ที่มา ประชาไท
2554 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหรือปลายปีก็ตาม แต่การเลือกตั้งได้ลดความหมายต่อชัยชนะของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยลงไปแล้ว
การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลจะชนะ แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญชี้ขาดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะถ้ามองกลับกัน หากทักษิณและพรรคเพื่อไทยชนะ พ่อไอ้ปื๊ด เจ๊ใหญ่ เจ๊แดง ออกมาลอยหน้าลอยตา ไม่ว่าจะได้เจ๊มิ่งหรือเจ๊ยิ่งเป็นนายกฯ ก็ไม่ได้แปลว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะซักหน่อย จริงไหม
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังต้องคดเคี้ยวและใช้เวลา ใช้สถานการณ์ให้การศึกษาประชาชน เพราะเป้าหมายของประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ใช่แค่โค่นล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่เป็นการ “ปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย” ครั้งใหญ่ เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง ลดอำนาจนอกระบบ อำนาจศาล ทหาร รัฐราชการ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน
นี่เป็นการต่อสู้ที่จะต้องสู้กันทุกปริมณฑล ทั้งความคิด ทฤษฎี กฎหมาย รัฐธรรมนูญ ข้อมูลข่าวสาร หลักการ ความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรม พร้อมไปกับการช่วงชิงมวลชน ทำให้มวลชน “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ “เลยธง”
ปัจจัยของการต่อสู้วันนี้ขึ้นอยู่กับ 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ขบวนเสื้อแดง คนชั้นกลางฝ่ายสองไม่เอา กับความอ่อนแอเน่าในของระบอบอุปถัมภ์ที่ค้ำจุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ (โชคชะตาฟ้าดินไม่นับ อย่าไปฝากความหวัง) โดยมีคนชั้นกลางชาวกรุงเป็นตัวแปรอันโลเล และมวลชนส่วนที่เหลือเป็นเป้าหมายให้ช่วงชิง
เหตุการณ์พฤษภาอำมหิต ส่งผลต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งด้านบวกและลบ ด้านบวกคือ มวลชนเสื้อแดงพัฒนาการเรียนรู้ “ตาสว่าง” ผนึกพลังเหนียวแน่น แสดงจิตใจกล้าต่อสู้ถึงที่สุด ไม่ว่าถูกปราบถูกจับกุมคุมขังอย่างไร ก็ยังมีมวลชนหลายหมื่นคนพร้อมออกมาชุมนุม นี่คือขบวนการที่มีพื้นฐานมวลชนเข้มแข็งที่สุด ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย (แต่ก็มีหัวขบวนห่วยแตกที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน)
ด้านลบคือการแสดงพลังของ “ไพร่แดง” ซึ่งระเบิดออกมาด้วยอารมณ์ร้อนแรง และได้แรงสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากคนจนคนชั้นล่างในกรุงเทพฯ ได้สร้างความหวาดกลัวและตื่นตระหนก ต่อคนกรุงคนชั้นกลาง นักธุรกิจ ซึ่งหวาดกลัวว่าถ้า “กองทัพไพร่แดง” ชนะ ถ้าแท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์ แม่บ้าน คนขับรถ ฯลฯ ชนะ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคน โดยไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่ สถานะของตนเอง คนเหล่านี้จึงผนึกกำลังเป็น “แนวร่วม” กับระบอบอภิสิทธิ์ สนับสนุนรัฐราชการ โดดเดี่ยวเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย ทั้งยังพร้อมใจกันปกป้องเชิดชู “สัญลักษณ์จารีตนิยม” ทั้งที่ความจริงก็ไม่ได้ผูกพันอะไรนักหนา แต่ถือเป็น “ยันต์” กันเสื้อแดงและทักษิณ ซึ่งทำให้ฝ่ายจารีตนิยมฉวยโอกาสขยายอำนาจบารมีมากขึ้น
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีเนื้อหาสาระ นำเสนออุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของทั้งคนชั้นกลางและชั้นล่างร่วมกัน ลดอำนาจชนชั้นนำ รัฐราชการ ขุนนางอำมาตย์ ที่เป็นตัวขัดขวางการพัฒนาประเทศ เบียดบังผลประโยชน์และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของทั้งคนชั้นกลางชั้นล่าง
เสื้อแดง-แดงเข้ม
เหตุการณ์พฤษภาส่งผลให้มวลชนเสื้อแดงเรียนรู้และพัฒนาไปอีกระดับ แต่ก็ยังมีปัญหาบางประการ
ในแง่การต่อสู้ มวลชนได้เรียนรู้แล้วว่านี่จะเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน จากเดิมพวกเขาคิดเพียงว่าเรียกร้องให้ยุบสภา แล้วพรรคเพื่อไทยจะชนะ ทักษิณจะกลับมา (หรือคิดเพียงว่ามาม็อบกันมากๆ เกิดความรุนแรง แตกหัก แล้วจะได้ชัยชนะ) ณ วันนี้เขารู้แล้วว่าการต่อสู้ไม่ได้ง่ายดายปานนั้น พวกเขาจะต้องต่อสู้กับอำนาจแฝงนอกระบบ สถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จึงจะได้ชัยชนะ
เป้าหมายการต่อสู้ของมวลชนที่ยกระดับขึ้น ทำให้พวกเขา “ก้าวข้าม” ทักษิณและพรรคเพื่อไทยโดยอัตโนมัติ แม้มวลชนพื้นฐานยังรักและผูกพันทักษิณ แต่ตราบใดที่ทักษิณไม่ต่อสู้ถึงที่สุด ยังคิดแต่จะต่อรอง “ปรองดอง” เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง มวลชนก็ไม่เอาด้วย
ซึ่งแกนนำระดับกลางและมวลชนจำนวนหนึ่ง ก็มองเห็นกระจ่างแจ้งในเหตุการณ์พฤษภาอำมหิตแล้วว่า ทักษิณคิดแต่จะใช้มวลชนเป็นเครื่องต่อรอง
แม้แต่พรรคเพื่อไทยก็เช่นกัน ส.ส.ของพรรคที่ดูแลรับผิดชอบมวลชนเสื้อแดง จะยังได้รับแรงสนับสนุนอย่างแข็งขัน แต่ ส.ส.ที่ทอดทิ้งมวลชน เหินห่าง หรือไม่จริงใจ ก็มีข่าวว่าแกนนำเสื้อแดงในบางพื้นที่จะผละไปเข้าพรรคขัตติยะธรรม ซึ่งแม้มองไม่เห็นทางชนะเลือกตั้ง ไม่ต่างจากพรรคการเมืองใหม่ แต่หากยึดเอาพรรคการเมืองเป็นฐานในการสร้างขบวนการประชาชน ก็ยังมีอนาคตกว่าพรรคการเมืองใหม่
การที่แกนนำ นปช.ถูกกวาดเข้าคุก ทำให้มวลชนเสื้อแดงอยู่ในสภาพไร้หัว แต่ก็ส่งผลดีคือทำให้แกนนำระดับกลางเติบโต มวลชนเริ่มต่อสู้อย่างเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมต่อข้ามสายกันเป็นเครือข่าย “แกนนอน” ผ่านโทรศัพท์มือถือ อีเมล์ เว็บไซต์
หลังพฤษภาอำมหิต มวลชนเสื้อแดงไม่ขยายตัว และสูญเสียแนวร่วมไปบางส่วน แต่ในหมู่มวลชนที่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหว พบว่า “นิวเคลียส” ของเสื้อแดงขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภายใน 7-8 เดือน มวลชนจำนวนมากได้เปลี่ยนจากสีแดงหรือชมพูกลายเป็นแดงเข้ม ด้วยการสื่อสารทางมือถือ อีเมล์ เว็บไซต์ ซีดี หรือถ่ายเอกสารข่าว “วิกิลีกส์” แจกกันไปทั่ว
ปรากฏการณ์นี้มีทั้งด้านบวกและลบ ด้านบวกคือมวลชน “ตาสว่าง” ได้รับ “การศึกษา” อย่างลึกซึ้งจากสถานการณ์ที่เป็นจริง พร้อมจะต่อสู้ถึงที่สุด แต่ก็มีแรงผลักดันจากความคั่งแค้น ซึ่งทำให้เป้าหมายของการต่อสู้ “เลยธง” ไปจากการปฏิรูปประชาธิปไตย แน่นอนว่าเป็นธรรมดาของคนเพิ่งตื่นตัวใหม่ๆ จะ “เลยธง” แต่ถึงระดับหนึ่งต้องพัฒนาไปสู่ความมีสติ มีเหตุผล กำหนดเป้าหมายที่เหมาะสม เพราะมวลชนส่วนใหญ่ก็น่าจะเข้าใจแล้วว่า อารมณ์ฮาร์ดคอร์ คิดแต่จะแตกหัก ทำให้พ่ายแพ้ในเหตุการณ์พฤษภา
ขบวนเสื้อแดงจึงจำเป็นต้องรีบกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เสนอแนวทาง “ปฏิรูประบอบประชาธิปไตย” อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เป็นกระแส ชูให้เป็นคำขวัญ และนำไปสู่การเคลื่อนไหวในเชิงเนื้อหา อาทิเช่น การเคลื่อนไหวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทีละประเด็น การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพ (ที่ไม่เฉพาะสิทธิเสรีภาพของเสื้อแดง) การเรียกร้องรัฐสวัสดิการ (ที่ไม่ใช่ประชาวิวัฒน์) การกระจายอำนาจ และอำนาจตัดสินใจของชุมชน (ที่ไม่ใช่ลัทธิประเวศ)
อ.ธิดาน่าจะมีบทบาทในเชิงวิชาการเช่นนี้มากกว่าเป็นแกนนำเย้วๆ นัดชุมนุมเอาผิดคนก้าวล่วงสถาบัน เพราะไม่ใช่แนวทางของฝ่ายประชาธิปไตยที่จะต้องไปห้อยโหนตามอย่างพันธมิตร
ขบวนเสื้อแดงจะต้องนำเสนอเป้าหมาย “ปฏิรูปประชาธิปไตย” ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกฝ่าย จากนั้นก็ต้องทำงานแนวร่วม และขยายมวลชน เพราะสภาพปัจจุบันขบวนเสื้อแดงหยุดการเติบโตทางปริมาณ แต่ “ขยายนิวเคลียส” ดังกล่าว ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา จะให้พัฒนาทั้งสองด้านตามทฤษฎีเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่จากนี้ไปต้องมุ่งทำงานความคิด ดึงคนเข้าร่วม ด้วยกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่เปิดกว้าง กำหนดประเด็นหลากหลาย ไม่หมกมุ่นอยู่เฉพาะประเด็นของตัวเอง
การกำหนดเป้าหมายและการเคลื่อนไหวเชิงเนื้อหา จะต้องทำให้ได้ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งคาดว่าพรรคร่วมรัฐบาลชนะแน่นอน การมีเป้าหมายที่ชัดเจนและการเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง จะทำให้มวลชนไม่ท้อแท้ไปกับความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทย เปลี่ยนไปตั้งความหวังกับการสร้างขบวนการประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ เพื่อรอรับความเปลี่ยนแปลงผันผวนในภายหน้า
เพราะเป็นที่คาดว่าแม้พรรคร่วมรัฐบาลชนะ อภิสิทธิ์เป็นนายกฯอีก แต่ก็อยู่ไม่ครบ 4 ปี เนื่องจากกลางปี 2555 นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 จะพ้นพันธนาการ ปลายปี 2556 บ้านเลขที่ 109 จะพ้นพันธนาการ นักการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่ปัจจุบันไม่ได้อยู่พรรคเพื่อไทย แต่อยู่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล เพิ่งเห็นหน้ากันหลัดๆ สุวัจน์ พินิจ ไพโรจน์ ปรีชา นักการเมืองที่มี “มลทิน” ตามคำตัดสินของตุลาการภิวัตน์ทั้งนั้น เข้าไปอวยพรปีใหม่ประธานองคมนตรี (นี่ไงสังคมไทย)
คนชั้นกลางตัวแปร(ปรวน)
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่อาจปราศจากคนชั้นกลาง (อันที่จริงมวลชนเสื้อแดงจำนวนมากก็เป็นคนชั้นกลางเกิดใหม่ในชนบท) เพียงแต่เราคงไม่ยึดทฤษฎีเดิมๆ หวังพึ่งพลังคนชั้นกลางอันฉาบฉวย เฮโลสาระพาไปตามกระแสสื่อ คนชั้นกลางในที่นี้จึงได้แก่นักวิชาการ นักคิด นักเขียน ฝ่ายสองไม่เอา ซึ่งมีภารกิจสำคัญคือต้องพยายามสร้างกระแสประชาธิปไตยที่มีสติ มีเหตุผล พร้อมกับพยายามโน้มน้าวเหนี่ยวนำมวลชนเสื้อแดงเข้าสู่การต่อสู้อย่างมีเป้าหมายที่เป็นจริงและเป็นไปได้
แนวทางปฏิรูปประชาธิปไตยดังกล่าวข้างต้น ก็คงจะต้องกำหนดมาจากนักคิดนักวิชาการฝ่ายสองไม่เอา เพราะลำพังพรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดง ยังไม่มีนักคิดนักวิชาการที่จะทำงานนี้ได้ (ทักษิณและพรรคเพื่อไทย อาจจะพยายามกีดกันฝ่ายสองไม่เอา แต่ถ้ามีการเสนอวาระที่ชัดเจน เข้าถึงมวลชน พวกเขาก็ขัดขวางยาก)
ภาระทั้งสองด้านหนักหน่วงไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะการสร้างกระแสประชาธิปไตยที่มีสติ มีเหตุผล แต่ก็ยังพอมีช่องทาง หลังการล้มละลายของพันธมิตรประชาชนเพื่ออุดมการณ์ราชาชาตินิยมสุดขั้วสุดโต่ง
พันธมิตรคือปรากฏการณ์ของกระแสอารมณ์ความรู้สึกคนชั้นกลาง ที่เตลิดเปิดเปิงไปจนไร้สติ ไร้เหตุผล สิ่งที่เรียกว่า “กระแสสังคม” ของคนชั้นกลางก็คืออารมณ์ที่บ่มเพาะสั่งสมมาจากความไม่พอใจ ต่อความไม่เป็นธรรม ความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นประชาธิปไตย หรือผู้นำไม่ฟังเสียงประชาชน ซึ่งมีพื้นฐานจากความเป็นจริง มีเหตุผล แต่ยังไม่ตกผลึก ไม่เป็นระบบ ยังใช้อารมณ์ความรู้สึกชี้นำ ปะทุขึ้นมาด้วยจุดสะเทือนใจ เช่น “เสียสัตย์เพื่อชาติ” “ขายชินขายชาติ” “ขายหุ้นไม่เสียภาษี” หรือแจก สปก.ให้เครือญาติ โดยมีสื่อ ฝ่ายค้าน หรือนักเคลื่อนไหว เป็นผู้กระพือกระแส ปกติจะมีนักวิชาการคอยประมวลยกระดับอารมณ์ความรู้สึกขึ้นเป็นเหตุผล ประคับประคองให้มีสติ แต่กรณีไล่ทักษิณ นักวิชาการกลับแปลงร่างเป็นนักเคลื่อนไหวไปด้วย
กระแสของคนชั้นกลางถ้าเปรียบเทียบกรณี “ล่าแม่มดอายุ 16” ก็เห็นได้ชัด พื้นฐานมีเหตุผลคือสาธารณชนเกรงว่าเป็นทายาทตระกูลใหญ่ ผู้ตายผู้เสียหายจะไม่ได้รับความยุติธรรม จุดสะเทือนใจอยู่ที่ภาพเล่น BB หลังชนคนตาย 9 ศพ แต่พอก่อกระแสขึ้นมาได้ก็โน้มเอียงสร้างความเกลียดชังจนสุดขั้ว กรณีนี้ครอบครัวเธอเข้าใจเกม ถ้าต้านกระแส ถ้าออกมาโวยวายว่าไม่ให้ความเป็นธรรม ก็จะถูกบดขยี้ นี่พวกเขาใช้วิธีขอโทษขอโพยอ่อนน้อมถ่อมตน (โดยไม่ได้ยอมรับว่าผิด) จะให้ลูกไปบวชชี ฯลฯ ถ้าทำให้กระแสโทรมลงได้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการประนีประนอมอลุ่มอล่วยลูบหน้าปะจมูกแบบไทยๆ (แล้วส่งลูกไปเรียนเมืองนอก)
แต่ผู้นำทางการเมืองมักเลี่ยงกระแสไม่พ้น ถ้าไม่ยอมแพ้ตัดไฟแต่ต้นลม ยิ่งดิ้นยิ่งถูกบดขยี้ ทักษิณเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นผู้นำจากการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กระแสคนชั้นกลางจึงปะทะกับฐานเสียงมวลชนในชนบท เมื่อไม่ชนะ อารมณ์เกลียดชังก็ยิ่งเตลิดเปิดเปิงกระทั่งไร้สติไร้เหตุผล จนออกบัตรเชิญรัฐประหาร สนับสนุนตุลาการภิวัตน์ ทำลายหลักนิติรัฐ ทำลายหลักการประชาธิปไตย ทำทุกอย่างไม่เลือกวิธีการเพื่อไปให้ถึงชัยชนะสถานเดียว โดยขายฝัน “การเมืองใหม่ใสสะอาดปราศจากคอรัปชั่น” เป็นเป้าหลอก เพื่อปฏิเสธอำนาจจากการเลือกตั้ง
แต่หลังจากฉุดกระชากลากถู ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน Chaos จนเหนื่อยหน่าย พอได้ชัยชนะระดับหนึ่ง เมื่ออำมาตย์และกองทัพอุ้มประชาธิปัตย์สมสู่เนวิน คนชั้นกลางก็พอใจ ทั้งที่เป็นการเมืองเก่าเน่าสุดๆ ถอยหลังยิ่งกว่ายุคชวนกับงูเห่า ข่าวคอรัปชั่นฉาวโฉ่ยิ่งกว่า “ระบอบทักษิณ” เมื่อเปรียบเทียบกันใน 2 ปีแรก แต่คนชั้นกลางก็ช่วยกันปกป้อง
อภิสิทธิ์เข้าใจจริตคนชั้นกลางและรู้จักเล่นกับกระแส จึงช่วงชิงคนชั้นกลางไปจากพันธมิตร ทิ้งให้พันธมิตรหัวเน่า สื่อ นักวิชาการ ซึ่งเคยแซ่ซ้องเป็นกองเชียร์ แยกตัวไปเป็นสมุนรัฐบาล พันธมิตรยิ่งดิ้นยิ่งเข้าสู่จุดอับ เช่น ความพยายามเรียกร้องให้ยกเลิก MOU ปี 43 หรือปฏิบัติการ “ตายแน่ มุ่งมาให้จับ” เพราะจริงๆ แล้วอุดมการณ์ชาตินิยมสุดขั้วขายไม่ได้ กรณีปราสาทพระวิหารเป็นแค่เครื่องมือของความเกลียดชังสมัคร ทักษิณ นพดล เท่านั้น
ภาวะล้มละลายของพันธมิตร จึงเปิดช่องให้กับการโต้แย้งเชิงหลักการ เพื่อ “ขอคืนพื้นที่” ให้กับความมีสติมีเหตุผล และค่อยๆ ก่อกระแสตีโต้กลับ ผมจึงชูคำขวัญว่า “การเย้ยหยันพันธมิตรคือพันธกิจของเรา” ฝ่ายสองไม่เอาต้อง “กระชับพื้นที่” พันธมิตรในเชิงหลักการ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะแกนนำ 5-6 คน แต่รวมถึงสื่อและนักวิชาการ ที่เคยเป็นกองเชียร์ให้ท้ายพันธมิตร แต่ตอนนี้กลับไปรับใช้ระบอบอภิสิทธิ์ อย่างไร้ยางอายยิ่งกว่า
นักคิดนักวิชาการฝ่ายสองไม่เอาอาจมีจำนวนน้อยนิด เมื่อเทียบกับคอกพันธมิตร แต่มีพื้นที่กว้างขวางทางหลักการและเหตุผล ในปี 2554 อภิสิทธิ์อาจยังขี่กระแสคนชั้นกลางจริตนิยม แต่กระแสอีกด้านกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะหลังคดี(ไม่)ยุบพรรค ซึ่งโพลล์คนชั้นกลางยกให้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ยอดแย่แห่งปี
รัฐบาลจะชนะการเลือกตั้ง แต่จะเต็มไปด้วยข้อกังขา และได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรสองมาตรฐาน หลังจากนั้นพวกเขาอาจเต้นแร้งเต้นกาตีปีกได้ขณะหนึ่งว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเต็มภาคภูมิ แต่ไม่นานก็เข้าสู่จุดเสื่อม ทั้งจากความไร้ประสิทธิภาพ และการแย่งชิงผลประโยชน์ในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งบรรดานักการเมืองบ้านเลขที่ 111 ที่คนชั้นกลางเกลียดนักเกลียดหนาจ่อคิวกลับมา
ถ้าปรับขบวนเสื้อแดงได้ ถ้าสามารถเสนอแนวทางปฏิรูปประชาธิปไตยที่เข้าถึงคนชั้นกลาง ถึงตอนนั้นเราอาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพระดับหนึ่ง
ใบตองแห้ง
6 ม.ค.2554