ที่มา ประชาไท
“โครงการชุมชนพอเพียง” อาจจะไม่ “พอเพียง” เสียแล้ว เพราะมีการส่อแววทุจริตหลายพื้นที่ ส.ส. เพื่อไทย เตรียมร้อง ป.ป.ช.-ดีเอสไอตรวจสอบอ้างพบส่อทุจริตถึง 24 ชุมชน “กอร์ปศักดิ์” ยอมรับมีผู้ร้องเรียน ตั้งทีมพิเศษล่าทุจริตชุมชนพอเพียง
โครงการชุมชนพอเพียง รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายตามที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้มีการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศเพิ่มเติมจากวง เงินงบประมาณที่เคยได้จัดสรรเดิม ทั้งนี้ไม่ได้เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินคงคลังพ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่ดำเนินการในรูปแบบของ“โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน” ซึ่งคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552 ลงมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ศพช.) หรือ โครงการชุมชนพอเพียง และให้มีสำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) หรือ สำนักงานชุมชนพอเพียง เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 18/2552 ลงวันที่ 20 มกราคม 2552 ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธานกรรมการ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายกนก วงษ์ตระหง่านและนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เป็นรองประธานกรรมการ พร้อมกรรมการอีก 21 คน มี ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานฯ โครงการชุมชนพอเพียง เป็นโครงการของรัฐบาลที่ต้องการสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยรัฐบาลมุ่งจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังชุมชนทั่วประเทศ ให้ทุกชุมชนมีโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณของภาครัฐอย่างรวด เร็ว กำหนดเป้าหมายการใช้เงินไว้ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส การพัฒนาการเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการอนุรักษ์พลังงาน โดยมุ่งให้ทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของตนเองที่ มีอยู่อย่างมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ การลดต้นทุนและปัจจัยการผลิต พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่ม และสร้างโอกาสในการพัฒนาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ กับชุมชน โดยโครงการที่อนุมัติดำเนินการไปแล้วส่วนใหญ่ได้แก่โครงการประเภท การผลิตปุ๋ย ยุ้งฉาง ลานตาก เกษตรผสมผสาน การส่งเสริมกลุ่มอาชีพ พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ/ต้นน้ำ พลังงานทดแทน เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการพิจารณาอนุมัติโครงการ ได้แก่ ความยั่งยืนของการดำเนินโครงการ และแนวทางการบริหารจัดการโครงการเพื่อความยั่งยืนในชุมชน วัตถุประสงค์ของโครงการ * เพื่อจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยังชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกชุมชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงบประมาณของภาครัฐอย่างรวด เร็ว และครอบคลุมทั่วถึง * เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพของตนเองที่มีอยู่ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น * เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดต้นทุนและปัจจัยการผลิตทางการเกษตร * เพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติระดับชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และสร้างโอกาสในการพัฒนาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพทาง เศรษฐกิจในระดับฐานรากให้กับชุมชน การเข้าร่วมโครงการ ชุมชนที่มีความประสงค์จะขอรับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการชุมชนพอเพียง ต้องเป็นชุมชนที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2552 ตามประกาศ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ประกาศของกรุงเทพมหานคร และประกาศของเทศบาล ต้องมีความรู้ความเข้าใจในแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อปฏิบัติได้ โครงการชุมชนพอเพียงมีการจัดฝึกอบรมให้กับตัวแทนชุมชน ณ ศูนย์ฝึกอบรม 100 แห่งทั่วประเทศ ระยะเวลา 3 วัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อให้ตัวแทนชุมชนที่เข้ามารับการฝึกอบรมสามารถเขียนโครงการขออนุมัติงบ ประมาณกับรัฐบาลได้ทันที และเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินโครงการภายใต้กรอบปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน โดยหัวข้อในการฝึกอบรมจะมีตั้งแต่การเขียนโครงการให้ประสบความสำเร็จ การวิเคราะห์ชุมชนของตนจากการทำบัญชีชุมชน ขั้นตอนการบริหารจัดการโครงการที่ยั่งยืน เป็นต้น หลักเกณฑ์ของโครงการ โครงการที่เสนอขออนุมัติต้องมีความยั่งยืนของการดำเนินโครงการ โดยมีผลต่อเนื่องไม่สิ้นสุดในครั้งเดียว และเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้ * เป็นโครงการที่สามารถรองรับผู้ด้อยโอกาสและผู้ว่างงานในชุมชน ให้สามารถพัฒนาไปสู่ความอยู่ พอกิน พอใช้ ซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นต้นของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง * เป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการลดต้นทุนและปัจจัยในการผลิตด้าน ต่างๆ อาทิ ด้านการเกษตร ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในอาชีพ และเพิ่มความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก * เป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการใช้และอนุรักษ์พลังงาน หรือพลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือก * เป็นโครงการที่สนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ชุมชนสามารถลงทุนร่วมดำเนินโครงการกับชุมชนใกล้เคียง หรือองค์การภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ หรือนอกพื้นที่ได้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: |
"พท." ตรียมร้อง ป.ป.ช.ตรวจชุมชนพอเพียง
คณะกรรมการประสานงานภาค กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.) นำโดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. ลงพื้นที่ชุมชนวัดกลาง เขตบางกะปิ พบปะผู้นำชุมชนจำนวน 9 ชุมชนในเขตบางกะปิ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบโครงการจัดซื้อตู้หยอดน้ำและแผงโซลาร์เซลล์ ตามแผนงานโครงการชุมชนพอเพียงที่ส่อไปในทางไม่ชอบมาพากล
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ปัญหาการใช้งบประมาณโครงการชุมชนพอเพียงที่ส่อไปในทางทุจริตนั้น จากการสอบถามผู้นำชุมชนยืนยันว่าได้รับการติดต่อจากตัวแทนบริษัทขายสินค้า และนักการเมืองบางพรรค อ้างว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการให้เปล่า โดยบีบบังคับให้ชุมชนต้องเลือกสินค้าราคาแพงเกินจริงตามที่ล็อคสเปคมา ซึ่งสินค้าเหล่านั้นไม่ตรงกับความต้องการของชุมชนนั้นแม้แต่น้อย นอกจากนี้ ยังไม่มีการจัดเวทีประชาคมตามระเบียบที่กำหนดไว้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่รัฐถึงยอมรับรองโครงการเหล่านี้ได้
"มีชุมชนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ถึง 24 ชุมชน โดยมีการนัดเปิดบัญชีที่ธนาคารออมสิน สาขารามคำแหง 21 ชุมชน ซึ่งมีข้อพิรุธอย่างมากคือ ทันทีเปิดบัญชีและปรากฏยอดเงินโอนเข้านั้น เจ้าหน้าที่โครงการได้ให้ตัวแทนชุมชนถอนเงินออกมาภายในวันเดียวกันนั้นเอง นอกจากนี้ ชุมชนสามัคคีพัฒนาได้รับการอนุมัติโครงการจำนวน 6 แสนบาท แต่มียอดเงินโอนเข้าบัญชีของชุมชนเพียง 5 แสนบาท เท่านั้น อยากถามว่าส่วนต่าง 1 แสนบาท หายไปไหน" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้ลงมาตรวจสอบในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เตรียมไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบในวันที่ 17 และ 20 กรกฎาคม ตามลำดับ
ตรวจสอบตู้หยอดน้ำ และแผงโซลาร์เซลล์ ของชุมชนวัดกลาง ชาวบ้านไม่เอา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.อ.อนุดิษฐ์นำสื่อมวลชนตรวจสอบตู้หยอดน้ำ และแผงโซลาร์เซลล์ ของชุมชนวัดกลาง ที่จัดหาจากโครงการชุมชนพอเพียง โดยพบว่าตู้หยอดน้ำดังกล่าวมีลักษณะเช่นเดียวกับตู้หยอดน้ำทั่วไป แต่มีการเชื่อมต่อกับวงจรไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งตู้น้ำดังกล่าวชุมชนวัดกลางได้รับมอบในเดือนพฤษภาคม ก่อนที่จะส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง พท.ในเดือนมิถุนายน
ขณะที่นายอารักษ์ ยงจิรกุลพงศ์ ประธานชุมชนวัดกลาง กล่าวว่า มีตัวแทนจากเจ้าหน้าที่โครงการติดต่อมา ว่ามีโครงการที่มาจากงบฯเลือกตั้งซึ่งถือเป็นการให้เปล่า แต่ละชุมชนสามารถเลือกตามความต้องการ "ชุมชนผมต้องการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการก่ออาชญากรรม และยาเสพติด แต่เจ้าหน้าที่โครงการบอกว่าถ้าผมไม่เลือกโครงการใดโครงการหนึ่งตามที่กำหนดไว้ก็จะนำงบฯชุมชนวัดกลางที่ได้ไปมอบให้ชุมชนอื่นแทน ผมจึงต้องเลือกโครงการตู้หยอดน้ำและแผงโซลาร์เซลล์แทน ทั้งที่ชุมชนตั้งตู้หยอดน้ำเพื่อบริหารคนในชุมชนเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว" นายอารักษ์กล่าว
นายอารักษ์กล่าวว่า หลังจากที่ตัดสินใจเลือกโครงการตู้หยอดน้ำและแผงโซลาร์เซลล์ เจ้าหน้าที่โครงการได้กำชับให้รีบรวบรวมรายชื่อคนในชุมชนให้ครบตามจำนวนที่กำหนดภายในวันต่อมาทันที จึงแปลกใจว่าเหตุใดต้องเร่งรีบถึงเพียงนั้น อย่างไรก็ตาม ในที่สุดบริษัทผู้จำหน่ายสินค้านำสินค้ามามอบให้ โดยระบุว่าตู้หยอดน้ำที่ใช้กระแสไฟจากแผงโซลาร์เซลล์นั้นจะต้องใช้ควบคู่กับไฟบ้านด้วย เนื่องจากพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการทำงานของเครื่องหยอดน้ำ
"ชุมชนไม่สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ได้ตั้งแต่วันแรกแล้ว คาดว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่สามารถรองรับไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ แม้แต่พัดลมติดผนังเพียงตัวเดียวยังไม่สามารถทำงานได้เลย ส่วนเครื่องหยอดน้ำนั้นไม่มีคนในชุมชนมาใช้บริการเนื่องจากมีตู้หยอดน้ำจำนวนมาก วันนี้มีเพียงมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ตั้งอยู่หน้าตู้หยอดน้ำเท่านั้นที่มาใช้บริการ" นายอารักษ์กล่าว
มี “โบรกเกอร์" จัดตั้งบริษัทเฉพาะกิจสนอง “ชุมชนพอเพียง”
นอกจากนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ ยังกล่าวถึงโครงการชุมชนพอเพียงใน กทม.จัดซื้ออุปกรณ์ประหยัดพลังงานชนิดต่างๆ ว่า ยังมีจุดที่น่าสงสัยเกี่ยวกับตัวบริษัทผู้เสนอสินค้า โดยเฉพาะการมีตัวแทน 1 คนทำหน้าที่เหมือน "โบรกเกอร์" จัดตั้งบริษัทเฉพาะกิจ เพื่อเสนองานในครั้งนี้โดยเฉพาะ ก่อนที่จะรวบรวมสินค้าที่เข้าเงื่อนไขโครงการชุมชนพอเพียง และจัดทำเป็นแค็ตตาล็อก ส่งมอบให้นักการเมืองพรรคหนึ่งลงพื้นที่พบผู้นำชุมชนเพื่อเสนอโครงการ กรณีนี้ผู้มีส่วนได้เสียได้กำไรถึง 2 เด้ง นอกจากกำไรส่วนต่างของราคาแล้ว ยังได้บุญคุณจากประชาชนอีกด้วย ตนได้สำรวจสถานที่ตั้งบริษัทจำหน่ายสินค้าแล้วพบว่าจัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจ นอกจาก กทม.แล้ว อีกหลายจังหวัดก็ประสบปัญหาดังกล่าว
8 ชุมชนปราจีนฯเจออ้างพรรคใหญ่ ซื้อตู้น้ำโซล่าเซลล์แลกงบฯ พอเพียง
นายเฉลิม เกียรติบรรจง อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 572/18 หมู่ 8 ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชามติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีนาย "ป." อ้างว่าเป็นผู้ประสานงานของพรรคการเมืองใหญ่เข้ามาพร้อมนักการเมืองท้องถิ่นในเทศบาลตำบลเมืองเก่า แจ้งให้ชุมชน 8 แห่งในเขตเทศบาลช่วยลงชื่อจัดซื้อตู้น้ำหยอดเหรียญและแผงโซลาร์เซลล์ตามโครงการชุมชนพอเพียง หากลงชื่อ ชาวบ้านจะได้โครงการที่เคยทำประชาคมไว้แล้ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,850,000 บาท ต่อมาปรากฏว่า ตู้น้ำหยอดเหรียญและแผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกนำมาติดตั้งในแต่ละหมู่บ้านไม่สามารถใช้งานได้ อีกทั้งโครงการเดิมที่ประชาคมเลือกไว้แล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะได้ เข้าใจว่าโดนหลอกให้ลงชื่อกัน จึงได้ร้องเรียนอำเภอกบินทร์บุรีขอให้สอบสวนและชี้แจง
นายเฉลิมกล่าวอีกว่า ต่อมานายสุมิตร แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สพช. และนายประโภชน์ สภาวสุ รองประธานกรรมการ สพช.แจ้งมาว่ายินดีคืนเงินให้ และนายประโภชน์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนให้ 8 ชุมชน มีการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ สภ.กบินทร บุรี สำหรับตู้น้ำหยอดเหรียญราคาเครื่องละ 42,000 บาท แผงโซลาร์เซลล์ 2 แผง ราคาไม่เกินชุดละ 4,000 บาท พร้อมค่าบริการติดตั้งเครื่องละ 8,000 บาท เรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างการสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติด้วย
น.ส.อังคณา ชูกิติพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทตู้น้ำหยอดเหรียญได้ถอนตู้ที่ติดตั้งกลับไปหมดแล้ว
นายกบอกบางที่เขียนโครงการนำไปใส่มือให้ชุมชน
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ติดตามอยู่ เพราะในหลายพื้นที่รายงานมา ซึ่งไม่ได้เป็นเจตนาที่รัฐบาลกำหนดลงไป คือ ประเภทที่พยายามเขียนโครงการนำไปใส่มือให้ชุมชนขอมา ไม่ใช่แนวทางที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือใครก็ต้องจัดการ
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส.ส.พท.คนหนึ่งมาร้องเรียนกับตนเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีเอกสารยืนยันได้ว่ามีการทุจริตและล็อคสเปคโครงการชุมชนพอเพียง ซึ่งพบว่ามีทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลเกี่ยวข้องด้วย จึงเสนอให้ ส.ส.คนดังกล่าวไปหาบุคคลมาร้องเรียนเรื่องนี้ เพื่อที่ กมธ.ป.ป.ช.จะได้ตรวจสอบต่อไป
“กอร์ปศักดิ์” ยอมรับมีผู้ร้องเรียน ตั้งทีมพิเศษล่าทุจริตชุมชนพอเพียง
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 52 ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมนุมพอเพียง เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการชุมชนพอเพียงที่มีการอนุมัติงบประมาณ จำนวน 8,432 ล้านบาท เพื่อกระจายให้โครง 31,582 โครงการทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นประชาคมให้เขียนโครงการส่งมาที่สำนักงานชุมชนพอเพียงในการขออนุมัติภายในเดือนสิงหาคมนี้รวมถึงได้จัดจั้งทีมพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ลดสัดส่วนประชาชน ในการทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้านเหลือเพียง 50% ของจำนวนประชาชนในชุมชน จากเดิมที่กำหนดไว้ 70% เพื่อความคล่องตัวในการทำประชาคม เพื่อคัดเลือกโครงการพอเพียงที่ต้องการ จะได้ไม่มีปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ที่พบว่าการทำประชาคมแต่ละครั้งบางครั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เข้ามาร่วมทำประชาคม จึงทำให้การเสนอโครงการดำเนินการได้ล่าช้า
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการจัดซื้อจัดจ้างของชุมชนที่อาจไม่มีความรู้ที่ดีพอ ขอให้สำนักงบประมาณจัดทำราคากลางสำหรับสินค้าหรือเครื่องจักรที่ชุมชนต้องการ ประมาณ 20 รายการ เพื่อจะได้ตรวจสอบราคากลางให้ชัดเจนต่อไป เช่น เครื่องผลิตปุ๋ย เครื่องสีข้าว เครื่องผลิตน้ำดื่ม เครื่องสูบน้ำ เครื่องนวดข้าว เป็นต้น
นายกอร์ปศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีกระแสข่าวทุจริตตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพลังงานแสงอาทิตย์ ว่าอาจจะเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่อย่างที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่ามี ส.ส.พรรคใหญ่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และฮั้วกับบริษัทที่เป็นผู้จัดจำหน่าย แต่อาจจะเป็นขั้นตอนของการทำประชามติที่นำเสนอให้แก่ประชาชนในชุมนุมเป็นผู้เลือกว่าจะทำโครงการใด ซึ่งในขั้นตอนดังกล่าวอาจจะมีผู้จัดจำหน่ายบางรายเข้าไปอ้างชื่อของรัฐบาลว่าถ้าสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทจะทำให้ได้รับการอนุมัติโครงการเร็วขึ้น ทั้งนี้จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและติดตามการงานโดยให้พล.อ.ชัชวาล ทัตตานนท์ รองผู้อำนวยการโครงการชุมนุมพอเพียง พร้อมด้วยดร.พรหมมิน สีบุตร กำชับให้นายอำเภอ ,นายกเทศมนตรี,ผู้อำนวยการเขต ดำเนินการตรวจสอบโดยเฉพาะการทำประชาคม
“มีเรื่องที่ถูกร้องเรียนความไม่โปร่งใสเข้ามากว่า ร้อยเรื่องแต่จะมี 83 เรื่องเท่านั้นที่มีผู้ร้องเรียนลงชื่อชัดเจน โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำประชาคมที่ไม่โปร่งใส รวมถึงมีการแอบอ้างเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้อกับโครงการเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ ”นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์มติชน, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ