ที่มา Thai E-News
ตาม มาตรา ๑๒ อนุ๓ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็รับพิจาณาคดีประเทศที่ยังไม่เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม ได้ หากรัฐบาลประเทศนั้นๆแถลงยอมรับอำนาจตุลาการของศาลฯเหนือดินแดนของประเทศตน เช่น คดีไอวอรีโคต.. จากที่ผมได้ไปสังเกตการณ์การพิจารณาคดีน่าสนใจยิ่ง ทำให้ผมจินตนาการว่า ถ้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจำเลย คงจะดูไม่จืด
โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย
เมื่อวันที่๑๘ สิงหาคม ที่ผ่านมา ผมไปเยี่ยมศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court -ICC )ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ที่แรก ผมขอให้คณะรณนรงค์เพื่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ติดต่อ ฟาดิ เอล อัลดาลาห์ ( Fadi.EL Abdallah ) โฆษกของศาลฯเพื่อขอพบ และถามความคืบหน้าคดีเมษายน- พฤษภาคม ๒๕๑๐ ซึ่งโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของนปช.ยื่นฟ้องเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
แต่เนื่องจากเวลากระชั้นชิด โฆษกไม่ว่าง ผมจึงขอไปฟังการพิจารณาคดีคองโก เพื่อรู้จักศาลสิทธิมนุษยชนนี้เพิ่มเติม
ศาลอาญาระหว่างประเทศ ตั้งขึ้นตามธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ถึงปัจจุบัน มี ๑๑๖ ประเทศให้สัตยาบัน
ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดี ๔ ประเภท คือ คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ คดีอาชญากรสงคราม และคดีอาชญากรรมการรุกราน
มีคณะผู้พิพากษามี๑๘ คน ประธานศาลเป็นคนเกาหลีใต้ และขณะนี้กำลังพิจารณา ๖ คดี เช่น คดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอูกานดา คดีคองโก คดีดาร์เฟอร์ ซูดาน คดีอาฟริกากลาง คดีเคนยา คดีไอวอรีโคต คดีสุดท้าย คดีลิเบีย ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับไปแล้ว ๑๕ ใบ มีจำเลยถูกคุมขังอยู่ ๕ คน
คดีคองโกทีผมไปฟังการพิจารณา เกิดมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ จำเลย คือเจอร์เมน คาตังกา ( Germain Katanga) และมาธิว นกูโจโล ซู ( Mathieu Ngudjolo Chui )
คนแรกเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักชาติต่อต้านรัฐบาล คนที่สอง เป็นผู้นำแนวร่วมแห่งชาติของชนเผ่า
ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับจำเลยทั้ง๒ เมื่อปี ๒๕๕๐ เจอร์เมนมอบตัวเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ และ มาธิวถูกทางการคองโกจับได้เมื่อเดือนกุมาพันธ์ ปี ๒๕๕๑
ทั้งสองถูกส่งมาศาลฯกรุงเฮก ซึ่งศาลเริ่มพิจารณาคดีนี้มาตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๑ จำเลยทั้งสองถูกฟ้องข้อหาฆ่าล่างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม โดยมีการกระทำฆ่าหมู่และเผาหมู่บ้านของพลเรือน ใช้ทหารเด็ก ฯลฯ
ช่วงที่ผมเข้าไปนั่งฟัง เป็นช่วงที่อัยการหญิงการซักถามพยานจำเลย โดยพยานจำเลยมิได้มายืนในห้องพิจารณา คงอยู่ในห้องลับ อัยการถาม พยานตอบด้วยวิดิโอภาพเลือนราง ไม่เห็นตัวเห็นหน้าตา เช่น พยานเคยไปฝึกทหารกับจำเลยหรือไม่ พยานรู้เห็นทหารเผาหมู่บ้านได้อย่างไร เหล่านี้เป็นต้น
โดยมีทนายจำเลยคอยแย้ง และท้วงติง ตลอดเวลา จำเลยทั้งสองนั่งนั่งแถวหลังสุดของคณะทนายของตน มีตำรวจ๒ คนถือกุญแจมือนั่งขนาบข้าง
การพิจารณาคดีน่าสนใจยิ่ง ทำให้ผมจินตนาการว่า ถ้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทอือกสุบรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจำเลย คงจะดูไม่จืด
ความจริงมีเรื่องเล่ามากว่านี้ แต่ขอกลับไปยังคดีสังหารหมู่เดือนเมษายนและพฤษภาคม ๒๕๑๐ คนเสื้อแดง รวมทั้งผมอยากรู้ว่าศาลอาญาระหว่างประเทศรับฟ้องหรือยัง
ผมพยายามหาคำตอบ ก็ได้ความว่า อัยการยังไม่ส่งฟ้อง เขาคงรอให้ประเทศไทยให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ก่อน แต่ทว่า ตามมาตรา ๑๒ อนุ๓ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็รับพิจาณาคดีประเทศที่ยังไม่เป็นภาคี ธรรมนูญกรุงโรมได้ หากรัฐบาลประเทศนั้นๆแถลงยอมรับอำนาจตุลาการของศาลฯเหนือดินแดนของประเทศตน เช่น คดีไอวอรีโคต เมื่อรัฐบาลที่นั่นแถลงยอมรับอำนาจตุลาการของศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อวัน ที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๖ และต่อมา ประธานาธิบดีคนใหม่แถลงยืนยันอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้ อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศจึงเริ่มดำเนินการสอบสวน
ฉะนั้น หากรัฐบาลใหม่ของไทยยื่นคำแถลงต่อฝ่ายทะเบียนของศาลอาญาระหว่างประเทศ ศาลจะรับพิจารณาคดี ไม่ต้องรอให้สัตยาบันหรือคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติร้องขอเหมือนกรณี ลิเบีย
ผมเชื่อว่าโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม จะเดินหน้าคดีเมษา พฤษภา ต่อไป และขอเสนอความคิดเห็นต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:กก.สิทธิฯดิ้นช่วยฆาตกรสังหารเสื้อแดง ทนายฝรั่งไม่ไหวจะเคลียร์จ่อมาไทยคุ้ยข้อมูลเด็ดส่งศาลICC
-1ปี3เดือนฆ่าหมู่ราชประสงค์ ฮิวแมนไรต์ฯกดดันปูเอาผิดฆาตกร-ฟันหัวโจกพธม.หลังดองคดี3ปีลอยนวล