ที่มา thaifreenews
โดย bozo
“ทางกลุ่ม (นิติราษฎร์) จะพยายามทำงานวิชาการในลักษณะนี้ต่อไปอีก
แต่ก็มีปัญหาในแวดวงวิชาการ ผมรู้สึกและประเมินว่ามีความมืดมนอยู่
ผมไม่คิดว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับในวงกว้าง
ผมคิดว่าแวดวงวิชาการเองก็ไม่ต่างกับแวดวงอื่นๆ มันมีเครือข่าย มีผลประโยชน์
การจะให้ออกมาพูดในเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้น แม้แต่การคัดค้านก็ตาม”
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “กลุ่มนิติราษฎร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฎร)”
และเว็บไซต์ www. enlightened-jurists.com กล่าวตอบนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังการอภิปรายเรื่อง
“กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา
ซึ่งนายสมศักดิ์เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เคลื่อนไหวให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในประเด็นสถาบันกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง
เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างแยกกันไม่ออก
จึงต้องแก้ทั้งตัวบทกฎหมายในรัฐธรรมนูญและอุดมการณ์ทางความคิดไปพร้อมๆกัน
เพื่อให้ “สถาบันกษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีของประ-ชาชน” อย่างแท้จริง
เพราะตราบใดที่ไม่สามารถหยุดการใช้อำนาจที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์ได้
ก็ไม่อาจจะบรรลุเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยได้
สถาบันกับวิกฤตการเมือง
นายสมศักดิ์ได้กล่าวถึงวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่ดึงสถาบันมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองว่า
ไม่ใช่สิ่งที่แสดงออกเรื่องการใช้สิทธิรักหรือเคารพในหลวงเลย
โดยเฉพาะการเข่นฆ่ากลางเมืองเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
เช่นเดียวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่นำสถาบันมาอ้าง
ในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
จนกลายเป็นความอัปยศและหายนะของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้
ขณะที่คำแถลงที่มาของ “กลุ่มนิติราษฎร์” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 ระบุว่า
รัฐประหาร 19 กันยา-ยน 2549 ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นรัฐประหารที่อัปยศ
และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ
ที่ประกอบอาชีพสอนวิชากฎหมายในสถานการณ์ที่คนจำนวนมากยินดีกับรัฐประหาร
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเกิด “กลุ่มนิติราษฎร์”
และตัดสินใจออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร
“ภายหลังรัฐประหารสำเร็จประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์
ที่กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างบิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมาย
ที่ไม่สอดคล้องกับนิติรัฐประชาธิปไตย
การใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจไปในทิศทาง
ที่ไม่สนับสนุนนิติรัฐประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม
ซึ่งเราได้แสดงความเห็นผ่านแถลงการณ์สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ”
จุดยืนกลุ่มนิติราษฎร์
กลุ่มนิติราษฎร์ที่ประกอบด้วยนักวิชาการที่ประ-กอบอาชีพสอนวิชากฎหมายคือ
น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
นายธีระ สุธีวรางกูร
นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
นายปิยบุตร แสงกนกกุล
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ
น.ส.สาวตรี สุขศรี
จึงเป็นการประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับอำนาจเผด็จการอย่างไม่ เกรงกลัว
ทั้งที่ขณะนั้น คมช. ยังมีอำนาจ และกระแสต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก
ยังเป็นกระแสที่รุนแรง แต่กลุ่มนิติราษฎร์ให้เหตุผลว่า
หวังจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสถาปนาอุดมการณ์กฎหมาย-การเมืองนิติรัฐประชาธิปไตย
เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ
“มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ”
อย่างที่นายวรเจตน์ได้ประกาศใน “นิติราษฎร์ฉบับที่ 1” ว่า
นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่า
กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจและสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจ
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบาดแผลที่ลึกอย่างยิ่ง
ให้กับวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์ไทย
สร้างความอยุติธรรมอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม
ขณะที่คนจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทชี้นำสังคมและนักกฎหมายที่เป็นชนชั้นนำ
ก็ปิดล้อมความคิดความอ่านของผู้คนด้วยการ
ยกเอาข้อธรรม ความเชื่อในทางจารีตประเพณี
ตลอดจนบุคคลที่ถูกสร้างให้เป็นที่ยึดถือศรัทธาขึ้นเป็นกรงขัง
การใช้เหตุผลและสติปัญญาของผู้คน
“เพื่อจะไปให้พ้นจากสภาวะเช่นนี้ เราเห็นว่าสังคมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์
จะต้องก้าวข้ามยุคมืดไปสู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา
หรือที่บางท่านเรียกว่ายุคภูมิธรรมหรือยุคพุทธิปัญญา
(Enlightenment; les Lumières; Aufklärung ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้วในยุโรป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคภูมิธรรมหรือพุทธิปัญญาในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18
ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นรากฐานสำคัญ
ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย”
นายวรเจตน์ขยายความลักษณะของ Enlightenment คือ
การเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชาในลักษณะ
การตั้งคำถาม
การวิพากษ์วิจารณ์
การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ
ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
หรือคำสอนทางศาสนา โดยถือว่า “เหตุผล” มีคุณค่าเท่าเทียมกับ “ความดี”
การใช้สติปัญญาครุ่นคิดตรึกตรอง ไม่หลงเชื่ออะไรอย่างงมงายมีค่าเป็นคุณธรรม
ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายสามารถได้รับการฝึกฝนให้ใช้สติปัญญาและถือว่า
เหตุผลเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างเท่าทัน
ดังคำขวัญของ Immanuel Kant (ค.ศ. 1724-1804) นักปรัชญาผู้เรืองนามชาวเยอรมัน
ที่ให้ไว้ว่า “จงกล้าที่จะใช้ปัญญาญาณแห่งตน!”
(Habe Mut, dich deines eigenen Verstandes zu bedienen!)
“ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญาคือ
ยุคที่เสรีภาพจะเข้าแทนที่สมบูรณาญาสิทธิ์
ความเสมอภาคจะเข้าแทนที่ระบบชนชั้น
เหตุผล ความรู้ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะเข้าแทนที่อคติและความงมงายทั้งหลาย” นายวรเจตน์กล่าว
ถูกยัดเยียดข้อหา
ขณะที่นายปิยบุตร อาจารย์หนุ่มไฟแรงของกลุ่ม
ตั้งคำถามกับสังคมการเมืองไทยแบบตรงๆในสภาวะที่สังคมแตกแยกแบ่งขั้วว่า
แม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคณะนิติศาสตร์บรรยากาศยังเปลี่ยนไป
ทั้งในแง่กายภาพและด้านความรู้
“การรู้จัก ความคุ้นเคย เปลี่ยนไปเยอะมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ 19 กันยา 2549
ทำให้คนเห็นต่างกันมากขึ้น ทะเลาะกันมากขึ้น
ในทางความคิดคุยกันไม่ค่อยสนิทใจกับคนคิดต่าง
แต่ผมพยายามไม่คุยเรื่องที่คุยแล้วอาจทะเลาะกัน
อย่างกลุ่ม 5 อาจารย์เราก็สนทนา กัน ตั้งวงคุยกัน บรรยากาศที่เห็นต่างกัน
หรือความ รู้สึกคุยกันไม่ได้เหมือนเดิมก็พอปรับตัวได้
แต่ขอข้อเดียว อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัว คือ
ผมไม่ชอบข้อหากับวิธีการยัดข้อหา การแทงข้างหลัง
กล่าวร้ายกับกลุ่มพวกผมในที่ลับ ผมคิดว่าการคิดต่างน่าจะคุยกันตรงไปตรงมาได้
ยกตัวอย่างเช่น
มีข่าวลือพูดกันขนาดว่าจะไล่ให้พวกผมเผาตำราทิ้งไปอยู่ดูไบหรือมอนเตเนโกร
ซึ่งจริงๆถ้าไม่เห็นด้วยน่าจะแลกเปลี่ยนคุยกันตรงๆได้ในทางวิชาการ”
นักวิชาการแกะดำ
กลุ่มนิติราษฎร์ โดยเฉพาะนายวรเจตน์จึงตกเป็นเป้าที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรง
จากทั้งภาคประชาชนเสื้อเหลือง นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้าม
และมีความคิดแตกต่างว่าเป็น “นักวิชาการเสื้อแดง” หรือ “นักวิชาการแกะดำ”
ทั้งที่ความเห็นหรือแถลงการณ์ต่างๆของกลุ่มนิติราษฎร์
เป็นการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการชัดเจน
โดยเฉพาะข้อกฎหมายและมิติในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
แต่ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์เกือบทุกเรื่อง
ล้วนทำให้ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญไม่พอใจ
โดยเฉพาะการชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหานิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม “สองมาตรฐาน” ที่เกิดขึ้น
รัฐธรรมนูญอำพราง
อย่าง “รัฐธรรมนูญปี 2550” นายวรเจตน์ระบุว่า
เมื่อพิจารณาในทางนิติศาสตร์แล้วถือเป็นรัฐธรรมนูญ
ที่เขียนขัดแย้งกันเองมากที่สุดฉบับหนึ่ง
ซึ่งมีการซ่อนเร้นอำพรางแนวความคิดทางกฎหมาย
ที่เป็นปรปักษ์กับหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน
ส่วน “ตุลาการภิวัฒน์” เป็นหน้าฉาก
ที่เรียกร้องให้ศาลแผ่ขยายบทบาทเข้าไปแก้ปัญหาทางการเมือง
โดยอ้างอิงหลักการจากประเทศที่เป็นนิติรัฐ
แต่หลังฉากคือข้อเรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าจัดการกับปรปักษ์ทางการเมือง
โดยอ้างหลักกฎหมายจากต่างประเทศอย่างครึ่งๆกลางๆ
โดยไม่ได้คำนึงถึงลักษณะโครงสร้างอำนาจตุลาการของไทยเลยว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร
ตลอดจนไม่ได้คำนึงถึงโครงข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง
โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในระดับบน
“ตุลาการภิวัฒน์” (หรือบางท่านเรียกว่า ตลก. ภิวัฒน์)
จึงมีความหมายเท่ากับ “การบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการ”
ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายถือว่าเป็นความผิดอาญาเท่านั้น
ค้านคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ”
นายวรเจตน์ยังระบุว่า
จากการตัดสินคดีหลายคดีนับตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมา
จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เป็นการตัดสินคดีที่องค์กรตุลาการ (ผู้พิพากษา ตุลาการ)
เข้าทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร
หรือตรวจสอบบรรดาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง
โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมจริงหรือไม่
การกล่าวอ้างสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์”
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการให้คุณค่าในถ้อยคำดังกล่าวด้วยว่า
เป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นตัวแทนของคุณธรรมความดีงามทั้งปวง
อย่างคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ตัดสินให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว 46,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553
กลุ่มคณาจารย์นิติราษฎร์ก็ออกบทวิเคราะห์คำพิพากษายึดทรัพย์ในทุกประเด็นว่าทำไมจึง
“ไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้” เพราะเห็นว่าคำพิพากษาไม่ได้วินิจฉัยแยกแยะว่า
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์แต่ละกรณีเกิดขึ้นเมื่อใด
แต่วินิจฉัยว่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นอย่างไม่สมควร
นับตั้งแต่วันที่ พ.ต.ท.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีสาเหตุเพียงประการเดียวคือ
เกิดจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
จนนำไปสู่การพิพากษาให้ยึดทรัพย์สิน
ประณามสลายเสื้อแดง
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน
ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
และนำไปสู่การใช้กำลังทหารนับหมื่นพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น
นายวรเจตน์ได้เขียนบทความเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนด
ที่เกี่ยวข้องโดยทันทีและ ไม่มีเงื่อนไข
เพราะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
เป็นการใช้อำนาจเพื่อทำให้มาตรการที่ปรกติแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในทางเนื้อหาให้กลายเป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายในทางรูปแบบ
ซึ่งไม่ช่วยแก้ไขวิกฤตให้บรรเทาเบาบางลงแล้ว
ยังเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ตึงเครียดและรุนแรงมากขึ้น
“วันนี้เราลืมถามประเด็นนี้ไป
เพราะเราไปพูดถึงเรื่องคืนความสุข กลายเป็นว่าคนมาชุมนุมสร้างความทุกข์
คนที่คิดอย่างนี้ไม่รู้ว่าคนที่มาชุมนุมจำนวนไม่น้อยเขาทุกข์กว่าพวกคุณไม่รู้กี่เท่า
แล้วก็ไม่เคยมีความสุขอย่างที่พวกคุณมี ภายใต้โครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่นี้
หลายคนรู้สึกโล่งใจว่าจบสักทีหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่านี่คือการสร้างปัญหาใหม่
ซึ่งมันจะแก้ยากกว่าเดิม”
โดยเฉพาะการทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงการเผากลางเมืองนั้น
รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งเกิดหลังการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม
เพราะ 2 เดือนของการชุมนุมไม่ เกิดการเผา
หรืออาจบอกว่าคนเสื้อแดงคือคนที่รักษาบ้าน เมืองไว้ไม่ให้ถูกเผา
แต่เมื่อรัฐบาลใช้กำลังเข้าสลายจึงทำให้เกิดการเผา คือ
ถ้าไม่มีการใช้อาวุธหนักเข้าสลายการชุมนุมก็จะไม่มีการเผาหรือไม่มีการเปิดโอกาสให้เผา
เหมือนกรณีที่มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตถึง 91 ศพ บอกว่าไม่รู้ใครยิง แต่กลับบอกว่าทหารไม่ได้ยิง
ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากเกิดความรุนแรงแบบนี้
รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแล้ว ทั้งที่เคยพูดว่า
ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่าหรือต้องมาก่อนความรับผิดชอบทางกฎหมาย
ประเด็นร้อนมาตรา 112
โดยเฉพาะการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
และยิ่งทำให้กลุ่มนิติราษฎร์ถูกต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมากยิ่งขึ้นนั้น
กลุ่มนิติราษฎร์ตระหนักดี โดยนายปิยบุตรยืนยันว่า เป็นข้อ เสนอที่ถือว่า
ประนีประนอมที่สุดแล้ว เพราะคนเราไม่ควรติดคุกด้วยคำพูด ถ้าทำได้ทั้งระบบ คือ
เหลือแค่โทษปรับก็น่าจะเป็นไปได้
ส่วนเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรสลับซับซ้อน
(อ่านบทความประกอบในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตย หน้า 9)
“ผมสังเกตว่าหลังการเสวนาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ก็มีการพูดประเด็นเหล่านี้มาก
ผมคิดถึงคนอย่างคุณดา ตอร์ปิโด คือคนที่เขาอยากพูดแต่พูดไม่ได้
แต่เมื่อมีคนไปส่งเสริมให้เขาพูด พอพูดแล้วก็โดนทุบอีก
ภายใต้สังคมปัจจุบันไม่มีทางอื่นใดอีกเลยที่เราจะรักษา
ให้สามัญชนคนธรรมดาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างสอด คล้องกับประชาธิปไตย
มีทางเดียวคือปัญญาชนทั้งหลาย ต้องออกมาช่วย
ไม่ต้องไปผูกผ้าเป็นแกนนำหรอก ปัญญาชนคนหนึ่งคนเดียวไม่พอ
ต้องพึ่งเป็นหลักร้อยหลักพัน และต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ” นายปิยบุตรกล่าว
จุดเทียนกลางพายุ
ขณะที่นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงเรื่องมาตรา 112 ว่า
ภาคประชาชนหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหว
ให้ปฏิรูปหรือยกเลิกมาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมไทย
รวมทั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพยายามจุดประเด็นนี้เมื่อหลายปีก่อน
มีการนำเสนอให้ถกเถียง แลกเปลี่ยน
ไม่ให้ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไปแอบอ้างเรื่องความจงรักภักดี
เพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง แต่เรื่องก็เงียบหายไป
ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ให้ความเห็นถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ว่า ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่
ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในวงการนิติศาสตร์
เพราะ วงการนิติศาสตร์ค่อนข้างจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมมากกว่าเสรีนิยม
จึงไม่เคยมีความคิดก้าวหน้าเช่นนี้มาก่อน แม้ยากจะเห็นเป็นรูปธรรม
แต่กลุ่มนิติราษฎร์ก็เหมือน “จุดเทียนกลางพายุ” ทำได้แค่เสนอ
อย่าไปคาดหวังกับฝ่ายการเมือง เพราะคงไม่มีใครกล้า กลัวจนหัวหด
อย่างไรก็ตาม นายพนัสเชื่อว่าอย่างน้อยจะปลุกกระแสวงวิชาการนิติศาสตร์รุ่นใหม่
ให้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น ซึ่งคงไม่มากนัก
แต่อาจถูกนักวิชาการสาขาอื่นออกมาโต้แย้ง อย่างในอดีต
ที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ออกมาโต้แย้ง
เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์เรื่องมาตรา 112 จึงเป็นห่วงกลุ่มนิติราษฎร์มากกว่า
เพราะถูกเพ่งเล็งแน่นอน
“ผมคิดว่ากลุ่มนิติราษฎร์เป็นความหวังของคนในวงการวิชาการ อาจเรียกว่า
เป็นธูปดอกเดียวที่มีประกายไฟเล็กๆจุดหนึ่งเท่านั้นเอง และเชื่อว่า
จะทำให้นักวิชาการคนอื่นๆกล้าทำแบบพวกเขา โดยเฉพาะถ้าอิงกับวิชาการ
และหลักการจริงๆไม่น่าจะต้องกลัวอะไร
เพียงแต่ว่านักวิชาการส่วนใหญ่ไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวเอง
ที่สำคัญในวงการนิติศาสตร์เราจะไปหวังเฉพาะนักวิชาการอย่างเดียวไม่ได้
การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงนิติศาสตร์จริงๆได้ต้องพวกปฏิบัติ เช่น
พวกผู้พิพากษา อัยการ ไม่ต้องกล้าอะไรมาก
แค่ตัดสินคดีตามหลักวิชาอย่างที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอก็แก้ปัญหาได้มากอยู่แล้ว”
แสงเทียนท่ามกลางความมืดสลัว
การออกมาแสดงจุดยืนทางวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์จึงเป็นดั่งแสงสว่างของเปลวเทียนเล่มเล็กๆ
ท่ามกลางความมืดมน แต่แสงเทียนนี้จะทำให้นักวิชาการนิติศาสตร์และสาขาอื่นๆ
ที่ปลีกวิเวก คิดแต่ความสุขส่วนตัว หรือหลบอยู่ในซอกมุม
เพราะความกลัวต่ออำนาจรัฐลุกขึ้นมากล้าพูด กล้าวิจารณ์ในเชิงวิชาการ
ตามอุดมการณ์อย่างแท้จริงได้บ้าง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์
โดยเฉพาะข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ที่ไม่ต่างกับ “วาระแห่งชาติ”
หรืออาจเรียกว่าเป็น “วาระแห่งสิทธิมนุษยชน” อย่างแท้จริง
ซึ่งพรรคการเมืองต้องนำไปประกาศเป็นนโยบาย
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ประกาศต่อสู้เพื่อประชาชนและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ยกเว้นพรรคเพื่อไทยจะเป็นแค่พรรคการเมืองน้ำเน่าที่โกหกตอแหล
เพียงเพื่อให้ได้อำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น!
อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือว่ากลุ่มนิติราษฎร์ได้จุดเทียน
เพื่อให้สังคมไทยได้เห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดสลัวทั้งทางวิชาการและการเมือง
กลุ่มนิติราษฎร์จึงเป็นดั่ง “แสงเทียนท่ามกลางความมืดสลัว”
ที่ปลุกวงการวิชาการที่กำลังหลับไหลให้ตื่นขึ้นมา
ยอมรับความจริงและต่อสู้เพื่อประชาชน
ไม่ใช่หลับไหล ขายวิญญาณ เพื่อผล ประโยชน์ของตัวเองอย่างเช่นทุกวันนี้
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 305 วันที่ 2 - 8 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16-17
คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10258