ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
สถานการณ์การเมืองเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างจริง จัง บรรดาพรรคขนาดกลาง พรรคเล็ก ประกาศร่วมกันทำงานการเมืองอย่างเปิดเผย
ทั้งการประกาศจับมือกันของพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย
กระทั่งล่าสุด การรวมพรรคในทางพฤตินัยระหว่างรวมชาติพัฒนากับเพื่อแผ่นดิน
เป้าหมายของการเคลื่อนไหวดังกล่าว มีเจตนาเพื่ออะไร
วิทยา แก้วภราดัย
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลภาคใต้
การรวมพรรค หรือประกาศจับมือกันของพรรคเล็ก เป็นปรากฏการณ์ปกติเพื่อเตรียมรับมือการเลือกตั้งและหวังได้เป็นพรรคขนาดกลางมี 20-50 เสียง เพื่อเป็นตัวหลักในการตั้งรัฐบาล
การเมืองขณะนี้ทุกฝ่ายประเมินว่า จะไม่มีใครได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ พรรคขนาดนี้จะใช้เจรจาได้ และไปได้กับทุกขั้ว
พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้หวั่นไหวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ถือเป็นปรากฏการณ์ ธรรมดาที่เราเปลี่ยนคู่แข่งมาเรื่อยๆ ไม่รู้จักกี่พรรค ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ต้องตกใจอะไรแล้ว เพราะผ่านอย่างนี้มาหลายรอบแล้ว
จากนี้ไปอาจจะเห็นปรากฏการณ์ที่มากกว่านี้ การเคลื่อนไหวก็จะยังมีมากกว่านี้ ยังไม่จบ
ส่วนการซื้อตัวส.ส. โอกาสเกิดเป็นไปได้เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต พรรคก็เคยโดนมาแล้ว ซื้อด้วยตัวเลขเท่านั้นเท่านี้แต่เราไม่ไปก็ออกมาพูดกัน ครั้งนี้ไม่อยากให้เกิดขึ้น และทางเราก็จะไม่ทำ
พิเชต สุนทรพิพิธ
อดีตส.ว.สรรหา
การเมืองบ้านเรามีหลายพรรคมากเกินไป ไม่เหมือนประเทศอื่น ที่มีเพียง 2-3 พรรคเท่านั้น แต่บ้านเรามี 2 พรรคใหญ่ และมีพรรคเล็กหลายพรรค และ 2 พรรคใหญ่ ก็ไม่มีพรรคใดที่ได้เสียงข้างมากถึงขนาดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ต้องขอความร่วมมือกับพรรคเล็กเพื่อตั้งรัฐบาลผสม
พรรคที่เล็กเกินไปก็ไม่มีน้ำหนัก แต่พรรคเล็กที่พอมีหน้ามีตาขึ้นมาหลังจับมือกัน เช่น พรรคภูมิใจไทยจับมือกับพรรคชาติไทยพัฒนาของนายบรรหาร ศิลปอาชา จนกลายเป็นพรรคใหญ่ขึ้น มีหน้ามีตา มีน้ำหนักมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่า เพิ่มอำนาจในการต่อรอง หรือจะเรียกว่าหนีตายก็ได้ เหตุการณ์แบบนี้จะเป็นไปอีกระยะหนึ่ง และตราบใดบ้านเรายังแบ่งเป็นก๊ก เป็นก๊วนการเมืองอยู่
การร่วมมือทางการเมืองของพรรครวมชาติพัฒนากับพรรคเพื่อแผ่นดิน ไม่น่าจะเป็นการเด็ดขาด หนักแน่น เนื่องจากเพื่อแผ่นดินก็ให้สัมภาษณ์ว่า มีสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งที่ยังรักษาพรรคไว้ จึงไม่ได้เป็นการยุบรวมพรรคแบบถาวร จึงมีโอกาสแตกออกมาได้ทุกเมื่อ
เลือกตั้งครั้งหน้าหากประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ก็คงไม่อยากฟอร์มรัฐบาลที่มาจาก 4-5 พรรค เพราะจะทำให้มีรัฐมนตรีกระจายออกไป จากที่มีแค่ภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนา ที่พออยู่แล้ว แต่อาจต้องมีรวมชาติพัฒนาและเพื่อแผ่นดินเข้ามาร่วมอีก
เมื่อเป็นแบบนี้ พรรคเล็กจึงจับทางถูก และหันมาร่วมกันสร้างอำนาจต่อรอง ซึ่งทั้งประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ต้องจับมือกับพรรคเล็ก ใครได้เสียงมากกว่าก็จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล
การเคลื่อนไหวของพรรคเล็กจึงต้องจับมือกันเอาไว้ หากฝั่งไหนเสียงขาดก็ต้องมาขอความร่วมมืออยู่ดี จุดนี้จึงทำให้พรรคเล็กๆ เข้ามามีอำนาจต่อรอง และหากทำให้พรรคขนาดเล็กกลายเป็นพรรคขนาดกลางได้ ก็จะเป็นจุดดึงดูดให้ฝ่ายตั้งรัฐบาลดึงเข้าร่วม จนมีอำนาจต่อรอง และครองตำแหน่งรัฐมนตรี สำคัญๆ ได้
การรวมตัวกันของพรรคเล็ก ยังสามารถป้องกันการดูดส.ส.ไปอยู่พรรคใหญ่ได้ เพราะการรวมกันจะทำให้พรรคใหญ่ขึ้น ได้รับเงินรายเดือนที่พรรคมอบให้มากขึ้นกว่าตอนที่อยู่พรรคเล็ก ยิ่งพรรคใหญ่ยิ่งมีเงินสนับสนุนพรรคมาก
การร่วมมือกันทางการเมืองเป็นสิ่งที่ดี ใจจริงอยากให้มี 2-3 พรรคเท่านั้น เพื่อให้การเมืองมีการสลับขั้วหมุนเวียนกันมากกว่า ทำ งานและสร้างพรรคการเมืองให้กลายเป็นสถาบัน ไม่ใช่พรรคนั้นเป็นของนาย ก นาย ข หรือนาย ค
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คนทั่วไปก็มองออกอยู่แล้วว่าโอกาสที่ 2 พรรค ใหญ่จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือคุมเสียงข้างมากในสภาเป็นเรื่องยาก ในแง่นี้พรรคขนาดเล็ก หรือพรรคขนาดกลางก็มีความสำคัญมากขึ้น การจับมือกันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง
ประเด็นต่อมาคือ ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นระบบที่ทำให้พรรคขนาดเล็กเสียเปรียบมาก อย่างระบบส.ส.สัดส่วน การเลือกตั้งของกทม. ที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ได้คะแนนราว 9 แสน เพื่อไทยราว 7 แสน พรรคการเมืองใหม่ราว 1 แสน
ถ้ามองตามปกติแล้วพรรคการเมืองใหม่ก็ควรจะได้ที่นั่งบ้าง แต่นี่กลับไม่ได้สักที่นั่ง ในขณะที่ประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งกว่าร้อยละ 70 แสดงให้เห็นว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้โน้มเอียงไปที่พรรคใหญ่ ขณะที่พรรคเล็กๆ จะเริ่มตายลง และกลายเป็นพรรคท้องถิ่นไปแทน
ส่วนกระแสพรรคทางเลือกที่ 3 เพื่อแบ่งเสียงจากคนที่เบื่อการขับเคี่ยวระหว่าง 2 พรรคใหญ่ ก็เห็นว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจมากกว่า อย่างพรรครักษ์สันติ ของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่เสนอตัวเป็นทางเลือกในเชิงบุคคล เรายังไม่เห็นนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม
และการเน้นชูตัวบุคคลหาเสียงมาก ระยะยาวจะอยู่ไม่ได้หากไม่ทำนโยบายและระบบบริหารที่เป็นระบบ พรรคเหล่านั้นก็จะตายลงไปเรื่อยๆ
แนวโน้มการเลือกตั้งในครั้งนี้น่าจะเลือกกันที่ตัวบุคคลและนโยบายอย่างละครึ่ง เพราะที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่าตัวบุคคลมีส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบายเป็นจริงขึ้นมา
อีกประเด็นคือนโยบายของแต่ละพรรคไม่ได้แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว พรรคหนึ่งประชานิยม อีกพรรคก็ประชานิยมกว่า นอกจากนี้กระแสการเมืองท้องถิ่นก็น่าจะมาแรง ช่วงหลังๆ จะเห็นตัวอย่าง เช่น ในพื้นที่อีสานว่าการเมืองท้องถิ่นก็เป็นฐานอำนาจที่สำคัญ
การรวมตัวของพรรคเล็กๆ หรือพรรคกลางในขณะนี้ก็อาจจะแตกกันได้ภายหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้เอกสิทธิ์กับ ส.ส.มากกว่าพรรค สามารถลงคะแนนเสียงคัด ค้านแนวโน้มการโหวตของพรรคในสภา
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
อดีตประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย
การรวมตัวกันของพรรคขนาดเล็กเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วไป เพราะพรรคระดับนี้ถูกกันในการเลือกตั้งได้ง่าย จึงต้องการร่วมมือกันซึ่งอาจจะเพื่อต่อรองการเลือกตั้ง หรือรวมกันทำพื้นที่ไม่ให้เกิดความทับซ้อน
แต่การรวมพรรคกันเพื่อส่งผู้สมัครในชื่อพรรคๆ เดียว ย่อมทำให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพมากกว่า อย่างเพื่อแผ่นดินกับพรรครวมชาติพัฒนา แต่กรณีพรรคภูมิใจไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นเพียงการรวมกันด้วยปาก อาจเป็นท่าทีที่ว่าหลังเลือกตั้งจะไปไหนไปด้วยกัน อันนี้ก็เพื่อสร้างแรงต่อรอง
แต่ผมว่าก็ยังมีปัญหาเพราะผลเลือกตั้งก็ยังไม่รู้ หากต่อไปพรรคแกนนำรัฐบาลต้องการแค่พรรคชาติไทยพัฒนา แต่ไม่ต้องการพรรคภูมิใจไทย เพราะมองว่าเสียงพอแล้ว อย่างนี้จะทำอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าชาติไทยพัฒนาก็ต้องไปร่วมด้วย คงไม่ยอมไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคภูมิใจไทยแน่ๆ
ส่วนที่มองว่ารวมตัวกันเพื่อป้องกันการโดนดูดจากพรรคใหญ่ คงไม่ใช่ เพื่อไทยไม่ไปดูดใครอยู่แล้ว ตอนนี้ผู้สมัครเราล้นพรรค น่าจะเป็นเรื่องการรวมพลังต่อรอง
การรวมตัวของพรรคต่างๆ ขณะนี้ ยังไม่มีผลกระทบอะไรกับเพื่อไทย เหนือตอนบน ภาคอีสานที่เป็นฐานเสียง ประชาชนยังให้ความนิยมเรามาก เหมือนอย่างที่ภาคใต้นิยมประชาธิปัตย์
จึงมองไม่เห็นว่าการรวมตัวของพรรคขนาดเล็กจะส่งผลกระทบอะไร เพราะเท่าที่ดูก็ได้แค่พื้นที่ที่มีส.ส.เดิมเท่านั้น