ที่มา ประชาไท
หมายเหตุโดยผู้แปล: ถ้าแปลผิดหรือไม่ตรงกับต้นฉบับประการใด ถือเป็นความจงใจและความรับผิดชอบของผู้แปล
สวัสดีครับ คุณซัคเคอร์เบิร์ก เป็นไงบ้างครับกับการมาเที่ยวเมืองไทย? ที่ๆ ทุกคนเขาพูดว่าที่นี่คือดินแดนแห่งรอยยิ้มสยาม, ฝูงช้าง, หมาจรจัด, ประชาธิปไตย, เมืองพุทธ, สัญญาณ 2 จี, การจลาจล, การเซ็นเซอร์, ศพบนถนน, ลัทธิสูงสุดนิยม, ลัทธิอารมณ์นิยม, ลัทธิปัญญาชนเฟซบุ๊กนิยม และอื่นๆ
ไม่ครับ ไม่, ประเทศเรายังไม่ได้บล็อคเฟซบุ๊กหรอกครับ เราไม่เหมือนกับบรรดาประเทศคอมมิวนิสต์ประหลาดๆ พวกนั้น, ถึงแม้ว่าผมเองก็เดาว่าท่านผู้นำประชาธิปไตยของพวกเรานั้นมีอาการคันคะเยอที่อยากจะโชว์อำนาจเผด็จการแล้วจัดการปิดปากปิดเสียงนินทาที่แพร่กระจายอย่างกับเห็ดพิษในโลกเสมือนที่คุณซัคเกอร์เบิร์กสร้างขึ้นมา (เหมือนกับที่ครั้งนึงท่านผู้นำประชาธิปไตยของเราได้ทำกับYouTube ไปแล้ว)
อ่อ ก่อนที่ผมจะลืมพูดนะครับ ผมขอให้คุณช่วยโพสต์รูปที่มาเที่ยวเมืองไทยลงในโพรไฟล์ของคุณหน่อย คุณต้องทำนะครับ ผมสัญญาว่าผมจะบังคับให้เพื่อนๆ โลกเสมือน (ที่ผมไม่เคยเจอตัวจริง) 756 คนไปคลิก Like ให้ท่าน ช่วยแสดงให้โลกเห็นหน่อยเถอะครับว่าคุณรักเมืองไทย เพราะว่าพวกเราชาวไทยนั้นรู้สึกดีเหลือเกินเวลาเห็นฝรั่งไปเที่ยวบอกว่าเขา รักเมืองไทย Amazing, amusing, amorphous Thailand! เป็นฝรั่งแบบที่ชาวไทยรักให้หน่อยนะครับคุณซัคเคอร์เบิร์ก
ผมเรียกคุณว่ามาร์คได้ไหมครับ มาร์ค – เหมือนกับนายกของเรา ผมหวังจริงๆ นะครับว่าคุณจะมีความสุขกับการมาเที่ยวเมืองไทย ถึงแม้ผมเองก็พอเดาได้ว่าคุณคงรู้สึกแปลกๆ เวลาอ่านรายงานข่าวแล้วเจอว่าตัวคุณเองไปนั่นไปนี่ ราวกับว่าคุณเป็นพระเยซู หรือซานตาคลอส หรือเอลวิส และผมหวังว่าคุณจะไม่ถือสานะครับ ที่ผมเขียนถึงคุณผ่านสื่อดึกดำบรรพ์อย่างหนังสือพิมพ์ สื่อที่กระเสือกกระสนเอาชีวิตรอด สื่อที่กำลังจะสลายหายไปพร้อมๆ กับกลิ่นหมึกของศตวรรษที่แล้ว ผมหวังว่าเพื่อนโลกเสมือนบางคนจะแชร์บทความนี้ แต่ผมก็ไม่มีวันรู้หรอกครับว่าพวกเขาจะแชร์ไหม เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นเพื่อนจริงๆ ของผมซะหน่อย คุณเข้าใจที่ผมพูดใช่ไหมมาร์ค ถ้าไม่เข้าใจก็ช่างมันเถอะ แต่ผมน่ะ เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงคำว่า 'เพื่อน' ในความหมายใหม่ที่คุณบัญญัติขึ้นมาอยู่แล้ว
เอ้อ มีเรื่องนึงที่ผมอยากพูด คือผมกับเพื่อนๆ อยากแนะนำให้คุณมีฟีเจอร์ใหม่บนเฟซบุ๊กน่ะ คือนอกจากปุ่ม Friends แล้ว คุณควรจะเพิ่มปุ่ม Enemies ไว้ด้วยครับ ดังนั้นเราก็จะมี Enemy List, Enemy Finder, Enemy Suggestion และแน่นอนว่าต้องมี Mutual Enemies (ศัตรูร่วมกัน) สิ่งนี้จะทำให้สมาชิกของเฟซบุ๊กเพิ่มมากขึ้นจนเชื่อได้เลยว่าทั้งมนุษยชาติจะ หันมาใช้เฟซบุ๊กกัน คุณจำวลีเก่าๆ ว่า "เอาเพื่อนของคุณอยู่ใกล้ๆ แต่เอาศัตรูของคุณอยู่ใกล้กว่า" ได้ใช่ไหม? ฟีเจอร์ใหม่นี้จะเป็นประโยชน์มากๆ เลยครับสำหรับคนที่ได้ไปดูหนังเรื่อง The Social Network (คุณไม่มีทางมีเพื่อนห้าร้อยล้านคน โดยที่ไม่สร้างศัตรูสักคน – คำบนโปสเตอร์หนังเขาบอกเอาไว้) ซึ่งคนดูหนังพวกนั้นดันเข้าใจผิดๆ เพราะไม่สามารถแยกแยะตัวละครที่แสดงโดย เจสซี ไอเซนเบิร์ก กับตัวจริงๆ ของคุณได้ ภาพยนตร์ก็เป็นอีกสื่อโบราณที่มาจากศตวรรษที่ 19 แต่มันก็ยังพอจะฝากรอยแผลให้คุณได้บ้าง ใช่ไหมครับ?
เจ้าฟีเจอร์ Enemy นี้มาในจังหวะที่พอดีจริงๆ ครับ เพราะในขณะที่คุณมาเที่ยวเมืองไทย มันก็เป็นเวลาเดียวกับที่มีกระแสความบ้าคลั่งในเฟซบุ๊กเมื่อมีคนบางคนโกรธเกลียดคนอีกคน จนทำให้เขา (หรือเธอ) ไปตั้งเพจที่ชื่อว่า "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ แพรวา(อรชร) เทพหัสดิน ณ อยุธยา" มันเป็นเพจแห่งความเกลียดชังต่อเด็กผู้หญิงวัย 16 ที่มีส่วนร่วมในอุบัติเหตุทางรถยนต์อันน่าสยดสยองซึ่งทำให้มีคนตายไป 9 คน เพจนี้มีคนมาคลิก Like (หรือว่า Hate?) 200,000 คนภายในหนึ่งวัน แถมยังมีการแสดงความเห็นอันร้อนระอุจากผู้คนที่พบว่าเฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่ พวกเขาไม่ต้องแสดงตัว จนทำให้พวกเขาปลดปล่อยความเดือดดาลได้อย่างเต็มที่
มันน่ากลัวมากเลยมาร์ค ผมบอกเลยว่ามันน่ากลัว ทั้งตัวอุบัติเหตุเอง และการแสดงความรู้สึกอย่างทันทีทันใดบนเฟซบุ๊ก และไอเดียที่ว่าการกดคลิกบนเมาส์เพียงครั้งเดียวสามารถส่งต่อคำตัดสินของคุณไปยังบุคคลที่คุณไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับเขา มันเป็นการกดคลิกที่สามารถสรุปเอาอารมณ์อันแสนซับซ้อนของความรักและความเกลียดชัง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมไร้ตัวตนที่กำลังเพิ่มพูนของเรานี้
คุณเขียนในโพรไฟล์ของคุณว่า คุณชอบ "การเปิดกว้าง การสร้างสิ่งที่ช่วยให้ผู้คนเชื่อมโยงและแบ่งปันสิ่งที่สำคัญกับพวกเขา" คุณยังชอบ "การปฏิวัติ การเคลื่อนไหลของข้อมูลข่าวสาร ลัทธิน้อยได้มาก" ผมชื่นชมการมองโลกในแง่ดีของคุณ และผมสนับสนุนประเด็นของคุณ ถึงแม้ว่าในบางคืนที่ไร้ซึ่งดวงจันทร์ ผมครุ่นคิดเหลือเกินว่าบรรดาคุณสมบัติที่คุณสรรเสริญนั้นเป็นสิ่งที่ตรงข้าม กับคุณค่าต่างๆ ที่ครอบงำประเทศของผม ผมยังสงสัยอีกว่าเราจะทำอย่างไรเมื่อการเปิดกว้างนั้นกลับมาพร้อมกับการไม่ระบุตัวตนหรือการไม่แสดงความรับผิดชอบ เมื่อการรักใครหรือเกลียดใครได้แสดงออกมาอย่างง่ายๆ แต่แสนน่ากลัวยิ่ง มันเป็นการประกาศจุดยืนดังก้องบนโลกดิจิตอลแต่มีตัวตนราวกับหมอกควัน ผมสงสัยเหลือเกินว่าเจ้าเฟซบุ๊กหลังสมัยใหม่ได้ดึงเอาสันดานดิบก่อนสมัยใหม่ ของเราออกมารึเปล่า
ผมรู้ว่าเรากำลังอยู่ในจุดสำคัญที่สุด ของ(อภิ)วิวัฒนาการ คุณจะไม่สามารถก่อตั้งศาสนาใหม่ได้จนกว่าคุณจะร่วมการล่าแม่มดเสียก่อน ทว่าทุกครั้งที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ความพิศวงงงงวยก็กรีดเข้ากลางใจเรา มันเป็นความเจ็บแปลบเมื่อเราตระหนักถึงสิ่งที่เราสูญเสียก่อนที่จะได้อีก สิ่งหนึ่ง บางคนกล่าวว่าเฟซบุ๊กเหมือนกับการเปิดกล่องแพนโดร่า เพราะทุกคนกำลังพูดสิ่งที่พวกเขาคิด แล้วคลื่นแห่งอารมณ์เสมือนก็ล้นทะลักซัดสาดอย่างรวดเร็วเท่าที่แบนด์วิธจะเอื้ออำนวย ในเฟซบุ๊กตอนนี้ เราสามารถพูดคุยถึงสิ่งที่ปกติเราจะปิดซ่อนมันเอาไว้ บางสิ่งที่เราพูดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ บางสิ่งเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และส่วนที่เหลือใหญ่ๆ ล้วนเป็นเรื่องอัปลักษณ์
แต่เรายังจำได้ไหมว่าสิ่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ในกล่องแพนโดร่า หลังจากที่ทุกสิ่งถูกแพร่ออกไปแล้วคืออะไร? มันคือ เอฟิซ เทพธิดาแห่งความหวัง
สุขสันต์วันปีใหม่นะมาร์ค และ อ่อ เรื่องปุ่ม enemy น่ะเป็นแค่มุกตลกของผมเท่านั้น เพราะพวกเราล้วนรู้ดีอยู่แล้วว่าเราจะสร้างศัตรูขึ้นมาได้อย่างไรโดยไม่ต้องใช้ปุ่มนั้น
ด้วยความเคารพ
K
หมายเหตุ: งานชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กของผู้แปล ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้ง