ที่มา ประชาไท
เรียน ผู้บริหาร Thai PBS
ก้าวสู่ปีที่ 4 อัตลักษณ์ใหม่ Thai PBS ทีวีสาธารณะ ที่ภาคประชาชนคาดหวังว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการทีวีบ้านเรา และนำไปสู่การปฏิรูปสื่อทั้งระบบในอนาคตข้างหน้า จากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา Thai PBS ก็ได้พิสูจน์ให้พวกเราเห็นแล้วในระดับหนึ่ง ด้วยกระบวนการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น การมีสภาผู้ชมผู้ฟังที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้สะท้อนความคิดเห็นกับ Thai PBS มีช่วงนักข่าวพลเมืองให้คนในพื้นที่ได้นำเสนอเรื่องราวในชุมชนของตนเองสู่สาธารณะ มีสถานีภูมิภาคเพื่อการเข้าถึงสื่อของคนท้องถิ่น ตลอดจนการมีพื้นที่ทางสื่อให้กับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยการเกาะติดประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของทุนและรัฐ ดังเช่น กรณีผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เหมืองแร่ หรือแม้แต่ภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น
ดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่อแนวทางการดำเนินงานของ Thai PBS มาประจวบเหมาะกับความต้องการของประชาชนที่อยากเห็นสื่อทีวีเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีทุนและรัฐคอยครอบงำ หรือชี้นำทิศทางการนำเสนอเหมือนช่องอื่นๆ จึงเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนกล้าพูดได้เต็มปากว่า “ทีวีไทย ทีวีของประชาชน” หรือ “ทีวีไทยคือทีวีของเรา” เพื่อผลักดันไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย
อย่างไรก็ดี จากการนำเสนอข่าว (ภาคค่ำ) กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ของ Thai PBS เมื่อวันที่ 17 ก.พ.54 ในประเด็นการจ่ายเงินค่าลอดใต้ถุนของบริษัทเหมืองแร่ และเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 54 ประเด็นข่าวการจัดเวทีเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) ที่เทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ ซึ่งมีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างฝ่ายชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกับพนักงานบริษัทเหมืองแร่ และมวลชนที่บริษัท จัดตั้งมา จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่อดคิดไม่ได้ว่า ตกลง Thai PBS คือ “ทีวีของเรา หรือทีวีของทุน” เพราะดูแล้วเหมือนช่วยทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้กับบริษัทฯ อีกแรงหนึ่งได้เป็นอย่างดี (ข่าวการจ่ายค่าลอดใต้ถุนเมื่อวันที่ 17 ก.พ.)
ขณะเดียวกันในวันที่ 5 เม.ย. บริษัทเหมืองแร่ ก็จัดฉาก วางสคริปให้นักข่าวถ่ายทำ โดยให้ซองขาวซื้อนักข่าวหัวละ 500 บาท ซึ่งน่าสลดใจ เนื่องจากว่าไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี และไม่มีจรรยาบรรณของนักข่าวเลยจริงๆ (เพราะแพงกว่าค่าหัวม็อบฝ่ายสนับสนุนที่บริษัทฯ จ้างมา 300 บาท เท่านั้น) เพื่อทำลายภาพลักษณ์การเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ แต่ไม่ได้อธิบายเนื้อหาและที่มาที่ไปของเวทีว่าทำไมชาวบ้านถึงต้องออกมาคัดค้าน!
Thai PBS เป็นช่องทีวีที่ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ให้ความไว้วางใจ เฝ้าติดตาม และให้ความร่วมไม้ร่วมมือด้วยดีเสมอมา จนเกิดกระแสการตื่นตัวของชาวบ้านต่อการเลือกรับชมสื่อทีวีช่องนี้(มากกว่าช่องละครน้ำเน่า หรือเกมโชว์สมองฝ่อ) ทั้งนี้ เราก็เข้าใจว่าการทำข่าวใน 2 ครั้งที่ผ่านมาเป็นผลงานของสตริงเกอร์ที่อยู่อุดรฯ (สื่อส่วนใหญ่ในจังหวัดอุดรฯ ถูกบริษัทเหมืองแร่ซื้อตัวแล้ว) แต่เราก็ยังคลางแคลงใจและเห็นว่าหัวหน้าฝ่ายข่าว หรือใครก็ตามที่มีอำนาจหน้าที่ในตรงนี้ควรจะสกรีนข่าว และมีวิจารณญาณก่อนนำเสนอมากกว่านี้ เพราะเท่าที่ดูรายชื่อและเกียรติประวัติของฝ่ายข่าว Thai PBS แล้ว คงไม่ใช่ “นักข่าวพลเมือง” เป็นแน่
อย่างไรก็ดี เราไม่ได้บอกว่า Thai PBS จะต้องมาเข้าข้างพวกเราหรอก แต่ Thai PBS ควรนำเสนอในทุกแง่มุมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้สมกับที่บอกว่าเป็นช่องทีวีที่มี “คุณธรรม สร้างสรรค์สังคม” และควรสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะระบบสตริงเกอร์ข่าวที่หากินกับรัฐและทุนท้องถิ่น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว Thai PBS ก็จะยังคงล้าหลังเหมือนสื่อช่องอื่นๆ อยู่ดี และเมื่อเป็นเช่นนี้ “เราจึงละล้าละลังที่จะวางใจคุณ”
สุดท้าย เราก็คงไม่เรียกร้องอะไรจาก Thai PBS เพียงแต่คาดหวังว่า Thai PBS หรือสื่อสารมวลชนทุกแขนงในบ้านเราจะมีทัศนคติที่ดีต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวบ้านที่รวมตัวกันลุกขึ้นมาปกป้องถิ่นฐาน และทรัพยากรท้องถิ่น ตลอดจนการมีจริยธรรมกับการทำสื่อ และจิตสำนึกสาธารณะ มากกว่าการสยบยอมเป็นเครื่องมือของรัฐและทุน... เพราะสื่อเป็นพลังสำคัญที่จะร่วมสร้างสังคมใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชุมชนท้องถิ่น และการปฏิรูปประเทศไทย
ด้วยจิตคารวะ
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
กลุ่มสื่อคนฮักถิ่น นักข่าวพลเมือง จังหวัดอุดรธานี
จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนฮักถิ่น
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน
ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา (ชนพ.)
อาศรมบ่มเพาะความคิดและจิตวิญญาณ
อาศรมสหธรรมิก
กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
กลุ่มสื่อคนฮักถิ่น นักข่าวพลเมือง จังหวัดอุดรธานี
จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนคนฮักถิ่น
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน
ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา (ชนพ.)
อาศรมบ่มเพาะความคิดและจิตวิญญาณ
อาศรมสหธรรมิก