WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, January 4, 2011

จาก "ประชาวิวัฒน์" ถึง "การขึ้นเงินเดือน" เท่ากับ "ดูถูกประชาชน" !!!

ที่มา มติชน



โดย ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์

บทบรรณาธิการ เว็บไซต์ www.pub-law.net ที่เขียนโดย ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ฉบับต้อนรับปีใหม่ 2554 ว่าด้วยเรื่อง "ประชาวิวัฒน์" ถึง "การขึ้นเงินเดือน" มีประเด็นน่าสนใจ "มติชนออนไลน์" ขออนุญาตนำมาเสนอต่อท่านผู้อ่าน ดังนี้


สวัสดีปีใหม่ 2554 ครับ หวังว่าปีใหม่นี้คงมีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาสู่ชีวิตเราทุกคน และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยคงรอดพ้นจากเรื่องร้าย ๆ ทั้งหลายทั้งปวงเสียทีครับ !!!

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลนำเสนอคำว่า “ประชาวิวัฒน์” ต่อสังคมไทยซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคืออะไร จะเหมือนหรือต่างจากนโยบาย “ประชานิยม” ที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาลของคุณสมัคร สุนทรเวช เคยทำมาแล้วและถูกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งตอนนั้นเป็นฝ่ายค้านโจมตีเรื่องดังกล่าวอย่างมาก รวมไปถึงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารคือรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ออกมาต่อต้านนโยบายประชานิยมอย่างมากด้วยเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไรก็ตาม คงหนีไม่พ้นการแจก แจก และแจกของที่แจกได้ให้กับประชาชน เช่น น้ำฟรี ไฟฟรี ขนส่งมวลชนฟรี เช็คช่วยชาติ ฯลฯ

หนีไม่พ้น “เงา” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

การแจกแบบนี้ไม่ว่าจะทำโดยรัฐบาลใดก็ตามก็คงหนีไม่พ้น “เงา” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปได้ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลนี้ทำไปและกำลังจะทำ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลของคุณสมัคร สุนทรเวช ยิ่งแจกมากเท่าไร ยิ่งให้มากเท่าไร คนก็ยิ่งพูดถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากขึ้นเท่านั้น ลำบากนะครับเพราะในขณะที่บางคนในรัฐบาลพยายามทำให้ประชาชนลืม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่กลับมีบางคนที่พยายามโดยไม่รู้ตัวทำให้ชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โผล่ขึ้นมาตลอดเวลา และในบางครั้งก็โผล่ขึ้นมาในลักษณะที่เป็น “ผลร้าย” ต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยครับ

ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมคงไม่นำเรื่อง “ประชาวิวัฒน์” มาวิพากษ์วิจารณ์เพราะทำไปก็เสียเวลาเปล่า จริง ๆ แล้วในรัฐบาลก็มีหลายคนที่ดูท่าทางแล้วน่าจะ “มีความรู้” พอจะคิดอะไรที่ “เป็นระบบ” ได้ แต่ทำไมไม่ทราบถึงได้คิดแต่จะ “แจก” แต่เพียงอย่างเดียว ผมเคยตั้งคำถามไปหลายหนแล้วว่า เราจะเอาเงินจำนวนมากมายมหาศาลจากไหนมา “แจก” ประชาชนในลักษณะต่าง ๆ เคยถามมาแล้วตั้งแต่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน


ในตอนต้นของรัฐบาลนี้เคยมีข่าวว่าจะมีการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีนโยบายด้านสวัสดิการ แต่ทำไมปัจจุบัน เรื่องดังกล่าวกลับเงียบหายไป ภาษีที่ควรจะเก็บก็ไม่เก็บ การหารายได้เพิ่มขึ้นมาจากที่ทำได้ก็ไม่มี เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ดี ค่าเงินบาทแข็ง แล้วเราจะเอาเงินมาจากไหนเพื่อทำโครงการ “ประชาวิวัฒน์” ครับ เพราะจะหารายได้เพิ่มก็คงลำบากเต็มทน จะตัดงบประมาณกองทัพที่เกินความจำเป็นออกไปก็ไม่กล้า สงสัยก็คงต้อง “บากหน้า” ไปกู้เขามาอีกตามเคย ทิ้งภาระหนี้สินก้อนโตไว้ให้กับลูกหลานไทยในวันข้างหน้าเช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา น่าอายนะครับที่หนีเท่าไหร่ก็หนีไม่พ้น แถมยังต้องเดินตามรอยเท้าเขาอีก !!!

"ซื้อใจ" กันครบวงจร

นอกเหนือจาก “ประชาวิวัฒน์” ที่รัฐบาลนำเสนอเพื่อ “ซื้อใจ” ประชาชนแล้ว ก็ยังมีเรื่องการขึ้นเงินเดือนให้กับบุคลากรภาครัฐอีกจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เรียกว่า “ซื้อใจ” กันครบวงจรเลยทีเดียว สงสัยคงใกล้เลือกตั้งแล้วนะครับ !!!

การขึ้นเงินเดือนบุคลากรภาครัฐเป็นสิ่งที่ผมรู้สึก “แย่” เป็นอย่างมากแม้ผมเองจะเป็นส่วนหนึ่งของบุคลากรภาครัฐที่ได้รับผลดีจากการขึ้นเงินเดือนก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี หากไม่มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นหลักก็จะพบว่า การขึ้นเงินเดือนบุคลากรภาครัฐครั้งนี้น่าจะมีแต่ “เสีย” มากกว่าได้นะครับ ลองมาดูกันดีกว่า

เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจำนวน 9 ฉบับ เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ครู จำนวน 5 % โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 และใกล้ ๆ กันก็มีข่าวว่า นายกรัฐมนตรีเสนอให้ปรับเงินเดือนให้แก่องค์กรอิสระและนักการเมือง 14.9% ต่อมาก็มีข่าวว่าจะมีการปรับเงินเดือนให้กับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลในวันที่ 1 มกราคม 2554 และล่าสุด มีข่าวออกมาอีกเช่นกันว่า จะมีการปรับเงินค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ไม่ทราบว่าผมตกหล่นเรื่องอะไรไปบ้างหรือเปล่า แต่เท่าที่ได้เสนอให้ดูไปข้างต้นคงเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์ได้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้แล้วนะครับ

เหตุเกิดที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

โดยส่วนตัวก่อน ผมคิดอยู่เสมอมาตลอดว่า เงินกับผลงานเป็นสิ่งที่คู่กัน ทำงานมากก็ควรต้องได้เงินมาก เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เหตุเกิดที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี่เองครับ ในช่วงเวลานั้นมีการพูดกันมากว่า เงินค่าตอบแทนของอาจารย์สอนกฎหมายน้อยกว่าผู้ที่ทำงานด้านกฎหมาย เช่น ผู้พิพากษา อัยการ หากเงินเดือนน้อย อาจารย์ก็จะหนีไปอยู่ที่อื่นและก็จะหาคนมาเป็นอาจารย์ได้ยาก ถ้าผมจำไม่ผิด ในตอนนั้นมีการคิดกันว่าจะหาเงินมาจ่ายเพิ่มให้กับอาจารย์ที่แสดงความประสงค์จะขอรับ โดยผู้แสดงความประสงค์จะต้องผ่านเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น สอนหนังสือไม่น้อยกว่ากี่หน่วยกิตต่อสัปดาห์ เป็นต้น

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่มีโอกาสได้คัดค้านอย่างเป็นทางการเพราะผมไม่มีตำแหน่งใด ๆ เลยในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เลยไม่มี “เวที” ที่จะไปพูดคัดค้าน ที่ทำได้ก็คือบ่นกับอาจารย์ผู้ใหญ่บางคนด้วยความเสียใจว่า จริง ๆ แล้ว คนที่จะได้เงินเพิ่มควรต้องทำงาน “พิเศษ” ให้มากกว่างานปกติ เช่นอาจารย์ที่มีหน้าที่สอนหนังสือหากอยากได้เงินเพิ่มก็ควรเขียนหนังสือด้วย เป็นต้น


เพราะในปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมากไม่ค่อยเขียนหนังสือกัน ผมดูเฉพาะด้านนิติศาสตร์แล้วก็พบว่า มีอาจารย์เขียนหนังสือกันน้อยมาก บางคนอยู่จนแก่ยังไม่เคยมีหนังสือที่เป็นตำราทางวิชาการที่สามารถนำมาใช้สอนในวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบได้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ “น่าอาย” เป็นอย่างยิ่งอีกเช่นกันเพราะภารกิจหลักของอาจารย์คือการสอน เวลาว่างที่มีก็ต้องเตรียมสอน คนที่เป็นอาจารย์มาหลายปีก็หมายความว่าต้องมีเวลาว่างที่ใช้สำหรับเตรียมการสอนมาหลายปีเช่นกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่แปลกเพราะมีอาจารย์จำนวนมากที่ไม่มีตำราเป็นของตัวเองเลยสักเล่ม จึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง


เพราะฉะนั้น หากเราตั้งธงว่าจะต้องเพิ่มเงินเดือนก็ควรจะต้องเพิ่มให้กับคนที่มีผลงานพิเศษนอกเหนือไปจากการสอน ก็คือ การเขียนตำรา หากต้องหาเงินมาเพิ่มให้กับอาจารย์ประเภทที่ไม่เคยเขียนตำราเพราะกลัวสมองไหล ผมว่าสมองแบบนั้นปล่อยให้ไหลไปดีกว่าครับ เป็นอาจารย์ต้องทำงานด้วยใจ ไม่ใช่คอยดูว่าผู้พิพากษาหรืออัยการได้เงินมากกว่าเราแล้วเราต้องได้ด้วย ถ้าไม่พอใจอาชีพอาจารย์เพราะเงินน้อยก็ไปสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการก็ได้ ถ้าสอบได้นะครับ !!!


เรื่องดังกล่าวผมไม่ทราบว่าลงเอยอย่างไร ในที่สุดแล้วมีการเพิ่มเงินให้กับอาจารย์หรือไม่ก็ไม่ทราบเพราะผมไม่ได้แสดงความประสงค์ในการขอรับเงินเพิ่มเนื่องจากคิดว่าเหมาะสมแล้วและเกณฑ์ในการขอเงินเพิ่มก็ไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาเลยกับสังคมและกับนิสิตครับ

ที่เล่ามาก็เพื่อให้เห็นว่า ทุกอาชีพสนใจที่จะได้เงินเพิ่มกันทั้งนั้น คิดอะไรไม่ออกก็หาเงินเพิ่มให้กับตัวเอง ไม่ต้องดูอื่นไกลนะครับ องค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 หลายองค์กรก็ล้วนแล้วแต่เจอ “วิบากกรรม” กับการหาช่องทางที่ทำให้ตัวเองได้เงินเพิ่มกันมาแล้วหลายองค์กรด้วยกันครับ

กลับมาเรื่องการขึ้นเงินเดือนของบุคลากรภาครัฐในปัจจุบัน ไม่มีเสียงคัดค้านการขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ครู หรือถ้ามีก็คงน้อยมากเพราะทราบกันอยู่แล้วว่า ข้าราชการทุกประเภททำงานเต็มเวลา และค่าครองชีพก็สูงขึ้นทุกวัน ๆ แต่ที่มีเสียงคัดค้านกันมากก็คือ การขึ้นเงินเดือนสมาชิกรัฐสภากับองค์การบริหารส่วนตำบลในหลาย ๆ เหตุผลด้วยกัน ลองมาดูความเหมาะสมของการขึ้นเงินเดือนให้กับสมาชิกรัฐสภากันก่อน เป็นที่ทราบกันดีว่าหน้าที่หลักของรัฐสภาคือการผลิตกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในการบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาของประเทศและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม

แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสมัยนิติบัญญัติที่ผ่านมา รัฐสภาเห็นชอบร่างกฎหมายไปเพียง 20 ฉบับ แต่ยังมีร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอีกเป็นร้อยฉบับ ในจำนวนนั้นมีร่างกฎหมายที่ประชาชนใช้สิทธิในการเสนอร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอยู่ 18 ฉบับ ส่วนในวุฒิสภาก็มีร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เช่นเดียวกันแต่ก็ไม่มาก

ผมคงไม่ต้องพูดถึงเรื่อง“สภาล่ม” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก และคงไม่ต้องพูดถึง “จำนวน” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้ง เพราะมีผู้นำเอาข้อมูลเหล่านั้นออกมาเผยแพร่ไปบ้างแล้ว เช่น มี ส.ส.ที่มาลงคะแนนครบทุกคนครั้งจำนวนเพียง 58 คนจากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 474 คน (12.24%) ซึ่งก็เป็นจำนวนที่น้อยมากและอาจจะเรียกได้ว่าน้อยอย่างไม่น่าเป็นไปได้เมื่อเทียบกับ “สถานะ” ขององค์กรที่มีหน้าที่สำคัญที่สุดในประเทศครับ

ปัจจุบัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ค่าตอบแทนมากอยู่แล้ว แถมยังมีเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาล ไปดูงานต่างประเทศก็บ่อย มีผู้ช่วยได้อีกตั้งหลายคน สรุปแล้ว ส.ส. คนหนึ่งประเทศชาติต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนต่อคนต่อเดือนร่วมสองแสนบาท


คำถามก็คือ ยังน้อยอยู่อีกหรือเมื่อเทียบกับทหารหรือตำรวจที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ถูกกดดันจากทุก ๆ ทาง หรือกรรมกรที่ทำงานหนักเพื่อแลกกับเงินวันละ 200 กว่าบาท เรื่องนี้ผมคงตอบไม่ได้นอกจากจะนำแนวคิดเดิมที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นเกี่ยวกับการให้เงินตอบแทนพิเศษกับอาจารย์สอนกฎหมายก็คือ ต้องดูผลงานเป็นหลัก อยากได้เงินเพิ่มก็ต้องทำงานเพิ่ม ซึ่งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้นบอกตรง ๆ เสียดายเงินภาษีอากรมาก สภาล่มบ่อยครั้ง ส.ส. ขาดประชุมจำนวนมาก กฎหมายออกไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก สำหรับผม แค่ 3 กรณีนี้ก็เป็นเหตุผลที่พอเพียงแล้วที่จะไม่ขึ้นเงินเดือนให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่บังเอิญไม่ใช่ผม วันนี้ ส.ส. ก็เลยมีโอกาสที่จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก 14.9% มากกว่าเงินเดือนที่เพิ่มให้กับข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และครู เกือบ 10% เลยทีเดียวครับ

ผมสงสัยว่า การขึ้นเงินเดือนให้กับ ส.ส. จำนวน 14.9% มีที่มาจากฐานใด เพราะจากสถิติที่นำเสนอไปแล้วคือ ขาดงานบ่อย ผลงานไม่มี ถ้าเป็นลูกจ้างภาคเอกชนคงถูกไล่ออกไปนานแล้วครับ ที่ถูก น่าจะลองดูวิธีการจ่ายเงินค่าตอบแทนคนพวกนี้ใหม่ เช่น เงินเดือนของแต่ละคนขึ้นอยู่กับการทำงานและผลงานที่ออกมา มาประชุมครบ มีการพูดอภิปราย แปรญัตติที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เป็นต้น ก็ลองเสนอเล่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้วครับ

ส่วนการขึ้นเงินเดือนให้กับ อบต. นั้น ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า อบต. เป็นฐานเสียงของนักการเมืองระดับชาติ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์ แต่ในทางปฏิบัติ 10 กว่าปีที่ผ่านมาการกระจายอำนาจของเราก็ยังคงล้าหลังอยู่และไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมเท่าไรนักทั้ง ๆ ที่เรามีกฎหมายจำนวนมากออกมา “เอื้อ” กับการกระจายอำนาจ และก็เป็นที่น่าแปลกใจที่นับตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศไม่เคยดำเนินการใด ๆ ที่จะทำให้การกระจายอำนาจไปถึงและบรรลุวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่อยู่ดีๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การสมยอมของคณะรัฐมนตรี กลับขึ้นเงินเดือนให้กับ อบต. ที่ต่างคนก็ต่างมีอาชีพของตัวเองอยู่แล้ว


และนอกจากนี้ ก็ยังมีข่าวของการทุจริตคอร์รัปชันระดับท้องถิ่นอยู่มากและก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้อีกเช่นกัน ผมคิดว่าก่อนที่จะคิดขึ้นเงินเดือนควรจะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ประชาชนในท้องถิ่นได้อะไรบ้างจากการกระจายอำนาจแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ครับ หากสมประโยชน์และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจ อยากจะขึ้นเงินเดือนเท่าไหร่ก็คงไม่มีใครว่า ไม่ใช่ขึ้นเงินเดือนเพราะนี่คือ “ฐานเสียง” ทางการเมืองครับ นอกจากนี้แล้ว ไม่คิดบ้างหรือไรว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นๆ คือ อบจ. เทศบาล กทม. และเมืองพัทยาก็ควรมีสิทธิได้รับการขึ้นเงินเดือนด้วยเช่นเดียวกับ อบต. ครับ !!!

เสียดายเงินภาษีอากรของประชาชนนะครับที่ต้องเสียไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องและกับคนที่ไม่ได้เรื่องด้วย บ้านเราวันนี้เป็นแบบนี้กันไปหมด คนดี ๆ คนเก่ง ๆ หายไปจากสังคม ปล่อยให้ใครก็ไม่ทราบออกมา “ลอยหน้าลอยตา” กันอยู่เต็มไปหมด แล้วก็ “เรียกร้อง” สิ่งต่าง ๆ จากเรา ทวงบุญทวงคุณว่าเข้ามาทำงานให้ ปัญหาใหญ่ในบ้านเราวันนี้จึงน่าจะอยู่ที่ระบบของการคัดคนเข้ามาทำงานนะครับ ที่ถูกต้องก็คือใครจะเข้ามาทำงานอะไรก็ต้องมีความรู้ในเรื่องนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาผลิตกฎหมายให้กับประเทศชาติก็ต้องเป็นผู้มีความรู้ทางวิชาการ ตั้งใจทำงาน ประโยชน์ตอบแทนก็ต้องพอใจรับตามสมควรเช่นเดียวกับผู้ที่ตัดสินใจเข้ามาทำงานในตำแหน่งอื่นๆด้วยที่ควรที่จะต้อง “รู้” ถึงคุณสมบัติเฉพาะของผู้ที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนั้น ไม่ใช่มาประชุมแล้วก็ไม่รู้เรื่อง พูดอะไรก็ไม่เข้าใจ ก็เลยไม่เข้าประชุมดีกว่า หนีไปนั่งอยู่ในห้องกาแฟหรือไม่ก็ไปนั่งอยู่ตามหน้าห้องรัฐมนตรียังจะดูมี “อำนาจ” มากกว่า เป็นอย่างนี้สภาถึงได้ล่มบ่อยครั้งครับ

หมอฟันเป็นผู้ผ่าตัดหัวใจ

จริง ๆ อยากจะเขียนเรื่องแนวคิดของการขึ้นเงินเดือนให้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระด้วย แต่เนื่องจากเนื้อที่ไม่พอก็เลยต้องขอติดค้างเอาไว้ก่อน จะขอกล่าวถึงแต่เพียงว่า คุณสมบัติของบุคคลที่เข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติเป็นสิ่งที่เราคงต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังและมากที่สุดสำหรับทุกตำแหน่ง หลาย ๆ คนอาจมองไม่เห็นภาพ ลองพิจารณาดูแพทย์แต่ละประเภทดูก็ได้ครับ เราคงไม่ขอให้หมอฟันเป็นผู้ผ่าตัดหัวใจเป็นแน่ทั้ง ๆ ที่หมอฟันก็เป็นหมอเช่นกัน ฉันใดก็ฉันนั้น นักกฎหมายก็มีหลายสาขา แต่ทุกวันนี้ นักกฎหมายที่มาจากสาขาเอกชนกลับเข้ามายึดงานที่ควรจะเป็นหน้าที่ของนักกฎหมายสาขามหาชนไปหมดไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง แม้กระทั่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเองที่ต้องเป็นผู้มีความจัดเจนในด้านกฎหมายมหาชน แต่ในปัจจุบันก็อย่างที่เห็นๆกันอยู่ว่ามีบางส่วนไม่ใช่นักกฎหมายมหาชนครับ !!!


คงต้องหาสาเหตุกันอย่างจริงจังแล้วว่า มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่ง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่ว่าใครก็ตามจะเข้ามาทำได้ นักกฎหมายที่เป็นนักกฎหมายเอกชนมาแต่อ้อนแต่ออก จะมาเปลี่ยนเป็นนักกฎหมายมหาชนในทันทีทันใดคงเป็นไปไม่ได้ แนวคิดต่าง ๆ และความเชี่ยวชาญในการทำงานไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนกันได้ง่าย ๆ ครับ

ก็ต้องขอจบเรื่องการขึ้นเงินเดือนเอาไว้แต่เพียงแค่นี้ เพราะเขียนต่อไปก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น เนื่องจากวิธีการมองต่างกัน อยากจะขอให้หยุดการขึ้นเงินเดือนที่ว่าเอาไว้ก่อนแล้วพิจารณาใหม่ทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนก็ไม่กล้า เพราะฉะนั้น ก็เลยขอ "ยุส่ง" ไปเลยว่า ถ้าจะให้ครบวงจรและสนุกมากไปกว่านี้ เมื่อรัฐบาลเสนอขึ้นเงินเดือนให้กับนักการเมืองจำนวน 14.9% ก็ควรที่จะเสนอขึ้นเงินเดือนให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญด้วยเพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาปฏิบัติหน้าที่ได้เด็ดขาดและดีเยี่ยมเหลือเกินครับ

ประชาชนก็จะกลายเป็นคนโง่ที่ถูกรัฐบาลหลอกมา

“ประชาวิวัฒน์” กับ “การขึ้นเงินเดือน” คงไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงสำหรับการเป็น “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เป็นแน่ และก็คงไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงสำหรับถ้อยคำที่ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” เช่นเดียวกัน รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การดำเนินการทั้งหมดซึ่งใช้เงินภาษีอากรของประชาชนนั้นไม่ได้หวังผลเพื่อ “การเมือง” ในทางที่เป็นคุณกับตนเอง เพราะหากพิสูจน์ไม่ได้ก็หมายความว่า ประชาชนก็จะกลายเป็นคนโง่ที่ถูกรัฐบาลหลอกมาไม่รู้กี่รัฐบาล ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสียภาษีไปเท่าไหร่ก็ไม่ได้อะไรกลับคืนมามากมายนักเพราะถูกนักการเมืองเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองโดยมีประชาชนเป็นข้ออ้าง

ปีใหม่แล้ว ของขวัญที่ประชาชนคนไทยควรได้รับน่าจะเป็นสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์จริงจังกับประชาชนมากกว่าได้แค่ผลพลอยได้ เพราะผลพลอยได้หมายความว่า ต้องมีคนได้ก่อนแล้วประชาชนจึงได้สิ่งที่ตามมาทั้ง ๆ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศและเป็นเจ้าของเงิน ทำกันแบบนี้แล้วจะไม่ให้คิดมากได้อย่างไรครับ !! แทนที่ประชาชนจะได้ของขวัญปีใหม่ที่ดี แทนที่ประเทศชาติจะหลุดพ้นจากปัญหาต่าง ๆ รัฐบาลกลับคิดได้แค่เสนอขึ้นเงินเดือนให้กับ “คนที่ทำงานไม่คุ้มเงินเดือน”

แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ผมตั้งชื่อบทบรรณาธิการครั้งนี้ว่า “ดูถูกประชาชน” ได้อย่างไรครับ !!!