ที่มา บางกอกทูเดย์
ความแตกต่างที่เหมือนกัน
คนเก่ง คนกล้า คนบ้าบิ่น และคนมุทะลุ... มักจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง
แต่โบราณก็มีการเตือนกันมานมนานแล้วว่า “กล้านักมักบิ่น”
ปัญหาก็คือ ใครจะเป็นคนสะกิดเตือนบรรดาคนกล้าบ้าบิ่นเหล่านั้น เพราะหากพูดตรงๆ แต่บังเอิญไม่เข้าหู หรือยอมรับไม่ได้ ก็กลายเป็นคนเตือนนั่นแหละที่จะซวย
ประวัติศาสตร์ วงล้อการเมือง วงล้อกองทัพ มีให้เห็นมาเนิ่นยาวนาน... ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
นักการเมืองทั่วโลกก็เป็นเช่นดุจเดียวกัน ในวันที่ได้รับการเลือกตั้ง ชนะเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่หากเชื่อมั่น มุทะลุ จนเกินไป ก็อยู่ยาก เพราะผลประโยชน์ทางการเมือง ทางอำนาจนั้น ไม่เคยเข้าใครออกใคร
ที่สำคัญ ลึกๆ แล้วกลุ่มอำนาจผลประโยชน์การเมือง ไม่เคยที่จะมีกลุ่มเดียว หากแต่มีหลายกลุ่มที่พร้อมจะโค่นล้มกันและกันอยู่ตลอดเวลา กลุ่มที่เหนือชั้นควบคุมกลไกอำนาจการเมืองอยู่เบื้องหลังบรรดานักเลือกตั้งต่างหาก ที่เป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
โดยนักการเมืองผู้กล้า ในวันที่พ่ายแพ้บางครั้งก็ยังไม่รู้สึกตัว!!!
เช่นเดียวกับกงล้อแห่งผู้นำกองทัพ ที่เคยประกาศกร้าว เคยเดินไปไหนทีนึงกองกำลังส่วนตัวพรึ่บพร้อมจนทำให้อนูของอากาศสั่นสะเทือน ในอดีตก็มีให้เห็นหลายคนมาแล้ว
แต่สุดท้ายไม่ว่าจะจอมพล ไม่ว่าจะพลเอก ไม่ว่าจะเป็น ผบ.สส. ผบ.ทบ. หรือควบตำแหน่งจนยิ่งใหญ่ปานใดก็ตาม สุดท้ายก็หนีไม่พ้น หลักแห่งพุทธศาสนา... มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ... เป็นของคู่กันเสมอ
อำนาจ วาสนา บารมี ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่จีรัง... เป็นเพียงประหนึ่งสมบัติที่ผลัดกันชมเท่านั้น
ปัญหาคือ บุคคลที่ตกอยู่ในวังวนแห่งอำนาจการเมืองการทหาร จะรู้ตัวได้ทันก่อนหรือไม่ เท่านั้นเอง
ซึ่งปกติในแวดวงสื่อสารมวลชน ในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ มักจะนิยมการจัดอันดับข่าวในรอบปี หรือจัดอันดับบุคคลแห่งปี เพื่อที่จะสะท้อนอะไรบางอย่างให้สะกิดเตือนสังคม แต่สำหรับ บางกอก ทูเดย์ ฉบับแรกของปีนักษัตรเถาะ พ.ศ.2554 จะสะท้อนบุคลิกของคนคู่หนึ่ง ที่แม้จะมีชื่อเดียวกัน แต่หากจะเป็นแฝด ก็เป็นแฝดต่างฝา ที่มรรคาแห่งชีวิตแม้จะวนเวียนอยู่ในขั้วแห่งอำนาจเหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง
คนหนึ่ง คือ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก คนปัจจุบัน
อีกคนหนึ่ง คือ ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. สัดส่วน พรรคเพื่อไทย
คนชื่อเหมือน กับความแตกต่างแห่งความเหมือน ที่น่าสนใจ
เพราะในขณะที่ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ คุมกำลังกองทัพอย่างเหนียวแน่นนั้น ตู่ จตุพร ก็มีกองทัพประชาชนคนเสื้อแดงให้การสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นด้วยเช่นกัน
ในอดีตบุคลิกแห่งคำพูดของคนคู่นี้อาจจะแตกต่างกันไปตามลักษณะนิสัย บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นเป็นนายทหาร ที่เพื่อนร่วมรุ่น 12 บอกกันว่าเป็นคนพูดจาไพเราะ มักจะลงท้ายด้วยคำว่า “นะจ๊ะ”เสมอ จนได้รับฉายาว่า “ตู่นะจ๊ะ”
ในขณะที่ ตู่ จตุพร ในอดีตก็คือนักพูด ที่มีลีลาพลิ้วไหว มีคารมคมคาย เป็นนักโต้วาทีที่สามารถสร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะจากคนฟังได้เป็นอย่างดี
แต่หลังจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในสังคมไทย ในระบบการเมืองของไทย ในกองทัพไทย ในภาคส่วนของประชาชนคนไทย ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย
ความคิดที่แตกต่าง ไม่เพียงนำไปสู่การเรียกร้องของแต่ละขั้ว แต่ละสี หากแต่ยังนำมาซึ่งความคิดในการที่จะยุติการชุมนุมเรียกร้อง และสร้างบรรทัดฐานแห่งการควบคุมขึ้นมา จนกลายเป็นการเผชิญหน้ากันไปหมดทุกกลุ่มทุกขั้ว
ยิ่งมีการสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหาร แม้จะพยายามเรียกให้ดูดีว่า การขอคืนพื้นที่ แต่ในเมื่อเป็นการขอคืนพื้นที่ กลับมีชีวิตประชาชนต้องเซ่นสังเวยไปถึง 91 ศพ มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ก็ได้กลายเป็นรอยแผลของสังคมไทย ที่ก่อให้เกิดคำถามและปัญหาตามมาไม่รู้จบ
ใครที่อยู่ในสังคมไทยในห้วงเวลานี้ ไม่เครียดก็ต้องเครียด
ยิ่งหมวกของบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นผบ.ทบ.ในยุคที่ ทหารถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการตายของประชาชน ในขณะที่หมวกของ ตู่ จตุพร นั้นก้ถูกขีดให้เดินหน้าทวงคำตอบให้กับประชาชนคนเสื้อแดง
จึงกลายเป็นการเผชิญหน้ากันไปโดยปริยาย
แถมเมื่อเป็นเกมแห่งการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ถูกจับตามองอย่างมากถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนผ่าน บรรดาคนที่เป็นหัวหอก เป็นหัวแถวของแต่ละกลุ่มย่อมถูกกดดันหนัก
ยิ่งเกมยิ่งลึกซึ้ง ลึกล้ำ และล่วงลึกมากขึ้นเท่าไหร่ การอ่านเกมเชือดเฉือนกัน ก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บรรยากาศของความไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมอันเกิดจากตัวบุคคล จนคำว่า 2 มาตรฐานดังไปทั่วสังคมด้วยแล้ว ยิ่งกลายเป็นแรงกดดันที่หนักหน่วงมากยิ่งขึ้น
บุคลิกภาพของทั้งบิ๊กตู่ และ ตู่ จึงเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
ตู่ จตุพร กลายเป็นบุคลิกที่แข็งกร้าว พร้อมท้าชน อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จาก “ตู่นะจ๊ะ” ก็กลายเป็น “ตู่ พร้อมรบ” ที่ห้าวหาญ ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมไปแล้ว
ซึ่งแค่บุคลิกเปลี่ยนอาจจะยังไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่นัก แต่ในเกมช่วงชิงอำนาจการเมืองในทุกกระบวนท่าครั้งนี้ ได้มีการเชื่อมโยงอยู่กับคำๆหนึ่ง ที่สั่นสะเทือนประเทศไทยเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ คำว่า
ปฏิวัติ!!!
ใครจะออกมาวิเคราะห์ ออกมาตีปลาหน้าไซ หรือแม้แต่ออกมากระชุ่น หวังเก็บผลประโยชน์ในภายหลังจากการปกิวัติ ก็ยังไม่เท่ากับการที่ ผบ.ทบ. กับ แกนนำเคลื่อนไหวของประชาชน ออกมาทอล์คโชว์ปะทะกันด้วยหัวข้อ “ปฏิวัติ”
เป็นคำที่ต้องบอกว่า มีการพูดกันมาตั้งแต่ต้นปี 2553 โน่นแล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ซึ่งขณะนั้น บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นแค่รองผู้บัญชาการทหารบกอยู่ด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องเป็นคนที่ออกมายืนยันว่า
จะไม่ปฏิวัติตามที่กลุ่มเสื้อแดงกล่าวอ้างอย่างแน่นอน
รวมทั้งปฏิเสธไม่ทราบเรื่องการประชุมวางแผนปฏิวัติที่กองบัญชาการกองทัพอากาศเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากกลุ่มเสื้อแดงจะยื่นหนังสือทวงถามถึงเรื่องนี้ต่อกองทัพบก ก็เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้
ในขณะที่ ผบ.ทบ.ในขณะนั้น คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เสียอีกที่กลับนิ่งเงียบ ไม่พูดอะไร
และจากนั้นเป็นต้นมา บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูจะถูกโฉลก หรือตกเป็นเป้าให้ฝ่ายการเมือง “โยนหิน” เรื่องการทำปฏิวัติมาเต็มๆ ตลอดทั้งปี 2553 !!!
“อยากให้ทำความเข้าใจว่าทหารมีหน้าที่ในการเตรียมกำลัง ซึ่งต้องมีหน้าที่ในการฝึกหัด ต้องใช้สนามฝึก มีการฝึกเวลากลางคืนบ้าง ไม่ได้ฝึกเพื่อไปเตรียมการปฏิวัติ เพราะฉะนั้นอยากให้เลิกพูดคำว่าปฏิวัติเสียที เราทำหน้าที่ในกรอบของกองทัพบก
จึงขอให้ทหารทำหน้าที่ด้วยความสบายใจ ทหารและการเมืองเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น อย่าถามว่าจะเกิดอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ผมคิดว่ามันไม่เกิดง่ายๆ หรอกครับ ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าบ้านเมืองต้องการอะไร
ก็อยากฝากสื่อว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย อย่าถอยหลังกลับไปอีกเลย สถานการณ์ใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ก็ให้ช่วยหยุดกันไว้ ขอร้องกันไว้”
ไม่เพียงเป็นการให้สัมภาษณ์อย่างชัดถ้อยชัดคำ แต่ยังเป็นการสวนกลับอยู่ในที และเหวี่ยงไปให้กับสื่อมวลชนที่ต้องรับผิดชอบกับการตั้งคำถามด้วย
หลังจากนั้นเมื่อ ตู่ จตุพร ออกมาดักเกมขั้วอำนาจที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการวิเคราะห์ว่า อาจจะมีบางกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นให้มีการปฏิวัติ
บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าออกมาตอบความสงสัยในหัวใจของคนหลายคนเพื่อตอบโต้ประเด็นที่ ตู่ จตุพร บอกว่าแกนนำพันธมิตรประชาชเพื่อประชาธิปไตยบางคนจะใช้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับพัมูชา ฉบับวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ปลุกกระแสชาตินิยมสร้างเงื่อนไขความวุ่นวาย เพื่อให้ทหารออกมาปฏิวัติ
“คนช่างคิดได้ดีเหมือนกัน คิดเพื่อจะเอาเหตุผลตรงนี้มาอ้างเหตุในการปฏิวัติ...ขอถามว่า ใครอยากปฏิวัติตอนนี้? ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลกแล้ว แตกต่างกับประเทศอื่นที่มีประชาธิปไตยอย่างเดียว แล้วจะไปหาระบอบประชาธิปไตยใดมาอีก ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหา...” คือคำตอบของบิ๊กตู่
ส่วนกรณีที่เคยปฏิวัติ 19 กันยาฯ เลยทำให้มีการหวาดระแวงกันนั้น บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า
“สิ่งที่เขาทำไปเมื่อครั้งที่แล้ว ก็ไม่อยากย้อนกลับไปพูด แต่เขาทำเพื่อหยุดปัญหาที่จะเกิดเท่านั้น และหลังจากนั้น ก็กลับมาแก้ไขด้วยกลไกปกติ ดังนั้น จะย้อนกลับไปทำไมอีก? สถานการณ์ในวันนั้นกับวันนี้ต่างกัน ต้องแก้ปัญหากันให้ได้...”
6 ตุลาคม 53 ที่กองบัญชาการกองทัพบก บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็โดนตั้งคำถามในเรื่องปฏิวัติ อีกครั้งว่า 4 ปีในตำแหน่ง ผบ.ทบ. แน่ใจไหมว่าจะไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้น
บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ไม่เคยคิดเรื่องนี้ และเราพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ได้บอกในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงไปแล้วว่า จะทำหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ข้อสำคัญอย่ากดดันทหาร
“อย่ามากดดันทหารว่าต้องไปทำโน่น ต้องมาทำนี่ ทำไมไม่ทำเช่นนั้น ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ก็จริง แต่มีหลายมาตราที่เขาเขียนเอาไว้ว่า ทหารสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะนั้นทหารจะออกไปไหนมันมีข้อห้ามและกฎกติกาเรื่องการใช้กำลัง ทั้งกฎกระทรวงกลาโหม และกองทัพไทย ไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรได้ดังใจ ไม่ใช่กำหนดยุทธศาสตร์ได้ทุกเรื่อง”
เป็นคนอื่นเจอถามซ้ำซากแบบนี้ก็คงเหนื่อยใจไปแล้ว แต่ไม่ใช่กับคนนี้แน่ เพราะในห้วงเวลาวุ่นๆ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ก็เคยเอ่ยปากถามว่า “เหนื่อยไหมแม่ทัพตู่” ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมาไม่มีทั้งคำว่า “เหนื่อย” หรือ “ไม่เหนื่อย” แต่เป็นว่า
“ผมยังทำไหวครับ” พล.ท.ประยุทธ์ บอกกับ พล.อ.เปรม!!!
ซึ่งในช่วงปลายปี 53 นี้เอง บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยิ่งต้องตอบต้องสวนในเรื่องปฏิวัติหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีกระแสเกิดขึ้นในสังคมไม่หยุดหย่อน ขณะเดียวกันเรื่องราวของ ศอฉ. ก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่กดดันเข้ามามาก โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณค่าใช้จ่ายของ ศอฉ. ที่มีการตั้งข้อสงสัยกันมาก ทำเอา บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับน๊อตหลุดเอาดื้อๆ เหวี่ยงใส่สื่อมวลชนโครมเบ้อเร่อ…
แถมหลังจากนั้น บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็หลุดอีกครั้งเมื่อถูกถามว่า ยังยืนยันหรือไม่ว่า ทหารจะไม่นำกำลังทหารออกมาปฏิวัติ คำตอบคือ
“ไม่ทำถ้าเขาไม่สั่ง เราจะนำกำลังออกมาอย่างไร เพราะผิดกฎหมาย ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะนำกำลังออกมาข้างนอก ต้องขออนุมัติจากรัฐบาล ส่วนการปฏิวัติยังมาไม่ถึง และไม่มีใครอยากทำ”
“อย่าลืมว่าทหารคือประชาชน ต้องรักประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอย่าไปล่วงละเมิดพระองค์ท่าน หากท่านทะเลาะกันให้ใช้กฎหมาย กระบวนการทางกฎหมายมาสู้กัน เราไม่สามารถเอนเอียงที่ไหนได้ ตนได้เตือนผู้ใต้บังคับบัญชาว่าจะทำอะไรต้องยึดระเบียบวินัย ไม่อย่างนั้นจะติดคุก”
ทำเอากลายเป็นประเด็นอีกจนได้ว่า แล้วเขาที่ว่าเป้นใครถึงจะสั่งได้???
เป็นเรื่องของคำพูด เช่นเดียวกับ ตู่ จตุพร เช่นกันที่พูด เสียจนปัจจุบันถูกล้อมกรอบมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะไหนจะถูกมองว่า พูดเสียจนกระบวนการประกันตัวแกนนำคนเสื้อแดงพลิกผัน และล่าสุดก็ยังถูกเงื่อนไขคำสั่งศาล ห้ามพูดห้ามยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม ยกเว้นเป็นการพูดทำหน้าที่ในสภาเท่านั้น
นี่แหละ บิ๊กตู่ VS ตู่ ที่ต้องบอกว่า “พูดจนได้เรื่อง”ทั้งคู่