ที่มา Voice TV
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์คล้ายโรคระบาด ในสังคมของโครงการรณรงค์เพื่อ "ลด ละ เลิก" กับอาการที่เรียกว่าเป็น "การทำให้เป็นสิ่งชั่วร้าย ผิดศีลธรรม" ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง สิ่งไม่พึงประสงค์
ที่ต้องการรณรงค์ให้ประชาชน "งด หรือ ละเว้น" ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย หรือ เป็นสาเหตุหลักของปัญหาสังคม หากแต่เป็นอีกมิติหนึ่งของปัญหาเท่านั้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ โครงการรณรงค์ลดเหล้า ของ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งตัวอย่าง โครงการที่ติดหูติดตาคนไทย อาทิ "จน เครียด กิน เหล้า" "ให้เหล้าเท่ากับแช่ง" หรือแคมเปญล่าสุดอย่าง "เหล้า ทำลายมิตรภาพ" กลับมุ่งให้ค่า "น้ำเมา" ในมิติของการเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นปีศาจ เป็นตัวการใหญ่ที่ทำลายสังคมแต่เพียงอย่างเดียว โดยเนื้อหาของโครงการ กลับละเลยที่จะกล่าวถึงประโยชน์ หรือแนวทางในการพัฒนาสังคม หากนำ "เหล้า" มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกสากล อาทิ การใช้ไวน์ หรือ แชมเปญ ในการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งถ้าหากเราได้นำข้อดีของแอลกอฮอล์มาใช้ ก็อาจจะทำให้ การสนับสนุนและพัฒนาการผลิตไวน์ไทยสู่ตลาดโลก ควบคู่ไปกับเป้าประสงค์ ครัวไทยไทยสู่ครัวโลก เป็นโครงการใหม่ที่เกิดขึ้น ก็เป็นได้
มายาคติของการทำให้ เหล้า.. น้ำตาล.. ไขมัน.. รวมถึง "สิ่งไม่พึงบริโภค" อื่น ๆ ในความเห็นขององค์กรด้านการส่งเสริมสุขภาพ กลายเป็น "ศัตรู" ตัวฉกาจของการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นที่มาของรายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ตอน "แคมเปญเลิกเหล้า ตอน 1-2" ซึ่งทางรายการ มุ่งหวังให้ประชาชน ที่รับสื่อเรื่องการรณรงค์โครงการ มีความรู้ความเข้าใจ และสร้างภูมิต้านทาน ต่อการรณรงค์ในบางโครงการของรัฐ กับโครงการที่ไม่น่าจะมีการตั้งคำถาม แต่กลับแฝงไว้ด้วยมิติด้านความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น เช่น ทำไมในสปอร์ตรณรงค์เลิกเหล้า คนเมาจะต้องเป็นชาวบ้าน ผู้ใช้แรงงาน หรือ เกษตรกรที่อาศัยในชนบท ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนรวย หรือ ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ ก็บริโภคสุรา และก่อปัญญาทางสังคมมากมาย
รวมตีแผ่ มายาคติ ภายใต้ โครงการรณรงค์เลิกเหล้าต่างๆ ได้ ในรายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ตอนแคมเปญเลิกเหล้า ซึ่งจะมีการนำเสนอเป็น 2 ตอน
ตอนแรก ในวันที่อาทิตย์ที่ 7 ส.ค. 54 เวลา 21.30-22.00 น.
ตอนจบ ในวันที่อาทิตย์ที่ 14 ส.ค. 54 เวลา 21.30-22.00 น.