ที่มา มติชน
ในประเทศ
เป็นเรื่องจนได้
เมื่อ คำพูดของ "สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล" รมว.ต่างประเทศ ขัดกับทางการญี่ปุ่น ในการออก "วีซ่า" เข้าประเทศให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อไปบรรยายเรื่องเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหา "สึนามิ" ช่วงปลายเดือนสิงหาคม
"สุรพงษ์" ยืนยันว่า ทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้ามาขอความเห็นเกี่ยวกับการออก "วีซ่า" ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งบอกไปว่าแล้วแต่การพิจารณาของทางการญี่ปุ่น
ขณะที่ ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงว่า รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ร้องขอต่อทางการญี่ปุ่น
เมื่อคำพูด "ขัดกัน" จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเรียงหน้าออกมารุมกระหน่ำ
"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยโดย "สุรพงษ์" เป็นคนดำเนินการในการร้องขอให้ทางการญี่ปุ่นออก "วีซ่า" ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ
เหตุเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ต้องหา "หนีคดี" หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่ดินถนนรัชดาภิเษก จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
การกระทำของ "สุรพงษ์" จึงถูกพรรคประชาธิปัตย์มองว่า เป็นการกระทำที่อาจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157
เพราะหน้าที่ของรัฐบาลไทยคือ การประสานให้ทางการญี่ปุ่นจับกุมตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย
ไม่ใช่ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกทุกวิถีทาง
จุดนี้ รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" จึงตกเป็นเป้าสายตา และถูกตั้งข้อสงสัยจากผู้คนในสังคม
ไม่ใช่แค่เรื่องการประสานงานทางการญี่ปุ่นเปิดไฟเขียวขอ "วีซ่า" ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น
ยัง มีเสียงเล็ดลอดออกมาจากกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่ รมว.ต่างประเทศ ยังไม่ทันเข้าทำงานว่า มีข้าราชการเตรียมชงเรื่องไว้รอเพื่อให้พิจารณา "คืนพาสปอร์ต" เล่มสีแดง ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกยึดไปตั้งแต่ 12 เมษายน 2552
ว่ากันว่า งานนี้ "นพดล ปัทมะ" ที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นคนต้นเรื่อง
จะด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเอาใจนายเกินเหตุ หรือไม่ไม่ทราบ
ข้อเสนอดังกล่าว ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาเป็นคำรบสองว่า เกิดอะไรขึ้นกับ "สุรพงษ์" ในฐานะเจ้ากระทรวงการต่างประเทศ
จริงอยู่ แม้นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการ
เช่นเดียวกับ "สุรพงษ์" ที่พูดออกมาในลักษณะเดียวกัน
แต่เมื่อเรื่องสองเรื่องเดินทางมาบรรจบกัน "ความสงสัย" จึงเพิ่มเท่าทวีคูณ
ถือเป็น "ศึกนอก" ศึกแรกที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องตอบคำถามสังคม
เพราะความสงสัย ความเคลือบแคลง เป็นเรื่องที่แก้ยากยิ่ง
"เหตุผล" ในการถอนพาสปอร์ตเล่มสีแดงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งนั้นเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการถอนพาสปอร์ตที่ มีระเบียบในปี 2548 ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ว่า รัฐบาลสามารถที่จะยกเลิกและถอนหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลที่ทำความเสียหาย ให้กับประเทศได้"
ต้นตอมาจากความเชื่อของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนสั่งการให้กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมต่อต้านการประชุมอาเซียนซัมมิต เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 ที่พัทยา จ.ชลบุรี จนต้องยกเลิกกลางคัน
อาศัยอำนาจตามระเบียบ กระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ในหมวด 8 ว่าด้วยการยกเลิกหนังสือเดินทาง ข้อ 23(7)
ซึ่ง ระบุว่าสามารถยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางได้ เมื่อปรากฎภายหลังว่า "พิจารณาเห็นว่า หากให้ผู้ถือหนังสือเดินทางยังคงอยู่ในต่างประเทศต่อไปอาจก่อให้เกิดความ เสียหายแก่ประเทศไทยหรือต่างประเทศได้"
เป็นการจำกัดพื้นที่ การจำกัดความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นยุทธวิธีหนึ่ง ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ใช้กดดันไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เคลื่อนไหวสั่งการกลุ่มคนเสื้อแดง
จริงอยู่ "ข้อกล่าวหา" พ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งนั้น ชัดเจนว่าเป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง ที่มีองค์ประกอบมากมายกว่าแค่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว
ครั้งนั้น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้ตั้งกลุ่มคนเสื้อน้ำเงิน ออกมาสร้างแรงยั่วยุจนเกิดปัญหา
แน่ นอน หากดูตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง 2548 โดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ 2545 เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ
เมื่อเหตุการณ์เข้ารูปเข้ารอย รัฐบาลใหม่เดินสู่เป้าหมายเส้นทางแห่งความปรองดอง เช่นเดียวกับสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เรียกร้อง
ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ มีสิทธิได้หนังสือเดินทางทูต หรือพาสปอร์ตแดง ตามระเบียบข้อ 6(5)
และในฐานะประชาชนก็มีสิทธิจะได้หนังสือเดินทางของบุคคลทั่วไป หรือพาสปอร์ตสีน้ำตาล ตามระเบียบข้อ 13
แต่หากมองเหตุผลในหมวด 8 ว่าด้วยการยกเลิกหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อ 23(7) ให้ชัดๆ แน่นอนเป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เวลาเปลี่ยน ข้อกล่าวหาทางการเมือง ก็สามารถแก้ด้วยการเมือง ด้วยหลักนิติธรรม อย่างมีเหตุและผล
หากนำระเบียบข้อ 23(7) มาจับ ต้องถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีสิทธิที่จะได้คืนพาสปอร์ตทั้งสองเล่มในฐานะประชาชนคนไทย
แต่อาการของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ไม่เนียน และไม่ศึกษากฎหมายให้รอบด้าน
เพราะอย่าลืมว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมี "หมายจับ" คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 2 ปี
และอีกหลายคดีที่ติดค้างอยู่
ด้วยข้อกล่าวหาทาง "คดีอาญา" ที่ยังติดตัว พ.ต.ท.ทักษิณ
ทำ ให้เข้าล็อกระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ข้อ 23(2) ที่ระบุว่า ผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกหนังสือเดิน ทางให้ดังกรณีต่อไปนี้
"...เมื่อได้รับแจ้งว่าผู้ร้องเป็นผู้ซึ่ง กำลังรับโทษในคดีอาญา หรืออยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว หรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ได้มีการออกหมายจับไว้แล้ว ซึ่งศาลหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเห็นว่าไม่ควรจะออกหนังสือเดินทาง ให้..."
เป็นก้าวที่พลาด ในการออกตัวแรงเกินไปของเจ้ากระทรวงการต่างประเทศ
ที่ทำให้ "ศึกนอก" ที่ดูไม่น่าจะมีอะไร กับมี "ประกายไฟ" ให้ต้องพูดถึง