ที่มา ประชาไท
"แบล็กเอาท์ฟอร์ฮังการี" กลุ่มพลเมืองเน็ตชวนสื่อออนไลน์ในฮังการีและที่ต่างๆ ต้านการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต ด้วยเปลี่ยนหน้าจอเป็นสีดำ ในวันที่ 5 ม.ค. เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายควบคุมสื่อฉบับใหม่ของฮังการี
4 ม.ค. 54 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลอนุรักษ์นิยมของฮังการีได้ผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปีนี้ (2554) กฎหมายนี้ได้เพิ่มอำนาจของรัฐบาลในการเฝ้าระวังและลงโทษสื่อเอกชน โดยให้อำนาจแก่คณะกรรมการกำกับสื่อซึ่งแต่งตั้งขึ้นใหม่โดยนายกรัฐมนตรี ในการลงโทษปรับสื่อสารมวลชนที่รายงานข่าว "ไม่สมดุล" (unbalanced) ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
โดยสื่อโทรทัศน์อาจถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 950,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากละเมิดกฎหมายดังกล่าว ขณะที่หนังสือพิมพ์รายวันและเว็บไซต์ข่าวอาจถูกปรับสูงถึง 119,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าปรับของสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์และรายเดือนก็อาจสูงถึง 48,000 ดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ คณะกรรมการนี้ยังสามารถตรวจสอบสื่อและบังคับให้ผู้สื่อข่าวเปิดเผยชื่อแหล่งข่าวได้ด้วยในกรณีที่เชื่อว่าเข้าข่ายภัยต่อความมั่นคงของชาติ
ข้อมูลจากเว็บของกลุ่ม "แบล็กเอาท์ฟอร์ฮังการี" วิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ทำให้พรรคที่ครองเสียงข้างมากสามารถควบคุมอินเทอร์เน็ตผ่านการตั้งองค์กรเซ็นเซอร์ใหม่ขึ้น โดยนอกจากทำลายกลไกการปกป้องแหล่งข่าวแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังไม่แยกแยะความแตกต่างของสื่อประเภทต่างๆ โดยจับเอาพื้นที่ออนไลน์และสื่อทีวีวิทยุที่มีมาแต่เดิมรวมกัน และทำให้สื่อทั้งหมดต้องอยู่ในมาตรฐานแบบเดียวกัน
กลุ่ม "แบล็กเอาท์ฟอร์ฮังการี" ยังระบุด้วยว่า พรรคเสียงข้างมากของฮังการีจงใจหลีกเลี่ยงการรับฟังความเห็นของสาธารณะต่อกฎหมายฉบับนี้ นี่ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการควบคุมและเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ต โดยหลีกเลี่ยงกระบวนการทางประชาธิปไตย กดขี่เสียงที่เห็นต่าง ฝ่ายตรงข้ามและไม่มีความโปร่งใส
กลุ่ม "แบล็กเอาท์ฟอร์ฮังการี" ระบุว่า ในโอกาสที่ประเทศฮังการีจะรับตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปในวันที่ 6 มกราคมนี้ ทางกลุ่มจึงเชิญชวนให้พลเมืองในฮังการีและที่ต่างๆ ซึ่งห่วงใยในประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพ ในการแสดงความเห็น ร่วมกันเปลี่ยนหน้าจอเป็นสีดำ หรือแสดงข้อความภาพ (ดูภาพประกอบ) เพื่อต่อต้านกฎหมายเผด็จการนี้ ในวันที่ 5 มกราคมนี้ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
ข้อความภาพอธิบายถึงเหตุผลในการรณรงค์ "จอดับ" โดยมีคำแปลดังนี้
จอดับเพื่อฮังการี
วันที่ 21 ธันวาคม พรรคเสียงข้างมากในสภาได้โหวตรับกฎหมายสื่อฉบับใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่รวมการกดขี่บังคับสื่อมากที่สุด และเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในภูมิภาคยุโรป
เพื่อร่วมแสดงออกถึงความห่วงใยต่อสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพในการพูด สื่อออนไลน์ในฮังการีและประเทศอื่นๆ พร้อมใจกันจอดับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2554 นาน 24 ชม.
ด้านนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกฎหมายใหม่นี้ โดยโฆษกของเธอระบุว่า ในฐานะของประเทศที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ฮังการีมีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบต่อภาพลักษณ์ของสหภาพยุโรป
ขณะที่นายฌอง อัสเซลบอร์น รัฐมนตรีต่างประเทศของลักเซมเบิร์ก ตั้งคำถามต่อความพร้อมของฮังการีในการเป็นตัวแทนของสหภาพยุโรป "เห็นได้ชัดว่าแผนการนี้ขัดต่อเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาต่างๆ ของสหภาพยุโรป"
ด้านองค์การว่าด้วยความมั่นคง และความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe หรือ OSCE) แสดงความเห็นว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ละเมิดบรรทัดฐานของ OSCE เรื่องเสรีภาพของสื่อและเป็นการคุกคามความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ
แปลและเรียบเรียงจาก
Blackout for Hungary
http://blackout4hungary.net
Hungarian press law fuels EU concerns
http://online.wsj.com/article/SB40001424052748704774604576035681357321692.html
Hungary Waves Off Criticism Over Media Law
https://www.nytimes.com/2010/12/26/world/europe/26hungary.html