WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, April 5, 2011

นายกฯพระราชทาน (1)

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



เสียงเรียกร้องนายกฯพระราชทานกลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพราะต้องการนายกฯพระราชทานจริงๆ หรือเพราะต้องการใช้ข้อเรียกร้องนี้ส่งเสริมการรณรงค์ "โนโหวต-โหวตโน" (การงดใช้สิทธิในบัตรเลือกตั้ง) ก็ไม่ทราบได้ เข้าใจว่าผู้รณรงค์ต้องการคะแนน "โนโหวต" มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อทำให้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่สูญเสียความชอบธรรมที่ได้จากการเลือกตั้งลง

เมื่อลงมาเล่นในกติกานับคะแนนรายหัว ซึ่งต้องรวมหัวที่ถูกประเมินว่าโง่ไว้ด้วย อย่างไรเสียคะแนน "งดออกเสียง" ก็ย่อมเป็นส่วนน้อยอยู่ดี จะทำลายความชอบธรรมของผู้ได้รับเลือกตั้งได้อย่างไร ตรรกะมันขัดกันเอง จึงต้องเดาต่อไปว่า ผู้รณรงค์ไม่ได้ต้องการ "ชัยชนะ" ในเกมนี้ แต่ต้องการคะแนน "งดออกเสียง" มากที่สุดเท่านั้น จำนวนของคะแนนนี้จะกลับกลายเป็นความชอบธรรมของผู้รณรงค์ในการปิดถนน หรือยึดทำเนียบและสนามบินในวันข้างหน้า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นในอนาคตก็ตาม เสียงของผู้รณรงค์จะยังดังอยู่เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ตำรวจยังต้องเปิดถนนด้วยวิธี "เจรจา" แทนการจับกุมส่งฟ้องศาลอย่างที่คนงานไทรอัมพ์โดนอยู่เวลานี้

และเมื่อต้องการคะแนนมากที่สุด จึงต้องดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ทางการเมืองอีก แม้ว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงปฏิเสธอย่างชัดแจ้งมาแล้วว่า ไม่ได้มีพระราชอำนาจจะทำเช่นนั้นได้

แต่ในครั้งนี้ผู้รณรงค์ไม่ได้ต้องการนายกฯพระราชทานจริง ต้องการเพียงคะแนนเสียง "โนโหวต-โหวตโน" เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผมสนใจความคิดเรื่องนายกฯพระราชทาน (ซึ่งขอนิยามใหม่ว่า นายกฯที่อาศัย "บารมี" ของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นฐานของความชอบธรรมเพียงอย่างเดียว เพราะผมไม่มีหลักฐานระบุได้อย่างไม่มีทางปฏิเสธว่า มีนายกฯไทยคนใดบ้างที่ "พระราชทาน" ลงมาจริงๆ) เพราะผมพบว่าเป็นความคิดที่ไร้เดียงสาทางการเมืองมาแต่ต้น และนายกฯพระราชทานคนใด (ตามนิยามข้างต้นนะครับ) ก็ตาม ที่ไร้เดียงสาทางการเมืองเท่ากับตัวความคิด ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในทางการเมืองและการบริหารเลยสักคน

ความคิดเรื่องนายกฯพระราชทานนี้เกิดขึ้นครั้งแรกโดยอดีตที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวอเมริกัน ผู้เคยเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และก็เหมือนนักกฎหมายอีกมากในโลกที่คิดว่า กฎหมายคือผู้สร้างและกำกับโลก ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าหรือตถตา

ในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ตกเป็นเป้าโจมตีวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะโครงสร้างการบริหารของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม พระเจ้าแผ่นดินย่อมเป็นผู้อำนวยการสูงสุดของฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ, ตุลาการ และแต่ผู้เดียว พระองค์จึงต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศทุกประการ

ราชสำนักตระหนักต่อภัยคุกคามทางการเมืองนี้อย่างดี จากการปรึกษาเป็นส่วนพระองค์ อดีตที่ปรึกษาราชการแผ่นดินผู้นี้ เสนอให้นำราชบัลลังก์หลบเสียจากเป้าวิพากษ์วิจารณ์ โดยให้ทรงแต่งตั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีขึ้นรับผิดชอบการบริหารแทน แต่บุคคลในตำแหน่งนี้ต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียว จึงทรงแต่งตั้งและถอดถอนได้ตามพระราชอัธยาศัย เขาเสนอรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ซึ่งไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย แต่เป็นความพยายามจะปฏิรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญที่ตามมาอีกหนึ่งฉบับภายใต้ระบอบนั้น

พระมหากษัตริย์ทรงนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะที่ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี ไม่มีเจ้านายพระองค์ใดเห็นชอบด้วยเลย เหตุผลที่กราบทูลก็คือไม่มีประโยชน์ดังมุ่งหวัง เพราะเมื่อทรงแต่งตั้งถอดถอนอัครมหาเสนาบดีได้เอง ถึงอย่างไรก็ยังทรงเป็นผู้รับผิดชอบต่อการบริหารแต่ผู้เดียว และยังคงเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อยู่นั่นเอง

นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่า เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นชอบกับความคิดเรื่องนายกฯพระราชทาน ก็เพราะไม่อยากถูกกันออกไปจากอำนาจที่มีอยู่ เนื่องด้วยนายกฯพระราชทานคือผู้สัมปทานพระราชอำนาจในการบริหารไว้กับตนแต่ผู้เดียว ไม่อาจกระจายไปยังกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ได้อีก

ไม่ว่าการวิเคราะห์ของนักวิชาการเหล่านี้จะถูกต้องหรือไม่ แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ตกมาถึงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่บุคคลอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเครือข่ายของกลุ่มชนชั้นนำระดับสูง แม้องค์ประกอบของเครือข่ายนี้อาจไม่มีความหลากหลายมากนัก แต่ก็มีบุคคลอยู่ในเครือข่ายนี้จำนวนไม่น้อย ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการระดับสูงที่ไว้วางพระราชหฤทัยจำนวนหนึ่ง

แต่ละคนก็มีเครือข่ายของตนเอง นับตั้งแต่ผู้เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาไปจนถึง "ศิษย์" อีกจำนวนมาก (หลายคนในกลุ่มนี้ล้วนมีรูปปั้นยืน-นั่งตากแดดตากฝนอยู่หน้ากระทรวงและกรมต่างๆ ของราชการไทยปัจจุบัน)

นายกฯพระราชทานทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นรูปปั้นไปตั้งแต่ยังไม่ทิวงคต ไม่มีพื้นที่สำหรับบทบาททางการเมืองใดๆ ได้อีกเลย

นี่คือความไร้เดียงสาทางการเมืองข้อแรกของคำปรึกษา

กล่าวคือ เมื่อจะมีสถาบันทางการเมืองใหม่คือนายกฯพระราชทาน ก็ต้องสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่สำหรับกลุ่มชนชั้นนำไปพร้อมกัน และถ้าฉลาดลึกซึ้งไปกว่านั้น สถาบันทางการเมืองใหม่นี้ต้องผนวกเอาชนชั้นนำอื่นๆ ที่ยังไม่ได้อยู่ในเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ด้วย

นั่นคือต้องมีสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งมีบทบาทให้คำปรึกษาได้ทั้งในด้านการบริหาร, นิติบัญญัติ และตุลาการ

ในอาณานิคมอังกฤษ เกือบทุกแห่งล้วนมีสภาลักษณะนี้ ในระยะแรกอาจประชุมกันได้ต่อเมื่อผู้ว่าการฯ ขอคำปรึกษาเท่านั้น แต่มาในระยะหลังก็ถูกกดดันให้เปิดประชุมประจำ ตลอดจนริเริ่มประเด็นได้เอง แม้ว่าในระยะยาวแล้วสภาประเภทนี้ไม่ประสบความสำเร็จที่จะธำรงความเป็นเจ้าอาณานิคมไว้ได้ตลอดไป แต่ในระยะสั้นก็ช่วยทอนกำลังของฝ่ายชาตินิยมลงได้อย่างมาก เสริมความแข็งแกร่งของระบบจักรวรรดินิยมอังกฤษไว้ได้ช่วงหนึ่ง

กล่าวโดยสรุปก็คือ นายกฯพระราชทานไม่เคยอยู่ในสุญญากาศ "บารมี" ของสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้นายกฯบริหารงานไปได้อย่างราบรื่น เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เองก็ไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ หากมีเครือข่ายที่กว้างขวางของตนเอง ซึ่งล้วนต้องการพื้นที่ทางการเมืองสำหรับการต่อรองกับนายกฯ พระราชทานเช่นกัน

"บารมี" ของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเริ่มฟื้นฟูขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา หมายถึงเครือข่ายที่ยิ่งกว้างขวางขึ้น และหลากหลายมากขึ้นของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย (เช่นนอกจากงานศึกษาเรื่องโครงการพระราชดำริที่ทำได้อย่างดีแล้ว น่าจะมีใครสักคนกลับไปศึกษาประวัติของผู้ได้รับตราพระจุลจอมเกล้าฯ นับตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมาด้วย) จนถึงทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายทางสังคมและการเมืองที่กว้างใหญ่ที่สุด เชื่อมโยงทั้งทางตรงและทางอ้อมไปยังคนจำนวนมหึมาทั่วประเทศ นายกฯพระราชทานคนเดียว ไม่สามารถเป็นพื้นที่ทางการเมืองเพื่อรองรับจินตนาการทางการเมืองอันหลากหลาย และมักจะขัดแย้งกันเอง ของเครือข่ายมโหฬารนี้ได้

ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงเครือข่ายอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเครือข่ายสถาบันฯ อันนับวันก็ยิ่งเกิดขึ้นอย่างหลากหลายและจำนวนมาก ซึ่งไม่อาจถูกนายกฯพระราชทานริบพื้นที่ทางการเมืองซึ่งได้ผ่านการต่อสู้จนเปิดขึ้นเป็นของตนเองไปได้อย่างหน้าตาเฉย และในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา มีเหตุที่ทำให้จำนวนมากของคนเหล่านี้ เข้าไปอยู่ในเครือข่ายที่ไม่เชื่อมโยงทางอ้อมกับเครือข่ายสถาบันฯอีกต่อไป

ความคิดเรื่องนายกฯพระราชทานจึงยิ่งเป็นความไร้เดียงสาทางการเมืองหนักขึ้นไปอีก

และด้วยเหตุดังนั้น ส่วนใหญ่ของนายกฯพระราชทาน (ตามความหมายในนิยามข้างต้น) จึงไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง และดังนั้นจึงล้มเหลวด้านการบริหารไปพร้อมกัน

ส่วนน้อยของนายกฯพระราชทานที่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องดำเนินกิจการทางการเมืองและการบริหาร ในลักษณะยืดหยุ่นให้เหมาะกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมืองในยุคสมัยที่ตนดำรงตำแหน่ง โดยไม่หวังพึ่งแต่ "บารมี" ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเดียว และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่มีการ "ปิดเทอม" ทางการเมือง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ นอกจากไม่ "ปิดเทอม" แล้ว ยังเป็น "เทอม" ที่ต้องปล่อยให้การเมืองของกลุ่มต่างๆ ได้พัฒนาคลี่คลายไปไม่น้อยไปกว่าช่วงสมัยที่นายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่เหล่านายกฯพระราชทานเหล่านี้ พากันคิดว่าจะสามารถกำกับควบคุมการพัฒนาคลี่คลายได้ระดับหนึ่ง

จะเห็นได้ข้างหน้าว่า นายกฯพระราชทานที่ล้มเหลวที่สุด คือคนที่ไร้เดียงสาจนไป คิดว่าเพียงแต่อาศัยพระบารมีส่วนพระองค์เท่านั้น ก็จะทำให้ "การเมือง" ยุติลงชั่วคราว เพื่อขจัดกวาดล้างบ้านเมืองให้สะอาดบริสุทธิ์จนกลับมาสู่ประชาธิปไตยได้อีก

ตอนต่อไปจะกล่าวถึงนายกฯพระราชทาน (ตามความหมายในนิยามข้างต้น) แต่ละคน เพื่อแสดงให้เห็นความไร้เดียงสาทางการเมืองของความคิดนี้ โดยเฉพาะเมื่อจะนำกลับมาใช้ใน พ.ศ.นี้