WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, August 19, 2011

ศปช.แถลง จี้ รบ. ทบทวนกระบวนการยุติธรรม ยังขังลืมอีก86ราย เสนอปฏิรูป คอป.

ที่มา ประชาไท

ชี้ปัญหากระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่กระบวนการจับกุมจนถึงศาล จี้ คอป.ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในการแสวงหาความจริงและความยุติธรรม และสามารถเรียกพยานเอกสารได้จากทุกฝ่าย

18 สิงหาคม 2554 เวลา 13.3o น. ณ ห้องประชุม บุญชู โรจนเสถียร ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 ( ศปช.) และองค์กรเครือข่าย ได้จัดให้มีการแถลงข่าวถึงกรณ๊ผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดี จับกุม คุมขัง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนเมษา-พฤษภา 2553

พวง ทอง ภวัครพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กรรมการ ศปช. ได้รายงานถึงข้อมูลตัวเลขผู้ต้องขังจาก15เรือนจำทั่วประเทศ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัวว่า ปัจจุบัน (18 สค. 2554) ยังมีผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้ประกันตัวไม่ต่ำกว่า 86 คน จากยอดผู้ถูกจับกุมคุมขังทั้งหมดกว่า 700คน โดยผู้ต้องขังทั้งหมดแบ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด 79 คน และผู้หญิง 7 คน โดยยังมีชายชาวกัมพูชารวมอยู่ดัวย 1 ราย ส่วนสถานะทางคดีนั้น อยู่ในศาลชั้นต้น 41 ราย ระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา 19 ราย ถูกตัดสินไปแล้ว 26 ราย นอกจากนี้ผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง นับตั้งแต่การรัฐประหารกันยายน พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 20 คน ในที่นี้ถือสองสัญชาติ 2 คน

สำหรับภาพรวมปัญหาในกระบวนการยุติธรรมหลังการสลายการชุมนุมเมื่อเม.ย.-พ.ค. 2553 นั้น สามารถแยกเป็นปัญหาดังต่อไปนี้

การจับกุม/คุมขัง เจ้าหน้าที่ได้มีการจับประชาชนโดยการตั้งข้อหาว่ากำลังจะไปร่วมชุมนุม ทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าไปในวันชุมนุม เช่น รปภ.นายหนึ่งถูกจับกุมในวันที่เขาจะเข้าไปทำงาน จากการตั้งด่านตรวจเพียงพบว่าเขา พกบัตร นปช.จึงทำการจับกุมและส่งตำรวจ ทั้งนี้ยังมีการนำของกลาง เช่น หนังสติ๊ก, หัวน็อต, เหล็ก,ไม้ ,ลูกแก้ว, หมวกคลุมหน้า, ลูกระเบิด, ระเบิดขวด, สินค้าจากร้านเซเว่นฯ ซึ่งไม่ได้พบในที่เกิดเหตุ แต่ถูกมาวางไว้ต่อหน้าผู้ถูกจับและให้นักข่าวมาทำข่าว และบังคับให้ชี้ว่าของกลางเป็นของผู้ถูกจับเอง มีการซ้อมทรมานในระหว่างการจับกุม เช่น การจับกุมในเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานี และมุกดาหาร

จับผิดตัว เจ้าหน้าที่สั่งฟ้องโดยอาศัยเพียง ภาพ ถ่ายในบริเวณที่ชุมนุม โดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงว่า ได้กระทำผิดจริงหรือไม่ เช่น กรณี ด.ต.สันติเวช ภูตรี ไปตามหาลูกสาวก่อนถูกตำรวจถ่ายภาพไว้ ต่อมาตำรวจสั่งฟ้องโดยอาศัยเพียงแค่ภาพถ่าย ทำให้ด.ต.สันติเวช ถูกต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ากระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือกรณีเผาศาลากลางในต่างจังหวัด ได้มีประชาชนจำนวนมากถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและตกเป็นจำเลย เพียงเพราะมีภาพถ่ายอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเท่านั้น

สร้างภาระหนี้สินให้ครอบครัว จากเหตุการณ์ชุมนุม หลายครอบครัวต้องหาหลักทรัพย์ไปประกันตัวด้วยเงินกู้นอกระบบ แต่หลังจากนั้นปรากฎว่าอัยการไม่สั่งฟ้อง กรณีเช่นนี้ รัฐจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้ เพราะยังไม่ตกเป็นจำเลย แต่ผู้ถูกจับกุมได้รับผลกระทบต่างๆ ในช่วงที่ถูกคุมขัง และมีหนี้สินจากการกู้เงินมาประกันตัวระหว่างดูแลผู้ที่ถูกจับกุมจำนวนมาก

ชี้ถูกซ้อม ถูกหลอก ให้สารภาพ เนื่องจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ดังนั้น ในทางกฎหมายวางหลักไว้ว่า หากจำเลยรับสารภาพ ศาลก็จะอาศัยเพียงคำรับสารภาพของจำเลย โดยที่ไม่ต้องสืบพยานและหลักฐานประกอบคำรับสารภาพ ดังนั้น คดีของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ต้นตอของการรับสารภาพจึงมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ หลายรายถูกข่มขู่และซ้อมทรมาน, ไม่มีโอกาสได้พบญาติหรือปรึกษาทนายความ, ตำรวจจูงใจว่า หากรับสารภาพ ศาลก็จะรอลงอาญาเพราะโทษไม่สูง ขณะที่บางรายถูกบังคับให้เซ็นเอกสารในการจับกุมและสอบสวนโดยไม่มีโอกาสได้ อ่านเอกสารหรืออ่านไม่ออก เช่น ในคดีเผาศาลากลางมุกดาหาร

ตั้งข้อหาร้ายแรงเกินจริง การตั้งข้อหาของชั้นตำรวจหรือดีเอสไอ ได้มีการตั้งข้อหาร้ายแรงเกินความเป็นจริง เช่น ร่วมกันปล้นทรัพย์เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีหรือใช้อาวุธยิงต่อสู้เจ้าพนักงาน หรือวางเพลิงเผาศาลากลางหรือเผาเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นเหตุให้คนตาย ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต อีกทั้งพบว่า คดีที่ดีเอสไอทำสำนวนสอบสวนจะมีข้อหาหนักมาก กระบวนพิจารณาชั้นศาล ในคดีที่จำเลยรับสารภาพไม่มีทนายความ และไม่ประสงค์ให้ตั้งทนายความ เพราะกลัวว่าทนายจะไม่ทำคดีให้เต็ม ที่เนื่องจากไม่รู้จัก ส่งผลให้คดีเด็ดขาดมีจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีโทษสูงถึง 1 ปี 2 เดือน ส่วนคดีที่จำเลยปฎิเสธ ศาลมักลงโทษในอัตราสูง เช่น กรณีของนายประสงค์ มณีอินทร์ และนายโกวิทย์ แย้มประเสริฐ ศาลอาญาตัดสินจำคุก 11 ปี 8 เดิอน

ไม่ให้ประกันตัว/วงเงินประกันสูง สำหรับในคดีที่ยังไม่เด็ดขาดนั้น จำเลยขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว แม้จำเลยจะได้รับความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันจากกองทุนยุติธรรม และวงเงินในการประกันตัวก็สูงมาก ศาลมักอ้างว่าคดีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวเกรงว่าจะหลบหนี เป็นต้น จำเลยบางคนถูกฟ้องมากกว่า 1 คดี วงเงินประกันก็สูงขึ้น เป็นเหตุให้จำเลยบางคนไม่เคยใช้สิทธิในการยื่นขอประกันตัวเลย เพราะไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์

ถูกขังฟรี จากการที่ศาลไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหานั้น ทำให้ผู้บริสุทธิ์หลายคนถูกคุมขังเป็น เวลานาน ทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด หรือถูกขังเกินโทษของตน เช่น นายอำนวย ชำนาญแก้ว, นายไสว ยางสันเทียะ ถูกขังรวม 10 เดือน ก่อนที่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง รวมถึงกรณีของนายสมพล แวงประเสริฐ ถูกขังนาน 5 เดือน สุดท้ายศาลยกฟ้อง และนายธนูศิลป์ ธนูทอง คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ ซึ่งนายตำรวจผู้รับผิดชอบออกมายอมรับต่อ คอป.ว่าจับผิดตัว ศาลก็ยังไม่ให้ประกัน

ฟ้องเด็กโทษประหาร กรณีเซ็นทรัลเวอลด์ ดีเอสไอ ได้สั่งฟ้องเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีเป็นจำเลย ด้วยข้อหาร้ายแรงมีโทษถึงประหารชีวิต ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์จนเป็นเหตุให้คนตาย, ร่วมกันปล้นทรัพย์เซ็นทรัลเวิลด์โดยใช้อาวุธ, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน แม้ว่าเยาวชนทั้งสองคนจะได้ประกันตัว แต่ก็ยังได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เช่น ไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้เต็มที่ ขณะที่รายหนึ่งแม่เสียชีวิตแล้ว ส่วนพ่อมีภรรยาใหม่ ต้องทำงานหาเลี้ยงตนเอง อย่างไรก็ตาม เมือมาขึ้นศาลตามหมายเรียก ก็จะไม่ได้รับค่าแรงในวันนั้น

การเยียวยา ในส่วนของปัญหาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ทั่วถึงนั้น พบว่า ชาวบ้านในต่างจังหวัดไม่รู้ว่ามีหน่วยงานใดบ้าง และไม่รู้ขั้นตอนว่ามีเงื่อนไขเรื่องเวลา หรือจำนวนเงินที่ช่วยเหลือไม่เพียงพอ

โดยเฉพาะกรณีที่หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตหรือพิการ บางรายแพทย์ไม่ร่วมมือใน การออกใบรับรองแพทย์ หรือรายงานไม่ตรงกับอาการ เช่น นางสมพาน พุทธจักร ถูกยิงบริเวณบ่อนไก่ กระสุนเข้าที่หลัง โดนลำไส้เล็ก ตับ และไต ได้เงินเยียวยาจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ เพียง 2,800 บาท เพราะใบรับรองแพทย์ระบุว่ารักษาอยู่ในรพ.แค่ 14 วัน ซึ่งในความเป็นจริงต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีภาระต้องดูแลลูกอีก 3 คน นอกจากนี้ขั้นตอนในการพิจารณาและการเบิกจ่ายเงินยังล่าช้าหรือมีการหยุดจ่าย อีกด้วย

ประสบการณ์จากผู้ต้องขัง

จากประสบการณ์การถูกจับกุมจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง นายกฤษณะ ธัญชัยพงศ์ นศ.ปริญญาโท หนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมและศาลตัดสินให้จำคุก 1 ปี ด้วยข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว เล่าว่า ตนเป็นเพียงนักศึกษาคนหนึ่งที่ต้องการเข้าไปแสดงความคิดเห็นทางการ เมือง โดยขึ้นปราศรัยที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่16พ.ค.53 แต่ในระหว่างเดินทางกลับบ้านกับรุ่นน้องอีก 2 คน มีด้านตั้งสกัดจับ ซึ่งตนเข้าใจว่าถูกชี้เป้ามาก่อนหน้านี้

ซ้อมโหด หลัง ถูกจับกุมบริเวณแยกปทุมวัน ตนได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้ความรุนแรง ทั้งตบ เตะ ใช้วาจาข่มขู่ มีการมัดมือมัดเท้า ให้หันหน้าเข้ากำแพงและปิดตา ใส่ผ้าคลุมหน้า แล้วเข้ามาบีบคอ ราดน้ำมันรดตนเเละเพื่อน เตรียมที่จะจุดไฟ โดยอ้างว่าเคยทำแบบนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน และก่อนที่สื่อมวลชนมาถึง ก็ยังมีการข่มขู่อีกว่า ไม่ให้เล่าเรื่องในสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุ

เมื่อคดีนี้ถึงตำรวจในเวลาต่อมาก็ถูกยัดเยียดข้อหาเพื่อให้คดีถึงที่สุด รวมถึงการดำเนินคดีของตำรวจนั้นจะเป็นไปตามที่ทหารต้องการเลยก็ว่าได้ เสมือนเป็นการหนีเสือปะจระเข้ และวันต่อมาก็ถูกส่งไปศาลเพื่อพิพากษาคดี แต่ที่น่าสังเกตก็คือว่า สำนวนที่สั่งฟ้องเป็นอีกสำนวนไปเลย และได้รับการตัดสินแบบไม่มีอ่านคำพิพากษาด้วย นายกฤษณะ ถูกตัดสินจำคุก 1 ปี

นายกฤษณะเล่าถึงช่วงที่อยู่ในเรือนจำว่าตนได้ยื่นจดหมายร้องเรียนขอ ความเป็นธรรมไปที่กรรมการสิทธิ์นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก นอกจากที่คำร้องของตนถูกเพิกเฉย ไม่ได้รับความสนใจแล้ว ยังมีนักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งเข้ามาที่เรือนจำทั้งๆ ที่เป็นวันเสาร์ โดยได้มาบอกตนเองว่าอย่าพูด สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงถึงความไม่เป็นกลางของกรรมการสิทธิ และยังมีความผิดปกติในการทำงานของคณะกรรมการสิทธิซึ่งตนคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

หลัง จากการบอกเล่าประสบการณ์ของอดีตผู้ต้องขังแล้ว ศปช.และองค์กรร่วมจัดเช่น กลุ่มกองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขัง (Red Family Fund) กลุ่มประกายไฟ ฯลฯ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการดังมีเนื้อหาดังนี้

<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>


ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงมาตรการฟื้นฟูความยุติ
ธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามประชาชน เม.ย.-พ.ค. 53

สมาชิกพรรคเพื่อไทยย่อมไม่ สามารถปฏิเสธว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดใน การเลือกตั้งนั้น คือ ความโกรธแค้นต่อความอยุติธรรมทางการเมือง นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปราบปรามผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 93 ราย บาดเจ็บกว่า 1,800 คน และมีผู้ถูกจับกุมอีกกว่า 700 คน ยังไม่รวมคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองก่อน หน้านั้นอีกหลายราย
กระนั้นผู้ที่ออกคำสั่งใช้กำลังปราบปรามประชาชนกลับไม่ถูกดำเนินคดีเลย แม้แต่คนเดียว พรรคเพื่อไทยต้องตระหนักว่า คนเสื้อแดงจำนวนมากที่สนับสนุนท่านกำลังเฝ้าจับตามองว่าพวกท่านจะฟื้นฟูความ ยุติธรรมให้แก่พวกเขาหรือไม่ อย่างไร แม้ว่าศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) จะตระหนักว่ารัฐบาลใหม่มีภารกิจท้าทายอยู่ตรงหน้าหลายประการ โดยเฉพาะจากกลุ่มอำนาจนิยมที่รอคอยจังหวะเข้าแทรกแซงและโค่นล้มรัฐบาลที่มา จากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ ศปช. ก็เห็นว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่างเสถียรภาพของ รัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจ ความปรองดอง และความยุติธรรม ประการสำคัญ การสร้างความปรองดองและการฟื้นฟูความยุติธรรมในบางกรณี สามารถกระทำได้ในทันที ดังต่อไปนี้
1.ในขณะนี้ประชาชนคนเสื้อแดงเกือบร้อยคนยัง ถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือน เม.ย.- พ.ค. 53 และอีกหลายรายที่ถูกคุมขังก่อนหน้านี้ พวกเขาถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของอย่างกว้างขวางจริง เช่น เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมและคุมขังตามอำเภอใจ ตั้งข้อหาร้ายแรงเกินจริง เช่น ก่อการร้าย จับกุมแบบเหวี่ยงแห ขาดหลักฐาน หลายกรณีมีเพียงภาพถ่ายผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นหลักฐานเท่านั้น มีการซ้อมและทรมานผู้ต้องขัง สร้างหลักฐานเท็จ บังคับให้รับสารภาพเพื่อแลกกับการลดโทษ โดยศาลมักปักใจเชื่อเจ้าหน้าที่และพยานโจทก์ หรือในกรณีที่จำเลยรับสารภาพ ก็ไม่มีการสืบพยานหลักฐานและเร่งตัดสินลงโทษเลย
ผู้ต้องขังจำนวนมากยังไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ หลายคนไม่สามารถประกันตนได้เพราะศาลตั้งหลักทรัพย์ประกันตัวไว้สูงลิบลิ่ว พวกเขาและครอบครัวต้องเดือดร้อนจาก การขาดรายได้ หลายคนเจ็บป่วยอย่างหนัก เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เป็นโรคเครียดรุนแรง บางคนถึงขึ้นเป็นอัมพฤกษ์ บางคนเจ้าหน้าที่ตำรวจยอมรับว่าจับผิด เพราะไม่ได้อยู่ในที่ชุมนุม การถูกจองจำทำให้หลายครอบครัวตก อยู่ในภาวะหนี้สินท่วมตัว จนต้องสูญเสียบ้านและที่นา บางรายไม่มีที่อยู่ที่ปลอดภัย ลูกสาวถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ ความทุกข์ยากที่พวกเขาได้รับมีมากมายเกินกว่าจะสาธยายในที่นี้ได้หมด
การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลที่ผ่านมาและของเจ้าหน้าที่ในกระบวน การยุติธรรมจึงเป็นการตอกย้ำความอยุติธรรมและความเกลียดชังในสังคม ฉะนั้น ภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จักต้องกระทำคือ
1.1 แจ้งแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ ได้แก่ ตำรวจ อัยการ และศาล ว่ารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดความปรองดองในสังคมที่เคารพหลักสิทธิมนุษย ชนขั้นพื้นฐานของพลเมืองเป็นสำคัญ โดยเห็นว่าผู้ต้องขังทุกคนที่เป็นผลจากความรุนแรงทางการเมืองควรได้รับสิทธิ ที่จะประกันตน โดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ค้ำประกันการประกันตนแก่บุคคลเหล่านี้
1.2 สิทธิที่จะได้รับประกันตนควรครอบคลุมผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทาง การเมืองนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 อื่นๆ ด้วย คือ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
1.3 ให้ชะลอการตัดสินคดีที่มีโทษร้ายแรงเกินกว่าเหตุ และทบทวนคดีการจับกุมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หากพบว่าการดำเนินคดีเหล่านั้นไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการรื้อฟื้นคดีเพื่อพิจารณาคดีใหม่ และหากพบว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ รัฐบาลต้องคืนความยุติธรรมและชดใช้ให้แก่พวกเขา
1.4 ให้กระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกแจ้งข้อหาและควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อหาตามกฎหมายอื่นว่ามีจำนวนทั้งหมดเท่าใด และขณะนี้มีสถานภาพอย่างไร เพื่อให้สาธารณชนสามารถติดตามตรวจสอบได้
2.ห้ามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ศอฉ. เข้ามารับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการ ชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียมีอำนาจบิดเบือนแทรกแซงผลการสอบสวน ได้
3.แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว แต่การสืบสวนสอบสวน รวมทั้งกระบวนการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต เพื่อนำไปสู่การไต่สวนการตาย กลับไม่มีความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวน การชันสูตรพลิกศพและการไต่สวนการตายตามกฎหมายโดยเร็ว
4.จัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับ ผลกระทบจากการปราบปรามประชาชนเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 โดยรัฐบาลต้องปรับปรุงเกณฑ์ให้เงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของเหยื่อที่เสีย ชีวิตและบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมอย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสหรือพิการ ซึ่งกลายเป็นภาระอันหนักหน่วงแก่ครอบครัว เนื่องจาก แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐจำนวนหนึ่งจะได้ให้เงินช่วยเหลือแก่พวกเขาไปบ้าง แล้ว แต่ด้วยวิธีปฏิบัติและกฏระเบียบของทางราชการ ทำให้เงินช่วยเหลือเยียวยาที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง ยังมีผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ
5.รัฐบาลควรปรับปรุงการทำงานของ คอป. ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เคยแถลงว่าต้องการให้ คอป. ทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.- พ.ค.53 ต่อไป แม้ว่า ศปช. จะมีข้อกังขาต่อการทำงานของคอป.อยู่ไม่น้อย แต่ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อแก้ไขให้คอป.มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และสามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมและความปรองดองได้อย่างแท้จริงศปช.ขอเสนอให้ มีการปรับปรุงการทำงานของ คอป. ดังต่อไปนี้
5.1 คอป.ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องการแสวงหาความจริงและความยุติธรรม ซึ่งทั้งสองหลักการนี้เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการปรองดอง คอป.ต้องลงความเห็นว่ามีการกระทำผิดอย่างใดเกิดขึ้นในเหตุการณ์สลายการ ชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.53 และใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำผิดนั้น ซึ่งสมควรดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
5.2 รัฐบาลต้องสนับสนุนให้คอป. สามารถเรียกพยานและเอกสารหลักฐานจากทุกฝ่ายได้ โดยเฉพาะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของศอฉ.ทั้งหมด รัฐบาลควรมีคำสั่งและนโยบายแน่ชัดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย โดยเฉพาะทหารและตำรวจ ร่วมมือให้ข้อมูลกับ คอป. และหากบุคคลหรือหน่วยงานปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ คอป. สามารถเอาผิดทางวินัยกับบุคคลหรือหัวหน้าหน่วยงานนั้นได้
5.3 ให้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคอป.ให้มีตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสัดส่วนที่เหมาะสม และกรรมการ คอป.ที่สวมหมวกหลายใบ ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ควรพิจารณาถอนตัว
5.4 คอป.ต้องมีพันธะหน้าที่ต่อสาธารณะ เนื่องจากการทำงานของคอป.ที่ผ่านมายังไม่เปิดเผยในหลายเรื่อง ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากการปราบปราม และไม่สนใจรายงานความก้าวหน้าต่อประชาชน ดังนั้น คอป. จะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการไต่สวนหาความจริง ต้องแถลงความคืบหน้าอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งผ่านสื่อสาธารณะ และข้อมูลจากการไต่สวนของ คอป. จะต้องไม่เป็นความลับทางราชการ ด้วยวิธีการที่เปิดเผยโปร่งใสต่อสาธารณะชนเช่นนี้เท่านั้นที่จะช่วยป้องกัน ไม่ให้เกิดการปกปิด-บิดเบือนข้อเท็จจริง ดังเช่นที่เกิดกับร่างรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีก
5.5 ในเมื่อไม่มีข้ออ้างใดๆ ในเรื่องความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ข้าราชการคอป.ต้องเร่งทำงานอย่างไม่ ยักเยื้องลังเล ต้องประกาศระยะเวลาสิ้นสุดการทำงานที่ชัดเจนให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อเป็นเกณฑ์ตรวจสอบความคืบหน้าในการทำงานของ คอป.ต่อไป
6.รัฐบาลควรอนุญาตและให้ความร่วมมือกับองค์กร ต่างประเทศที่ประสงค์จะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการ สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 รวมทั้งเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำต่างๆ เช่น ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านการสังหารนอกกฎหมายและการต่อต้านการก่อการ ร้าย และองค์กรกาชาดสากล เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการแสวงหาความจริงเพื่อความยุติธรรมและความปรองดอง และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอีกทางหนึ่ง
จริงอยู่ว่าเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่การปรองดองในสังคม คือการประนีประนอมยืดหยุ่นของฝ่ายต่างๆ แต่ ศปช. เห็นว่าเรื่องบางเรื่องไม่อาจประนีประนอมได้ นั่นคือ"ความจริง"เกี่ยวกับการปราบปรามประชาชน แต่เราอาจประนีประนอมในเรื่องการลงโทษผู้มีส่วนร่วมในการปราบปราประชาชนได้ โดยมุ่งไปที่ผู้ออกคำสั่งหรือผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคำสั่งพึงถูกละเว้นจาก ความผิด ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัตินอกคำสั่งและก่อความรุนแรงแก่ประชาชน
ศปช. จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เร่งฟื้นฟูความยุติธรรมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามประชาชน เม.ย.-พ.ค.2553 โดยเร็ว
18 สิงหาคม 2554
ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.53
เครือข่ายญาติผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุมเดือนเมษา-พฤษภา 53
กลุ่มช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเชียงใหม่-อุบลฯ (Red Fam Fund)
กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง
กลุ่มมรสุมชายขอบ
กลุ่มครอบครัวคดีเสื้อแดงเชียงใหม่
องค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย
กลุ่มประกายไฟ
กลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพ
Try arm
เครือข่ายสันติประชาธรรม
กลุ่มนิติราษฎร์
สถาบันต้นกล้า