WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, April 5, 2011

แม้ไม่มีพระสงฆ์และพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณี “พุทธปรัชญา” ก็ยังคงอยู่

ที่มา ประชาไท

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธคุณค่าของพระสงฆ์และพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณี เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่า การที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองและสืบทอดมากว่าสองพันห้าร้อยปี พระสงฆ์ย่อมมีบทบาทสำคัญแน่ ส่วนพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีก็ย่อมมีคุณค่าเช่นกัน กล่าวอย่างถึงที่สุดแม้แต่พระรดน้ำมนต์ เป่าตาแดง ทำพิธีไล่ผีปอบ ฯลฯ ก็ถือว่าเป็นที่พึ่งทางจิตวิทยาของชาวบ้านที่มีความทุกข์ในเรื่องนั้นๆ ได้

แต่ผมอยากชวนคิดในประเด็นปัญหาที่ตั้งเป็นชื่อบทความนี้ ท่ามกลางปรากฏการณ์ในปัจจุบัน คือ 1) จำนวนพระภิกษุสามเณรมีแนวโน้มลดลง วัดร้างมากขึ้น 2) วัดและพระสงฆ์เน้นบทบาทการดำรงรักษาพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณี 3) พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณี เช่น การปฏิบัติธรรม การเผยแผ่ธรรมะแบบฮาวทู วัตถุมงคล ฯลฯ มีลักษณะเชิงพาณิชย์มากขึ้น 4) พุทธศาสนาในเชิงปรัชญาชีวิต ปรัชญาสังคม และพุทธศาสนาในมิติจิตวิญญาณอยู่ในมือของฆราวาสมากขึ้น

ในชีวิตเด็กชนบทผมเคยเห็นพระเป่าตาแดง พระทำพิธีไล่ผีปอบเป็นต้น ตอนนั้นผมไม่ได้คิดเรื่องงมงายหรือไม่งมงาย แต่ที่ได้เห็นคือชาวบ้านคลายทุกข์หรือสบายใจขึ้นจากพิธีกรรมเช่นนั้น (แม้ปัจจุบันผมก็ไม่อยากตัดสินว่าชาวบ้านงมงาย เพราะทุกข์จากลูกเป็นตาแดงหรือทุกข์จากความเชื่อเรื่องผีปอบเป็นต้น ชาวบ้านชนบทคงไม่ต้องการพระของคนชั้นกลางในเมืองอย่างพระไพศาล หรือท่าน ว.วชิเมธี ฯลฯ)

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีดังกล่าวก็มีเรื่องเล่าทำนองว่า ปู่ยาตาทวดในชนบทสมัยก่อน บางคนที่เข้าวัดเข้าวาเป็นประจำ พอถึงเวลาจะตายก็ตายอย่างมีสติ เช่นบางคนเมื่อป่วยหนักรู้ว่าตนเองไม่รอดแน่ก็เรียกลูกหลานมาสั่งเสีย อธิบายให้ลูกหลานเข้าใจความจริงของชีวิตที่ต้องเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ ตัวเองก็ทำใจยอมรับความจริงนั้นได้และตายอย่างสงบ

ผมคิดว่าเรื่องเล่าทำนองนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความกลมกลืนไปด้วยกันได้ระหว่างพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีและพุทธศาสนาแบบปรัชญาชีวิต

“พุทธศาสนาแบบปรัชญาชีวิต” หมายถึงโลกทัศน์ชีวทัศน์แบบพุทธที่เข้ามาอยู่ในชีวิตคน ในพุทธศาสนาจารีตประเพณีแบบชาวบ้านอีสานสมัยก่อน ปรัชญาชีวิตแบบพุทธไปแทรกอยู่ในทั้งกิจกรรมบันเทิง ศิลปะ หรือกิจกรรมทางปัญญา เช่น ใน “กลอนลำ” ของหมอลำ ผญา พิธีบายศีสู่ขวัญ ผูกเสี่ยว ทำขวัญนาค ฯลฯ

จึงไม่แปลกที่ท่ามกลางพุทธศาสนาจารีตประเพณีเช่นนั้นจะทำให้เกิด “พระดีภาคอีสาน” เช่น พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ชา ฯลฯ

แต่ปัจจุบันชนบทอีสาน (ภาคอื่นๆ ก็เช่นกัน) มีวัดร้างจำนวนมาก ลูกชาวบ้านที่ยังมีบวชก็บวชเรียน เข้ามาอยู่ในเมืองมาเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ เติบโตเป็นพระสังฆาธิการ มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสามัญจนถึงชั้นสมเด็จ ตัดขาดจากรากเหง้า หรือเชื่อมไม่ติดกับการรักษาบทบาทพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีที่ตอบสนองต่อทุกข์ของชาวบ้านชนบท ท่านเหล่านนี้กลายเป็น “พระของคนชั้นกลางในเมือง” อย่างเต็มตัว (ทว่ามีจำนวนน้อยที่สามารถเป็นที่ยอมรับในบทบาทการชี้นำทางความคิดเทียบเท่าท่าน ว.วชิเมธี)

หมายความว่า พระสงฆ์ที่มาจากลูกชาวบ้านชนบท (ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ของประเทศ) นอกจากจะหลุดจากรากเหง้าของตนเอง หรือเชื่อมไม่ติดกับพุทธศาสนาจารีตแบบชาวบ้านชนบทที่ (เคย) มีมิติของปรัชญาชีวิตอยู่ด้วยอย่างหนักแน่นแล้ว การกลายเป็น “พระของคนชั้นกลางในเมือง” ก็เป็นได้ในฐานะผู้ตอบสนองความต้องการด้านพิธีกรรมเชิงพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ เช่นพิธีศพแบบอลังการ เจิมป้ายสำนักงาน ธุรกิจวัตถุมงคล ฯลฯ

พระสงฆ์ที่เป็นพระของคนชั้นกลางในเมืองที่มีบทบาทการชี้นำทางความคิดจริงๆ คือพระที่มีรากเหง้ามาจากคนชั้นกลางในเมืองที่มีภูมิหลังทางการศึกษาที่ดีมาก่อน เช่น พระไพศาล พระวัดพระธรรมกาย สมณะสันติอโศก เป็นต้น

ท่ามกลางสภาพความเป็นไปเช่นนี้ พุทธศาสนาจารีตประเพณีแบบชาวบ้านที่เคยกลมกลืนกับปรัชญาชีวิตแบบพุทธ ก็ดูเหมือนกำลังปรับตัวเข้าสู่รูปแบบพุทธศาสนาจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์แบบคนชั้นกลางในเมืองมากขึ้น (ซึ่งเป็นอิทธิพลของรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์และกลุ่มทุนวัตถุมงคลพาณิชย์) ฉะนั้น พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีที่แฝงปรัชญาชีวิตแบบชนบทกำลังจะหายไป พร้อมกับการปรากฏขึ้นของวัดร้างในหมู่บ้านห่างไกลจำนวนมาก และมีวัดสร้างใหม่ในตำบลหรืออำเภอที่เน้นความใหญ่โตอลังการทางวัตถุมากขึ้น (แต่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ไม่กี่รูป)

จากสภาพการณ์ที่พุทธศาสนาจารีตประเพณีที่แฝงปรัชญาชีวิตแบบชาวบ้านชนบทกำลังจะหมดไป พุทธศาสนาจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์แบบชนชั้นกลางในเมืองก็ไม่สามารถตอบสนองมิติทางปัญญา ทางจิตวิญญาณ และมิติทางสังคมได้ (มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ตอบสนองไม่ได้) พุทธศาสนาแบบสวนโมกข์ สันติอโศก ธรรมกายจึงกลายเป็น “ทางเลือกใหม่” สำหรับคนชั้นกลางในเมืองที่ต้องการพุทธศาสนามากกว่า “พิธีกรรม”

แต่บทบาทของธรรมกายและสันติอโศกก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้น ทั้งจากคณะสงฆ์กระแสหลักและชาวพุทธฝ่ายจารีตนิยม และฝ่ายก้าวหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้พุทธศาสนาในเชิงพาณิชย์ และการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ทว่าคณะสงฆ์กระแสหลักและชาวพุทธฝ่ายจารีตนิยมเพียงแค่ตั้งคำถาม แต่ไม่มีทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าเสนอแก่สังคม ส่วนชาวพุทธฝ่ายก้าวหน้าบางส่วนดูเหมือนจะพยายามแสวงหาทางเลือกใหม่ด้วยตนเอง ดังเช่นแนวทางของ ส.ศิวรักษ์ เรื่อยมาถึงชาวพุทธหนุ่มสาวรุ่นใหม่อย่างกลุ่มของ วิจักขณ์ พานิช เป็นต้น ที่สนใจพุทธศาสนาในเชิงลึกแบบข้ามนิกายทั้งในมิติทางจิตวิญญาณและมิติทางสังคม

กลุ่มหลังนี้สะท้อนภาพ “พุทธศาสนาแบบฆราวาส” ในสังคมไทยชัดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีลักษณะลึกซึ้งและยืดหยุ่นต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนรุ่นใหม่และสภาพสังคมที่ซับซ้อนได้ดีกว่า “พุทธศาสนาแบบพระสงฆ์” หรือพุทธศาสนาแบบจารีตเชิงพาณิชย์

จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามว่า ในขณะที่ “พุทธศาสนาแบบพระสงฆ์” ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับมิติทางจิตวิญญาณและมิติทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ “พุทธศาสนาแบบฆราวาส” จะเป็นคำตอบในเรื่องดังกล่าวแก่สังคมอนาคตได้มากน้อยเพียงใด

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า แม้ในอนาคตพระสงฆ์และพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีจะหมดไปจากสังคมไทยและจากโลกก็ตาม พุทธศาสนาในรูปของ “ปรัชญาชีวิต” จะยังคงอยู่ให้มนุษย์เรา (ที่สนใจ) ได้เรียนรู้และปรับใช้เป็นโลกทัศน์และชีวทัศน์ในการดำเนินชีวิตตลอดไป

เช่นเดียวกับภูมิปัญญาอื่นๆ ของโลกที่ยังคงดำรงอยู่ให้มนุษย์ได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้แม้ไม่ได้ถูกห่อหุ้มด้วยจารีตประเพณีหรือพิธีกรรมทางศาสนาเลยก็ตาม