ที่มา ประชาไท
17 ส.ค.54 เวลา 13.30-16.30น. ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ ชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการอภิปราย ‘ท้องถิ่นศึกษา กับการศึกษาการเมืองและประชาธิปไตยในท้องถิ่น:ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์และมานุษยวิทยา’ โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคุณสืบสกุล กิจนุกร ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการวิจัยทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย
รศ.ดร.อรรถ จักร สัตยานุรักษ์ อภิปรายว่า ท้องถิ่นศึกษา กับการศึกษาการเมืองและประชาธิปไตยในท้องถิ่น จากมุมมองประวัติศาสตร์นั้น ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในชนบท แต่เราไม่มีความเข้าใจมัน และพอหลังปี 2535 กลุ่มวัฒนธรรมชุมชนก็ครองคำอธิบายอยู่ แต่การเรียนรู้ท้องถิ่นต่อจากนี้จะใช้กระบวนทัศน์เดิมไม่ได้แล้ว ขณะเดียวกันกระบวนทัศน์ใหม่ก็ยังไม่ชัด
โครงการนี้จึงมีเป้าหมาย 1. เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของภาคเหนือตอนบนที่มีผลต่อการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของ ประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า 2.เพื่อศึกษาพัฒนาการ และศึกษาปัญหาในการสร้างสังคมประชาธิปไตยระดับรากหญ้า ซึ่งสัมพันธ์การเมืองระดับชาติ และส่วนที่ 3 เพื่อเข้าใจความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมือง แทนที่รัฐกับชาวบ้าน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และการเปลี่ยนพลเมืองสำคัญอย่างไร ส่วนที่สี่ แสวงหาการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากขึ้น ซึ่งสร้างความรู้เรื่องนี้มากขึ้น
โดยกรอบแรก ปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยในชนบท แบ่งการศึกษาออกเป็น 4 กรอบ 1.การเมืองเชิงสถาบัน 2.การเมืองที่อยู่นอกสถาบัน แต่มีความสัมพันธ์กับการเมืองสถาบัน 3.การเมืองวัฒนธรรม และส่วนที่ 4. การเมืองภาคประชาชน ถ้าหากเราทำการศึกษาทั้งหมดได้ และเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในชนบทมากกว่านี้ สังคมโดยรวมจะแก้ไขความขัดแย้งได้เร็วขึ้น
อาจารย์ ณัฐกร วิทิตานนท์ อภิปรายว่า ผลการสำรวจชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยมีสองระดับ แต่มุมมองที่ผ่านมากลับเสนอให้พิจารณาระบอบประชาธิปไตยเป็นภาพรวม โดยถือเอาประชาธิปไตยระดับชาติเป็นจุดหลักของการศึกษา หรือให้น้ำหนักน้อยต่อประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นและการเมืองท้องถิ่น
ในอดีตปริมาณการศึกษาท้องถิ่นมีน้อย ต่อมาภายหลังปี 2540 แนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยสรุปไว้ว่า ก่อนปี 2540 ท้องถิ่น ในวงวิชาการละเลย ตอนนั้นยังไม่มีรัฐศาสตร์เป็นสิบแห่งเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งหากนับงานในระดับบัณฑิตศึกษา จะมีเรื่องของท้องถิ่นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และหลังปี 40 จึงเปิดหลักสูตรมากมายในรัฐศาสตร์ที่มีทิศทางศึกษาเรื่องการกระจายอำนาจ
โดย สรุป ประเด็นต่อสู้ต่อจากนี้ จะเป็นเรื่องความเป็นอิสระ ศักดิ์ศรีท้องถิ่น อำนาจนอกท้องถิ่น อำนาจประชาชน ซึ่งทำงานบนจุดยืนที่ยอมรับความแตกต่าง-ความหลากหลายของท้องถิ่นต่างๆ และต้องยอมรับว่าท้องถิ่นแต่ละแห่ง ไม่มีทางจะเป็น หรือถูกทำให้เหมือนกันได้
คุณ สืบสกุล กิจนุกร อภิปรายว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง มีการศึกษาเรื่องคนเสื้อแดงกับการเลือกตั้ง จริงไหมที่ถูกซื้อเสียง หรือ โง่อย่างที่ถูกกล่าวหาและสร้างกระแสมาเป็นระยะ ในส่วนตัวของผมจากการได้ไปที่อำเภอฝาง กลุ่มฝาง-แม่ อาย-ไชยปราการ มีการเมืองระดับท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และความเข้าใจเรื่องกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยก็เป็นแบบเฉพาะเจาะจง เพราะว่า ฝางเป็นเมืองชายแดน และรัฐส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบจากการใช้ยาสารเคมีในสวนส้ม และปัญหาทรัพยากร เผชิญหน้าโดยตรง ฟ้องร้อง เดินขบวนประท้วง เป็นศูนย์กลางต่อสู้ทางการเมืองนั้นเอง
ต่อมาเกิดรัฐประหาร 2549 ทำให้ชาวบ้านสนใจการเมืองมากขึ้น จากนั้นในพื้นที่ชายแดนก็มีทหารเข้ามากระทำการให้รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามมาด้วยประเด็นความยุติธรรม ทำให้ประชาธิปไตยไปเหมือนเรื่องสวนส้มในเรื่องการไม่ได้รับความยุติธรรม ทำให้ชาวบ้านตั้งคำถามจากประสบการณ์ต่อสู้เรื่องสวนส้ม ยังไม่ชนะ และเขาสรุปสู้เรื่องสวนส้มกับการสู้เรื่องเสื้อแดงเป็นเรื่องเดียวกัน และที่นี่ยังสะท้อนสำนึกของท้องถิ่น ซึ่งทำให้เข้าใจความหลากหลายของคนเสื้อแดงได้