ที่มา ข่าวสด
แต่ก็ทราบกันว่า เบื้องหลังความเรียบร้อย คือการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และมวลชนในเครือข่าย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดภาพการชุมนุมชูป้ายประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง
หากเป็นการเดินทางตามปกติ ก็คงไม่ราบรื่นแน่นอน
และยังมีข่าวออกมาว่า นายอภิสิทธิ์ มีแผนการจะไปตรวจราชการที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน
แต่แผนการเดินทางดังกล่าวอาจจะต้องมีการทบทวนใหม่อีกครั้ง
หลังจากที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพบกับนักธุรกิจในภาคเหนือ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม แล้วโดนม็อบเสื้อแดงชุมนุมประท้วงและพยายามติดตามหาตัว
ถึงขั้นปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
และก่อนหน้านั้น กลุ่มเสื้อแดงเชียงใหม่ได้ประกาศว่า จะไม่ให้นายกรัฐมนตรี มาเยี่ยมแพนด้าน้อยเป็นอันขนาด
ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ปรับการเคลื่อนไหว หันมาปักหลักเน้นพื้นที่ภาคอีสาน โดยโฟนอินมาออกในรายการวิทยุที่จังหวัดอุดรธานี
กรณีดังกล่าว ตอกย้ำว่า อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ และขั้วอำนาจปัจจุบัน ยังร้อนแรง
และไม่มีวี่แววว่าจะเลิกราไปง่ายๆ
ผลจากการเลือกตั้งซ่อม 2 จังหวัดภาคอีสาน ที่พรรคเพื่อไทยกวาดชัยชนะไปทั้ง 2 จังหวัด ทำให้พรรครัฐบาลเห็นพ้องกันว่า ทักษิณยังแรงอยู่
ไม่มีหนทางอื่น นอกจากกอดคอกัน ฉุดลากรัฐบาลให้อยู่ต่อไปให้นานที่สุด ใช้ความได้เปรียบในฐานะเป็นฝ่ายบริหารมาสร้างความเข้มแข็งให้ขั้วตัวเอง
และหาหนทางทำให้อีกฝ่ายอ่อนกำลังลงไป รวมถึงการไล่ล่าปิดล้อมพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ร่อนเร่ไปตามประเทศต่างๆ
การมองอีกฝ่ายเป็น "ศัตรู" ที่ต้องตามล่าหาตัว ทำให้ "ภารกิจ"สำคัญที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำ คือการประสานรอยร้าวระหว่างคนที่คิดต่างกัน ถูกละเลยไป
แม้จะมีเงื่อนไขให้เกิดการสมานฉันท์ อย่างเช่น การดำเนินคดีกับแกนนำพันธมิตรฯ ที่เข้ายึดสนามบิน ที่ตำรวจสามารถสรุปเรื่องและตั้งข้อหาได้
แต่ฝ่ายพันธมิตรฯ ก็แสดงความไม่พอใจ จัดชุมนุมมวลชนของตนเองและประกาศไม่ยอมรับข้อหา
โดยมีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคน แสดงความเห็นสนับสนุนพันธมิตรฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความพยายามที่จะนำเอาปัญหาต่างๆ มาสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน อาจจะล้มเหลว
ผลที่ตามมาแน่นอนคือ ข้อหา 2 มาตรฐาน และรอยร้าวที่ยิ่งขยายกว้างออกไปอีก
ความขัดแย้งที่ไม่มีการแก้ไขเยียวยานี้ ส่งผลสะเทือนลึกซึ้งยาวไกล
ทั้งต่อความสงบสุข ความปลอดภัยของประชาชน และต่อการทำงานของรัฐบาล
การประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญๆ ต้องเลือกใช้พื้นที่ซึ่งรัฐบาลควบคุมได้
เกิดสภาพพื้นที่อันตราย ที่รัฐบาลเข้าไม่ถึง เข้าไม่ได้
ความขัดแย้งสำคัญ ไม่ได้มีเฉพาะความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจปัจจุบันและขั้วอำนาจเก่าเท่านั้น
แต่ในขั้วอำนาจปัจจุบันก็มีปัญหาความขัดแย้งภายในที่สลับซับซ้อน
การจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ไม่ลงตัว นำไปสู่การทำลายล้างกันเอง
ทั้งด้วยการใช้แง่มุมกฎหมายและรัฐธรรมนูญฟาดฟัน ส่งเรื่องให้องค์กรที่มีอำนาจดำเนินการ ไปจนถึงการ "กวาดล้าง" กลายเป็นคดีซึ่งรัฐบาลเองก็เข้าไม่ถึง
ขณะที่การบริหารงานรายวันของรัฐบาลก็ยังมีปัญหา และยังรับเละอยู่กับการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัด 2009
ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต. ตัดสินให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 13 คน พ้นสภาพเพราะขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ในจำนวน 13 คน ยังรวมถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้จัดการรัฐบาลชุดปัจจุบันรวมอยู่ด้วย
หลังจากกกต.มีคำวินิจฉัย ได้ลาออกจากส.ส. โดยไม่รอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และประกาศยืนยันไม่ลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ
และในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ กกต.จะพิจารณาการถือหุ้นของส.ส.ที่ยังค้างการพิจารณาของคณะกรรมการไต่สวนของกกต. อีกระลอก จำนวน 44 คน
แต่ถ้าเอาหลักเกณฑ์ที่กกต.สั่งฟัน 13 ส.ส.ประชาธิปัตย์ จะมีส.ส.เข้าข่ายโดนเชือดอีก 13 คน
แม้น้ำเสียงของนายสุเทพและแกนนำรัฐบาล จะวางฟอร์ม "นิ่ง" ต่อการวินิจฉัยของกกต. แต่เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลแน่นอน
อย่างน้อยๆ ก็จะกลายเป็นประเด็นหรือเป็นเป้าให้วิพากษ์วิจารณ์โจมตี
และหากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินตามที่กกต.วินิจฉัยไปแล้ว ก็จะตามมาด้วยการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งมีหลายพื้นที่ อาจกลายเป็นเวทีประลองกำลังระหว่างพรรคได้อีก
แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการแข่งขันเลือกตั้ง ตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ
แต่ในสังคมของประเทศไทยที่ขัดแย้งแตกแยกกันอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันมากยิ่งขึ้น
แม้พรรคร่วมรัฐบาลประกาศจะกอดคอกันจนกว่าสถานการณ์จะสุกงอมไปไม่ไหวจริงๆ
แต่สัญญาณ "ขับไล่" รัฐบาลด้วยปรากฏการณ์ต่างๆ เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ