WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, January 8, 2011

′แด่อาเนี้ย′

ที่มา มติชน



โดย เกษียร เตชะพีระ



อาเนี้ยกับผู้เขียนในงานฌาปนกิจอาเตีย พ.ศ.2546

เมื่อปลายเดือนเมษายนศกก่อน ญาติผู้ใหญ่ที่ผมนับถือเสมือนแม่และเรียกหาว่า "อาเนี้ย" ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ในฐานะที่ท่านเคยชุบเลี้ยงและรักใคร่เอ็นดูผมเหมือนลูกชายคนโตมาแต่ก่อน ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานไว้อาลัยและฝังร่างของท่านที่สุสานตามธรรมเนียมศาสนิกคริสเตียนที่ท่านเป็น ระหว่างนั่งรถโดยสารกับญาติมิตรลูกหลานและเพื่อนร่วมโบสถ์ไปสุสานที่ต่างจังหวัด ความคิดจิตใจก็ประหวัดไปถึงชะตาชีวิตของอาเนี้ยและจีนอพยพโพ้นทะเลร่วมรุ่นกับท่านทั้งหลายในเมืองไทย.....

เมื่อผมเล่าเรื่องราวชีวิตอาเนี้ยโดยไม่บอกชื่อและความสัมพันธ์จริงกับตัวเองให้คนอื่นฟัง (เช่น เล่าให้สหายหญิงหน่วยลำเลียงในป่าภาคอีสานใต้ฟังเป็นภาษาลาวระหว่างพักเหนื่อยจากขนเสบียงกลางดง) ผู้ฟังมักบอกว่ามันเหมือนนิยายและยุให้ผมเขียนขึ้นมาซะ

ชีวิตอาเนี้ยเต็มไปด้วยอุปสรรคมรสุม การต่อสู้ฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ แล้วก็เจออุปสรรคมรสุมใหม่อีก ครั้งแล้วครั้งเล่า ในฐานะหญิงจีนอพยพรุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สองคนหนึ่ง คนรุ่นนี้ในวัย 80-90 ปี กำลังอยู่บั้นปลายชีวิต ใกล้หมดไปจากเมืองไทย

ในกรณีอาเนี้ย มีอุปสรรคมรสุมที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตอาเนี้ย 4 ครั้ง

1) อพยพถอนรากจากจีนมาไทย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง)

อาเนี้ยอพยพทางเรือจากบ้านเกิดที่เมืองจีนมาอาศัยช่วยงานในบ้านคนรู้จักที่มาอยู่ก่อน ได้พบรักและแต่งงานกับ "อาเตีย" หนุ่มจีนอพยพจากภูมิลำเนาใกล้เคียงกัน (อาเตียเคยเล่าว่าครั้งแรกที่เห็นหน้ากันในร้านค้าแห่งหนึ่ง สายตาของอาเนี้ยที่จ้องมองมาคมกริบบาดใจไม่รู้ลืม)

ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้งธุรกิจค้าเหล้าฝรั่ง-จีน เปิดร้าน "แต้น่ำฮง" เป็นห้องแถวคูหาเดียวอยู่บนถนนกรุงเกษม ริมคลองผดุงกรุงเกษม ว่ากันว่าห้องแถวนี้เคยเป็นสิทธิของเถ้าแก่ชิน โสภณพนิชมาก่อนแล้วท่านยกสิทธิให้ด้วยความเมตตา

อาเตียกับอาเนี้ยดิ้นรนต่อสู้ปากกัดตีนถีบจนค้าขายประสบความสำเร็จพอควร อาเตียสามารถออกรถยี่ห้อเปอโยต์ของฝรั่งเศสราคาราว 3-4 หมื่นบาท ในสมัยกึ่งพุทธกาลเพื่อไว้ขนเหล้าส่งลูกค้า (รถฝรั่งราคาแพงเป็นยันต์กันตำรวจตรวจจับ เหมือนเบนซ์ทุกวันนี้)

ในยุคทหารครองเมือง พ่อค้าจีนเป็นพลเมืองชั้นสอง อาเนี้ยเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีนายทหารใช้อำนาจอภิสิทธิ์มายกเหล้าบรั่นดีเฮนเนสซี่ (จีนเรียก "โป๋วเท้า" หรือหัวขวานตามโลโก้ในฉลากบนขวด) ไปขึ้นรถดื้อๆ 2 ลัง อาเนี้ยวิ่งตามออกจากร้านไปฉุดกระชากลากดึงแย่งคืนมาได้ 1 ลัง

2) ปัญหาการสมรส-ครอบครัว แยกมาตั้งตัวใหม่พร้อมลูกสาว (พุทธทศวรรษ 2500)

ปรากฏว่าอาเนี้ยให้กำเนิดลูกสาว ทำให้สองผัวเมียไม่มีลูกชายตามธรรมเนียมจีนด้วยแรงยุจากเพื่อนมิตรญาติโยม อาเตียจึงแต่งภรรยาคนที่สองเรียกกันว่า "อาอี๊" เป็นสาวลูกจีนเกิดในเมืองไทยฐานะยากจน ต่อมาได้ให้กำเนิดลูกชายแก่อาเตียหลายคน

สภาพหนึ่งผัวสองเมียร่วมชายคาและมุ้งหลังเดียวกัน ไม่ช้าก็นำไปสู่ปัญหาการสมรสและครอบครัว เกิดทะเลาะเบาะแว้งวุ่นวาย ทำให้อาเนี้ยตัดสินใจพาลูกสาวคนเดียวแยกบ้านมาตั้งตัวเปิดธุรกิจใหม่

ในช่วงมรสุมชีวิตนี้เองที่อาเนี้ยได้พบพระผู้เป็นเจ้าที่โบสถ์คริสตจักรแถวหัวลำโพงจากคำแนะนำของเพื่อนสนิทของลูกสาว และทั้งสองคนแม่ลูกก็เข้า "เจียะก่า" หรือถือรีตเป็นคริสเตียนแต่นั้นมา

3) ปัญหาครอบครัว-ธุรกิจเมื่อบุตรเขยสิ้นชีวิตกะทันหัน (พุทธทศวรรษ 2520)

อาเนี้ยกับลูกสาวต่อสู้ดิ้นรนสารพัด อาทิ รับเหมาก่อสร้างทางสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์-ถนอม พัฒนาเศรษฐกิจและอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพรบเวียดนาม อาเนี้ยเคยเล่าว่าสองแม่ลูกหิ้วเงินนับหมื่นขับรถตามถนนบ้านนอกดึกดื่นเพื่อไปจ่ายค่าจ้างคนงานสร้างทาง, รับเป็นนายหน้าขายที่ดินกินคอมมิสชั่น, เป็นเซลส์ขายสินค้านานาชนิด ฯลฯ

สองแม่ลูกทำงานหลายอย่างจนตั้งตัวได้ ลูกสาวแต่งงาน ร่วมกันกับลูกเขยทำธุรกิจเปิดร้านค้าเครื่องมือเหล็กที่ศูนย์การค้าวรรัตน์ ย่านถนนตก ประสบความสำเร็จพอควร

ทว่าต่อมาปัญหาความขัดแย้งแข่งขันทางธุรกิจร้ายแรงถึงขั้นถูกมือปืนปองร้าย ผลสืบเนื่องต่อมาภายหลังทำให้ลูกเขยเสียชีวิตกะทันหัน เหมือนเสาหลักหนึ่งของครอบครัวและธุรกิจหักสะบั้นไป ส่งผลกระทบกระเทือนมาก

แต่สองแม่ลูกอาเนี้ยกับลูกสาวก็กัดฟันบากบั่นยืนหยัดต่อสู้ขึ้นมาใหม่ ไม่เพียงฟื้นฟูธุรกิจค้าเครื่องมือเหล็กจนแข็งแรงอยู่ได้ แต่ยังเดินหน้าบุกเบิกขยายกิจการ จากตัวแทนนำเข้าและจำหน่ายไปตั้งโรงงานผลิตเครื่องมือเหล็กในประเทศเองแถวอยุธยา โดยอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องจักรจากรัสเซีย บวกวิศวกรจากอินเดีย

นับว่าเหนื่อยหนักเป็นภาระมากในการดูแลธุรกิจที่มีมูลค่านับร้อยๆ ล้าน แต่ก็ค่อยเห็นผลสำเร็จและความมั่นคงรุ่งเรืองขึ้น

4) ปัญหาธุรกิจอันเป็นผลสะเทือนสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก พ.ศ.2540

ทว่า "เสี้ยเส้อปู้เต๋ออี้" เรื่องราวในโลกไม่ได้เป็นไปดังใจปรารถนา ภาวการณ์อันเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตฟองสบู่แตก พ.ศ.2540 ทำให้เศรษฐกิจการเงินผันผวนเกินคาดหมาย ส่งผลสะเทือนให้ธุรกิจโรงงานที่บุกเบิกไว้ทรุดลงเพราะภาระหนี้สินพอกพูน

นับเป็นอุปสรรคมรสุมใหญ่อีกครั้งในชีวิต แต่อาเนี้ยก็กัดฟันสู้ปรับตัวรัดเข็มขัดตัดสินทรัพย์ขายทิ้ง ลดทอนความเสียหายลง ดูแลลูกหลานเหลนที่อยู่ด้วยกันให้ดีที่สุด

มาในชั้นหลังนี้เองที่ความเครียดและเหนื่อยล้าซึ่งสั่งสมมาทั้งชีวิตทำให้อาเนี้ยเริ่มมีปัญหาสุขภาพหลงๆ ลืมๆ ตามวัยที่ร่วงโรย อาการค่อยๆ ทรุดลงตามลำดับ จนไปพบภายหลังว่าเป็นมะเร็งปอดด้วย หลังเข้าโรงพยาบาลรักษาอยู่แรมเดือน อาเนี้ยก็ถึงแก่กรรมไปอย่างสงบราวสองทุ่ม เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2553 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ในช่วงท้ายได้อยู่ท่ามกลางการดูแลอาลัยรักของลูกหลานเหลนรอบข้างอย่างอบอุ่นแม้จะไม่รู้สึกตัวแล้วก็ตาม

สรุปได้ว่าตลอดชีวิตอาเนี้ย มี 4 เรื่องที่น่าสนใจ:

1) จิตใจอันแข็งแกร่ง ล้มแล้วลุกขึ้นยืนหยัดสู้ใหม่

2) ความรักใคร่ปรานีที่มีให้ลูกหลานเหลนญาติมิตร

3) การให้อภัยอโหสิกรรมเมื่ออาเนี้ยตัดสินใจไปร่วมงานศพ "อาเตีย" อดีตสามีที่แยกทางกัน

4) ทั้งหมดนี้คงเป็นเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงให้พรและพลังแก่อาเนี้ยในการฟันฝ่าความทุกข์ยากอุปสรรคมรสุมต่างๆ มาได้ในชีวิต ดังกาพย์ยานีที่ลูกหลานช่วยกันแต่งเพื่อรำลึกอาลัยถึงอาเนี้ย ณ สุสานว่า:

ร่มไม้ที่ทอดเงา

หน้าทิวเขาที่ทอดไป

สุดทางอันยาวไกล

เมื่อดวงเนตรได้หลับลง

วางร่างอันเหนื่อยล้า

ในศรัทธาต่อพระองค์

วางใจโดยบรรจง

ในหลักธรรมพระคัมภีร์

อ้อมรักอันอุ่นหวาน

ของลูกหลานเป็นเวที

ร้องรับขับดนตรี

ขอพระเจ้าประทานพร

วิญญาณผู้ศรัทธา

สถิตฟ้านิรันดร

เพื่อฟื้นตื่นจากนอน

แทบพระบาทพระองค์เทอญฯ