ที่มา มติชน
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจเรื่องเรื่อง คะแนนนิยมของสาธารณชนต่อ พรรคการเมือง ในบรรยากาศโหมโรงปลุกกระแสเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจากผลโพลล์แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ในเขตกรุงเทพมหานคร และผลสำรวจที่ว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ส่วนใหญ่เลือกพรรคเพื่อไทย ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้มากเลือกพรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงการที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เลือก 2 พรรค แต่ต้องการพรรคการเมืองที่ดีกว่า
ล่าสุด มติชนออนไลน์ สัมภาษณ์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ในประเด็นนัยทางการเมืองที่แสดงออกจากผลสำรวจ ข้อพิสูจน์เหตุผลที่คนกรุงเทพฯเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่าประชาธิปัตย์ รวมทั้งอนาคตของการเมืองไทยที่เข้าโหมดเลือกตั้ง
จากผลสำรวจที่ออกมาพบว่า ในหลายๆข้อกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่า สิ่งนี้แสดงถึงความคิดเห็นของประชาชนทั่วๆไปอย่างไร ?
ประชาชนมีเหตุผลและทัศนะที่แตกต่างออกไป อีกทั้งพรรคการเมืองในประเทศ ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อน และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ต่อมาคือความเบื่อหน่ายนักการเมือง การแก่งแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง การเอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม จึงเป็นเหตุผลที่มีส่วนให้ประชาชนเลือกที่จะมองหาพรรคการเมืองที่ดีกว่า
ผลสำรวจบอกว่า คนกรุงเทพมหานคร เลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
การชุมนุมของคนเสื้อแดง อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ แต่ประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ การที่คนกรุงเทพฯ ต้องการรัฐบาลที่สามารถสร้างความสุข ความมั่นคงในชีวิตของพวกเขาได้ อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินนโยบายที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ เช่น นโยบายรถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน นโยบายน้ำฟรี-ไฟฟ้าฟรี ทำให้คนกรุงเทพฯรู้สึกว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันต้องนำนโยบายของรัฐบาลชุดเก่ามาใช้
นั่นแสดงว่า คนกรุงเทพฯ มีความรู้สึกว่ารัฐบาลปัจจุบัน ไม่ได้ตอบสนองความต้องการต่างๆได้อย่างแท้จริง
มีความเป็นไปได้ คนกรุงเทพฯมีความคาดหวังต่อรัฐบาลสูง แต่นโยบายต่างๆที่จับต้องได้ ยังไปไม่ถึงประชาชนทุกชนชั้น คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ยังคงเดือดร้อนเหมือนเดิม มีการเลือกปฏิบัติกันเหมือนเดิม สิ่งที่สะท้อนความรู้สึกของคนกรุงเทพฯออกมาได้อีกก็คือ การที่กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ประชาชนมีความสุขเป็นลำดับที่ 69 ของประเทศ และที่สำคัญการที่รัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่คนกรุงเทพฯก็ยังไม่รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตของตนดีขึ้นสักเท่าไหร่
กลุ่มตัวอย่างภาคกลางไม่เลือกพรรคใดถึงร้อยละ 47 เป็นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย จะสามารถเข้ายึดครองคะแนนเสียงที่ยังตัดสินใจเลือกพรรคใด
เป็นโอกาสที่ดี ของทั้งสองพรรคที่จะได้คะแนนเสียงเพิ่มเติม นอกจากในภาคที่มีฐานคะแนนเสียงของแต่ละพรรคเป็นทุนเดิม ซึ่งผมมองว่าถ้านอกจากสองพรรคนี้แล้ว คงยากที่จะมีพรรคอื่นที่จะได้คะแนนเสียงจำนวนมากจากภาคที่ผู้คนยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใด ซึ่งมีปัจจัยมาจากนโยบายของพรรคการเมืองอื่นๆที่มีขนาดเล็ก และกลาง ที่ประกาศออมา ยังไม่เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนมากนัก พรรคการเมืองเหล่านี้จึงเป็นได้เพียงพรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต
เมื่อเทียบกับการประกาศนโยบายของพรรคขนาดใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของพรรคมากกว่า ว่าจะสามารถปฏิบัติได้ตามที่ประกาศ แต่ผมขอบอกไว้ก่อนว่าพรรคใหญ่ๆเหล่านี้ ย่อมต้องมีกลุ่มผลประโยชน์ที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จึงทำให้มีโอกาสมากที่จะเกิดการทุจริตได้มากขึ้น
ข้าราชการเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าสาขาอาชีพอื่น สิ่งนี้สะท้อนถึงความคิดของกลุ่มข้าราชการซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้การเอาใจใส่เป็นพิเศษอย่างไร
ข้าราชการในรัฐบาลชุดปัจจุบันได้รับการเอาใจใส่มกาขึ้นตามมติ ครม. ที่ออกมา แต่ในขณะเดียวกัน การที่ข้าราชการมักจะรู้อะไรมากกว่าประชาชน เพราะมีโอกาสใกล้ชิดกับนักการเมือง จึงมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งการวิ่งเต้น ทุจริต คอรัปชั่น ข้าราชการหลายคนทำงานให้กับรัฐบาลมาหลายชุด ก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการทำงานของรัฐบาล ยังไม่มีความจริงจังในการแก้ไขปัญหา
จากผลการวิจัยครั้งที่ผ่านๆมา ก็พบว่าข้าราชการส่วนใหญ่พบเห็นการซื้อขายตำแหน่งของบรรดานักการเมือง และมีความรู้สึกว่าไม่มีพรรคการเมืองใด ที่จะมีความใสสะอาดในการปฏิบัติงาน
ขณะเดียวกันข้าราชการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการทุจริตที่เกิดขึ้น มีข้าราชการเพียงส่วนน้อย เท่านั้นที่จะมีเงินและบารมีมากพอ ที่จะวิ่งเข้าหานักการเมืองได้ ดังนั้นเมื่อมองเห็นการวิ่งเต้น ทุจริต ที่เกิดขึ้นต่อไป จึงต้องการมองหาพรรคการเมืองที่จะประกาศนโยบายที่จริงจัง และใสสะอาด
ถ้าเปลี่ยนผลสำรวจจาก “เลือกตั้งในวันนี้” เป็น “เลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม” คิดว่าผลสำรวจจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
คิดว่าผลสำรวจจะคล้ายคลึงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เวลาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ เว้นแต่ว่าจะมีปัจจัยอื่น ที่เพิ่มเติมขึ้นมาในช่วงก่อนเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม เช่น ถ้าในช่วงเวลาก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลแสดงความจริงจังในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น มีการปฏิรูประบบการเมืองต่างๆ สร้างความเท่าเทียมกันในหมู่ประชาชน ให้เข้าถึงทรัพยากรและบริการจากรัฐบาลได้มากกว่านี้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้
หากผลการเลือกตั้งออกมา แล้วต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองไทยมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการเจรจาต่อรองตำแหน่งทางการเมือง จนนักการเมืองไม่มีเวลาแก้ปัญหาให้กับประชาชน ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่วังวนเดิมๆหรือไม่
รัฐบาลผสมหรือรัฐบาลเสียงข้างมาก ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ประเทศจะดีขึ้นได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของนักการเมืองทุกฝ่าย ที่จะแสดงนัยของการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักการเมืองไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนเห็นสำนึกทางการเมืองที่ว่า เมื่อได้เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศแล้ว จะต้องคำนึงที่ผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติมาก่อนประโยชน์ส่วนตน
จริงอยู่ที่เรื่องของพฤติกรรมนักการเมืองที่ไม่พึงประสงค์อาจจะต้องค่อยๆแก้ไปทีละนิด แต่ในขณะเดียวกันทางฝั่งประชาชน ไม่สามารถ อดทนรอการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นไปทีละน้อยได้อีก เนื่องจากได้รับความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมในการกระจายโอกาสจากรัฐบาล และการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ล่าช้า มานานแล้ว ดังนั้นการจะทำให้ประเทศดีขึ้น ไม่กลับเข้าสู่วังวนเดิมอีก จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักการเมืองที่ชัดเจน และทำให้ประชาชนมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เรื่องโดย สรพงศ์ อ่องแสงคุณ