ที่มา ประชาไท
ในขณะที่นักคิดตะวันตกมองว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ Religion แต่เป็น philosophy of life แต่ชาวพุทธบ้านเราปฏิเสธว่าพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา โดยให้เหตุผลว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่การเก็งความจริงด้วยเหตุผล หรือการอ้างเหตุผลโต้แย้งเพื่อแสวงหาความรู้เพื่อความรู้ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเหมือนปรัชญา
แต่ที่จริงแล้วคำว่า “ปรัชญา” นั้นมีหลายนิยาม และที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ปรัชญาหมายถึงโลกทัศน์ ชีวทัศน์ หรือกรอบความคิดที่มนุษย์เราใช้ในการมองโลกและชีวิต หรือให้ความหมายของโลกและชีวิตที่เป็นพื้นฐานของการกำหนดเป้าหมายและวิถีของสังคมและวิถีการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล
ส่วนอีกความหมายหนึ่ง ปรัชญาหมายถึง “กิจกรรมทางปรัชญา” ได้แก่ การใช้เหตุผลโต้แย้งหรือซักไซ้ไล่เรียงอย่างถึงที่สุดเพื่อทำความเข้าใจปัญหาพื้นฐานต่างๆ เช่น ปัญหาว่าอะไรคือความจริง ความรู้ การมีชีวิตที่ดี สังคมการเมืองที่พึงประสงค์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม คืออะไร เป็นต้น
จากนิยามดังกล่าว ปรัชญาจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีชีวิตและสังคมที่ดี เพราะการมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ดีจะเป็นไปได้ เมื่อเราเข้าใจความหมายของการมีชีวิตและสังคมที่ดีในระดับที่สามารถนำมาใช้เป็นโลกทัศน์ ชีวทัศน์ที่กำหนดทิศทางของการการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์สังคมของเรา
ส่วนปรัชญาในความหมายของ “กิจกรรมทางปรัชญา” ก็เป็นเรื่องของกระบวนการปฏิบัติเพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ การใช้เหตุผล วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย
ฉะนั้น การปฏิเสธปรัชญาว่าไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติจึงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว ความจริงแล้วการปฏิบัติธรรม หรือการดำเนินชีวิตในทางพุทธศาสนาก็ย่อมเป็นไปตามกรอบโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธ หรือ “พุทธปรัชญา” นั่นเอง เช่น กรอบโลกทัศน์ ชีวทัศน์ตามหลักอริยสัจ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น
ปัญหาของพุทธศาสนาในบ้านเราจึงยู่ที่ว่าพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์กำลังทำให้ “พุทธปรัชญา” หายไปหรือไม่? พูดให้ตรงคือเราเหลือแต่รูปแบบพิธีกรรมที่ปลูกฝังความเชื่อที่ไม่ได้เชื่อมโยง หรือก่อให้เกิดโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธอีกแล้วหรือไม่?
เมื่อเราเข้าไปที่สวนโมกข์ เราย่อมสัมผัสได้ถึงโลกทัศน์ชีวิทัศน์แบบพุทธตั้งแต่ความเรียบง่าย ร่มรื่น สงบเย็น บรรยากาศของการท้าทายทางปัญญาจากบุคลิกภาพของท่านพุทธทาส และผลง่านต่างๆ ของท่าน เช่น โรงมหรศพทางวิญญาณ และอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดสรุปความหมายสำคัญได้ว่า วัดและกิจกรรมทางศาสนาบรรดามีล้วนแต่สะท้อนถึงหรือเป็นสิ่งแสดงออกซึ่ง “พุทธปรัชญา” หรือโลกทัศน์ ชีวิทัศน์แบบพุทธแทบทั้งสิ้น
แต่พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน เช่น การทอดกฐินที่เน้นยอด 10 ล้าน 20 ล้าน การสร้างวัตถุที่ใหญ่โตอลังการ รูปแบบการปฏิบัติธรรมที่ผูกติดกับการปลูกฝังความเชื่อเรื่องการทำความดีที่หมายถึงการทำบุญซึ่งเน้นวัตถุประสงค์จำเพาะเพื่อการ “มีชีวิตที่สุขสบาย” ในโลกนี้และโลกหน้า เป็นต้น กลับเป็นสิ่งสะท้อนหรือเป็นที่แสดงออกซึ่งโลกทัศน์ชีวทัศน์แบบสุขนิยม หรือบริโภคนิยมสุดโต่ง (เน้นคุณค่าของชีวิตที่ขึ้นอยู่กับความสุขสบายพรั่งพร้อมในโลกนี้ และแถมความสุขสบายในโลกหน้าแบบไม่อั้น ถ้าคุณบริจาคทำบุญแบบไม่อั้น)
กลายเป็นว่าพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันทำให้ “พุทธปรัชญา” หายไปแล้ว และถูกแทนที่ด้วยปรัชญาสุขนิยมและบริโภคนิยมสุดโต่ง !
พูดอีกอย่างคือ “ความดี” ที่ปลูกฝังกันในพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์ไม่ใช่ความดีตามกรอบโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธ หรือตามกรอบพุทธปรัชญา ที่หมายถึงความดีที่สนับสนุนการดับทุกข์ในชีวิตของปัจเจกบุคคลและทุกข์ทางสังคม หากแต่เป็นความดีที่มีความหมายในเชิง “สั่งสมบุญกุศลเพื่อดลบันดาล” ให้เกิดสิ่งดีๆ เกิดสิริมงคลในชีวิตซึ่งมีเป้าหมายรวบยอดอยู่ที่ “ความสุขสบายส่วนตัว”
ส่วน “คนดี” ที่พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์สร้างขึ้น ไม่ใช่ “คนดีเชิงสังคม” ที่มีจิตสำนึกเรียนรู้ปัญหาและมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น หากแต่เป็น “คนดีเชิงศาสนา” ที่มีความหมายจำเพาะว่าเป็นผู้ศรัทธาต่อแนวทางของวัด รับใช้วัด ขยายความดีในแนวทางของวัดออกไปสู่มหาชนกระทั่งสู่โลกตามแนวทางการสร้าง “เครือข่ายบุญ” แบบกรรมการกฐิน ผ้าป่า จนกระทั่งพัฒนามาเป็น “เครือข่ายบุญแบบขายตรง” เป็นต้น
นอกจากนี้ “พุทธศาสนาจารีตประเพณีแบบทางการ” ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ของ “ระบบอำนาจนิยม” สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจนิยมดังที่ปลูกฝังกันว่าราษฎรต้องเคารพยำเกรงเชื่อฟัง “ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่” เป็นต้น จนแม้เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยมา 79 ปี รูปการจิตสำนึกดังกล่าวยังยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง
จะว่าไปแล้ว เพราะพุทธปรัชญา หรือกรอบโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบพุทธหายไปแล้วจากพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณี (ทั้งเชิงพาณิชย์ ทางการ และแม้แต่รูปแบบสมถะเคร่งครัด?) ฉะนั้น พุทธศาสนาแบบจารีตประเพณีที่เป็นอยู่จึงไม่เคยมีบทบาทแก้วิกฤตความรุนแรงใดๆ เลยในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา
ซ้ำร้ายกลับปรากฏว่า มีชาวพุทธที่เป็นปัจเจกบุคคลทั้งที่เป็นปราชญ์และพระสงฆ์ ออกมาแสดงบทบาทสนับสนุนระบบอำนาจนิยม เช่น หลวงวิจิตรวาทการ ที่ตีความพุทธศาสนารับใช้เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กิตติวุฑฺโฒภิกขุ เจ้าของวาทะ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” ล่าสุดคือจำลอง ศรีเมือง (ผู้กินมังสวิรัติ) ที่เรียกร้องให้ใช้ “กฎอัยการศึก” จัดการกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ในปีที่ผ่านมา และกำลังเรียกร้อง “ระบอบอะไรก็ได้ (?)” ขอให้ได้ “คนดีมีศีลธรรม(?)” มาปกครองบ้านเมือง
อันที่จริงคนที่เข้าใจความหมายของ “ความเป็นมนุษย์” ตามกรอบคิดเรื่อง “เสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ยังแสดงออกถึงความเคารพคุณค่าของมนุษย์ แสดงออกถึงการมี “หัวใจ” เจ็บปวดกับการเข่นฆ่าประชาชนมากกว่าชาวพุทธที่เคร่งครัดด้วยซ้ำ
เช่น คนไม่มีศาสนาอย่าง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ออกมาเตือนแกนนำเสื้อแดงตรงๆ ว่า “แม้จะได้การเลือกตั้งมาด้วยการแลกชีวิตประชาชนเพียง 1 คน ก็ไม่คุ้มค่าเลย” แต่พระสงฆ์และชาวพุทธส่วนใหญ่กลับ “วางเฉย” ต่อการเข่นฆ่าประชาชน
ที่น่าเศร้าคือ ระหว่างเก็บข้อมูลวิจัย ผมได้พูดคุยกับผู้ปฏิบัติธรรมและพระสงฆ์ที่มีการศึกษาระดับปริญญาเอกบางรูปกลับมองว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงและการเข่นฆ่าประชาชนที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่อง “กรรมของสัตว์โลก!”
นี่คือบางตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า มิติทางจิตวิญญาณ และมิติทางสังคมตามกรอบ “พุทธปรัชญา” หายไปแล้วจากพุทธศาสนาแบบจารีตประเพณี ไม่ว่าจะเป็นพุทธจารีตประเพณีแบบทางการ พุทธจารีตประเพณีเชิงพาณิชย์ และแม้แต่พุทธจารีตประเพณีแบบสมถะเคร่งครัด!