ที่มา มติชน
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2554)
ไม่หรอก
ในความเป็นจริง แนวคิดในการต่อต้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกิดขึ้นดำรงอยู่ตั้งแต่เมื่อประกาศตัวลงสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย ด้วยซ้ำไป
เพราะว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือโคลนนิ่งให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
การ งัดเอาประเด็นล้มสถาบัน การงัดเอาประเด็นผูกโยงไปยังกลุ่มคนเสื้อแดง เผาบ้าน เผาเมือง มาโหมกระหน่ำ รับลูกกันเป็นทอดๆ จากกาญจนดิษฐ์จนถึงคำปราศรัย "ถอนพิษทักษิณ" บริเวณแยกราชประสงค์
เป็นเป้าหมายเดียวกัน
จาก การเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม เรื่อยมาจนถึงการได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เดือนสิงหาคม เรื่อยมาจนถึงการเผชิญกับมวลน้ำมหาศาลจากภาคเหนือ ภาคกลาง ตีโอบล้อมกระทั่งไหลบ่าเข้ามายังกรุงเทพมหานคร
ยิ่งจุดประกายแห่ง "ความหวัง" ให้มลังเมลืองมากยิ่งขึ้น
จากวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจบสิ้นลง ผ่านมายัง วันที่ 25 ตุลาคม เป็นเวลา 2 เดือนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
2 เดือนที่มวลน้ำถาโถมเข้ามากระหน่ำตีมหานครกรุงเทพฯ
ทั้งๆ ที่ ณ วันนี้ เป็นอันยอมรับโดยทั่วกันว่า ชะตากรรมของคนกรุงเทพมหานครก็มิได้แตกต่างไปจากชะตากรรมของคนพิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี อุทัยธานี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม
นั่นก็คือ ชะตากรรมที่ต้องรับภัยอันมาจากน้ำท่วม
กระนั้น คำถามที่เสนอเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่าก็คือ ภัยอันมาจากน้ำท่วมครั้งนี้เป็นความรับผิดชอบของใคร
น่ายินดีที่รัฐบาลไม่ปัดปฏิเสธความรับผิดชอบนี้
ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องนอนวันละเพียง 2-3 ชั่วโมง ต้องซัดยาแอสไพรินเข้าก็เพราะความเครียดจากเรื่องนี้ ต้องกลั้นก้อนสะอื้นเมื่อเผชิญกับคำถามซึ่งมิอาจให้คำตอบได้อย่างเป็นที่พอ ใจได้อย่างรวดเร็ว
ก็เพราะแบกรับอย่างเต็มเปาในฐานะรัฐบาล ในฐานะอันเป็นนายกรัฐมนตรี
จิตใจรับผิดชอบประสานกับการทุ่มเททำงานโดยไม่มีวันหยุดจากรัฐบาล จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นี้แหละที่กำลังเป็นปัจจัยสำคัญ
ปัจจัยสำคัญ 1 ก็คือ ประชาชนรับรู้ได้ลึกซึ้งเป็นจริงมากเพียงใดในการทุ่มเททำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
น่าสนใจก็ตรงที่เป็นการทุ่มเททำงานท่ามกลางการบ่อนเซาะจากปรปักษ์ทางการเมือง
ปรปักษ์ทางการเมืองไม่ยอมรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่แล้ว ไม่เคารพต่อเสียงอันเป็นรากฐานทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่แล้ว
เห็นได้จากการเปิดโปงเรื่องส่วนตัวบางเรื่อง แม้ว่าจะมิได้เป็นเรื่องจริง
เห็น ได้จากการขยายข้อมูลบางข้อมูลในเชิงเยาะเย้ยถากถาง และทำให้เป็นเรื่องเสื่อมเสีย แม้ว่าจะมาจากความผิดพลาดเฉพาะตัวอันมิได้เป็นเรื่องใหญ่ อย่างเช่นความผิดพลาดในเรื่องหญ้าแฝก หรือแม้กระทั่งการสวมรองเท้า
เห็นได้จากการดิสเครดิตกระบวนการทำงานของ ศปภ. แม้ว่าจะมีเจตนาดีต่อประชาชนมากน้อยเพียงใดก็ตาม
คำ ถามอยู่ที่ว่า การขยายข้อบกพร่อง การดิสเครดิต ทำลายความน่าเชื่อถือเหล่านี้ของปรปักษ์ทางการเมือง ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากประชาชนมากน้อยเพียงใด หากเมื่อใดประชาชนเห็นด้วยนั่นหมายถึงวาระสุดท้ายของรัฐบาล วาระสุดท้ายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ขณะ เดียวกัน ปัจจัย 1 ซึ่งสำคัญอันเป็นลักษณะชี้ขาด คือ ปัจจัยอันเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จและความล้มเหลวจากการบริหารจัดการของ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอง
หากบริหารจัดการกับปัญหาเบื้องหน้าล้มเหลวก็ยากยิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะยืนอยู่ได้
ตรงกันข้าม หากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถนำพาประชาชนและฟื้นฟูประเทศชาติได้ตามที่ประชาชน ภาคธุรกิจ เรียกร้องต้องการ นั่นหมายถึงความสำเร็จ
อันเท่ากับดับฝันของปรปักษ์ทางการเมืองลงได้อย่างน้อยก็ระยะหนึ่งและระยะหนึ่ง