ที่มา ประชาไท
วานนี้ (19 ก.ค.) สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (Institute of Democratization Studies - IDS) ร่วมกับ สถาบันเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น (Institute for Local Education and Development (ILED) จัดการอภิปรายหัวข้อ "การล่มสลายของประชาธิปไตยไทย: จุดเริ่มต้นในการแสวงหาประชาธิปไตย" ที่โรงแรมสุริวงศ์ จ.เชียงใหม่ ดำเนินรายการโดยนายจอม เพชรประดับ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยได้กล่าวชี้แจงว่า จากการรัฐประหารที่บอกว่าเป็นการถอยหลังหนึ่งก้าวนั้นทุกวันนี้คงเห็นแล้วว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตย ทั้งยังมีกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังที่มีการรัฐประหารซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นเราต้องหาคำตอบว่าทำอย่างไรจึงจะไปถึงประชาธิปไตยโดยหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งคำตอบคงไม่ได้มาด้วยสมการง่ายๆ ว่าเราทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพราะว่ามันมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น
ดร.สุชาติ ธาดาดำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าตนคิดว่าในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมาตนเห็นว่าช่วงที่มีประชาธิปไตยมากที่สุดคือช่วงที่มีนายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกฯ และในช่วงของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในสมัยทักษิณใช้ประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ตระหนักว่าการเมืองนั้นเป็นระบบขุนนาง อย่างรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มาจากการแต่งตั้งของทางขุนนางและขุนศึก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย
ดร.สุชาติ ชี้ให้เห็นว่าโครงการต่างๆ ในสมัยรัฐบาลทักษิณนั้นเป็นประชาธิปไตยที่กินได้และเป็นการใช้เงินที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่การใช้เงินของรัฐบาลชุดนี้ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตำราเรียนหรือเช็คช่วยชาตินั้นขาดประสิทธิภาพ เพราะตามหลักแล้วต้องให้คนทำงานแล้วได้เงินถึงนำไปจับจ่ายไม่ใช่การแจกเงินโดยตรง นอกจากนี้หนี้ภาครัฐบาลในรัฐบาลชุดนี้ยังเพิ่มขึ้นกว่ารัฐบาลทักษิณในสัดส่วนที่สูงมาก หลายคนอาจคิดว่าคนจนไม่ต้องแบกรับหนี้ดังกล่าวเพราะฐานเงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่โครงสร้างภาษีประเทศไทยทำให้เราต้องเสียภาษีทางอ้อม เพราะฉะนั้นคนจนก็ต้องแบกรับหนี้ดังกล่าวเช่นกัน
ด้าน รศ.ดร.วรพล พรหมมิกบุตร อาจารย์ประจำคณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แสดงความเห็นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนั้นการใช้เหตุผลในการตัดสินเรื่องราวต่างๆ นั้นไม่พอหากขาดซึ่งข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงจำนวนมาก ยกตัวอย่างกรณีที่นายกอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการกู้เงินของรัฐบาลชุดนี้ว่าในสมัยรัฐบาลชุดทักษิณนั้นก็มีการกู้เงินเช่นกันแล้วยังมีสัดส่วนที่สูงกว่า ซึ่งหากเราฟังตามนี้ก็รู้สึกว่าสมเหตุสมผล แต่แท้จริงแล้วการกู้เงินในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณนั้นเป็นเพราะหนี้ที่เกิดจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านั้นซึ่งเป็นรัฐบาลของคุณชวน เพราะฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นการใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาแบบขาดข้อมูลที่เพียงพอ จึงนำไปสู่ปัญหาอีกทอดหนึ่ง
ทั้งนี้ รศ.ดร.วรพล กล่าวว่า ประชาธิปไตยในประเทศไทยถูกทำลายมาอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับคนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปที่เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยมาตั้งแต่ ยุค พ.ศ.2512 นั้น จะรู้ว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยมีปัญหาขนาดไหน โดยส่วนตัวแล้วผมว่าในช่วงปี พ.ศ.2544-2548 นั้นเป็นช่วงที่มีเสรีภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ซึ่งสภาพดังกล่าวทำให้คนที่เคยได้เปรียบจากโครงสร้างเดิมที่ไม่เป็นธรรมต้องพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเพื่อให้พ้นจากสภาพการณ์ในตอนนั้นด้วยการล้มพรรคไทยรักไทย ซึ่งความพยายามดังกล่าวนั้นถูกซ่อนมาในบรรยากาศของการสัมมนาทางวิชาการที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยจะเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากนี้ รศ.ดร.วรพล ยังชี้ให้เห็นว่ามีการใช้ผู้นำทางสังคมในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อโน้มน้าวสังคมในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เช่น การที่นักวิชาการตัดสินว่ากรณีการที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อปี พ.ศ.2551 นั้นเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก แต่กลับมองว่าการที่คนเสื้อแดงซึ่งมาล้อม สภ.ต.ภูพิงค์ เพื่อให้มีการประกันตัว “ดีเจแหล่” นั้น สมควรที่จะต้องใช้ความรุนแรง เห็นได้จากการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์มติชน ในขณะที่การนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไม่ได้มีสองมาตรฐานอย่างนั้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวนั้นมีในทุกกระบวนการไม่เพียงแค่ในวงการสื่อมวลชนเท่านั้น ชนชั้นกลางต้องไม่ใช้แค่ความเป็นเหตุเป็นผลเท่านั้น เชื่อว่าวันหนึ่งชนชั้นกลางจะเข้าร่วมกันมวลชนเสื้อแดง
นายคณิณ บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และอดีต ส.ส. หลายสมัย กล่าวว่าจากหัวข้อการสัมมนานั้นชวนคิดได้ว่าประชาธิปไตยไทยนั้นเคยเฟื่องฟูมาก่อนจึงล่มสลายได้ แต่แท้จริงประชาธิปไตยไทยไม่เคยไปถึงจุดนั้น โดยการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นั้นเป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำลายประชาธิปไตย ซึ่งการไม่เคารพต่อกระบวนการตัดสินใจของประชาชนที่แสดงผ่านการเลือกตั้งนั้นถือว่าชั่วร้ายที่สุด รวมถึงการดูหมิ่นผู้อื่นว่าเป็นผู้ที่ไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เวลานี้ทักษิณคือสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยไทย
รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกวันนี้การแบ่งเป็นกลุ่มแล้วคาดหวังถึงระบอบการปกครองที่ตนฝันถึงมากเกินไป วิกฤตทางการเมืองในตอนนี้นั้นดำเนินมาเป็นเวลาห้าปีแล้ว และจนวันนี้ก็ยังมองไม่เห็นทางออกมากนัก ซึ่งกรณี 14 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬนั้นยังมีเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งเป็นความขัดแย้งกับชนชั้นนำ แต่ความขัดแย้งในตอนนี้ที่มีการแบ่งเป็นสองฝ่ายนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีมวลชนของตนสนับสนุนอยู่ ซึ่งความขัดแย้งนี้ได้ดึงคนในสังคมเข้ามาร่วม แล้วยังเกิดในช่วงที่กลไกต่างๆ ที่เคยจัดการความขัดแย้งในอดีตไม่สามารถจัดการได้ เสนอให้คิดเพราะความขัดแย้งนี้นั้นไม่ว่าฝ่ายใดชนะก็จะยังคงมีอีกฝ่ายเคลื่อนไหว เพราะเราอยู่ในสังคมที่มีคนที่คิดไม่เหมือนกับเราแน่นอน ฉะนั้นแล้วต้องใส่ใจกับเรื่องสันติวิธีมากขึ้น