ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
วงค์ ตาวัน
อ่าน พบข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ โดยมองว่าข้อเรียกร้องให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อหยุดยั้งกระแสน้ำของ ลำน้ำยมนั้น ไม่ต่างจากคนมีหนี้สินแล้วถูกเจ้าหนี้ตามจี้จนหาทางออกไม่ได้
สุดท้ายไปกู้เงินนอกระบบ เพื่อนำมาจ่ายให้กับเจ้าหนี้ที่มาเฝ้ารอทวงอยู่
อาจแก้หนี้ก้อนนี้ได้ แต่ผลตามมาหนักหนากว่า
เป็นคำตอบง่ายๆ ว่าการสร้างเขื่อนเพื่อแก้น้ำท่วมนั้น ต้นทุนคือการทำลายผืนป่าผืนใหญ่
ทั้งที่ป่าคือแหล่งเก็บน้ำธรรมชาติที่ดีที่สุด
หนักกว่านั้นพอถึงหน้าแล้ง ถ้าไร้ผืนป่าไปอีกผืน เราก็จะยิ่งแล้งหนักเข้าไปอีก
แล้วประเทศเราก็จะมีแต่เขื่อนเปล่าๆ เต็มไปหมดในหน้าร้อน
มองในด้านความรู้สึกของชาวบ้านหลายๆ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำยม เป็นเรื่องน่าเห็นใจอย่างมาก
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเร่งเยียวยาแก้ไขโดยด่วน
แต่ดูเหมือนการเคลื่อนไหวฉับไวทันใจประชาชน ดีกว่ารัฐบาลในอดีตอย่างมาก!
เพียงแต่การตัดสินใจแก้ปัญหา ด้วยการสร้างหรือไม่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลต้องรอบคอบยิ่ง
ฟัง ดูล่าสุดนายกฯหญิง มีแนวโน้มจะรับฟังข้อเสนอของผู้เชี่ยวชาญที่ให้สร้างจุดรับน้ำเพิ่มใน จังหวัดต่างๆ ไปจนถึงแก้อย่างเป็นระบบไปถึงป่าต้นน้ำ
เป็นแนวทางที่ให้ความสำคัญกับการรักษาป่า ซึ่งเป็น การแก้น้ำท่วมและแก้ภัยแล้งที่ยั่งยืนแท้จริง
เร่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เพิ่มอ่างเก็บน้ำขนาดพอเหมาะแบบง่ายๆ ตามสาขาลำน้ำยม
ถ้าใช้วิธีนี้ เมื่อป่าต้นน้ำคืนสภาพ และป่าผืนใหญ่ในพื้นที่แก่งเสือเต้นยังอยู่ต่อไป
ป่าเหล่านี้จะเก็บกักน้ำอย่างได้ผลมากขึ้นๆ แล้วในหน้าแล้งก็ยังสร้างความชุ่มชื้นได้
รัฐบาลไม่ต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลไปสร้างเขื่อน
ใช้เงินน้อยกว่า ทำอ่างเก็บน้ำที่ชาวบ้านสามารถร่วมดูแลได้ ทำให้มากจุดเพื่อแก้ไขได้ทุกๆ จังหวัด
มองไม่ยากว่า สิ่งที่แอบแฝงในการผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้นของนักการเมืองบางราย ของราชการบางหน่วย
ก็คืองบประมาณมหาศาลในการสร้างเขื่อน และผลประโยชน์มหาศาลในป่าที่จะถูกตัดทำลาย
พูดถึงเสือเต้นก็จะเห็นเสือหิวเต้นไปพร้อมๆ กัน!