที่กระทำความผิดจะต้องได้รับการลดโทษ ลงโทษน้อย หรือปล่อยตัวไปเสมอไป
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อหาความผิด ความเสียหายและพฤติการณ์การกระทำแต่ละคดีที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ส่วนการจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ข้อเท็จจริงแห่งคดีเป็นเรื่องๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ,มาตรา 108/1”
อันที่จริงถ้าคุณสิทธิศักดิ์จะอธิบายสั้นๆ ว่า ใครก็ตามถ้าทำความผิด ไม่ว่าจะอายุมากเพียงใดก็ต้องรับโทษ ผมก็เห็นว่าชัดเจนแล้ว แต่พออธิบายด้วยถ้อยคำเหล่านี้ ก็ทำให้ผมสะดุ้ง และสะดุดกึก ถามคนอื่นหลายๆ คนก็มีความรู้สึกเดียวกัน คือกังขาว่าที่พรรณนามานี่หมายถึง “อากง” หรือเปล่า ไหนว่าอากงยังถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ผมไม่บังอาจกล่าวหาว่าโฆษกศาลมีเจตนาเช่นนั้น แต่ขอสะท้อนว่า การใช้ภาษาของท่านทำให้ผู้อ่านอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเช่นนั้น (คงทำนองเดียวกับคำพิพากษาคดีดา ตอร์ปิโด ดาพูดแล้วผู้ฟังรู้ว่าหมายถึงใคร) รู้สึกว่าบุคคลที่ “เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย” “วางแผนไตร่ตรองในการกระทำความผิดอย่างแยบยลแนบเนียน” นั้นหมายถึงอากง ตอกย้ำความรู้สึกที่มีมาตั้งแต่พาดหัว “ปลงไม่ตก” (ซึ่งชี้ว่านี่เป็นทัศนะส่วนตัว ไม่ใช่คำชี้แจงของศาลยุติธรรม)
ขอเรียนว่าประเด็นนี้ที่จริงไม่ได้มีใครกังขาถ้าพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่า อากงส่ง SMS แล้วก็ต้องรับโทษ ประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันคือ เหตุใดอากงจึงไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทั้งที่เป็นคนแก่ ยากจน เจ็บป่วย ไม่มีที่ทางจะหลบหนี และไม่มีอิทธิพลใดๆ จะไปทำลายพยานหลักฐาน
การประกันตัวเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่คุณสิทธิศักดิ์อ้างนั่นแหละ แต่คุณสิทธิศักดิ์ไม่ได้ชี้แจงอะไรมากไปกว่านั้น ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใด ศาลจึงไม่ให้ประกันตัว จนอากงติดคุกมาปีกว่า
3.เหตุที่ลงโทษหนัก
เรียนก่อนว่าผมเห็นด้วยกับการแก้ไข ม.112 ตามแนวทาง “นิติราษฎร์” ไม่ใช่ยกเลิก หมายถึงยังมีความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ควรลดอัตราโทษให้สมควรแก่เหตุ ยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษในกรณีที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อประโยชน์ของ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
หมายความว่าในกรณีอากง ถ้าพิสูจน์ได้สิ้นสงสัยว่าเป็นผู้ส่ง SMS ด้วยถ้อยคำหยาบคายเช่นว่าจริง ก็สมควรถูกลงโทษจำคุก
ประเด็นที่ควรแก้ไข 112 ลดอัตราโทษเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เดี๋ยวค่อยกล่าวถึง แต่ประเด็นที่ขอกล่าวถึงก่อนคือ คำอธิบายของคุณสิทธิศักดิ์ว่า ทำไมต้องลงโทษหนัก
ผมเห็นด้วยกับการคงความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะนี่เป็นหลักการสากล ของทุกประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรอกครับ ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐก็มีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดีที่เป็น ประมุข
หลักการของมาตรา 112 จึงเป็นกฎหมายที่ “คุ้มครองตำแหน่ง” เช่นเดียวกับความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ ความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือละเมิดอำนาจศาล เพียงแต่ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายองค์ประมุขเป็นกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นสูงสุด
คำอธิบายของผมอาจฟังแล้วระคายหูสักหน่อย แต่พูดแบบคุ่ยๆ คือไม่ว่าผู้ใดก็ตามที่บังอาจใช้ถ้อยคำหยาบคายจาบจ้วงพระมหากษัตริย์พระองค์ ใดก็ตามที่อยู่ในตำแหน่ง มันผู้นั้นต้องมีความผิดทั้งสิ้น ต่อให้สมมติอีก 100 ปีข้างหน้า (ซึ่งผมเชื่อว่าเราจะยังคงมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่) เราอาจจะมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรงมีพระบารมีซักเท่าไหร่ เพราะมาตรา 112 เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่ง
คือผมจะบอกว่าที่คุณสิทธิศักดิ์พรรณนาถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นพระบารมีส่วนพระองค์ของในหลวงของเรา ผู้ทรงเป็นที่รักและยกย่องเทิดทูนของประชาชน จากการทรงงานเพื่อพสกนิกรมา 65 ปีนั้นเป็นที่ซาบซึ้งยิ่งและเป็นสิ่งที่ทุกคนนบน้อมยอมรับ
แต่ผมไม่ค่อยเข้าใจว่า คุณสิทธิศักดิ์จะบอกว่านี่เป็นสาเหตุให้ต้องลงโทษหนักใช่หรือไม่ เพราะพระบารมีเฉพาะพระองค์ของในหลวงผู้ทรงเป็นที่รักของเรา จึงต้องลงโทษหนัก ถ้าอธิบายอย่างนั้น นี่เป็นหลักกฎหมายใช่หรือไม่ เป็นหลักทั่วไปหรือไม่ เพราะถ้าเป็นหลักทั่วไป เราก็ต้องบอกว่า สมมติมีคนหมิ่นประธานศาลฎีกา ซึ่งท่านเป็นคนดีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์มาตลอดชีวิตราชการ สมควรลงโทษหนักกว่าหมิ่นผู้พิพากษาทั่วไป
นี่เป็นคำถามนะครับ ในฐานะผู้สนใจกฎหมายแต่ฟังแล้วไม่เข้าใจถ่องแท้ ผมเพียงแต่เทียบเคียงเอาว่า เวลาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร เป็นคนดีเลิศล้ำ หรือเป็นนักการเมืองยี้ หมิ่นก็คือหมิ่น ผิดก็คือผิด จะมีโทษหนักเบาก็อยู่ที่พฤติกรรมของผู้กระทำผิด
3/1.ชราชน
ย้อนกลับมาที่คุณสิทธิศักดิ์กล่าวว่า”จึงไม่แน่ แท้เสมอไปว่า ชราชน ที่กระทำความผิดจะต้องได้รับการลดโทษ ลงโทษน้อย หรือปล่อยตัวไปเสมอไป”
นี่ก็เป็นเรื่องที่ผมสงสัยมานาน ไม่ใช่เฉพาะคดี 112 แต่หลายคดี เพราะบางครั้งศาลจะบอกว่าจำเลยเป็นผู้สูงอายุ ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ให้ลดโทษ แต่บางคดีก็บอกว่าจำเลยเป็นไอ้แก่เจ้าเล่ห์ สันดานโจร ลงโทษหนัก หรือบางคดีก็บอกว่าจำเลยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ รับราชการทำประโยชน์ให้ชาติบ้านเมืองมานาน ให้ลดโทษ แต่บางคดีก็บอกว่าจำเลยเป็นถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีฐานะ ผู้มีการศึกษาสูง กลับมากระทำความผิดเช่นนี้ ไม่ลดโทษ
ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าตรงนี้ศาลใช้ดุลพินิจอย่างไรครับ มีหลักเกณฑ์อย่างไร หรือเป็นการใช้ความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษาพินิจพิจารณาพฤติกรรมของจำเลย ว่าเป็น “ตาแก่น่าสงสาร” หรือเป็น “ไอ้แก่เจนโลก” ถ้าเป็นประการหลังจะระมัดระวังไม่ให้กระแสสังคมเข้ามามีอิทธิพลให้เกิดความ โน้มเอียงอย่างไร
3.2.กระทงหลงทาง
ตั้งหัวเบาๆ เรื่องน่าเอามาแลกเปลี่ยน เกี่ยวกับคดีนี้ที่อากงโดนเข้าไป 4 กระทง จากการส่ง SMS 4 ข้อความ
ผมเข้าใจดีครับว่ากรณีอย่างนี้ 4 ครั้งศาลต้องแยกเป็น 4 กระทง แต่เทคโนโลยีใหม่อีกนั่นแหละมันทำให้เกิดปุจฉาว่า เอ๊ะ ถ้าเราเอาไปเทียบกับคนที่ขึ้นปราศรัยทั้งคืน สมมติตั้งแต่ 2 ทุ่มยันเที่ยงคืน กล่าววาจาดูหมิ่นจาบจ้วงอาฆาตมาดร้ายซะช่ำปอด เสียงแหบเสียงแห้งแล้วค่อยลงจากเวที มารับโทษกระทงเดียว 5 ปี เทียบกับคนส่งข้อความสั้นๆ 4 ครั้ง 4 กระทง 20 ปี แถมมีความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์อีกต่างหาก เราจะถือว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่
เปรียบง่ายๆ กับคดีลักทรัพย์ ก็เหมือนคนลักปลาทู 4 ตัว 4 ครั้ง 4 กระทง แต่โจรขโมยเพชรเม็ดเบ้อเร่อ กระทงเดียว
แน่นอนตามหลักกฎหมายถือว่าขโมยปลาทูตัวเดียวกับขโมยเพชรก็มีความผิด เท่ากัน แต่เท่าที่สังเกต เวลาศาลท่านลงโทษ ขโมยปลาทูท่านก็ลงเบากว่า ขโมยเพชรลงหนักกว่า
กรณีนี้ที่ยกมาเพราะปัญหาเทคโนโลยีใหม่มันจะไม่ใช่แค่คดี 112 สิครับ คดีหมิ่นบุคคลธรรมดา ก็อาจจะตีความเช่นนั้นได้ด้วย แถมถ้าพ่วงเฟซบุค ที่ไอซีทีบอกว่าแค่กด like ก็ผิด like 4 ครั้ง 4 กระทง โดยไม่ได้เอ่ยวาจาซักคำเดียว เทียบกับคนที่ด่าทั้งคืน
ประเด็นนี้ผมก็หาคำตอบไม่เจอนะครับ ต้องฝากท่านโฆษกศาลไปหารือว่าจะปรับใช้กฎหมายกันอย่างไรกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
4.ปฏิกิริยานานาชาติ
ประเด็นที่ว่า “ศาลไทยไม่มีมาตรฐานสากล ควรรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล” ถ้าถือว่านี่เป็นคำชี้แจงของโฆษกศาลยุติธรรมต่อปฏิกิริยาจากนานาชาติ ผมเห็นว่าไม่ตรงประเด็นเลย
ผมมองว่าการที่ UN EU หรือ US แสดงปฏิกิริยาต่อคดีอากง น่าจะเป็นเพราะ ข้อแรก เขาก็มองเหมือนๆ คนไทยจำนวนหนึ่งมองนั่นแหละว่า ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย นอกจากนี้ในแง่สิทธิมนุษยชนเขาอาจมองเรื่องการพิจารณาคดี ที่คดี 112 ใช้การพิจารณาลับ แปลว่าสาธารณชนไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้ การใช้ถ้อยคำอย่างไรที่เรียกว่าหมิ่น ก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ สาธารณชนไม่สามารถตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของศาล ว่าคำๆ นั้น ประโยคนั้นๆ มันหมิ่นจริงหรือเปล่า
ข้อสอง เขามองว่าโทษหนักเกินไป ไม่สมควรแก่เหตุ ข้อสาม ทัศนะเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์และความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ของเขาแตกต่างจากเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันยาว โดยยังเกี่ยวพันกับคดี โจ กอร์ดอน ผู้ถือสัญชาติสหรัฐ (พูดง่ายๆว่า โจ กอร์ดอน แปลหนังสือที่วางขายอย่างเปิดเผยในสหรัฐ แต่กลับมาผิด 112 ในเมืองไทย โดยไม่ยักมีใครไปเอาเรื่องคนเขียน)
ในประเด็นเรื่องโทษ ก่อนที่จะโต้เขา เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า ฝรั่งมันมองอย่างไร ผมคิดว่าฝรั่งมันคงมองคล้ายๆ กับที่มองรัฐอิสลามตัดสินลงโทษประหารหญิงมีชู้ด้วยการปาก้อนหินจนตาย นี่ผมไม่ได้ว่าศาลไทยตัดสินเหมือนรัฐอิสลามนะครับ แต่ผมบอกว่าฝรั่งมันคงมองคล้ายๆ อย่างนั้น ฉะนั้นต้องคิดว่าจะไปชี้แจงเขาอย่างไร
การชี้แจงแบบว่า อย่าวิจารณ์โดยไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณี หรือคนทุกชาติต่างรักหวงแหนในแผ่นดินเกิดของตนเอง เคารพและศรัทธาในศาสดาที่เป็นผู้นำทางศาสนาของตนเอง ฯลฯ ควรคิดย้อนไปว่า แล้วตัวเราล่ะ เวลาเห็นรัฐอิสลามลงโทษแบบนั้นแล้วรู้สึกอย่างไร หรือเวลาเราประณามพวกตาลีบันระเบิดพระพุทธรูปโบราณ ตาลีบันก็อ้างว่านั่นเป็นหลักศาสนาของเขา
ที่พูดเช่นนี้ผมไม่ได้ตำหนิศาสนาอิสลาม แต่ตำหนิพวกตีความแบบ fundamental ผมเชื่อว่าศาสนาทุกศาสนามีหลักคำสอนสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน อะไรที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย สามารถปรับได้ เช่นเดียวกับความเคารพสักการะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงอยู่ด้วยทศพิธราชธรรม ไม่ใช่ด้วยการลงโทษอย่างรุนแรงเกินเหตุต่อผู้ไม่เคารพ
ที่จริงผมคิดว่าศาลยุติธรรมไม่จำเป็นต้องแสดงท่าทีปกป้อง ม.112 เพราะเป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติถ้าจะแก้ไข ในประเด็นอัตราโทษศาลสามารถชี้แจงต่อนานาชาติได้ว่า ก็กฎหมายกำหนดมาอย่างนี้ ให้ลงโทษขั้นต่ำ 3 ปี แต่ถ้ารัฐสภาแก้ไขศาลก็พร้อมนำมาบังคับใช้ อันนี้ภาษานักการเมืองเขาเรียกว่า “โบ้ย” ท่านน่าจะ “โบ้ย” มากกว่าออกมาแสดงทัศนะปกป้อง ม.112 ซึ่งทำให้เกิดความกังขาว่า ถ้าผู้พิพากษามีทัศนะเช่นนี้ จะมีผลต่อการบังคับใช้ ม.112 หรือไม่
ในประเด็นทัศนะเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทัศนะต่อการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ นานาชาติแตกต่างจากเรา แม้แต่สหภาพยุโรป ซึ่งก็มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้ รัฐธรรมนูญ อยู่หลายประเทศ และมีความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ต่อองค์ประมุขเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์สเปนวาดการ์ตูนล้อเจ้าชาย ศาลตัดสินแค่ปรับ คนเนเธอร์แลนด์ด่าพระราชินี ศาลตัดสินแค่ปรับ นี่ผมไม่ได้บอกให้ทำอย่างเขา เพราะของเรา 112 มีโทษขั้นต่ำ 3 ปี อย่างปราณีศาลก็ลดโทษได้เหลือปีครึ่ง เพียงแต่ผมจะบอกว่า เวลาชี้แจงเขา เราก็ควรศึกษาระบอบและทัศนคติของเขาด้วย
อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เคยเขียนเรื่องกรณีหมิ่นประมาทกษัตริย์สเปน นายมอนดรากอน โฆษกกลุ่มชาตินิยมบาสก์ ถูกศาลสเปนตัดสินจำคุก 1 ปี จากการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง นายมอนดรากอนร้องศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่งมีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้เอง ให้ศาลสเปนชดใช้ให้นายมอนดรากอน โดยมีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า
“ศาลฯยอมรับว่าคำพูดของนาย Otegi Mondragon มีลักษณะยั่วยุและดูหมิ่น แต่การถกเถียงทางการเมืองและการอภิปรายสาธารณะ ท่ามกลางบรรยากาศดุเดือดเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ที่ผู้พูดจะหลุดคำพูดลักษณะยั่วยุจึงเป็นเรื่องที่ต้องอดทนยอม รับและลดความเข้มข้นในการพิจารณาว่าหมิ่นประมาทหรือไม่ลง และคำพูดของนาย Otegi Mondragon เป็นการกล่าวถึงกษัตริย์ในฐานะสถาบัน และศาลฯเห็นว่าไม่ได้ประทุษร้ายหรือแสดงการเกลียดชังหรือยั่วยุให้ใช้ความ รุนแรง
ศาลฯยังพบอีกว่าบทบัญญัติมาตรา ๔๙๐ วรรคสามของประมวลกฎหมายอาญาที่ศาลภายในของรัฐสเปนนำมาใช้ตัดสินลงโทษนาย Otegi Mondragon นั้นเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษและแตกต่างจากกฎหมายกำหนดความผิดฐานหมิ่น ประมาทบุคคลทั่วไป ความข้อนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปดังที่ ศาลฯเคยวินิจฉัยไปแล้วในคดีก่อนๆ ว่า การกำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐต่างประเทศและหมิ่นประมาท ประธานาธิบดีให้แตกต่างจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปนั้นไม่ชอบ แม้อ้างว่ามีความแตกต่างระหว่างประธานาธิบดีกับกษัตริย์อยู่ แต่แนวคำวินิจฉัยบรรทัดฐานนี้ก็ต้องนำมาใช้ทั้งสิ้นไม่ว่าประเทศนั้นจะมี ประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดีหรือเป็นกษัตริย์ การอ้างว่ากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติไม่อาจทำให้กษัตริย์หลบ อยู่ภายใต้หลืบเงาเพื่อหลีกหนีการวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ โดยเฉพาะในคดีนี้เป็นการวิจารณ์กษัตริย์ในฐานะสถาบัน วิจารณ์กษัตริย์ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ วิจารณ์กษัตริย์ในฐานะผู้แทนของชาติ และท้าทายถึงความชอบธรรมของโครงสร้างระบบการเมืองการปกครองตามรัฐธรรมนูญของ รัฐ รวมทั้งการวิจารณ์ระบอบราชาธิปไตย”
แน่นอนว่าคดีนี้คนละเรื่องกับคดีอากง แต่ที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็เพื่อให้เห็นทัศนะของศาลยุโรป ก่อนที่ประเทศไทยจะไปตอบโต้เขา
5.พระบารมีไม่ขึ้นกับ 112
ผมแน่ใจว่าคุณสิทธิศักดิ์เขียนบทความเป็นส่วนตัว เพราะข้อ 5 ท่าทีต่อข้อเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 ถ้าเป็นตัวแทนศาลยุติธรรมก็จะไม่แสดงความเห็นต่อตัวบท แต่จะบอกว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา ศาลเป็นเพียงผู้ใช้กฎหมาย
แต่โฆษกศาลยุติธรรมได้แสดงความเห็นชัดเจนว่าไม่ควรยกเลิก และยังเตือนด้วยว่า ถ้ายกเลิกก็อาจถึงขั้น “ซากปรักหักพังของชาติไทย” ซึ่งแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก แต่เห็นว่าควรแก้ไข ก็จำเป็นต้องโต้แย้งแนวคิดเช่นนี้ ที่อาจจะเป็นตัวแทนของผู้พิพากษาจำนวนหนึ่ง ที่มีอำนาจวินิจฉัยลงโทษบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรา 112
คุณสิทธิศักดิ์พูดถึงความรักหวงแหนในสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเปรียบเทียบกับความเคารพศรัทธาต่อศาสดาของศาสนา ทำให้งุนงงอยู่เล็กน้อยว่า แล้วเรามีกฎหมายห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อผู้นำศาสนา เป็นพิเศษกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปหรือไม่ ไม่มีนะครับ เรามีแต่มาตรา 206 ที่ห้ามเหยียดหยามวัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลักการทางศาสนา วิถีปฏิบัติ หรือนักบวช ล้วนทำได้เต็มที่
ฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบความรักเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กับความเคารพศรัทธาต่อศาสดา ผมก็เห็นว่าน่าจะเปรียบเทียบว่า ล้วนมีที่มาจากความรักเคารพเทิดทูนด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ที่ประชาชนมีต่อทั้งสองสถาบัน โดยมาจากหลักธรรม คำสอน วัตรปฏิบัติ ความเป็นหลักยึดเหนี่ยวสังคมให้มีความรักสามัคคีกัน
ซึ่งความรักเทิดทูนด้วยใจบริสุทธิ์นี้ไม่ได้มาจากการห้ามวิพากษ์ วิจารณ์ หรือกระทั่งห้ามจาบจ้วงดูหมิ่น เพราะด้วยคุณงามความดีที่ดำรงอยู่ ผู้จาบจ้วงดูหมิ่นย่อมแพ้ภัยตัวเอง (ยกตัวอย่างหลายปีก่อน หนังสือพิมพ์มติชนเคยเผลอลงจดหมายที่เขียนมาจาบจ้วงสมเด็จพระสังฆราช มติชนต้องปิดตัวเอง 3 วันแม้ไม่มีกฎหมายลงโทษ) เพียงแต่ที่กฎหมายกำหนดห้ามจาบจ้วงดูหมิ่นเพราะเป็นการล่วงล้ำสิทธิของผู้ ที่เคารพนับถือ ย่ำยีความรู้สึกอันอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนในสังคม
กล่าวในแง่ของรัฐสมัยใหม่ รัฐประชาธิปไตย ที่กฎหมายห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ยังเป็นการคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่ง ดังกล่าวแล้วข้างต้น เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรของรัฐที่ต้องได้รับความคุ้มครองเพื่อการ ปฏิบัติหน้าที่ประมุข
คำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐ ธรรมนูญ บางคนอาจไม่พอใจ แต่ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องก็ต้องใช้คำนี้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยโดยมีเงื่อนไขต่างๆ กำกับไว้ (ดังที่ในหลวงมีพระราชดำรัสว่า พระองค์ไม่เคยทำตามอำเภอใจ)
พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ หากไม่มีรัฐธรรมนูญ ก็ทรงไม่มีอำนาจใดๆ ตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารสามารถออกประกาศและคำสั่งเป็นกฎหมายได้ โดยไม่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย เพราะมีคำวินิจฉัยศาลฎีการองรับว่ารัฐประหารเป็น “รัฏฐาธิปัตย์”
ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐ ธรรมนูญ กล่าวสำหรับประเทศไทยคือ เรามักไม่สามารถแยกแยะระหว่างบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบนี้ กับพระบารมีของในหลวงของเรา เนื่องจากเราเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมา 79 ปี ในหลวงทรงครองราชย์มา 65 ปี พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายนับไม่ถ้วน มีพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น เป็นที่เคารพรักเทิดทูนของประชาชนอย๋างสูงสุด จนทำให้เราแยกไม่ค่อยออกว่า สิ่งไหนคือพระบารมีเฉพาะพระองค์ สิ่งไหนคือโครงสร้างของระบอบที่ควรจะเป็น
ฉะนั้นถ้าจะแยกแยะกันจริงๆ ก็ต้องเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้ รัฐธรรมนูญ ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐ ไม่เหมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่พระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ในระบอบประชาธิปไตยพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติหน้าที่ประมุขตามที่รัฐธรรมนูญ กำกับ ไม่เหมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจโดยไม่จำกัด
แม้รัฐธรรมนูญแทบทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกำหนดว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ หรือล่วงละเมิดมิได้ แต่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยอย่างแถบยุโรปก็ถือว่า สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ทั้งในแง่ของการปฏิบัติหน้าที่ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในแง่ของการประพฤติปฏิบัติพระองค์ให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ประมุขของ ชาติ (ซึ่งต้องถูกเรียกร้องสูง)
คุณสิทธิศักดิ์กล่าวตอนหนี่งว่า “การจะติชมวิพากษ์เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ ขอเพียงมีจิตเป็นกลาง ไม่มีอคติ และบนฐานคติที่สร้างสรรค์ พึงอย่าได้ใช้สิทธิส่วนตนเกินส่วนจนเกินขอบเขตก้าวล้ำสิทธิเสรีภาพผู้อื่น อย่าได้แสดงความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ประหัตประหารด้วยอาวุธลมปากและความเท็จต่อผู้อื่น โดยอ้างเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุอื่นมาสร้างความชอบธรรมแก่ตนเอง”
ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่โฆษกศาลยุติธรรรมเห็นว่าการติชมวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเสรีภาพที่กระทำได้ แต่พูดกว้างเกินไปจนไม่แน่ใจว่าอะไรคือเสรีภาพ อะไรคือความผิด
ผมจะขอไล่เรียงการวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เทียบ เคียงกับต่างประเทศ มาแจกแจงดังนี้ เพื่อให้ช่วยกันคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ
หนึ่ง การใช้คำหยาบจาบจ้วงล่วงเกิน นี่แหงแซะ ถือว่าผิด และจะให้ลงโทษแค่ปรับเหมือนเนเธอร์แลนด์ ผมเชื่อว่าคนไทยก็ยังทำใจไม่ได้
สอง การวิพากษ์วิจารณ์เชิงโครงสร้างของระบอบ เช่น ควรมีองคมนตรีหรือไม่ ควรมี ม.112 หรือแก้ไข หรือยกเลิก ควรจัดวางสถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างไร ฯลฯ อันที่จริงนี่เป็นเรื่องโครงสร้าง ซึ่งต่อให้มี ม.112 เช่นปัจจุบันก็ควรวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ในกระแสปัจจุบันเหมือนจะไม่ยอมให้วิพากษ์วิจารณ์ (คำเตือน ผู้วิพากษ์วิจารณ์มีความเสี่ยง ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ)
สาม การวิพากษ์วิจารณ์ความคิดราชาธิปไตย อันที่จริงก็น่าจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในอดีต แต่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะ ม.112 ใครก็แจ้งความได้
สี่ การตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรี ข้าราชบริพาร หรือผู้ใกล้ชิดสถาบัน (หรืออ้างว่าใกล้ชิด) ที่จริงควรกระทำได้แต่คนไทยไม่ค่อยกล้า มีแต่ในช่วงที่ขัดแย้งทางการเมืองสูง เช่น เสื้อแดงตามบี้องคมนตรีที่ดินเขายายเที่ยง หรือสนธิ ลิ้ม วิพากษ์ท่านผู้หญิงเสื้อแดง
ห้า การแสดงความเห็นต่างจากพระราชดำริ ซึ่งหากแสดงโดยตรงไปตรงมา สุจริต สุภาพ ไม่ประชดประเทียดเสียดสี ก็น่าจะกระทำได้ แต่เราไม่เคยมี เช่นเดียวกับความเห็นแย้งต่อพิธีกรรมถวายความจงรักภักดีต่างๆ อาทิ ส.ส.ฝ่ายค้านไม่เคยโต้แย้งรัฐบาลว่าควรใช้งบประมาณจัดงานพระราชพิธีอย่าง “พอเพียง” (มีแต่โจมตีกันว่าไปยกเลิกงานนั้นงานนี้ทำไม)
หก การวิพากษ์วิจารณ์หรือท้วงติงว่าสถาบันพระมหากษัตริย์แสดงท่าทีที่อาจถูกมอง ว่าไม่เป็นกลางหรืออาจเกินเลยจากอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น สื่ออังกฤษวิจารณ์มูลนิธิของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์
เจ็ด การวิพากษ์วิจารณ์การประพฤติปฏิบัติพระองค์ให้เหมาะสมกับเป็นผู้แทนของชาติ เช่น สื่ออังกฤษวิจารณ์เจ้าชายแฮร์รี แต่เป็นการวิจารณ์ด้วยความมุ่งหวังให้ทรงพระเกียรติเป็นที่รักเคารพของ พสกนิกร
หลายๆ ข้อที่ผมยกตัวอย่างมา ยังมีความคลุมเครือค่อนข้างมาก และเป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าโดยมีสถาบันพระมหา กษัตริย์ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เป็นมรดกของชาติ เป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชนชั่วกาลนาน
ความคลุมเครือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเพราะมาตรา 112 แต่ยังมีผลจากการบังคับใช้ รวมถึงการวินิจฉัยของศาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพิจารณาลับ ห้ามเผยแพร่ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่น และมีคดีน้อยมากที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาจนมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐาน เพราะอัตราโทษสูง และการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยมักไม่ได้รับการประกันตัว ตลอดจนการที่เมื่อปล่อยให้คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแม้ต่อผู้ที่ใช้ถ้อยคำจ้วง จาบหยาบช้า พระราชทานอภัยโทษให้แทบทุกกรณี
พูดง่ายๆ ว่าที่ผมตั้งคำถามเหล่านี้ไป ถามว่าอย่างไหนผิดไม่ผิด ถ้าศาลตอบว่าต้องดูเป็นรายๆ เฉพาะกรณีไป คือต้องให้เกิดคดีก่อน “ลองวิพากษ์วิจารณ์ดูเดะ เด๋วรู้” กว่าจะรู้ผู้วิพากษ์วิจารณ์ก็อาจต้องอยู่ในคุกซัก 3-4 ปีเป็นอย่างน้อยกว่าจะได้คำพิพากษาศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐาน (แถมดันสู้คดี 3 ศาลไม่ยอมรับสารภาพ ก็อาจถูกมองว่า “ไม่มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี”) แล้วใครจะกล้าทำให้ความคลุมเครือนี้ชัดเจนขึ้นได้
ผมก็ไม่อยากเห็น “ฝ่ามือใบตองแห้ง” นะครับ