ที่มา ประชาไท
เห็นหน้าค่าตากันแล้วสำหรับว่าที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. ที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งเมื่อไปวันที่ 3 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ที่แม้ผู้เข้ารับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนตามสายวิชาชีพที่หลากหลาย รวม 49 คน แต่ไฉนยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีแต่เด็กนักการเมือง จนถึงอาจถูกตั้งความหวังแค่การเป็นสภาตรายางหรือสภาหุ่นเชิด แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ระยะเวลาและผลงานเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์
จากที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) แปลงมาเป็นสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สตต. ก่อนที่จะกลายมาเป็นสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน มีผลงานเป็นอย่างไร “ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล” นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมงานกับศอ.บต.ในฐานะที่ปรึกษา จนกระทั่งได้รับเลือกตั้งเป็นว่าที่ที่ปรึกษาชุดใหม่ล่าสุดด้วย อธิบายถึงผลงานและการทำงานของสตต.ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร บวกกับความหวังต่อสภาที่ปรึกษาชุดใหม่อย่างไร โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการร่วมกับไฟใต้
ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
...........................
สตต.หรือสภาที่ปรึกษาชุดเดิมของสอ.บต. มีผลงาน และการทำงานเป็นอย่างไร
ในช่วงที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในสมัยของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากถูกยุบไปในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการตั้งที่ปรึกษาของ ศอ.บต.ขึ้นมา จากนั้นถูกแปลสภาพเป็นสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สตต.
ผมและอีกหลายเป็นที่ปรึกษาของศอ.บต.ตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นสภาที่ปรึกษา เมื่อมีการตั้งเป็นสภาที่ปรึกษา การทำงานจึงเป็นเอกเทศมากขึ้น มีการตั้งประธานสภา มีรองประธานสภา มีเลขานุการ โดยมีการตั้งคณะทำงานของสภาที่ปรึกษาทั้งหมด 7 คณะ
เจตนรมย์ของ สตต. ตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ คือถ้าคนไหนเก่งเรื่องใดก็ให้มาร่วมกันทำงาน เช่น เก่งเรื่องศาสนาก็ดูแลเรื่องศาสนา คนที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจก็ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ เอาปัญหาในทางปฏิบัติมาแก้ไข
ผลงานที่ผ่านมาของสภาที่ปรึกษา สตต. มีการผลักดันโครงการต่างๆ ให้ผ่านความเห็นชอบของ สตต. เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้แก้ไขปัญหา หรือมีการพัฒนาขึ้น เช่น โครงการฮัจญ์(การประกอบพิธีทางศาสนา ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย) ที่สามารถทำได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ในเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบ ได้มีการทำหนังสือวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ปัญหาความไม่สงบ จำนวน 3 เล่ม เพื่อแจกจ่ายให้ข้าราชการในพื้นที่ใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงาน เพราะทำให้ทราบว่าปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไรและเมื่ออ่านแล้วก็สามารถนำไปปฏิบัติได้
การแก้ปัญหาในเรื่องของศาสนา ในคณะทำงานด้านศาสนา มีการจัดพิมพ์หนังสืออีก 2 เล่ม คือ อิสลามความจริงที่ต้องรู้ และชุมนุมปาฐกถาผู้นำศาสนาอิสลามโลก แจกจ่ายให้ผู้นำศาสนา ตามมัสยิดหรือสถานการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อต้องการแก้ปัญหาที่ฝ่ายตรงข้ามบิดเบือนหลักศาสนาเพื่อก่อความไม่สงบ
อีกเรื่องที่ผลักดันและเกือบจะประสบความสำเร็จในขณะนี้ คือ การผลักดันร่างกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้นายกรัฐมนตรีลงนามและนำเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ให้ทันก่อนที่จะมีการยุบสภาในอีกไม่กี่วัน
ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาดูแลและพัฒนาในเรื่องการทำประมงชายฝั่งในจังหวัดปัตตานี มีการจัดซื้อเรือตรวจการณ์เพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย และมีการจัดสรรงบประมาณจัดทำปะการังเทียมและการป้องกันการบุกรุกชายฝั่ง
นี่คือผลงานหลักๆ เท่าที่ประมวลได้ นอกจากนั้น ยังมีการให้คำชี้แนะ เสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ด้วย
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นใดบ้างที่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และที่ผ่านมาการทำงานของสตต.ถือว่าเป็นปากเสียงของประชาชนได้ดีพอหรือยัง
สำหรับข้อเสนอแนะและความคิดเห็นที่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนใหญ่คือข้อเสนอในเรื่องการแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร
โดยเรายึดอยู่ตลอดเวลาว่า การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ให้ได้ผล คือ 1.ทหารต้องใช้ระบบการเมืองนำการทหาร 2.การแก้ปัญหาความยากจน ซึ่ง ศอ.บต.ก็ได้ทำหลายโครงการ และ 3.การแก้ปัญหาความยุติธรรม เพราะเราเชื่อว่า ปัญหาเดิมเกิดจากชาวบ้านไม่ได้รับความยุติธรรม เกิดข้าราชการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความไม่สงบ เราก็จะต้องแก้ตรงนั้น และผลักดันให้เกิดความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายและความเสมอภาคในสังคม
นอกจากนั้นยังผลักดันเรื่องการศึกษา เพราะต้องการให้มีการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เรื่องค่าตอแทนของของครูโรงเรียนตาดีกา การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับชุมชน มีการพูดกันว่า เราคิดแต่ไม่ได้ทำ จึงแก้ปัญหาโดยให้คนในพื้นที่คิดและนำไปทำเอง
ที่ผ่านมา สตต. เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เสียงของชาวบ้านได้เข้ามาอยู่ในโครงสร้างการแก้ปัญหาของรัฐ เป็นการสะท้อนปัญหาที่แท้จริง จนสามารถนำปัญหาที่สะท้อนมาให้รัฐบาลแก้ไขได้มาก
ความแตกต่างระหว่าง สตต.กับสภาที่ปรึกษาชุดใหม่เป็นอย่างไร
จากที่ทำงานมานั้น ถือว่า สตต.ชุดนี้ทำงานได้ดีที่สุด แต่ละคนที่เข้ามาทำหน้าที่ เป็นคนมีความรู้และมีความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และมีที่มาที่หลากหลายกว่าสภาที่ปรึกษาชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น เพราะสภาชุดใหม่มีตัวแทนที่มาตามสาขาอาชีพ
ถ้าถามว่า สภาที่ปรึกษาชุดใหม่มีความครอบคลุมหรือไม่ ถือว่าครอบคลุม แต่ก็มีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน ชุดที่มาจากการแต่งตั้ง มาตามความโดนเด่นของตัวบุคคล ส่วนที่มาจากการเลือกตั้ง ได้มาจากคะแนนเสียง ไม่ใช้ความโดดเด่นของตัวบุคคลที่แท้จริง อาจไม่ใช่ตัวที่ดีจริงๆ ก็ได้ ได้มาเพราะมีคนรู้จักกว้างขวาง มีคนใส่คะแนนให้เยอะ ส่วนเรื่องความรู้ความชำนาญ ยังไม่พูดถึง เพราะจะรู้เรื่องเฉพาะในสายอาชีพของตนเอง
ความแตกต่างระหว่าง สตต.กับสภาที่ปรึกษาชุดใหม่ คือ สตต.มีบริบทการทำงานแค่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา แต่สภาที่ปรึกษาชุดใหม่ มีบริบทพื้นที่ที่กว้างกว่า คือ ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มสงขลาและสตูล
ขณะเดียวกันระหว่างตัวแทนของ 3 จังหวัด กับสงขลาและสตูล อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง เนื่องจากตัวแทนใน 3 จังหวัดมาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่สตูลกับสงขลา ไม่มีผลกระทบโดยตรง ดังนั้นจึงต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกัน
ยกตัวอย่างเช่น ตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่นของสงขลากับสตูลอาจจะคิดเรื่องเดียว คือ งบประมาณ เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรง อาจมองปัญหาจากผลกระทบโดยตรงไม่ชัดเจน
ตัวแทนทางเศรษฐกิจก็เช่นกัน คือ ตัวแทนหอการค้าจังหวัดสงขลากับสตูล อาจมองเรื่องการลงทุน ทำอย่างไรที่จะให้มีการลงทุนมาก แต่ตัวแทนใน 3 จังหวัดบอกว่า จะทำอย่างไรที่จะให้มีคนไปลงทุนในพื้นที่ ถ้าให้สิทธิพิเศษเท่ากัน 3 จังหวัดจะเสียหาย เพราะคนมาลงทุนที่สงขลาหมด เป็นต้น
ส่วนในเรื่องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย สภาที่ปรึกษาชุดใหม่มีอำนาจมากกว่า เพราะมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553
ถึงจะมีอำนาจมากหรือน้อย แต่ลักษณะที่เหมือนกันคือ ต้องปลอดจากการเมือง เพราะถ้ามีลักษณะการเมืองอยู่เบื้องหลัง การทำงานก็จะไม่ตอบสนองนโยบายการแก้ปัญหาของประชาชน แต่จะไปตอบสนองนโยบายของพรรคการเมือง และสนองนโยบายของส่วนราชการการ ทั้งในการจัดงบประมาณ การสนับสนุนงบประมาณหรือโครงการ
เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบว่า ตัวแทนทั้ง 49 คน เป็นคนของพรรคการเมืองไหนบ้าง สัดส่วนเป็นอย่างไร และใครบ้างที่ไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง
แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเด็กนักการเมืองทั้งนั้น น่าจะมีผมคนเดียวที่ไม่มีการเมือง นอกจากนั้นน่าจะมาจากพรรคการเมืองชื่อดังของภาคใต้กับอีกพรรคการเมืองที่เพิ่งเปิดตัวไม่นานแต่มี ส.ส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)เป็นสมาชิกพรรคแล้ว
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สภาชุดนี้ต้องทำงานพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่า ไม่ได้ทำงานสนองพรรคการเมือง ซึ่งต้องนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะเราต้องให้เวลาทำงานก่อน ตอนนี้เรายังไม่ทำงาน และตอนนี้แต่ละคนเรารู้ที่มาแต่ยังไม่รู้ถึงวิสัยทัศน์ ยังไม่เห็นว่าใครเคยทำอะไร
สิ่งที่น่าจับตาสำหรับสภาที่ปรึกษาชุดใหม่คืออะไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร
สิ่งที่น่าจับตา คือ สภาที่ปรึกษาชุดนี้เราได้คนใหม่เกือบทั้งหมด ซึ่งไม่เคยทำงานกับศอ.บต.มาก่อน ไม่เคยร่วมแก้ปัญหาความมาสงบ เราจะมีคนเก่าอยู่ประมาณ 5 คน และคนใหม่ก็มาจากหลายๆ องค์กร แล้วต้องมาหลอมรวมกันให้ได้ นี่คือสิ่งที่ต้องทำให้ได้ จึงต้องใช้เวลาอีกระยะ เพื่อศึกษาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางคนอาจศึกษามาแล้ว แต่บางคนอาจยังไม่ได้ศึกษามาก่อนเลย เข้าไปแรกๆ อาจยังไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง
เพราะฉะนั้นช่วงแรกๆ ถ้าหวังผลงานจริงๆ อาจยังไม่เห็น แต่หลักการจริงๆ ต้องดูว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการโดยการตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นมานั้น มันจะสอดคล้องกับพื้นที่หรือไม่ มันจะให้ประโยชน์หรือไม่ เป็นการแก้ปัญหาความจริงใจ หรือแก้ปัญหาเพราะต้องการใช้งบประมาณ คนที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาต้องอ่านเกมนี้ให้ได้ ต้องเข้าใจเรื่องให้ได้ เพราะที่สังเกตคือ ขนาดกอ.รมน.เข้ามาแก้ปัญหาความไม่สงบนี้มา 7 ปีแล้ว ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ใช้งบประมาณเป็นแสนล้าน แต่ ศอ.บต.ใช้งบหกหมื่นล้านบาทและเป็นงบผูกพัน
และต้องมาดูว่าแต่ละโครงการที่มีการผลักดันจากที่ปรึกษาชุดที่แล้ว เป็นเรื่องที่ถูกต้องและแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ โดยที่โครงการที่ ศอ.บต.เอางบมาทำ ตอบสนองต่อปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่ หรือแค่ได้ทำ เพราะต้องการใช้เงินงบประมาณให้หมด นี่คือเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ใช่ว่าได้ตำแหน่งที่ปรึกษาแล้วก็จบ เพราะฉะนั้นต้องจับตาดูต่อไป
รายชื่อว่าที่ที่ปรึกษาชุดใหม่ศอ.บต.
ต่อไปนี้เป็นบัญชีรายชื่อ ผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2554 ในสาขาและประเภทต่าง ๆ ดังนี้
ก.ประเภท ที่มีผู้แทนจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละหนึ่งคน
ประเภท/จังหวัด | ปัตตานี | นราธิวาส | ยะลา | สงขลา | สตูล |
ผู้แทนองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น | นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี | จ.ส.อ.ฮาริส มะรือสะ | นายสมุทร มอหาหมัด | นายไพร พัฒโน | นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ |
ผู้แทนกำนันและผู้ใหญ่บ้าน | นายสมาแอ ดอเลาะ | นายเสรี นิมะยุ | นายสมมาศ มะมุพิ | นายดลเลาะ เหล็มแหละ | นายวีระ เพชรประดับ |
ผู้แทนกรรมการอิสลามประจำ จังหวัดและอิหม่ามประจำมัสยิด | นายอัศมี โต๊ะมีนา | นายอับดุลอาซิซ เจ๊ะมามะ | นายรุสดี บาเกาะ | นายมูหรอด ใบสะมะอุ | นายยำอาด ลินารา |
ผู้แทนเจ้าอาวาสในศาสนาพุทธ | พระครูจริยาภรณ์ | พระครูสุนทรเทพวิมล | นายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ | พระศรีรัตนวิมล | พระครูโสภณปัญญาสาร |
ผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจใน การพัฒนาสังคม ภูมิปัญญา ท้องถิ่น หรือวิถีชีวิตของ ประชาชนในพื้นที่ | นายอับดุลเล๊าะ วาแม | นายกิตติพล กอบวิทยา | นายคอลีลือเราะมัน ดือราแม | นายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์ | นายวรัตน์ แสงเจริญ |
ผู้แทนผู้สอนและบุคลากร ทางการศึกษา | นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร | นายอาดุลย์ พรมแสง | นายดนุพล อ้นพวงรัตน์ | นายเสริมสุข สุวรรณกิจ | นายนิสิต ชายพักตร์ |
ผู้แทนกลุ่มสตรี | นางเบญจวรรณ ซูสารอ | นางสารีปะ สะเมาะ | นางรัตนา กาฬศิริ | นางจินตนา จิโนวัฒน์ | นางรัชนี เด่นกาญจนศักดิ์ |
ผู้แทนหอการค้าจังหวัดและ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด | นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ | นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช | นายยู่สิน จินตภากรณ์ | ดร.สุรชัย จิตภักดีบดินทร์ | นายสมชาย ตันติ์ศรีสกุล |
ข.ประเภท ที่มีผู้แทนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งคน
(1) ผู้แทนศาสนาอื่น รศ.ทพ.ดร.กรัสไนย หวังรังสิมากุล
(2) ผู้แทนสถาบันศึกษาปอเนาะตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ นายอับดุลอาซิส ยานยา
(3) ผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา นายอับดุลรอนิ กาหะมะ
(4) ผู้แทนสื่อมวลชน นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
บัญชีรายชื่อ ผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ก.ประเภท ที่มีผู้แทนจังหวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดละหนึ่งคน
ข.ประเภท ที่มีผู้แทนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งคน
(1) ผู้แทนศาสนาอื่น รศ.ทพ.ดร.กรัสไนย หวังรังสิมากุล