ที่มา มติชน
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังเป็นที่รักของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" วัย 61 ปี กล่าว กับ "เทรซี่ ไทเลอร์" ผู้สื่อข่าวด้านกฏหมาย หนังสือพิมพ์โตรอนโต้ สตาร์ ณ ที่พำนักของเขาในภูมิภาคตะวันออกกลาง ก่อนหน้านี้ อดีตนายกฯ แทบจะไม่ปรากฏตัวมากนัก นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
"ผมรู้สึกผ่อนคลายกับชีวิตมากขึ้น" "มีคนเดินทางมาเยี่ยมผมมากมายที่นี่" เขากล่าวในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พร้อมกับ "โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" ทนายความชาวแคนาดาของเขา และตัวแทนจากประเทศไทย ดินแดนที่การแบ่งแยกทางการเมืองยังคงฝังรากลึก และยังคงมีบาดแผลอันเกิดจากความรุนแรง
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ และต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และปักหลักอยู่ตามท้องถนนของกรุงเทพฯ นานถึง 2 เดือนการปะทะกับทหารในครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 1,800 ราย ซึ่งนำมาสู่การประกาศภาวะฉุกเฉินนานถึง 8 เดือน
ในระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณกลายเป็นคนที่ต้องใช้ชีวิตแบบเร่ร่อน นับตั้งแต่ปี 2551 ก่อนหน้านี้ เขาเดินทางไปร่วมชมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่กรุงปักกิ่ง อดีตนายกฯ ไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศไทยได้อีก หลังศาลสั่งยึดทรัพย์สิน และลงโทษจำคุกเขา 2 ปีในข้อหาฉ้อโกง
รายงานข่าวจากรุงเทพฯเมื่อสัปดาห์ที่แล้วระบุว่า กลุ่มสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาพบเขาและร่วมพูดคุยถึงบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตมหาเศรษฐีนักธุรกิจ ปลีกตัวเองออกจากการเกี่ยวข้องใดๆในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เขายืนยันว่า เขาไม่เคยทำการปลุกปั่นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ"คนเสื้อแดง" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนในชนบทที่มีฐานะยากจน และกลุ่มชนชั้นแรงงาน
"ผมไม่รู้จักพวกเขา" เขากล่าว
พ.ต.ท.ทักษิณยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลผสมหัวอนุรักษ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนเมืองที่มีฐานะดี ควรจะต้องจับเข่าคุยกันกับผู้นำกลุ่มนปช. เพื่อเจรจาหาทางออก
ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ อดีตนักเรียนนอกจากอังกฤษ ได้เปิดเผยถึงแผนปรองดองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
"การปรองดองอาจหมายถึงว่าคุณต้องพูดคุยกัน" นายทักษิณกล่าว "และหาทางออกเพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมา การปรองดองไม่ได้หมายถึง การที่คุณกำจัดผู้นำกลุ่ม และเอาพวกพ้องของเขาเข้าคุก"
ขณะเดียวกัน กลุ่มนปช. ได้ยื่นหนังสือไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อขอให้มาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีและไต่สวนคดีของนปช. พร้อมกับเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับรัฐบาลไทยในข้อหาการกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หลังจากการชุมนุมในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
อย่างไรก็ดีนายอัมสเตอร์ดัม กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ร้องทุกข์ แต่อยู่ในฐานะผู้ให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายทางกฏหมายแก่กลุ่มนปช.
ขณะเดียวกัน ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของเขา ก็ยังคงเป็นที่คลางแคลงใจต่อองค์การนิรโทษกรรมสากล หลังจากที่หน่วยงานดังกล่าวร้องขอให้มีการดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ ต่อสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนเกือบ 80 ราย จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่บริเวณภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 หรือกรณีการประกาศสงครามกับยาเสพติดในปี 2546 ซึ่งส่งผลให้มีผู้คนล้มตายจำนวนมากถึง 2,500 ศพ
ถึงกระนั้น ความนิยมในตัวเขายังคงไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประชาชนที่อาศัยในชนบท ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของเขา อาทิ กองทุนหมู่บ้าน โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย และโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค
"ชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไป ความสุขของพวกเขาถูกขโมยไปด้วย" พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งชนะการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง กล่าว "ชาวบ้านแค่ต้องการให้ผมกลับไป"
"การตัดสินว่ากระทำผิดโทษจำคุกที่ผมได้รับ เกิดจากแรงกระตุ้นทางการเมืองจาก "รัฐบาลเผด็จการทหาร" และคนที่เป็นปรปักษ์กับผมทั้งสิ้น" พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวเพิ่มเติม
"พวกเขาวางแผนที่จะกีดกันไม่ไห้ผมเดินทางเข้าประเทศไทย"
"สิ่งที่ท้าทายต่อการทำงานของผู้นำคนใดก็ตาม คือการสร้างสะพานเชื่อมช่องว่างทางเศรษฐกิจและการเมืองขนาดใหญ่ระหว่างประชาชนในชนบทของไทยและชนชั้นนำในกรุงเทพฯ" นายปีเตอร์ แวนเดอร์กีสต์ อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยยอร์ค กล่าว
และพ.ต.ท.ทักษิณก็เห็นด้วยกับความจริงข้างต้น
"คนไทยรักสงบ" เขากล่าว "พวกเขาจำเป็นต้องมีทางออก เพื่อที่ประชาชนชาวไทยจะสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อีกครั้งและไม่มีการแบ่งฝ่ายอีกต่อไป"